ค่าไฟงวดใหม่ปลายปีนี้ปรับขึ้นอย่างแน่นอน จะเป็นอัตราใด? ระหว่างแนวทางแรก 4.65 บาทต่อหน่วย แนวทางที่สอง 4.92 บาทต่อหน่วย หรือแนวทางสาม 6.01 บาทต่อหน่วย ในการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ก่อนประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที ในช่วงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จากค่าไฟปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 11-44%
แล้วประชาชนคนไทยจะทำอย่างไร เพราะทุกวันนี้ย่ำแย่แล้ว ก็ยิ่งย่ำแย่อีกในการแบกรับค่าครองชีพที่จะปรับขึ้นสูงไปอีก และการปรับขึ้นค่าไฟ เนื่องจากราคาพลังงานขยับสูงขึ้น ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด จากค่าเงินบาทอ่อนต่อเนื่อง ยิ่งซ้ำเติมต้นทุนธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นอีก จะกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะความสามารถทางการแข่งขันของไทยจะลดลงไปอีก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าไฟต่อหน่วยราคาถูกกว่า อาจทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศอื่น
เศรษฐกิจชะงัก ต้นทุนผลิตสินค้าพุ่ง กำลังซื้อหด คนไม่ใช้จ่าย
วิกฤติเศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นปากเหว และกำลังจะเจอค่าไฟปรับสูงขึ้น กลายเป็นภาระต้นทุนจะต้องจ่ายเพิ่มของภาคการผลิต เป็นคำถามพุ่งไปยัง "วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา" ในฐานะรองประธานกรรมการหอการค้าไทย ก็ต้องบอกว่า ขณะนี้ภาพรวมใหญ่สุดเป็นขาลงของเศรษฐกิจทั้งโลก ซึ่งทุกประเทศโดนกันหมด ต่อเนื่องมาจากช่วงโควิดระบาด ใช้เวลาฟื้นตัวได้เพียงระยะเดียว ก็มาเจอสงครามมาขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีก แม้ไม่ใช่สงครามใหญ่ แต่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้า จนต้นทุนเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง
...
"ช่วงโควิดหลายรัฐบาลทั่วโลก มีตัวช่วยในการพยุงเศรษฐกิจ แต่หลังโควิดไม่สามารถทำได้อีก เพราะใช้เงินจำนวนมาก ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจต้องดูแลตัวเองมาโดยตลอด บวกกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ นอกเหนือจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้กำลังซื้อลดลง เพราะไม่มั่นใจการใช้จ่าย จากภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การใช้จ่ายลดลง จนคำว่าเศรษฐกิจตอนนี้ คือ การหมุนเวียนให้ได้เงินเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกชะงักลง รวมถึงไทย"
วิกฤติเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับโซนประเทศอาเซียนด้วยกัน เจอกับมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้ส่งออกสินค้าไปยุโรปไม่ได้ ก็ต้องระบายสินค้าไปยังอาเซียน โดยใช้ราคาเป็นหลักเป็นตัวเทขายสินค้า หากทดแทนสินค้าในอาเซียนได้ ก็จะเกิดความชะงักงัน แต่ละประเทศในอาเซียนจะส่งออกสินค้า ต้องเจอทางตัน และเมื่อค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในไทยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีอะไรบอกเหตุ ส่งผลให้ผู้ผลิตที่เจอปัญหา ต้องลดกำลังผลิต ลดภาระเรื่องสต๊อก แม้ว่าบางสินค้ามีคู่แข่งไม่มาก และยังเจอปัญหาค่าขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าจีนพยายามดันส่งออกให้มากที่สุด ยอมจ่ายทุกอย่างเพื่อเทขายสินค้า ในการจ่ายค่าตู้คอนเทนเนอร์ จนกระทบผู้ส่งออกในอาเซียนทั้งหมด และประเทศผู้สั่งซื้อ ก็ต้องชะลอการสั่งซื้อไปก่อน จากสัญญาณเหล่านี้ สามารถบรรเทาได้ด้วยการลดดอกเบี้ย หากสหรัฐฯ ไม่ลดดอกเบี้ย ทางแบงก์ชาติของไทย ก็จะไม่ลด เพื่อไม่ให้เงินไหลออก ก็เข้าใจการตัดสินใจของแบงก์ชาติ แต่ควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ให้ล้มหายตายจากไปอีก
ค่าไฟปรับขึ้น ฟางเส้นสุดท้ายภาคธุรกิจ รอวันกอดคอตาย
กรณีค่าไฟจะปรับขึ้น อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายของภาคธุรกิจ หากบางธุรกิจใช้กำลังไฟเป็นจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบ อย่างโรงน้ำแข็ง หากธุรกิจใช้ไฟ 5-10% อาจไม่กระทบ แต่ธุรกิจในโลกยุคใหม่ มีความสนใจจะลงทุนในไทย อย่างเทคโนโลยีเอไอ (AI) ด้านอุตสาหกรรม หรือบริการคลาวด์ (Cloud Service ) เป็นฐานข้อมูลโลก จะต้องใช้ไฟเป็นจำนวนมาก จะมีต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากมาตั้งฐานบริการในไทย ซึ่งไทยต้องเตรียมเครื่องมือรองรับในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป ทั้งการติดตั้งโซลาร์รูฟ (Solar roof) และพลังงานไฟฟ้า
...
ขณะที่แผนพลังงานในเรื่องโครงสร้างการผลิตของไทย จะต้องมาพิจารณาและทบทวนว่ามีความพร้อมในการแข่งขันหรือไม่ เพราะวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ ทำให้เห็นว่าประเทศอื่นมีความพร้อมเร็วกว่าไทยมาก จะต้องดูเรื่องอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) อุตสาหกรรมในไทย ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปก่อน เพราะคงไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในช่วง 1-2 ปี และช่วงปรับเปลี่ยนต้องคิดและทำในทันที
"การจะปรับขึ้นค่าไฟ ต้องมีแผน และค่อยๆ ปรับขึ้นให้สมูทมากสุด หากเศรษฐกิจฟื้นตัวยาก ก็ควรให้เวลาธุรกิจปรับตัว เพราะปัจจุบันคนไม่ใช้จ่ายเลย หากค่าไฟปรับขึ้นสูงมาก ก็ยิ่งจุกหนัก และผู้ประกอบการ ก็ขายสินค้า เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนเท่านั้น ระหว่างรอเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่".