'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ แฉ! เจอเองจะจะ นายทุนผุดบ้านพักตากอากาศหรู บนป่าทับลาน ใช้ชาวบ้านบังหน้า!!!
แม้ว่าจะหมดเขตเปิดรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ เรื่อง การเพิกถอนพื้นที่ 2.6 แสนไร่ จากอุทยานแห่งชาติทับลานไปแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีบทสรุป สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
ระหว่างรอมติ เราได้ต่อสายตรงพูดคุยกับ 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หนึ่งในผู้ไม่เห็นด้วยสำหรับการเพิกถอนพื้นที่นับแสนไร่จากเขตอุทยาน เพราะหากทำเช่นนั้น นี่อาจกลายเป็นต้นแบบการเฉือนป่า เพื่อเอื้อให้นายทุนที่จ้องฉกฉวยโอกาสจากทรัพยากรธรรมชาติ
...
"อาจอยู่แบบผิดกฎหมายตั้งแต่แรก" :
ประเด็นแรกที่ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ อยากจะชี้แจงกับเราก่อน คือ ข้อถกเถียงการเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ของประชาชน "ขณะนี้เวลาพูดถึงเรื่องการเข้ามาอยู่อาศัย ก็จะพูดถึงกันแค่ปี 2524 แต่ไม่มีใครพูดถึงว่า ได้มีโครงการสำรวจพื้นที่ป่า ก่อนเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน ตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งมีมาก่อนประกาศของ ส.ป.ก. ด้วยซ้ำ"
ซึ่ง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นต้นทุนที่จะบอกว่า คุณจะอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ ถ้าคุณไม่มีเอกสารสิทธิเท่ากับคุณทำผิดกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ. ดังกล่าว เขียนไว้ชัดเจนว่า 'ป่า หมายถึง ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย' หมายความว่า ถ้าคุณไม่มีเอกสาร เช่น นส.3 สค.1 นส.3 ก. ก็แสดงว่าคุณอยู่อย่างผิดกฎหมาย
ถ้าไล่ย้อนความเป็นมาคร่าวๆ ของแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จะพบว่า ถูกประกาศเป็นป่าไม้ถาวรตาม มติ ครม. พ.ศ. 2506 แล้วก็ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี เมื่อ พ.ศ. 2509 หลังจากนั้นถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ใน พ.ศ. 2510 และเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว เมื่อ พ.ศ. 2515
จนกระทั่ง พ.ศ. 2521 มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ครอบคลุมพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวในขณะนั้น แต่ยังไม่มีการเพิกถอนป่าสงวนออก เพื่อให้นำไปทำการจัดแปลงที่ดิน และในที่สุด พ.ศ. 2524 ก็มีประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน
"นี่แสดงให้เห็นว่า มีการประกาศเป็นป่าอย่างต่อเนื่อง และมี พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นตัวกำหนดโทษในการยึดถือและครอบครอง แต่ก็ยังมีคนอ้างว่ามาอยู่ก่อนอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2524 ซึ่งมันไม่ใช่ คุณอยู่แบบผิดกฎหมายมาตั้งแต่แรก หรือถึงจะมีก็น้อยมาก ไม่กี่ครอบครัว และไม่กี่คน"
...
พยายามลดการบุกรุก :
นายชัยวัฒน์ ระบุว่า ที่ผ่านมาทางอุทยานฯ มีแนวทางแก้ปัญหา โดยการแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ซึ่งต้องโยงไปเมื่อครั้งมีมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่เห็นว่าควรผ่อนปรนการจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรที่อาศัยในพื้นที่ป่า แม้ว่าจะอยู่อย่างผิดกฎหมาย โดยให้รอพิสูจน์ว่า ราษฎรที่มาอยู่มีหลักฐานการได้มาของที่ดินหรือไม่ เช่น สค.1 นส.3
เจตนาหลักของมตินั้น คือ ลดการบุกรุก หมายความว่า ราษฎรยังทำกินอยู่ในป่าได้ก่อน แต่ห้ามบุกรุกขยายที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ขณะนั้น ให้เข้าสำรวจพื้นที่ที่ราษฎรอยู่ในป่าทั้งหมดทั่วประเทศ แต่เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีน้อย การดำเนินงานครั้งนั้นจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไร จึงมีแค่การทำบันทึกข้อความ
...
จนกระทั่งปี 2545 มีการพิสูจน์โดยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมออโต้สี ทำให้เห็นชัดเลยว่า จากที่ราษฎรรายต่างๆ เคยแจ้งไว้ว่ามีที่กี่ไร่ แต่พอปี 2545 มีมากกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้ดำเนินคดีอะไร แถมยังยึดปี 2545 เป็นหลัก คือ ใครบอกมีที่ 10 ไร่ ก็ให้ 10 ไร่
ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น กรมอุทยานฯ พยายามพัฒนากฎหมาย เพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนกับป่า และที่ผ่านมามันพิสูจน์ได้อยู่แล้วว่าราษฎรไม่มีเอกสาร หลายคนเข้าไปอยู่ในป่าแบบผิดกฎหมาย
กรมอุทยานฯ พัฒนา พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ จากปี 2504 เป็นปี 2562 มีมาตรา 64 ที่เขียนข้อความชัดเจนว่า ให้เจ้าหน้าที่สำรวจการถือครอง การครอบครองที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ให้สำรวจและดำเนินการทำการรังวัด ปักหมุดเขตบริหาร และให้ราษฎรบุคคลเดิม ที่สำรวจตั้งแต่ มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 เป็นรายเดิม ให้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตามปกติธุระ ซึ่งประกาศใช้ พ.ร.บ. นี้ เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2562"
...
โดยคณะกรรมการร่วมพิจารณาจะมี 2 ชุด ระดับพื้นที่มีนายอำเภอเป็นประธาน ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนของคณะกรรมการก็จะมีฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ผู้นำชุมชน ฉะนั้น คณะกรรมการในการจัดทำมาตรา 64 ถือเป็นมาตรฐาน และเป็นการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยแท้
"ที่ผ่านมารัฐจึงพยายามใช้มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 และกรมอุทยานฯ ก็ใช้ ม.64 ในการสำรวจเพื่อให้ราษฎรที่อยู่ในป่าแล้วผิดกฎหมาย ได้อยู่แบบถูกกฎหมายก็เท่านั้นเอง แต่ในกรณีนี้มันมีผู้กระทำความผิด และผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ กลุ่มทุน กลุ่มนายทุน ผู้มีอันจะกิน ผู้มีอิทธิพล เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปซื้อที่ดินดังกล่าวทำบ้านพักตากอากาศ โรงแรม รีสอร์ต กันมากมาย"
"ชอบคุยกันเนียนๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่พวกทำผิดยังอยู่ตามเดิม" :
ชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สำคัญที่ชอบพูดถึงกัน คือ ถ้ายกที่ให้เป็นของ ส.ป.ก.แล้ว คดีความต่างๆ จะยังอยู่ตามกระบวนการ ผมขอเรียนว่าไม่ใช่นะครับ ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า นั่นเป็นการพูดเนียนๆ ให้เข้าใจไปตามนั้น
"ถ้าเพิกถอนที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่อุทยาน โดยมี พ.ร.บ.อุทยานฯ กำหนดอยู่ หรือเป็นพื้นที่ป่าอื่นๆ ที่ถูกกำหนดในกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อเพิกถอนให้ ส.ป.ก. จะส่งผลให้พื้นที่ไม่มีสถานะป่าคุ้มครองอีกเลย คนที่เคยจะต้องได้รับโทษ จะถูกยกเลิกไปด้วย มันคือการ 'นิรโทษกรรม' ให้คนที่ทำผิดกฎหมาย"
"เวลาคุยกันชอบคุยเนียนๆ เหมือนไม่มีอะไร พวกคนทำผิดกฎหมายก็อยู่ไปตามเดิม" ชัยวัฒน์ กล่าวกับเรา
ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ส.ป.ก. เอง ที่ดำเนินการผิดกฎหมาย เช่น ออกใบ ส.ป.ก. ล้ำเข้าเขตอนุรักษ์ ก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ดำเนินการไป คือ การละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจโดยมิชอบในการออกใบ ส.ป.ก. ซึ่งไม่ใช่อำนาจของเขา แต่ถ้าวันนี้เกิดการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ มันจะเป็นการคุ้มครองคน 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนายทุน และ ส.ป.ก.
ต้องถามต่อไปว่า พวกกลุ่มนายทุน นักการเมืองพื้นที่ นักการเมืองระดับจังหวัด ทำงานชอบด้วยกฎหมายไหม ชอบด้วยความสุจริตธรรมหรือเปล่า หากสุจริตใจจริงต้องอยู่เป็นกลางทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่รัฐเสียประโยชน์ กับชาวบ้านเสียประโยชน์
"แต่กระบวนการที่เห็น มันดูดำเนินไปในทางไม่ชอบ คนที่เป็นผู้ร้องเรียนและรับเรื่องร้องเรียน ครอบครัวตัวเองก็มีที่ดินตรงนั้น คราวนี้คุณจะตอบสังคมยังไง เพราะถ้าคุณบอกว่าชาวบ้านเดือดร้อน แสดงว่าคุณก็เดือดร้อน แต่คุณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมันก็ดูไม่ถูกต้อง เรารู้ทุกขั้นตอนว่าคุณทำอะไรกัน เราถึงออกมาพูดแบบนี้ ซึ่งจริงๆ เราเคยพูดมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ดังเหมือนตอนนี้"
กลุ่มทุนกระจายทั่ว 2.6 แสนไร่ หากจี้เอาผิด มีนับพันคดี! :
เมื่อถามว่า กลุ่มทุนเหล่านั้น อยู่ส่วนไหนหรือจุดใดในพื้นที่ที่ส่อแววถูกเพิกถอนบ้าง?
ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ตอบว่า เอาง่ายๆ เลยนะ มีกระจายทั่วไปในพื้นที่ 2.6 แสนไร่ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการซื้อขายเปลี่ยนมือตลอด
"คดีที่ดำเนินการจับมาก่อน มีประมาณ 552 คดี แต่ตอนหลังยังจับไม่ได้ เพราะมีการร้อง เรื่องถึงกรรมาธิการ และถูกส่งต่อไปที่กระทรวง กระทรวงจึงสั่งให้ทางอุทยาน ชะลอการดำเนินคดีไปก่อน จริงๆ ถ้าให้ชี้เป้า แล้วลงไปจับคนทำผิดอีกรอบ ยังไงก็มีไม่ต่ำกว่าพันคดี"
"ราษฎรบางรายที่บอกว่า ตนเดือดร้อนเพราะเจ้าหน้าที่อุทยานจะไปจับ ผมบอกตรงๆ เลยนะ พูดให้เขาให้ตระหนักว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่รังแกราษฎร หรือคนยากคนจน ถ้าท่านไม่บุกรุกขยายเพิ่มเติม พวกคุณตอบเรื่องจริงกับสังคมได้ไหม เพราะคุณพยายามพูดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไปรังแก มันเป็นการพูดให้สังคมสงสาร แต่จริงๆ เบื้องหลังไม่เป็นอย่างนั้น"
ผอ.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่เราต้องจับเพราะเราใช้เทคโนโลยีตรวจสอบ แล้วเห็นว่าท่านบุกรุก สมมติแต่เดิมท่านมีที่ดินประมาณ 3 ไร่ แต่วันนี้มี 15 ไร่ แบบนี้จะตอบเราได้ไหมว่ามาจากไหน ถ้าไม่ได้บุกรุกเพิ่ม
"ผมยกตัวอย่างว่า เราจะไปจับกุมนายทุนแต่หาตัวไม่ได้ เพราะเป็นบ้านพักตากอากาศ แต่พอตรวจสอบรายชื่อเจ้าของแปลง ดันเป็นชื่อของคนที่บอกกันว่า 'ชาวบ้านตาดำๆ' แต่ถามหน่อยว่าชาวบ้านตาดำๆ มีบ้านพักตากอากาศราคา 7-10 ล้านบาท บนแปลงเลยเหรอ ชาวบ้านสร้างได้ไหม คำตอบคือมันไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด ผมไปเอง ผมเลยพูดได้"
"ไม่ได้กลั่นแกล้งประชาชน" :
ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า การไม่เพิกถอนพื้นที่อุทยาน ไม่มีอะไรเสียหายสำหรับชาวบ้านที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย เพราะอยู่อย่างไรก็คงอยู่ต่อไป ประชาชนทั่วไปไม่ได้เสียสิทธิ์อะไรเลย ยังได้สิทธิ์ทำกิน และตกทอดตามทายาท ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงชีวิต นอกเสียจากว่า ที่จริงแล้วมีกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการใบ ส.ป.ก. เพื่อการซื้อขายเปลี่ยนมือ ซึ่งต้องตอบสังคมให้ได้ว่า อยากทำแบบนั้นเพราะอะไร
เพราะที่ผ่านมาพื้นที่ซึ่งเคยได้ ส.ป.ก. มาก่อน กลายเป็นโรงแรม รีสอร์ตสวยหรูขนาดใหญ่ ซึ่งผมได้โพสต์ภาพตัวอย่างให้เห็นในเฟซบุ๊กแล้ว ทำไมพอเป็นแบบนี้ ไม่มีใครออกมาพูดล่ะว่า แปลงที่ผมโพสต์ลงไปเป็นของใคร
"มันทำให้ผมมองว่า คนที่ออกมาสนับสนุนเพิกถอนบางส่วน เป็นนอมินีหรือเปล่า หรือเป็นกลุ่มทุน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น พวกนายหน้าซื้อขาย ผมบอกได้เลยว่ามันชี้ตัวได้อยู่แล้วว่าใครเป็นใคร"
ผอ.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เราพยายามที่จะชี้แจงว่าไม่ได้กลั่นแกล้งบุคคลใด คนที่อยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมควรจะได้รับสิทธิ์ และได้อยู่โดยมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดำเนินต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากมีที่ทำกินให้ลูกหลาน คุณอยู่กับเราตามปกติ คุณยั่งยืนแน่นอน ที่ดินดังกล่าวก็ทำไปตามปกติธุระ
"ปกติธุระ คือ จากการสำรวจสุดท้ายเมื่อปี 2557 คุณประกอบอาชีพอะไรก็ดำเนินต่อไปตามนั้น เช่น คุณทำโฮมสเตย์ก็ทำได้ต่อ เราไม่ได้ห้าม แต่คุณห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม คุณจะขยายอะไรอีกไม่ได้แล้ว หรือคุณมีปั๊มน้ำมัน 2 หัวจ่าย คุณก็ทำต่อไปได้ แต่คุณไม่สามารถให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ เข้ามาที่ของคุณได้"
"การไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามายุ่งได้ มันเป็นผลดีกับคุณด้วยซ้ำ เพราะคุณสามารถพัฒนาตัวเอง โดยไม่มีใครมาแก่งแย่งทางเศรษฐกิจได้ เช่น อาจจะทำให้เป็นวิสาหกิจชุมชน ผมมองว่าโอกาสมาถูกทางแล้ว"
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ระบุว่า ต้องเรียนตามตรงว่า มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ป่า พยายามใช้โอกาสนี้ออกมาพูด โดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร และควรให้ความรู้ต่อประชาชนอย่างไร
ป่าโดนรุกต่อเนื่อง หากทับลานถูกเพิกถอน สิ่งที่ทำมาจะสูญเปล่า! :
นายชัยวัฒน์ ชี้ว่า การบุกรุกป่ายังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ยังดีที่เทคโนโลยีตอนนี้ ช่วยให้การตรวจสอบง่ายมากขึ้น ฉะนั้น ใครที่จะรุกคืบเราเห็นจากดาวเทียมหมดเลย ถ้าเกิดการบุกรุกก็เตรียมดำเนินคดี ชาวบ้านที่เขาใช้เพื่ออยู่อาศัยจริงๆ เขาอยู่กันปกติ พวกที่จะรุกมีแต่พวกหวังผลประโยชน์ทั้งนั้น
กรณีที่มีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า '2.6 แสนไร่ ไม่ใช่ป่า แต่เป็นที่ทำกิน' ผอ.ชัยวัฒน์ แสดงความคิดเห็นว่า ผมไม่คัดค้านความคิดเห็นของใคร เพียงแต่ว่าหากพูดแบบนั้นออกไป ก็คงต้องชี้แจงกับสังคมว่าทำไมพูดแบบนั้น กล่าวง่ายๆ คือพูดอะไรก็ต้องรับผิดชอบ
แต่ส่วนตัวผมเอง ขอพูดในนามผู้พิทักษ์ป่า และเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานด้วยหัวใจ อย่างวันที่ 11 ก.ค. 2567 มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งขาขาดเพราะเหยียบกับระเบิด คำถามคือเขาเข้าไปเดินในป่า ดูแลป่าเพื่ออะไร คำตอบคือเพื่อปกป้องพิทักษ์ป่า แต่ถ้าพูดว่า ตอนนี้ 2.6 แสนไร่ ถ้าบอกว่าไม่ใช่ป่าแล้ว แล้วยกให้คนอื่นได้ ที่ผ่านมาปกป้องป่าไปเพื่ออะไร
"การจะมาบอกว่าเพิกถอนพื้นที่ออกเพราะมีความเจริญแล้ว ตอนนี้จึงไม่ใช่ป่า แล้วเอาไปซื้อขายเปลี่ยนมือ แบบนี้มันใช่เหรอ นี่มันไม่ใช่วิถีของการอยู่อย่างยั่งยืน การซื้อขายเปลี่ยนมือ ทำให้ชุมชน พื้นที่ ชาวบ้าน ลูกหลานต้องอพยพ และถ้าซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ถ้าขายไปเสร็จแล้ว จะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ลูกจ้างเขา ก็ต้องอพยพไปเป็นแรงงานของกลุ่มทุนอยู่ดี"
ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ถ้าเกิดการเพิกถอน 2.6 แสนไร่ขึ้นมา ผมบอกได้เลยว่าป่าอีกหลักล้านไร่ ก็จะถูกรุกกันไปเรื่อยๆ และทับลานจะเป็นโมเดลของการทำลักษณะเดียวกันกับที่อื่นๆ เช่น เกาะเสม็ด สิรินาถ เกาะช้าง ดอยสุเทพ ซึ่งจะเข้ามือกลุ่มทุนอยู่ดี
เราไม่ต้องการความเหลื่อมล้ำ หรือกลุ่มทุน ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเหมือนกัน เราเห็นอยู่แล้วว่าการกระทำตอนนี้คือเอื้อกลุ่มทุน และทำให้คนผิดกฎหมายถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อำนาจทางการเมืองจะมีผลถ้าเรายังนิ่งกันอยู่ หากประชาชนไม่สู้ ไม่ค้าน ปัญหาที่เกิดขึ้นแบบนี้จะลามไปทั่ว
"ผมนั่งลำดับกฎหมายให้เห็นแล้ว คนที่เป็นนักวิชาการจริงๆ ต้องอ่านและวิเคราะห์ ไม่ใช่ว่าโมเมเอง กลุ่มที่พูดว่าคนอนุรักษ์เป็นเขียวตกขอบ คุณไปดูแล้วกันว่าผมพูดชัดเจนไหม ผมไม่มีนอกไม่มีใน แต่อยากให้สังคมรับรู้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทำงานกันหนักแค่ไหน" ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องมีการรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตาม ม.8 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินคดี
อีกทั้งคดีความต่างๆ หรือข้อที่มีการพูดถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าทับลาน ยังคงต้องมีการพิสูจน์หลักฐาน และตัดสินตามกระบวนการกฎหมายต่อไป
.........
อ่านบทความที่น่าสนใจ :