คุยกับ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรณี #Saveทับลาน มองหากเพิกถอน 2.6 แสนไร่ พื้นที่อาจถูกเปลี่ยนมือสู่นายทุน เชื่อตอนนี้กลุ่มทุนฮุบทับลาน 125,000 ไร่ จี้สอบคดีรุกป่าเพิ่ม!

#Saveทับลาน

แฮชแท็กดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นโต้เถียงในสังคมอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างมุมมอง และมีเหตุผลเป็นของตัวเอง หนึ่งในประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างร้อนแรงคือ ปรับแนวเขต 2.6 แสนไร่ เพื่อเอื้อนายทุนหรือไม่?

คำถามดังกล่าวเราได้ยกขึ้นมาถามต่อ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับคำตอบว่า "ไม่จริงครับ เพราะเจตนารมณ์ที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาคือการช่วยเหลือประชาชน"

อย่างไรก็ตาม สกู๊ปนี้เราขอพาคุณผู้อ่านทุกคนไปรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้อนุรักษ์ว่ามีมุมมองต่อเหตุการณ์ #Saveทับลาน อย่างไร โดยผู้ที่จะมาแลกเปลี่ยนความคิดกับเราคือ 'บอย-ภาณุเดช เกิดมะลิ' ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเขาเปิดบทสนทนากับเราว่า "ผลกระทบที่จะเกิดหากปรับแนวเขตเพิกถอน 2.6 แสนไร่ ผมมองว่าต้องแยกเป็น 2 ส่วน"

เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park
เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park

...

สูญเสียพื้นที่สัตว์ป่า : 

พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน คือ 1 ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่มีฐานะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ทำให้ ภาณุเดช กล่าวแสดงความกังวลถึงผลกระทบในประเด็นแรกว่าจะเกี่ยวข้องกับการ 'สูญเสียพื้นที่' เนื่องจากพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนว Wildlife Corridor (สะพานเชื่อมผืนป่า) ซึ่งเป็นทางเชื่อมระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับอุทยานแห่งชาติทับลาน

ที่ผ่านมาคณะกรรมการมรดกโลกยอมรับ Corridor เพียงแต่คอมเมนต์ว่าให้ดูแลดีๆ เพราะมีทางออกตัดกันหลายทาง แต่คราวนี้ตัวโครงการที่กำลังจะเพิกถอนพื้นที่ 2.6 แสนไร่ กำลังจะทำให้พื้นที่ Wildlife Corridor ที่อยู่แนวถนน 304 ถูกเพิกถอนไปด้วย มันจะกลายเป็นตัวบล็อกไม่ให้สัตว์ป่าเดินข้ามไปมาได้ 

เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park
เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park

ปธ.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายต่อว่า ปกติไทยจะมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 ที่ให้ กรมอุทยานฯ มีการดำเนินการที่เกี่ยวกับการให้ชุมชนคนอยู่ร่วมกับป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่โดยรอบได้ แต่กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ส.ป.ก. ไม่ได้เน้นเรื่องการให้ชุมชนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างชัดเจน

"สัตว์ป่าไม่รู้หรอกว่าส่วนไหนคือพื้นที่คน ส่วนไหนพื้นที่ตัวเขา สัตว์จึงใช้พื้นที่โดยรอบ มีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างผืนป่าเป็นปกติ แต่กิจกรรมของมนุษย์ หรือการใช้ที่ดิน อาจจะไปมีผลกระทบกับการเคลื่อนย้ายดังกล่าว รวมไปถึงการเกษตรที่อาจมีผลกระทบเรื่องการเปิดหน้าดิน หรือถ้าใช้ประโยชน์ตรงพื้นที่ต้นน้ำ ก็ต้องระมัดระวัง เพราะอาจมีผลกระทบต่อชุมชนด้านล่าง"

เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park
เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park

...

พื้นที่ถูกเปลี่ยนมือสู่นายทุน : 

บอย ภาณุเดช กล่าวถึงประเด็นที่ 2 ว่า การแก้ไขปัญหาโดยการเพิกถอนพื้นที่ 2.6 แสนไร่ จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ทั่วประเทศ เพราะแนวทางที่ใช้กับทับลานน่าจะทำให้เกิดมิติที่ กลุ่มรีสอร์ต ชุมชน หรืออะไรที่คล้ายกันมองว่า

ถ้าที่ดินมาเป็นของ ส.ป.ก. พวกเขาน่าจะได้ประโยชน์ในเชิงเอกสารสิทธิชัดเจน ได้สิทธิจาก ส.ป.ก. ทั้งเรื่องการทำธุรกรรมการเงิน เช่น เอาไปจำนอง ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และในอนาคตอาจจะแปรสภาพเป็นโฉนดได้

"โอกาสในการเปลี่ยนแปลงสภาพเอกสาร ที่จะนำไปสู่โฉนดรายบุคคล และทำเพื่อเศรษฐกิจของนายทุน มีความเป็นไปได้สูง หากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าที่อยู่รอบชุมชน" ปธ.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวกับทีมข่าวฯ

เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park
เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park

...

เราถามต่อไปว่า แสดงว่ามีความกังวลว่าหากปรับแนวเขต อช.ทับลาน จริง จะกลายเป็นโมเดลให้ที่อื่นทำแบบนี้?

"ใช่ครับ น่าจะกลายเป็นโมเดลเรื่องการเพิกถอน เพราะในไทยยังมีหลายพื้นที่เป็นชุมชนอยู่กลางป่า ซึ่งผมก็ยังงงว่าแล้วเราจะทำยังไงกับชุมชนที่อยู่ลักษณะนี้ ผมเลยมองว่ามันจะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหา หรือมีความปั่นป่วนในเรื่องการบริหารทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ในพื้นที่อย่างแน่นอนในอนาคต"

ภาณุเดช เสริมว่า ที่ผ่านมามีการพยายามจัดการปัญหามาตลอด เช่น การใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ม.64 ที่ได้กล่าวไป หรือใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562  ม.121 ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นแนวทางที่เรากำลังทำกันอยู่

เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park
เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park

...

"อีรุงตุงนัง เพราะซุกปัญหามาตลอด" :

ภาณุเดช เกิดมะลิ มองว่าตอนนี้มีความเห็นที่หลากหลาย ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ช่วยกันพิจารณา สิ่งที่อยากจะวิงวอนคือ ขอให้ทุกฝ่ายติดตามการแก้ปัญหานี้กันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะปัญหามีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากไม่เคยมีการแก้ปัญหาจริงจังให้ลุล่วงเรียบร้อยมาตั้งแต่แรก

"เราซุกปัญหากันมาตลอด ผมไม่ปฏิเสธว่าที่นี่มีปัญหา เพราะมีมาหลายปีแล้ว แต่ถูกปล่อยปละละเลย ด้วยประการหลายปัจจัยที่ไม่อยากเอ่ยถึง เราเห็นว่ามีการขยายพื้นที่เพิ่ม ตัวนายทุนเองก็มั่นใจว่ายังไงก็ได้แน่ ไม่มีใครกล้าจัดการเลยลงทุนไปเต็มที่ เมื่อเขาไม่กลัวอะไร ก็ยิ่งทำให้เขาทำต่อ ทางกฎหมายก็ยังแก้ไขไม่ได้ มันเลยอีรันพันตุงกันแบบทุกวันนี้"

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ผมไม่อยากให้มองว่าวิธีการเฉือน หรือตัดพื้นที่ตรงนี้เป็นวิธีที่มีสูตรเดียว ต้องหาวิธีพิจารณาที่รอบคอบและเหมาะสมกับทุกฝ่ายจริงๆ คนทำผิดก็ควรได้รับโทษ เพื่อให้กลายเป็นมาตรฐานเดียว

'ภาณุเดช เกิดมะลิ' ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
'ภาณุเดช เกิดมะลิ' ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ไม่ควรแก้ปัญหาแบบเหมาเข่ง : 

บอย ภาณุเดช บอกว่า ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เสนอแนวทางพิจารณาพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม โดย กลุ่มที่ 1 เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน มีเนื้อที่ประมาณ 60,000 ไร่ กินบริเวณ อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) และ โครงการการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ (พมพ.) เนื้อที่ประมาณ 80,000 ไร่ กินพื้นที่ อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี และ กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 มีเนื้อที่ประมาณ 125,000 ไร่ กินพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

"ไม่ควรนำกลุ่มราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ หรือกลุ่มราษฎรผู้อาศัยในป่าที่ควรได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง มารวมกับกลุ่มผู้กระทำผิดหรือผู้บุกรุกเพิ่มเติม เพราะการมัดรวมพร้อมกันแล้วเพิกถอนทีเดียว 2.6 แสนไร่ ผมว่ามันไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องต่อทุกฝ่าย"

"ในกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีการบุกรุกใหม่ พวกเปิดพื้นที่เพื่อก่อตั้งรีสอร์ต หรือพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ที่มันไม่ใช่วิถีปกติของคนบริเวณนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เหมารวมแล้วเพิกถอนไปเลย ส่วนประเด็นที่มีการออกมาบอกว่าทำไปแล้วสี่ร้อยห้าร้อยคดี ผมว่ามันไม่ใช่นะ ต้องมีการตรวจสอบโดยละเอียดมากกว่านั้น"

เครดิตภาพ : เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เครดิตภาพ : เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

กรณีที่ อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า 2.6 แสนไร่ ที่จะปรับแนวเขตเป็นพื้นที่ทำกินแล้ว ไม่ใช่พื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่ป่าจะยังมีการดูแลเหมือนเดิม บทสัมภาษณ์ดังกล่าว ปธ.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความคิดเห็นว่า

"อาจจะดูตอบง่ายไปนิดนึง เพราะการตอบเช่นนี้อาจทำให้ตีความได้ว่า ถ้าพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในป่าทั่วประเทศไม่มีสภาพเป็นป่า จะเข้าหลักเกณฑ์นี้ทั้งหมดหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาก็มีพื้นที่ลักษณะแบบนี้ให้เห็นอยู่ เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด หาดเจ้าไหม หรือที่เชียงใหม่"

ภาณุเดช กล่าวต่อว่า ผมขอเรียบนแบบนี้แล้วกันว่า ถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ อาจจะต้องทบทวนแนวเขตลงรายละเอียดให้ชัดเจนถึงปัญหาแต่ละกลุ่มว่าจะจัดการยังไง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และต้องคำนึงถึงสถานะมรดกโลกและพื้นที่อุทยานฯ ด้วย

เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park
เครดิตภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park

สถานะมรดกโลกเสี่ยงถูกแขวน! : 

ทีมข่าวฯ ถามว่า หากมีการปรับแนวเขตจะส่งผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกหรือไม่?

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความคิดเห็นว่า ในมุมผมคิดว่ามีผลกระทบ เพราะพื้นที่ที่ถูกเพิกถอนบางส่วนอยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างเขาใหญ่กับทับลาน ซึ่งเป็นเขตมรดกโลกอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องประเมินด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง 

"กรรมการมรดกโลกเขาคงมีความกังวล เพราะเคยมีข้อสอบถามความเห็น ให้ประเทศไทยเข้าไปชี้แจงข้อมูลเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ ในช่วงที่ผ่านมามันยังไม่มีรูปธรรมว่าจะเพิกถอนชัดเจน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจนว่าจะเพิกถอน 2.6 แสนไร่"

ผมคิดว่าเดี๋ยวคณะกรรมการมรดกโลกคงต้องมีการขอข้อมูลให้ไทยไปรายงานสภาพปัญหา เขาคงจะดูว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไทยกำหนดไว้ จะทำให้การเป็นมรดกโลกของพื้นที่นี้ลดคุณค่าลงหรือเปล่า หรือการเพิกถอนนี้จะส่งผลกระทบต่อคุณค่าของระบบนิเวศหรือไม่ 

"ถ้ามันมีผลกระทบเขาอาจจะแขวน ซึ่งแขวนคือการจับติดแบล็กลิสต์เอาไว้ ถ้าเป็นแบบนั้นไทยก็จะต้องแก้ปัญหา โดยหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้คุณค่าเชิงนิเวศในพื้นที่ลดลง หรือถ้าแก้ไม่ได้ก็จะนำไปสู่การเพิกถอนสถานะมรดกโลกในที่สุด".

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :