#Saveทับลาน กลายเป็นแฮชแท็กสนั่นโซเชียล หลังเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านออนไลน์ กรณี ปรับปรุงแนวเขต "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ที่ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น แต่ถ้าผ่าน จะสูญเสียพื้นที่อุทยานไป 2.6 แสนไร่ ด้าน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมาคัดค้าน กระบวนการพิจารณาแบบเหมาเข่ง และเสี่ยงที่จะกลายเป็นโมเดล ให้พื้นที่อื่นที่มีข้อพิพาทในลักษณะเดียวกัน ใช้เป็นแนวทางการการรุกล้ำพื้นที่ป่า ส่งผลให้ระบบการอนุรักษ์ป่าของไทยล่มสลาย
แม้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น กรณี ปรับปรุงแนวเขต "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ตามมติคณะรัฐมนตรี มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ทำให้อุทยานฯ มีพื้นที่ลดลงกว่า 265,000 ไร่ เบื้องต้นมีการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะกลุ่มนักอนุรักษ์ และผู้สนใจด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาแสดงความเป็นห่วง ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการออกเป็น ส.ป.ก.ให้กับนายทุน
"ภานุเดช เกิดมะลิ" ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปรับปรุงแนวเขต "อุทยานแห่งชาติทับลาน" มีการเปิดเวทีรับฟังในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครราชสีมา ผ่านไปแล้ว ส่วนการเปิดรับฟังความเห็นผ่านออนไลน์ ถึงวันที่ 12 ก.ค.67 หากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะส่งผลกระทบดังนี้
...
พื้นที่อุทยานทับลาน มีกระบวนการแก้ปัญหากับประชากรในพื้นที่มาตลอด ปัจจุบันมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 ในการอนุญาตให้ประชาชนสามารถทำกินในพื้นที่ได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทาง คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ไม่ได้นำมาใช้ โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ยืนยันความเห็นมาตลอดให้ใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คทช. ยืนยันจะใช้แผนที่ One Map ที่จะใช้ในการเพิกถอน และไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จก็ส่งไปให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ที่มีหน้าที่แค่รับทราบ ว่าคณะรัฐมนตรีมีการเห็นชอบตาม คทช.
“เดิมเราใช้ พ.ร.บ.อุทยานในการแก้ไขมาตลอด แต่วันนึงถูกเบี่ยงมาใช้ แนวทางของ คทช. ที่จะมาแก้ปัญหา โดยใช้แนวทางการเมือง ที่ให้มติคณะรัฐมนตรีในการให้ความเห็น และนำมติมากดดันคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในการให้เป็นเพียงผู้รับทราบ นี่จึงกลายเป็นข้อกังวล ที่อาจจะกลายเป็นโมเดลให้ พื้นที่อนุรักษ์อื่นที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมแล้ว 4 ล้านกว่าไร่ทั่วประเทศ จะนำโมเดลนี้ไปใช้ในการไปขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งจะทำให้งานอนุรักษ์ในไทยล้มเหลว"
พื้นที่ทับลานถือเป็นหัวใจของพื้นที่ป่าดงพญาเย็น เนื่องจากเป็นป่าที่อยู่จุดกึ่งกลางที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และพื้นที่ดงใหญ่ ปางสีดา และอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ตะวันออก ซึ่งในพื้นที่ป่าโซนนี้พบ เสือโคร่งไม่ต่ำกว่า 20 ตัว และมีการเคลื่อนย้ายแหล่งหากินในป่ารอยต่อทับลาน ดงใหญ่ และปางสีดา แต่ยังไม่ข้ามไปพื้นที่เขาใหญ่
การผลักดันให้พื้นที่ป่าโซนนี้ เป็นมรดกโลก เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการทำอุโมงค์ให้สัตว์ป่าสามารถเคลื่อนย้ายไปยังเขาใหญ่และทับลาน ซึ่งเราคาดหวังว่าสัตว์ป่าจะข้ามไปมา และทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ ทำให้ได้รับมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่การเพิกถอนพื้นที่ทับลาน จะทำให้คณะกรรมการมรดกโลกถอนการรับรองได้
แต่การจะเพิกถอนพื้นที่ทับลาน จะทำให้ตัวป่าถูกแบ่งไปโดยปริยาย โดยพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ โยนไปให้กฎหมายของ ส.ป.ก. บังคับใช้ ซึ่งทำให้การจัดการพื้นที่โดยที่เจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมกับชาวบ้านตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 ยากมากขึ้น และอาจทำให้คณะกรรมการมรดกโลกถอนพื้นที่ป่าแห่งนี้จากการเป็นมรดกโลก
...
ด้านพื้นที่ที่มีการสำรวจพบว่า มีพื้นที่ "ส.ป.ก. งอกเพิ่มขึ้น" จากอดีตที่เคยมีการสำรวจไว้ ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่บุกรุก โดยหลายพื้นที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี และบางจุดคดีสิ้นสุดแล้ว ตัดสินให้มีการรื้อถอน ปล่อยฟื้นคืนสภาพธรรมชาติ แต่บางคดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ ขณะที่บางคดีอยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล ดังนั้น การจะเหมาเข่งเขตพื้นที่นี้ออกจากพื้นที่อุทยานทับลานทั้งหมด จะมีผลกระทบทันทีต่อเจ้าหน้าที่ที่เคยเข้าไปดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะถูกฟ้องกลับ หรือมีผลต่อรูปคดี ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่หลายแปลงที่มีปัญหา และจะเป็นพื้นที่ตัวอย่าง ให้พื้นที่อื่นที่เจ้าหน้าที่เคยไปดำเนินคดี ซึ่งจะมีผลต่อคดีในลักษณะนี้ทั่วประเทศ
...
จัดการพื้นที่ควรแบ่งเป็น 3 ระดับ
แม้พื้นที่ในการยื่นขอปรับปรุงแนวเขตอุทยานทับลาน ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณของอุทยาน แต่ "ภานุเดช" มองว่า พื้นที่ป่าแนวรอยต่อบางส่วนจะเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อกับเขาใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่เส้น 304 ตลอดแนว ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า
“เราไม่เห็นด้วยที่จะทำแบบเหมาเข่ง โดยการเพิกถอนพื้นที่อุทยาน แล้วไปให้ ส.ป.ก.จัดการ ซึ่งจริงแล้วพื้นที่สำรวจของกรมอุทยานฯ ไม่ถึง2.6 แสนไร่ และควรมีการแยกผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และจัดการเป็นกลุ่มไป ไม่ควรจะจัดการแบบเหมาเข่ง"
โดยการจัดการผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ควรแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้
1.กลุ่มที่อยู่ในการปฏิรูปที่ดิน โดยมีการประกาศ ส.ป.ก. มาก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ โดยเฉพาะพื้นที่แถว อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี อ. ปักธงชัย มีพื้นที่ประมาณ 6 หมื่นไร่ ซึ่งเห็นด้วยหากมีการเพิกถอนและให้สิทธิคนที่อยู่มาก่อน เพราะเป็นสิทธิที่เขาควรได้รับ
2.ชาวบ้านที่มีการขยายพื้นที่ออกมาจากแนวเดิม ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เสิงสาง มีอยู่ประมาณ 6 หมื่นไร่ ควรนำ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 มาใช้ในการแก้ปัญหาร่วมกัน และพยายามให้ชุมชนมามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบ
...
3. กลุ่มที่มีการเข้าไปครอบครองพื้นที่ใหม่ หลังปี พ.ศ.2557 มีประมาณ 1.5 แสนไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.วังน้ำเขียว และเส้น 304 จึงต้องมีการทำข้อมูลพื้นที่ให้ชัดเจน แล้วให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาการแก้ปัญหา โดยใช้กระบวนการการเมืองมาช่วยหาแนวทางในการบริหารจัดการเพื่ออยู่ร่วมกัน แต่ไม่ควรพิจารณาแบบเหมาเข่ง.