แพลตฟอร์มไม่นับไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ชี้ กสม. เสนอมติความเห็นถึงกระทรวงแรงงานแล้ว เชื่อรอบริษัทอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกฎหมายออกบังคับ 

ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ โควิด-19 ส่งผลคนไทยคุ้นชินกับการใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ตั้งแต่สั่งอาหารไปจนถึงส่งของชิ้นน้อยใหญ่ ซึ่งมี 'ไรเดอร์' (Rider) เป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ 

แต่คุณหารู้หรือไม่ ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่นับไรเดอร์เป็นลูกจ้างหรือพนักงาน ทั้งที่บริษัทมีอำนาจลงโทษและควบคุมการกระทำต่างๆ ประเด็นนี้ส่งผลให้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มีมติลงความเห็นว่า…

"การเปิดรับสมัครไรเดอร์เข้าทำงาน โดยไม่ถือว่าเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ไรเดอร์ไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงาน เป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน"

...

ปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเจอ : 

เรื่องนี้ คุณสมชาย หอมลออ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ว่า ปัญหาที่ไรเดอร์เจออยู่ขณะนี้ คือการไม่ได้รับวินิจฉัยโดยศาลว่ามีฐานะเป็นลูกจ้างของเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีหลักประกันค่าจ้างขั้นต่ำ แต่โดยทั่วไปไรเดอร์จะมีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงอาจไม่เป็นปัญหามากนัก แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องวันหยุด วันลา สวัสดิการต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่น ทำงานโดยไม่ได้รับโอที (OT) 

ที่สำคัญ คือ ไรเดอร์ไม่สามารถเป็นผู้ประกันตน ในกองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกับลูกจ้างอื่น ซึ่ง การเข้าเป็นผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างอื่นๆ นายจ้างจะออกเบี้ยประกันให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนลูกจ้างจะถูกหักเบี้ยประกันไปอีกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าในกรณีนี้ หากต้องการเข้าเป็นสมาชิก หรือเป็นผู้ประกันตนตามกองทุนประกันสังคม ไรเดอร์จะต้องจ่ายเองทั้งหมด

"เรื่องที่ผมมองว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือ ไรเดอร์ส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ ทำให้มักประสบอุบัติเหตุ บางคนอาจจะได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิต นั่นทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งกับตัวเขาเองและครอบครัว อีกทั้งไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากกองทุนเงินทดแทน เพราะผู้จะได้รับสิทธิตามกองทุนนี้ นายจ้างจะต้องนำรายชื่อลูกจ้างเข้าสู่กองทุน และนายจ้างต้องจ่ายเงินคล้ายกับเบี้ยประกัน"

การเปิดรับไรเดอร์โดยไม่ถือว่าเป็นลูกจ้าง ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างไร ทีมข่าวฯ ถาม

คุณสมชาย ให้คำตอบว่า เรื่องหลักๆ ที่สำคัญ เช่น สิทธิในการสมาคม พวกเขาจะตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้ สิทธิในการต่อรองกับนายจ้างก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือสิทธิในการทำงานอย่างปลอดภัยก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น อุบัติเหตุต่างๆ

ผมยกตัวอย่างว่า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจะกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างว่าไม่เกินวันละกี่ชั่วโมง หรือจะมี OT ก็ได้ แต่ก็จะกำหนดว่าไม่เกินกี่ชั่วโมงเช่นกัน แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้มีการบังคับใช้กับไรเดอร์ โอกาสที่ไรเดอร์จะประสบอุบัติเหตุเพราะทำงานหนัก จนส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้อื่นก็อาจเกิดขึ้น

...

ในเมื่อกฎหมายไม่คุ้มครองจุดนี้ แต่ไรเดอร์ก็ยังสามารถเลือกขับตามจำนวนเวลาที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานระบุไว้ได้ไม่ใช่หรือ? 

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายฯ ตอบรับว่า ก็ทำได้… แต่โดยปกติถ้าเป็นลูกจ้างก็จะได้โอทีด้วย อย่างกฎหมายจะให้ทำงานประมาณ 7-8 ชั่วโมง แต่ถ้างานอันตรายแบบนี้เขาควรจะลดเวลาลง และถ้าทำงานเกินเวลา ไรเดอร์จะได้รับการชดเชยเป็น OT 

"หากเป็นแบบนี้ จะทำให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และน่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่การที่เขาไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เขาจึงต้องทำงานหนักมากเกินไป ซึ่งเป็นพิษเป็นภัยกับเขา และต่อผู้อื่น"

กฎหมายยังไม่ทันต่อการพัฒนา : 

คุณสมชาย มองว่า ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของไรเดอร์ เป็นปัญหาทั้งตัวกฎหมาย และการวินิจฉัยของศาล ซึ่งอาจจะถือว่ายังไม่ทันต่อพัฒนาการรูปแบบใหม่ ของการจ้างงานในยุคดิจิทัล ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหา ต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้คุ้มครองส่วนที่เป็นไรเดอร์ด้วย หรือศาลต้องวินิจฉัยและตีความ โดยไม่ยึดติดอยู่กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่วินิจฉัยยว่าไรเดอร์เป็นผู้รับจ้าง แทนที่จะวินิจฉัยว่าเป็น 'ลูกจ้าง'

...

ทั้งนี้จริงๆ แล้ว ตามอนุสัญญา ILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ถือว่าไรเดอร์เป็นผู้ใช้แรงงาน เมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐก็ต้องให้การคุ้มครอง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานโดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่อำนาจการต่อรองน้อย เพราะนายจ้างหรือเจ้าของแพลตฟอร์มจะมีอำนาจต่อรองมากกว่า ดังนั้น รัฐจึงต้องออกกฎหมายมาคุ้มครองคนทำงาน หรือผู้ใช้แรงงาน 

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายฯ ระบุต่อไปว่า ผมมองว่าตอนนี้กฎหมายไทยยังก้าวตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง การตีความของศาลยังไม่ได้ตีความในเชิงของการคุ้มครองคนด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง คนเล็กคนน้อย ซึ่งการตีความเช่นนี้ทำให้ไรเดอร์ไม่เป็นลูกจ้าง 

"เมื่อไม่เป็นลูกจ้างจะไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ ส่งผลให้อำนาจการต่อรองที่มีต่อเจ้าของแพลตฟอร์มน้อยตามไปด้วย หรือถ้ามีการต่อรอง การดำเนินการนั้นก็อาจจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นี่เป็นปัญหาที่ทำให้อำนาจการต่อรองของไรเดอร์ในฐานะผู้ใช้แรงงานอ่อนแอ"

กสม. เสนอความเห็นต่อกระทรวงแรงงาน : 

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า หลังมีมติความเห็นข้างต้น ทาง กสม. มีการดำเนินการอย่างไรต่อไปบ้าง?

...

คุณสมชาย หอมลออ กล่าวว่า อำนาจของ กสม. มีเพียงการเสนอความเห็นและเสนอข้อเสนอแนะ เท่าที่ผมทราบตอนนี้ ทาง กสม. ได้เสนอความเห็นนี้ไปทางรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงแรงงานบอกมาว่าพยายามแก้ไขกฎหมายอยู่ แต่จะเป็นการออกอีกกฎหมายหนึ่ง โดยกำลังร่างกฎหมายแล้ว และพยายามจะเสนอไปทางรัฐบาลเพื่อเข้าสู่สภา

"กระทรวงแจ้งว่ากำลังแก้กฎหมาย แต่เป็นกฎหมายอีกชุดหนึ่ง ที่ยังไม่ถือว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้าง แต่อาจจะมีการคุ้มครองไรเดอร์เป็นพิเศษ เช่นเดียวกับผู้ทำงานอิสระอื่นๆ (freelance) แต่ในทางส่วนตัวผมยังมองว่า กฎหมายเท่านี้อาจจะยังไม่เพียงพอ"

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของ กสม. แสดงความคิดเห็นว่า จริงๆ แล้วในทัศนะของผม เห็นว่าไรเดอร์เป็นหนึ่งในผู้ใช้แรงงาน ฉะนั้น ตามหลักการของ ILO เขาควรได้รับการคุ้มครองตามหลักการของผู้ใช้แรงงานเช่นเดียวกับลูกจ้างอื่นๆ แต่ถ้ากฎหมายยังระบุให้ไรเดอร์เป็นผู้ทำงานอิสระ ก็อาจจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน 

ถ้าไม่ได้คุ้มครองเขาในฐานะลูกจ้าง อาจจะมีข้อปัญหาบางเรื่องตามมา เช่น จัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้ หรือถ้าจัดตั้งได้ก็จะเป็นสหภาพที่ไม่สามารถไปร่วมกับสหภาพอื่นได้ ทำให้อำนาจต่อรองไม่สูง

แสดงว่าถ้าระบุให้ไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระ อาจมีบางเรื่องดีขึ้น แต่ปัญหาเดิมก็อาจจะมีอยู่?

คุณสมชาย ตอบทันทีว่า "ใช่ครับ" เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาเชิงระบบ แต่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องเฉพาะหน้าไป ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาทางโครงสร้างกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย เพราะจริงๆ แล้วเราไปยึดติดกับการมีแค่กฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน

"เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้มองว่าไรเดอร์มีฐานะเท่าเทียมกับแพลตฟอร์ม ที่ไม่ต้องมีการคุ้มครองอะไรมากเป็นพิเศษ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ดังนั้น จะมีกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกฎหมายเพื่อคนด้อยโอกาส หรือคนที่มีอำนาจในการต่อรองน้อย เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น"

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของ กสม. เสริมว่า ผมเสนอแนะไปที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า จริงๆ แล้วในความเห็นผม ไรเดอร์มีฐานะเป็นลูกจ้างในทางกฎหมาย ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ควรที่จะวินิจฉัยไปแนวนี้เสนอข้อเท็จจริงให้ชัดเจน และพยายามเสนอต่อศาลให้วินิจฉัยให้ได้ว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้าง

ถ้าวินิจฉัยได้ว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ก็ไม่ต้องแก้กฎหมายมากมาย หรืออาจจะไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ กรณีที่ไม่ได้จริงๆ ก็ควรแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้คลุมถึงไรเดอร์และผู้ใช้แรงงานอิสระด้วย เพื่อให้แรงงานแรงงานเหล่านี้ สามารถจัดอยู่กลุ่มเดียวกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจอื่นๆ และทำให้พลังในการต่อรองของแรงงานมีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีลักษณะที่แยกส่วนเป็นกลุ่มๆ จนทำให้พลังในการต่อรองกับนายจ้างอ่อนแอ

แพลตฟอร์มต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน : 

เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน คำตอบของคำถามนี้ คือ เจ้าของแพลตฟอร์มจะต้องมีนโยบาย หรือความสำนึกในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของประเทศไทยอยู่แล้ว ที่เดินตามแนวทางของสหประชาชาติ ซึ่งมีการกำหนดและเสนอแนะว่า หากภาคธุรกิจจะดำเนินการประกอบธุรกิจ ต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย แต่สุดท้ายแล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงนโยบาย แต่ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย

"ฉะนั้น ถ้าแพลตฟอร์มใดที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เขาก็จะไม่ได้สนใจจุดนี้ แต่มุ่งไปที่ประโยชน์สูงสุด นั่นก็คือ 'กำไร' ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าแพลตฟอร์มต่างๆ มีกำไรมากมาย แต่ให้ความสนใจไรเดอร์ หนึ่งในผู้สร้างกำไรแก่เขาน้อยมาก"

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของ กสม. กล่าวต่อว่า อาจจะมีบางแพลตฟอร์มที่ทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุให้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอและมีน้อยแห่งมากที่ทำเช่นนี้ ทำให้ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะอาศัยเพียงจิตสำนึกของเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ได้ แต่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อบังคับ และคุ้มครองคนที่เป็นผู้ใช้แรงงาน

ยังไม่มีแพลตฟอร์มใดนับไรเดอร์เป็นลูกจ้าง : 

เราสงสัยว่า ขณะนี้มีแพลตฟอร์มใดหรือไม่ ที่มีแนวโน้มให้ไรเดอร์เป็นลูกจ้างหรือพนักงาน คำตอบคือ "ไม่มีเลยครับ" คุณสมชาย กล่าว ก่อนจะเสริมว่า ไม่มีแพลตฟอร์มไหนกำหนดหรือยอมรับ ให้ไรเดอร์เป็นลูกจ้าง เพราะถ้าเขากำหนดหรือยอมรับตรงนี้ เขามองว่าต้องมีภาระเพิ่มขึ้น เช่น ต้องส่งรายชื่อลูกจ้างพร้อมกับเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม หรือส่งรายชื่อและเงินเข้ากองทุนทดแทน ในกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน นี่เป็นแค่ตัวอย่างนะครับ

"หากเขาต้องทำอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรมาก เพียงแต่ว่ากำไรจะน้อยลง แต่ก็ไม่ได้น้อยลงเยอะเท่าไร เพราะการจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่ได้มากมายอะไร" ผู้ทรงคุณวุฒิฯ แสดงความคิดเห็นกับเรา

สมชาย หอมลออ
สมชาย หอมลออ

คุณสมชาย หอมลออ แสดงความห่วงใยว่า การที่คณะกรรมการให้ความเห็นไปเช่นนั้น เพราะเราไม่ได้คิดถึงแค่ประโยชน์ของไรเดอร์อย่างเดียว แต่เราคิดถึงประโยชน์ของประชาชนทั่วไปด้วย สมมติไรเดอร์คนหนึ่งขับรถไปชนผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ ปกติคนที่ได้รับบาดเจ็บควรจะเรียกร้องค่าเสียหายจากแพลตฟอร์มได้ 

"ถ้าเรียกร้องจากไรเดอร์อย่างเดียว ไรเดอร์จะเอาเงินที่ไหนไปช่วยเขา แต่การที่ศาลวินิจฉัยว่าไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้าง จึงทำให้มีปัญหาว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากรถของไรเดอร์ สามารถเรียกร้องจากแพลตฟอร์มได้หรือเปล่า เพราะไรเดอร์ไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้าง"

.........


อ่านบทความที่น่าสนใจ :