กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ และสร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมากในกลุ่มคนรักสัตว์ เมื่อต้องทำการการุณยฆาต หรือฆ่าทิ้งนกยูงอินเดียสีขาว และนกยูงสายพันธุ์ผสม ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จากการเสนอของผู้เชี่ยวชาญเรื่องนก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กับนกยูงไทยแท้ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ จนมีการประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์ป่าโป่งช้างเผือก หรือหอนกยูง เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2567 

แต่การล่าตัวนกยูงอินเดียสีขาว ซึ่งหากินปะปนร่วมกับฝูงนกยูงไทยประมาณ 10 ตัว ด้วยการวางกรงดักยังไม่สามารถจับตัวได้ เนื่องจากนกยูงอินเดียสีขาวมีความว่องไว ก็ต้องฆ่าทิ้ง เหมือนกับหลายประเทศที่ทำกัน ไม่ให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศ เนื่องจากนกยูงสายพันธุ์ผสม หากเป็นนกยูงที่อ่อนแอ จะถ่ายทอดความอ่อนแอสู่นกยูงไทยแท้ จึงไม่สามารถปล่อยไปได้ เป็นเหตุผลสำคัญที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาชี้แจง  

ผสมข้ามสายพันธุ์ เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ทำลายระบบนิเวศหนัก

...

อีกหนึ่งคนที่ออกมาอธิบายในเรื่องนี้ ถึงความจำเป็นต้องฆ่านกยูงอินเดีย  “ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์” นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า ในป่าอนุรักษ์ต้องการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งการผสมข้ามสายพันธุ์ จะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ทำให้ลูกที่เป็นพันธุ์แท้หายไป เป็นการทำให้ให้สัตว์ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ สูญพันธุ์ และทำให้ระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลง เพราะปกติแล้วสัตว์จะมีวิวัฒนาการเป็นล้านๆ ปี เมื่อข้ามสายพันธุ์ ก็จะเกิดลูกผสม

“นกยูงอินเดียตัวสีฟ้าใหญ่กว่า ส่วนนกยูงไทยสีเขียวตัวเล็กกว่า เป็นสายพันธุ์คนละกลุ่มกัน อย่างกับลิง ก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น ลิงแสม ลิงกัง พอมาผสมสายพันธุ์กัน ทำให้พันธุ์ดั้งเดิมหายไป ก็จะถูกขับออกจากฝูง ไม่ต่างจากนกยูง และถ้านกยูงอินเดียตัวผู้ มีความสมบูรณ์กว่านกยูงไทยตัวผู้ ก็อาจทำให้นกยูงไทยตัวเมีย เลือกผสมพันธุ์กับนกยูงอินเดีย จนทำให้นกยูงไทยพันธุ์ดั้งเดิมหายไป หรือกรณีลิง แม้ตามธรรมชาติ ลิงจะไม่ผสมข้ามสายพันธุ์ ยกเว้นพื้นที่จำกัด ก็ต้องผสมพันธุ์”

สมมตินกยูงไทยไปผสมพันธุ์กับนกยูงอินเดีย แล้วลูกที่ออกมามีความแข็งแรง ก็จะกลืนสายพันธุ์เป็นสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาแทนที่ในผืนป่า ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ กระทบต่อสัตว์ผู้ล่านกยูง อย่างสุนัขจิ้งจอก ชะมด อีเห็น จะไล่ล่านกยูงเป็นเหยื่อ หากข้ามสายพันธุ์ก็จะไม่มีเหยื่อกินเป็นอาหาร กลายเป็นผลกระทบต่อวงจรห่วงโซ่อาหาร หรือดูเหมือนว่านกยูงอินเดียตัวเดียวไม่น่าทำอะไรได้ แต่แค่ตัวเดียวทำลายระบบนิเวศได้ และนกยูงที่ต่างสายพันธุ์ ก็กินธัญพืช ต้นไม้ ใบหญ้าที่แตกต่างกัน ไม่เหมาะกับระบบนิเวศ ต้องใช้เวลาวิวัฒนาการเป็นล้านๆ ปี

ฤดูฝนนกยูงเริ่มจับคู่ จับตัวไม่ได้ ก็ต้องฆ่า ก่อนสายเกินไป

สันนิษฐานว่า นกยูงอินเดียที่พลัดหลงเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เกิดจากการขนส่งเคลื่อนย้ายด้วยน้ำมือมนุษย์ ทำให้เกิดความเสียหาย จนถึงขณะนี้ไม่สามารถจับตัวนกยูงอินเดียได้ เพราะป่าห้วยขาแข้ง มีเนื้อที่กว้างมาก 1 ล้าน 7 แสนไร่ และช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่นกยูงเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 30 วัน หากไม่สามารถจับได้ หรือการุณยฆาตได้ จะเสียหายหนักมาก อย่างประเทศออสเตรเลีย ก็เปิดให้มีการล่าจิงโจ้ เพื่อควบคุมประชากรจิงโจ้ เป็นวิธีการหนึ่งของการจัดการ เพื่อรักษาระบบนิเวศ

“ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไรในการบริหารจัดการ เพื่อให้เสียหายให้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับการกำจัดนกยูงอินเดีย ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าฯ จะรักษาระบบนิเวศให้เสียหายน้อยที่สุด จากเอเลี่ยนสปีชีส์ อาจสะเทือนใจคนรักสัตว์ แต่ก็ต้องเข้าใจ เพราะจริงๆแล้วเขาไม่อยากฆ่า ถ้าจับได้ก็คงจับได้แล้ว อีกทั้งเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ จนเกิดความกังวลเกรงว่าจะมีการผสมข้ามสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องใหญ่มาก”

...