ปลาหมอคางดำ หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ แพร่กระจายหนักลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จนต้องปิดเมืองล่า! หลังคนเลี้ยงกุ้งกระทบหนัก ปลาประจำถิ่นถูกกินเรียบ ชาวบ้านสืบหาต้นตอปล่อยแหล่งน้ำ วอนรัฐเร่งจัดการ เพราะเดือน ก.ย.-ต.ค. เข้าสู่ฤดูน้ำหลาก ยิ่งทำให้แพร่กระจายได้เร็วขึ้น เปิดรสชาติกินได้หรือไม่?

ไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่า ปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ เริ่มแพร่กระจายหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 1 ปี ที่ผ่านมา มีการแพร่กระจายรวดเร็วไปถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ จ.สงขลา ด้วยความที่ปลาหมอคางดำ มีอุปนิสัยดุร้าย ทำให้ไล่กัดกินปลาท้องถิ่น จนตายไปจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อกุ้ง มีปลาหมอคางดำติดมาด้วย และไล่กินกุ้งที่เกษตรกรเลี้ยง จนหลายคนขาดทุน ซึ่งถ้ามีการปล่อยให้แพร่กระจาย ยิ่งสร้างผลกระทบหนักให้กับคนในพื้นที่

พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เริ่มเห็นการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำมากขึ้น โดยชาวบ้านบางคนก็ไม่มีความรู้ นึกว่าเป็นปลาหมอทั่วไปที่อยู่ในท้องถิ่น ทำให้นำปลาหมอคางดำไปเลี้ยงกับปลาอื่น แต่ก็ถูกกัดกินตายหมด ขณะเดียวกันปลาประจำถิ่นเริ่มลดลง เช่น ปลากระดี่ ปลาช่อน ขณะชาวบ้านที่หว่านแหหาปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ก็ได้ปลาหมอคางดำจำนวนมาก ทำให้ปลาที่เป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน ไม่มีความหลากหลาย

...

“ตอนนี้กระทรวงเกษตรมีคำสั่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ที่เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นด่วน แต่ปกติการทำงานของราชการจะล่าช้า ทำให้ชาวบ้านกลัวว่า จะแก้ปัญหาไม่ทัน เลยอยากให้ภาครัฐประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น เนื่องจากเดือน ก.ย.-ต.ค. เป็นช่วงที่น้ำหลาก จะทำให้ปลาหมอคางดำแพร่กระจายไปตามแหล่งน้ำจุดอื่นในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง”

ไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช
ไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช

เช่นเดียวกับแหล่งน้ำบางจุดในพื้นที่เอกชน มีปลาหมอคางดำอยู่จำนวนมาก แต่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปจับมาทำลายได้ แต่ถ้าเกิดน้ำหลาก มีความเสี่ยงว่าปลาหมอคางดำในบ่อเอกชน จะแพร่ระบาดมายังแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเจรจากับเอกชน เพื่อรักษาระบบนิเวศท้องถิ่นในพื้นที่

ปลาหมอคางดำ ที่พบในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีทุกขนาด หนักสุดอยู่ที่ 3 ตัว 1 กิโลกรัม บางพื้นที่มีออกซิเจนต่ำ เห็นปลาหมอคางดำลอยมาหายใจเหนือน้ำจำนวนมาก มองด้วยสายตาน่าจะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 ตัน ซึ่งการขยายพันธุ์รวดเร็วของปลาหมอคางดำพบว่า 1 ปี สามารถขยายพันธุ์ได้ 13 ครั้งต่อ 1 ตัว และใน 1 ปี ปลาหมอคางดำตัวเมียสามารถผลิตลูกปลาได้ประมาณ 1 ล้านตัว ทำให้มีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

...

ปลาหมอคางดำ เปิดเมนูกินได้หรือไม่

เอเลี่ยนสปีชีส์ในไทย ปลาหมอคางดำ ชาวบ้านพยายามหาต้นตอที่ปล่อยลงแหล่งน้ำ "ไพโรจน์" กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีใครเคยเลี้ยงหรือนำเข้ามา มีการสืบหาต้นตอนำเข้ามาจากต่างประเทศ หลังจากนั้นมีการแจ้งหน่วยงานราชการว่าได้ทำลายปลาหมอคางดำที่นำเข้ามาทั้งหมด แต่พอปี 2556 พบปลาหมอคางดำแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ พื้นที่ เพชรบุรี สมุทรปราการ นครปฐม โดยแพร่กระจายไป 14 จังหวัด จนมาถึงลุ่มน้ำปากพนัง

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำที่หลุดเข้าไปในบ่อกุ้ง ทำให้ขาดทุนไปจำนวนมาก เพราะปลาหมอคางดำ อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม บางครั้งลูกปลาหมอคางดำ ก็ปะปนเข้าไปกับน้ำที่ถ่ายลงเข้าไปในบ่อกุ้ง ดังนั้น ถ้าหน่วยงานรัฐ ไม่มีการแก้ปัญหา จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่

...

ตอนนี้อยากให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ และมีการประกาศเขตภัยพิบัติที่เผชิญกับสัตว์น้ำต่างถิ่น เพื่อนำงบประมาณมาแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ปลาหมอคางดำ สามารถนำมาบริโภคได้เหมือนปลาทั่วไป เนื้อคล้ายปลานิล แต่อุปนิสัยของปลาเมื่ออยู่ในธรรมชาติจะดุร้าย ทำร้ายปลาชนิดอื่น ซึ่งเนื้อปลาสามารถนำไปแปรรูป เช่น กะปิปลา ปลาแดดเดียว ปลาส้ม ทอด

การจัดงานจับปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ ม.10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 14 ก.ค. นี้ เป็นการนำร่อง เพราะด้วยงบประมาณที่มีจำกัด สามารถทำให้รับซื้อได้กิโลกรัมละ 10 บาท และมีการทำเมนูปลาหมอคางดำมาให้ชิมฟรี ซึ่งในความเป็นจริงโรงงานทำปลาป่น รับซื้อปลาหมอคางดำแค่กิโลกรัมละ 5 บาท แต่การจะสร้างแรงจูงใจให้กับชาวบ้านช่วยกันกำจัดและนำมาขายต้องมีทุนทรัพย์จากหน่วยงานรัฐมาช่วย เพื่อให้เกิดการทำอย่างต่อเนื่อง.