คุยกับ 'วัลลภ เกียรติวรศรีกุล' ผอ.เขตสัมพันธวงศ์ แจงพื้นที่คลองโอ่งอ่างมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ บางเรื่องเขตมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสาน ชี้อยากให้ชุมชนมีความยั่งยืน ผู้ประกอบการยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง
สกู๊ป 'คลองโอ่งอ่าง' เดินทางมาถึงตอนที่ 3 กันแล้ว! หลังจากที่ EP. แรก ทีมข่าวฯ ได้ลงสำรวจพื้นที่ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน และนำคำถาม-ข้อสงสัยเหล่านั้น ส่งต่อถึง ผอ.เขต ผู้รับผิดชอบ โดยที่ผ่านมาเราได้คุยกับ 'นายโกศล สิงหนาท' ผอ.เขตพระนคร ไปแล้ว และวันนี้เป็นบทสัมภาษณ์ของ 'นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล' ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์
อ่านเพิ่มเติม : 'คลองโอ่งอ่าง' ไร้ต่อยอด กับปัจจุบันที่เหมือนไปเริ่มต้นใหม่
...
มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ :
เมื่อเริ่มเปิดประเด็นสนทนา ถึงเรื่องการพัฒนาคลองแห่งนี้ นายวัลลภ กล่าวอธิบายสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า ต้องบอกก่อนว่าคลองโอ่งอ่างเป็นพื้นที่แบ่ง 2 เขตของ กทม. คือ ระหว่าง เขตสัมพันธวงศ์ และเขตพระนคร ซึ่งยังมีคนเข้าใจผิดว่า คลองโอ่งอ่างอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ทั้งหมด ต้องขอชี้แจงว่าไม่ใช่แบบนั้น อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตพระนคร ของเราเป็นเพียงส่วนน้อย
ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนั้นในพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ยังมีหน่วยงานอีกหลายส่วนที่ร่วมกันรับผิดชอบ เช่น สนน. (สำนักการระบายน้ำ) เขาก็จะเป็นเจ้าของโครงการที่เกี่ยวกับเขื่อน คลอง หรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สนน. จะเป็นเจ้าของงบประมาณส่วนนั้น
"แม้เขต และ สนน. จะเป็นหน่วยงานของกรุงเทพมหานครเหมือนกัน แต่เขตอยู่ในฐานะเจ้าของพื้นที่ กรณีจะปรับปรุงเรื่องน้ำ หรือเขื่อนที่ชำรุด เรื่องจะอยู่ในความรับผิดชอบของ สนน. ส่วนน้ำที่เห็นเขียวๆ ไม่ใช่น้ำเน่าเสียนะ เป็นสีของตะไคร่น้ำ ถ้าน้ำเสียต้องเป็นสีดำและปลาจะอยู่ไม่ได้ อันนี้ปลาอยู่ได้"
ส่วนเรื่องขยะที่ลอยเห็นอยู่ในคลองนั้น นายวัลลภ กล่าวว่า ขยะอาจจะมีเห็นลอยอยู่บ้าง เพราะน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เข้าคลองโอ่งอ่าง จะมีทำนบกันไว้แล้วมีตะแกรงกันขยะด้วย ทำให้มันอาจจะมีหลุดมาบ้าง หรือบางครั้งก็เป็นขยะที่ปลิวลงไป แต่ขยะในน้ำมีน้อยมาก
ผอ.วัลลภ ชี้แจงการทำงานต่อไปว่า หรือเรื่องเสาไฟก็เป็นอีกหน่วยงานรับผิดชอบ อย่างที่เคยมีประชาชนในพื้นที่ แจ้งร้องเรียนไฟฟ้าเสียมาทางสำนักงานเขต ทางเราก็ได้ประสานงานแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ได้รับแจ้งมาว่า อุปกรณ์ที่เข้ามาติดตั้งคลองโอ่งอ่างตั้งแต่ยุคแรก เป็นวัสดุที่มาจากต่างประเทศ พอเวลาผ่านไป ไม่สามารถจัดหาวัสดุเหล่านั้นได้ จึงทำให้เกิดปัญหาว่าบางจุดไฟยังดับอยู่ ดังนั้น ต้องเรียนว่า ไม่ใช่หน่วยงานไม่ทำให้ แต่อาจจะต้องจัดหาอุปกรณ์ให้ได้ก่อน
"นี่เป็นเรื่องที่ผมได้รับแจ้งมานะ มันเลยเหมือนมีปัญหาว่าทำไมเขตไม่จัดการ แต่เขตเป็นเพียงเจ้าของพื้นที่" ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กล่าวย้ำกับทีมข่าวฯ ก่อนเสริมว่า สำหรับสำนักงานเขต จะรับผิดชอบดูแลด้านกายภาพอื่นๆ และเข้ามาทำความสะอาดไปเป็นรอบๆ
...
ส่งเสริมการท่องเที่ยว :
แม้เราจะยังไม่ได้เอ่ยคำถาม แต่ทางผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ก็กล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ณ คลองโอ่งอ่างว่า เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผมจะขออนุญาตพูดแค่ส่วนของเขตเรา ทางด้านเขตพระนครเราจะไม่ทราบข้อมูลและไม่สามารถตอบแทนได้
ส่วนของเราจะมีงบประมาณ ที่ทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจัดเข้ามาให้ โดยเราได้รับงบจากตรงนี้ส่วนเดียว ไม่มีจากส่วนอื่น เช่น ปีที่ผ่านมา เราได้รับงบประมาณมาจัดงานลอยกระทง ซึ่งมีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ แสดงความคิดเห็นว่า ในส่วนของการจัดกิจกรรมต่างๆ ถ้าพูดกันตามตรง เรื่องพวกนี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น ไม่มีทางที่จะสามารถจับเสือมือเปล่า ถึงอย่างนั้น ท่านผู้ว่าฯ ก็ให้นโยบายว่าลองไปหาวิธีการหาเงิน ว่าจะขอความร่วมมือภาคประชาสังคมได้อย่างไรบ้าง หรือเวลาเขตพระนครจะจัดงาน เขตสัมพันธวงศ์ก็ไปร่วมด้วย
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า เขตสัมพันธวงศ์ได้ทำ CSR ร่วมกับบริษัทเอกชนทั้งหมด 4 งานต่อปี ได้แก่ ลอยกระทง ปีใหม่ ตรุษจีน และสงกรานต์ ซึ่งอย่างสงกรานต์ที่ผ่านมา เราก็จัดตักบาตรทางน้ำไป ในส่วนของปลายปีนี้จะมีงานลอยกระทง สิ่งที่ผมจะนำเสนอคือเราไม่มีงบประมาณจัดกิจกรรม แต่ที่จัดได้เพราะทำ CSR
...
"อีกส่วนหนึ่งในเรื่อง กราฟฟิตี้ (Graffiti) พวกภาพวาดฝาผนังที่พังลงมา ต้องเรียนว่ามันเป็นการชำรุดตามกาลเวลา เพราะมันผ่านมาหลายปี ทางสำนักงานเขตก็ใช้งบประมาณในส่วนที่ ผอ.เขต สามารถสั่งใช้ได้สำหรับการซ่อมแซม"
"เรารื้อของเก่าออกทั้งหมด แล้วก็หาตัวผู้รับจ้างมาทำผนังใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างลงนามสัญญาแล้ว และเราก็มีคณะทำงานในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเขาอาสาเข้ามา เดี๋ยวก็จะมีการเฟ้นหาคนที่จะมาวาดภาพฝาผนังให้เราใหม่ ชดเชยของเก่าที่ผุผังตามกาลเวลา แต่ต้องใช้เวลาอีกนิดนึง" ผอ.วัลลภ กล่าวกับเรา
"ผู้ประกอบการต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง" :
นายวัลลภ กล่าวว่า ผมอยากให้มองแบบนี้ว่า ผู้ค้าต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย ในเรื่องของการจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจริงๆ อาจต้องมองว่าจะเปิดหรือปิดเวลาไหน เพราะสมมติว่าหกโมงเย็นปิดร้านหมดเลย คนที่มาเที่ยวเขาจะไม่มีแหล่งเที่ยว
"สิ่งที่อยากจะให้มีความยั่งยืน คือ ตัวผู้ประกอบการต้องยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง เนื่องจากจะไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนหากรัฐเข้าไปทำให้ เพราะรัฐมีงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง แต่พอถึงจุดนึงรัฐก็ต้องถอนตัวออกมา เพื่อให้ภาคประชาชนได้เข้มแข็ง เพราะเงินเป็นเงินของภาษีประชาชนทุกคน การที่จะเอาเงินก้อนหนึ่งมาลงให้ตลอด อาจจะเป็นเรื่องที่ดูไม่ถูกต้องสักเท่าไร รัฐอาจจะส่งเสริมได้ระยะหนึ่ง แต่คุณต้องรวมตัวกันต่อเพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้"
...
"ถ้าคุณจะขายอะไร อยากให้คนในพื้นที่เป็นผู้ริเริ่ม อาจจะลงขันกันพัฒนา อย่างตอนนี้เรื่องค่าไฟประดับก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะชำระ ส่วนแนวคิดที่ไม่นำร้านค้าภายนอกเข้ามา เพราะต้องการให้คนในพื้นที่ทำการค้าขายกันเอง การที่จะเอาผู้ค้าภายนอกเข้ามา มันจะไม่ใช่การส่งเสริมผู้มีถิ่นที่อยู่ตรงนั้น แต่ตอนนี้ร้านค้ายังอาจจะมีน้อย เลยดูไม่เหมาะสมเป็นแหล่งท่องเที่ยว"
เราถามต่อไปว่า หากจะจัดอีเวนต์ หรือตลาดทุกสุดสัปดาห์พอจะเป็นไปได้หรือไม่
ผอ.เขตสัมพันธวงศ์ ตอบว่า ถ้าจะจัดอีเวนต์ ต้องมีงบประมาณ อย่างปีนี้ก็ตั้งไม่ทันแล้ว เพราะพิจารณาไปแล้ว ถ้าจะมีก็ต้องรองบประมาณใหม่ ซึ่งทาง สก. เอง มีการผลักดันงบประมาณ ท่านก็อยากให้มีการจัด แต่ต้องดูปีนี้ก่อนว่าท่านจะสามารถจัดงบให้ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นนโยบายที่ต้องรอดู
ถึงชาวคลองโอ่งอ่าง :
ทีมข่าวฯ ถาม นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ว่า มีเรื่องใดอยากฝากถึงคนริมคลองโอ่งอ่างหรือไม่?
ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กล่าวว่า อยากให้ทางร้านค้ามองเรื่องการพัฒนาและต่อยอด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องคุณภาพอาหาร ฝีมือ รวมไปถึงการจัดระเบียบร้านค้าให้ดูสวยงาม จัดแบบมืออาชีพ อาจจะไม่ต้องดีมากมาย แต่ให้เป็นระเบียบ สวยงาม น่าเข้า น่าทาน
"เราต้องขอบอกว่ารัฐไม่สามารถสนับสนุนตลอดไปได้ อาจช่วยได้เพียงช่วงสั้นๆ อย่างภาคเอกชนก็ช่วยได้แค่ช่วงสั้นๆ เหมือนกัน เพราะเขาก็มีรายจ่ายของเขา ที่สำคัญที่สุดคือตัวเราเอง เราต้องพัฒนาตัวเองให้อยู่ให้ได้ ต้องรวมกลุ่มและทำเพื่อกลุ่มจริงๆ ถ้าทางชุมชน ชาวบ้านมีโครงการ เราก็พร้อมสนับสนุนในส่วนที่เราจะทำได้"
"ท่านผู้ว่าฯ ก็ตามตลอด และให้ความสำคัญกับที่นี่ ส่วนทั้ง 2 เขตที่ดูแลพื้นที่ ก็เชื่อมถึงและประสานงานกันเสมอ มีการประชุมด้วยกันตลอด และรับรู้เสมอว่าถ้าทางคุณ (เขตพระนคร) จัดงานอะไรเราจะเข้าไปร่วมด้วย เขตไม่ได้ทอดทิ้งคลองโอ่งอ่าง และดูแลอยู่ตลอด ด้านประชาชนอาจจะต้องให้ความร่วมมือด้วยกัน เราต้องมีการส่งเสริมระหว่างกันและกัน"
.........
ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี
อ่านบทความที่น่าสนใจ :