จ๋อลพบุรีแผลงฤทธิ์ลักลอบหนีจากกรง! หมอล็อตเผย "เป็นฉากทัศน์ที่เราคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว"
ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาของเดือนมิถุนายน ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ เทศบาลเมืองลพบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการดำเนินการจับ 'ลิงลพบุรี' บริเวณเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจ ก่อนจะนำไปไว้ในกรงบริเวณ สภ.ท่าหิน เพื่ออนุบาลบรรดาจ๋อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และคืนสวัสดิภาพความสุขสงบแก่ประชาชนในพื้นที่ หลังจากต้องทนอยู่กับวิกฤตินี้มาไม่ต่ำกว่าทศวรรษ
การดำเนินงานดูท่าจะไปได้ดี กรงมีคุณภาพ ไร้อุปสรรค แต่แล้วก็ต้องโอละพ่อ เพราะตั้งแต่ช่วงเย็นของวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 ได้มีลิงหลบหนีจากกรงจำนวน 30-40 ตัว จ๋อเหล่านั้นออกมาเดินสำราญใจตามถนน ปีนป่ายบ้านเรือนประชาชน บางส่วนรวมตัวกันบุกโรงพัก! เรียกได้ว่าสร้างความวุ่นวายและตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนในพื้นที่พอสมควร ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ต่างระดมกำลังจับจ๋อเข้ากรงอีกครั้ง โดยการดำเนินงานเต็มไปด้วยความทุลักทุเล
...
"เป็นฉากทัศน์ที่เราคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว" :
จากกรณีที่เกิดขึ้น 'นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน' หรือ 'หมอล็อต' หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวกับทีมข่าวว่าฯ "การที่ลิงจะหลุดหรือเล็ดลอดออกมา มันเป็นฉากทัศน์ที่เราคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว" ช่วงแรกของปฏิบัติการ จะเห็นได้ว่าเรามีการพยายามจับและเคลื่อนย้ายลิง มาไว้ในกรงเพื่ออนุบาล ส่วนช่วงนี้เป็นเวลาพักเพื่อตรวจสอบระบบของกรง ซึ่งในการเช็กระบบกรง จะใช้ 2 ระบบในการเช็ก
"ระบบหนึ่ง คือ คนเช็ก โดยจะมีเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ เดินเช็กว่าจุดไหนยังไม่สมบูรณ์และทำการปรับปรุง ส่วนอีกระบบ คือ ลิงเช็ก ซึ่งเราหวังผลมาก เพราะลิงจะทำให้เราเห็นชัดเจนว่าตรงไหนมีรอยรั่ว เราสามารถเข้าไปซ่อมแซมจุดตรงนั้นได้ อีกทั้งการที่ลิงจะหลุดหรือเล็ดลอดออกมา มันเป็นฉากทัศน์ที่เราคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว"
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มองว่า การออกของลิงไม่ได้ออกข้างนอกเพราะไม่มีความสุขแต่เขาซนเฉยๆ เนื่องจากถ้าออกเพราะไม่มีความสุข ลิงคงหนีไปนานแล้ว แต่หลายตัวกลับมาเพราะอาหารกับฝูงอยู่ที่นี่ (กรงลิง) เขาจะวนเวียนอยู่แถวนั้น ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ จะมีการตั้งกรงดัก มีทีมต่างๆ จับกลับเข้ามา ในขณะเดียวกันจุดไหนที่รั่ว เราก็ดำเนินการซ่อม เรารู้แล้วเพราะลิงเช็กให้
"เขาออกไปไม่ใช่ไม่มีความสุข ไม่ได้แหกกรง เพราะฉะนั้นต้องอย่าใช้คำว่าแหกกรง แต่ใช้คำว่า 'ความซนของเขา' ถ้าใช้แหกกรงมันจะให้ความรู้สึกว่า 'ปลดแอก' อยู่ไม่ได้เพราะเดือดร้อน แต่อันนี้เขาพยายามกลับเข้ามา บางตัวเข้ากรงไม่ได้ก็ร้องโวยวายอีก ร้องเจี๊ยกๆๆๆ ร้องเรียกเลย" หมอล็อตกล่าวพร้อมเลียนเสียงประกอบให้เราเข้าใจโดยง่าย
"เราคาดการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินไว้หลายแบบ" :
ทีมข่าวฯ สอบถามหมอล็อตว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ประชาชนในพื้นที่ใกล้สถานอนุบาลลิง มีความกังวลใจบ้างหรือไม่ คุณหมอให้คำตอบว่า ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้และเข้าใจ อย่างถ้าเขาเจอลิงอยู่ข้างนอกเขาจะโทรแจ้งเบาะแส ติดต่อเจ้าหน้าที่มาดำเนินการจับให้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก
"ชาวบ้านเขารู้อยู่แล้วว่าลิงที่เห็นเป็นลิงในกรง เพราะมันจะมีรอยสักตามจุดต่างๆ เช่น ที่คาง อก หรือแขน คราวนี้หลังจากเจ้าหน้าที่มาจับไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถเช็กได้ว่าเป็นลิงที่ออกมาจากกรงไหน ก็จะทำให้ตามไปซ่อมกรงที่ลิงหลุดออกมาได้อีก"
...
น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า ขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และมีข้อจำกัดที่ต้องเรียนรู้ ฉะนั้นผมว่าตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตระหนกหรือตกใจอะไร เพราะเราคาดการณ์อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น และมีมาตรการรองรับ
เราถามกลับทันทีว่า หากกล่าวเช่นนั้น แสดงว่าถ้ามีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่มีแผนรองรับทุกอย่างแล้วใช่หรือไม่ครับ?
"เรามีไว้อยู่แล้ว" หมอล็อตตอบกลับแทบจะทันท่วงทีเช่นกัน
"ตอนนี้เราคาดการณ์สถานการณ์ไว้เยอะมาก เราคิดไปถึงว่าหากเกิดวาตภัย เกิดไฟไหม้ จะต้องทำยังไง เราคาดการณ์แผนเผชิญเหตุที่คิดไม่ถึงไว้อยู่แล้ว นี่คือการทำงานที่เป็นระบบ เพราะฉะนั้นโดยนัยแล้ว ลิงออกมาแบบนี้เราก็ยิ้มได้หน่อย มันทำให้เรารู้ว่าจะซ่อมกรงตรงไหน"
"กรงมีมาตรฐานอยู่แล้ว" :
จากกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามในโลกโซเชียลว่า "ลิงแหกกรงได้แบบนี้ เพราะกรงไม่มีมาตรฐานหรือเปล่า?"
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน แสดงความคิดเห็นว่า กรงเนี่ย… อย่าไปมองว่าไม่มีมาตรฐาน หรือไม่มีความแข็งแรงใดๆ เพราะถ้ามีการโยก การดึง หรือการเขย่าซ้ำๆ มันก็เกิดการเสื่อมชำรุดได้ ลิงเขาซนเพราะเขาใช้นิ้วเป็นหลัก ทำให้สามารถแกะและขย่มได้หมด เพราะฉะนั้น มันไม่มีหรอกอะไรแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง แค่เราต้องคอยดู เรียนรู้ และปรับปรุงกันไป
...
"ยกตัวอย่างกระจกนิรภัยที่อยู่ตามบ้านที่บอกกันว่าโดนอะไรก็ไม่แตก แต่ถ้าเอาค้อนมาตีทุกวันสุดท้ายมันก็แตก เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่ากรงไม่มีมาตรฐาน มันมีเกณฑ์มีมาตรฐานที่เป็นขอบเขตของมันอยู่แล้ว แต่การดูแลเราก็ต้องเพิ่มบางสิ่งบางอย่างเข้าไปตลอด เรื่องนี้ต้องเรียนรู้และปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ อย่าลืมว่าลิงที่ไปอยู่เขาก็ซน"
หมอล็อต กล่าวเสริมต่อว่า เพราะฉะนั้นอย่าตกใจและอย่ากังวล มันเป็นแผนเผชิญเหตุที่เรามีความพร้อมเตรียมรับมือไว้อยู่แล้ว อย่างที่ผมบอกไปว่า เราใช้ลิงเป็นตัว QC เช็กระบบกรง ตรงนี้ก็จะช่วยให้เราได้สร้างมาตรฐานและสร้างเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น ในอนาคตถ้าจะมีการทำกรงในสถานที่อื่นๆ เราจะใช้บทเรียนจากแนวปฏิบัติที่ได้เรียนรู้พฤติกรรมของลิงตอนนี้ มาทำให้กรงเพิ่มเลเวลมาตรฐานมากขึ้นได้
"สถานการณ์แบบนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ลิงเรียนรู้เรา เราเรียนรู้ลิง ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ไปด้วยกัน" หมอล็อตกล่าวกับเรา
...
"มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบทุกวัน" :
หมอล็อต บอกกับทีมข่าวฯ ว่า ขณะนี้มีการเปิดใช้งานกรงลิงครบทั้ง 3 กรงแล้ว คือ กรง A, B และ C มีลิงอยู่ในกรงประมาณหนึ่งพันกว่าตัว การรองรับยังทำได้ดี กล่าวคือลิงมีความสุข อาหารพร้อม น้ำพร้อม ลงเล่นน้ำสนุกสนาน และปีนป่ายของเล่นอย่างมีความสุข
เราถามว่า 'จะมีการเพิ่มจำนวนลิงเข้าไปอีกหรือไม่?' คุณหมอตอบว่า เรากำลังคอยสังเกตกันอยู่ว่า ตอนนี้ที่มีอยู่เยอะหรือไม่เยอะ ผมถึงได้เรียนไปตั้งแต่ต้นว่า "ช่วงนี้เรากำลังพักการจับเพื่อเช็กระบบ" เป็นการพักเพื่อซ่อมแซมจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ กระทั่งถ้าเราอุดรอยรั่วได้แล้ว ก็จะต้องดูอีกว่ามีตรงไหนยังรั่วอีกหรือเปล่าเพื่อความแน่ใจ เราจะมีระยะเวลาในการเช็กระบบตรงนี้
'ต้องเช็กนานหรือไม่ ใช้เวลาเท่าไร?' เราถามขึ้นมา ด้านหมอล็อต ตอบว่า เราเช็กอยู่ตลอด มีเจ้าหน้าที่คอยเดินตรวจสอบ ถือว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่ต่างจากทำความสะอาดที่ต้องทำทุกวัน แล้วเดี๋ยวก็จะมีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม คอยดูและเรียนรู้พฤติกรรมลิง ในอนาคต เราก็อาจจะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ตลอด โดยหลักๆ เป็นเจ้าหน้าที่ของทางเทศบาลฯ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ มาให้การสนับสนุนบ้าง ตอนนี้บอกตรงๆ ว่า ต้องให้กำลังใจเทศบาลในการดำเนินการ เพราะเหตุผลหรือวัตถุประสงค์ของเรื่องนี้ คือการแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชน ลิง และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เขาพยายามกันอย่างเต็มที่
ภาพ : #ThairathPhoto
อ่านบทความที่น่าสนใจ :