การเมืองไทยยังไร้เสถียรภาพ กูรูเศรษฐกิจชี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน "ต่างชาติเทขายหุ้นต่ำเตี้ยเรี่ยดิน" แนะรัฐทบทวนนโยบาย สร้างเอกภาพ อย่าวางบุคคลผิดฝาผิดตัว

นับตั้งแต่ปี 2549 ความขัดแย้งของการเมืองไทยก็เริ่มรุนแรง ผันผวน และชวนตั้งข้อสงสัยมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความไม่มั่นคง และขาดเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ 

จวบจนวันนี้ผ่านปี 2549 มาแล้วเกือบ 2 ทศวรรษ การเมืองไทยก็ยังคงมีเรื่องราวน่าติดตาม ส่อแววเรรวนชวนจับตาอยู่เป็นระยะ มองง่ายๆ เมื่อ 18 มิถุนายน 2567 ก็มีคดีทางการเมืองหลายเรื่องให้คนในประเทศได้เฝ้าดู แต่อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนเหล่านั้นย่อมส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อประเทศหลายด้าน ซึ่ง 'ด้านเศรษฐกิจ' ก็เป็นหนึ่งในจุดที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ

ทีมข่าวฯ จึงได้ยกโทรศัพท์ติดต่อไปยัง 'รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์' อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และผู้เชี่ยชาญด้านเศรษฐกิจ เพื่อพูดคุยและชวนกูรูวิเคราะห์ถึงเสถียรภาพทางการเมืองไทยขณะนี้ว่า ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์

...

เสถียรภาพการเมืองไทยมีปัญหา!? : 

รศ.ดร.สมภพ เริ่มเลกเชอร์ถึงความสำคัญของ 'เสถียรภาพทางการเมือง' ที่มีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศว่า เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลสำคัญมาก เพราะเวลาที่คนจะลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เขาต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะได้จุดคุ้มทุน อาจใช้เวลา 3 ปี 5 ปี หรืออาจมากกว่านั้น การขาดเสถียรภาพทางการเมืองจะทำให้รัฐบาลและประเทศขาดความน่าเชื่อถือ

โดยปกติรัฐบาลมีหน้าที่ดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเป็นนโยบายที่จูงใจ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะมันจะนำไปสู่การมีนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และเป็นนโยบายที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง การดำเนินนโยบายต่างๆ ต้องรอระยะเวลาสักช่วงหนึ่งถึงจะออกดอกออกผล 

"ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ลงทุนไปก็จะเกิดความสุ่มเสี่ยง ความสุ่มเสี่ยงคือต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ หรือการบริหารจัดการเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สนใจลงทุนต้องการลดความเสี่ยงนั้น เขาก็จะลงทุนในประเทศที่รัฐบาลมีเสถียรภาพ"

เมื่อถามว่า รัฐบาลที่มีเสถียรภาพต้องเป็นอย่างไร กูรูเศรษฐกิจตอบเพียงสั้นๆ ว่า เริ่มต้นจาก 'แกนนำรัฐบาล' ต้องมีเอกภาพและประสิทธิภาพ และต้องไปร่วมมือกับบรรดาพรรครัฐบาลที่มีเอกภาพและประสิทธิภาพเช่นกัน

ทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า ในมุมมองของ รศ.ดร.สมภพ ขณะนี้ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน? กูรูเศรษฐกิจ มองว่า ผมว่าตอนนี้มีปัญหา อย่างที่เปลี่ยนรัฐมนตรีไปมา แน่นอนว่าอาจจะลดความน่าเชื่อถือในสายตาชาวต่างชาติ เพราะรัฐมนตรีมีหน้าที่กำหนดนโยบายให้ปลัดกระทรวง หรืออธิบดีกรมต่างๆ ดำเนินการตาม คราวนี้นโยบายจะออกดอกออกผลได้ก็ต่อเมื่อมันมีความถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และมีความต่อเนื่อง ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกับการวางตัวของบุคคลที่ทำหน้าที่ในระดับนโยบาย

"รัฐบาลต้องไปตรวจสอบดูแล้วว่า การที่ต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีไปมาอยู่เรื่อย มันจะช่วยนำไปสู่การมีเสถียรภาพหรือเปล่า ในช่วงแรกๆ ที่มีการจัดตั้งรัฐบาล อาจจะทุลักทุเลบ้างก็พอเข้าใจได้ว่าเพราะไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินมานาน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วต้องตั้งหลักได้ ต้องวางคนให้ถูกฝาถูกตัว เพื่อให้รัฐนาวาเดินต่อได้ ซึ่งประเทศไทยในส่วนนี้ ผมจะไม่ลงรายละเอียดว่าถูกฝาถูกตัวแค่ไหน เป็นเรื่องที่เขาต้องตรวจสอบกัน"

...

ต่างชาติเทขายหุ้นไทย : 

เราสอบถามกูรูเพิ่มเติมว่า ขณะนี้นโยบายเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างไร คำตอบของคำถามนี้คือ ต้องไปตรวจสอบก่อนว่านโยบายที่ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยาวนั้นถูกต้องไหม จูงใจหรือเปล่า และสร้างความเชื่อมั่นไหม ถ้าคิดว่ามันถูกต้อง จูงใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ เราก็ต้องตั้งคำถามต่อว่า แล้วทำไมในตลาดทุนของเรามันเกิดปัญหาอย่างที่เห็นอยู่

"ช่วงนี้ต่างชาติเทขายหุ้นทิ้ง เอาเงินกลับบ้าน ทำให้หุ้นไทยตกลงมาจนเรียกว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดิน นั่นแสดงว่าเขาไม่เชื่อมั่นเรา" รศ.ดร.สมภพ กล่าวย้ำกับเรา

อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2567 จากเว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า การซื้อขายหุ้นไทยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 18 มิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อ 2,576,094.27 ล้านบาท และขาย 2,678,122.69 ล้านบาท มูลค่าสุทธิ -102,028.42 ล้านบาท 

...

หากจะดูเพียง 18 มิถุนายน 2567 วันที่มีการพิจารณาคดีทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ สรุปมูลค่าการซื้อขายสิ้นวัน ปิดระดับ 1,297.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.82 จุด หรือบวก 0.06% มูลค่าซื้อขาย 38,015.41 ล้านบาท โดยระหว่างวันดัชนีปิดสูงสุดที่ 1,310.76 จุด และต่ำสุดที่ 1,296.18 จุด ด้านมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ซื้อ 20,342.67 ล้านบาท และขาย 22,083.61 ล้านบาท มูลค่าสุทธิ -1,740.94 ล้านบาท

เมื่อถามว่า ตลาดหุ้นไทยแย่เพียงไหน อธิการบดี PIM มองว่า ผมว่าแย่อันดับต้นๆ ของโลกเลย ตกต่ำกว่าเพื่อน ยิ่งในอาเซียนผมว่ามีไม่กี่ตลาดที่เป็นแบบเรา หุ้นเป็นตัวชี้วัดที่มีรูปธรรมสูงและจับต้องได้ ถ้าตลาดหุ้นร่วงมากก็ต้องไปดูถึงนโยบายต่างๆ แล้วว่ามีปัญหาตรงไหน โดยดูหลักๆ 3 ประการ

ประการที่ 1 รัฐบาลต้องตรวจสอบว่า นโยบายที่ดำเนินการอยู่ ทั้งนโยบายการค้า การลงทุน หรืออะไรหลายๆ อย่าง มันเข้าตาประชาคมโลกเขาไหม มันทำให้เขาเชื่อมั่นเราได้หรือเปล่า

ประการที่ 2 เป็นกรณีของการบริหารจัดการ และความน่าเชื่อมั่นของรัฐบาล ตรวจสอบตัวเองว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพหรือยัง

ประการที่ 3 มีปฏิบัติการเชิงรุก คือ เปลี่ยนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติให้ถูกเรื่อง ถูกราว ถูกกาลเทศะ และถูกเวลาที่ควรจะเป็น

...

สืบเนื่องจากประการที่ 1 เราถามกูรูเศรษฐกิจว่า หากจะให้วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของไทย นโยบายใดที่ดูจะมีปัญหา รศ.ดร.สมภพ ตอบว่า ต้องดูว่านโยบายเศรษฐกิจตัวไหนที่ทำให้รัฐบาลต้องตั้งรับมาก รัฐบาลควรจะทำงานในเชิงรุก เพราะยิ่งทำงานเชิงรุกได้มากเท่าไร แล้วนโยบายมันถูกต้อง จะยิ่งสร้างโอกาสพัฒนาประเทศได้มาก "ถ้ารัฐบาลมัวแต่ตั้งรับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งผมไม่ขอยกตัวอย่างว่านโยบายที่ออกมามันนำไปสู่การยอมรับมากแค่ไหน หรือถูกคัดค้านมากแค่ไหน แต่ละนโยบายรัฐต้องไปตรวจสอบดู"

รศ.ดร.สมภพ กล่าวต่อว่า ข้อสำคัญคือต้องบริหารความขัดแย้งในประเทศให้ได้ ตั้งแต่ภายในไปจนถึงองคาพยพต่างๆ ของรัฐ รวมไปถึงดูนโยบายต่างๆ อย่างนโบายเศรษฐกิจมหภาค เช่น นโยบายการเงิน การค้า การคลัง การค้าต่างประเทศ การจ้างงาน เป็นต้น "ต้องดูว่าเมื่อประสานนโยบายไปแล้ว มันนำไปสู่การมีเอกภาพ หรือความขัดแย้ง เพราะถ้านำไปสู่ความขัดแย้งก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ผมขอพูดเป็นแค่แนวทาง ไม่ขอลงลึกไปถึงรายกระทรวง หรือรายเรื่องราว เพราะเดี๋ยวจะไม่แฟร์"

การลงทุนระยะยาวในไทยยังน่าสนใจ : 

ทีมข่าวฯ สอบถามกูรูว่า แง่มุมของการลงทุนช่วงนี้ชาวต่างชาติมีมุมมองต่อไทยอย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.สมภพ ตอบกลับว่า อย่างที่ผมบอกไปเมื่อสักครู่ การลงทุนแบ่งเป็นระยะ ระยะสั้นดูได้จากตลาดหุ้น ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ชัดว่า 'ต่างชาติเข้าเร็วออกเร็ว' ทำให้หุ้นมีแต่จะทรุด ฉะนั้นถ้ายิ่งเป็น 'การลงทุนระหว่างประเทศโดยตรง' ที่เรียกกันว่า FDI (Foreign Direct Investment) เรื่องนี้ต่างชาติต้องยิ่งคิดหนักเลย เพราะว่าการลงทุนโดยตรง กว่าจะสร้างโรงงานได้ กว่าจะดำเนินเรื่องขอต่อ BOI (Board of Investment : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) หรือเรื่องอื่นๆ ก็ต้องใช้เวลาอีกตั้งกี่ปี

อย่างไรก็ตาม แม้กูรูเศรษฐกิจจะมองว่าการลงทุนระยะยาวของต่างชาติจะต้องคิดหนัก แต่ประเทศไทยก็ถือว่ายังน่าสนใจไม่แพ้ชาติใดในโลกสำหรับพวกเขา "การลุงทันระยะยาวจริงๆ ต่างชาติก็สนใจเรามากนะ ประเทศไทยไม่ใช่สิ้นไร้ไม้ตอก ผมว่าประเทศเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงชาติหนึ่ง เพราะว่าเราจะเห็นเลยว่าทั่วโลกมีปัญหาหมด ลองดูทะเลจีนตะวันออกมีปัญหา คาบสมุทรเกาหลีมีปัญหา ในยุโรปก็มีปัญหา ตะวันออกกลางก็มีปัญหา แสดงให้เห็นว่ามันมีปัญหาไปหมด"

อธิการบดี PIM กล่าวเสริมว่า ตรงนี้เลยน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งมันก็มีแนวโน้มอย่างนั้น เพราะต่างชาติเข้าขอ BOI เยอะ เขาขอมาแล้วแปลว่าเขาอยากลงทุนจริงๆ แสดงให้เห็นว่าเขามองว่าในสายตาต่างชาติ ประเทศไทยยังน่าจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่ฝากผีฝากไข้ได้ในระยะยาว ดังนั้นหน่วยงานก็ต้องช่วยกันดูเขา ไม่ใช่ไปค้างเติ่งไว้ และเขาจะเริ่มลงทุนจริงๆ ก็ต่อเมื่อคุณสร้างความเชื่อมั่นให้เขาได้

อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หรือ Board of Investment (BOI) พบว่า สถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 663,239 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2565 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,009 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 386,210 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 กับ ปี 2565 พบว่า จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 72

ในส่วนของ 'การอนุมัติ' พบว่า โครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น 1,350 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 559,009 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ม.ค.-ธ.ค.) พบว่า มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 78

โดยจำนวนโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 57 ของจำนวนโครงการทั้งสิ้นที่ได้รับอนุมัติ (2,383 โครงการ) มูลค่าเงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นที่ได้รับอนุมัติ (750,129 ล้านบาท)

เราทวนย้ำคำตอบของกูรูอีกครั้งว่า "หากอาจารย์กล่าวเช่นนั้น เราก็สามารถพูดโดยรวมได้ว่า ต่างชาติสนใจที่จะลงทุน แต่เขาอาจจะยังขาดความเชื่อมั่นบางจุดที่ดึงดูดให้เขาลงทุนจริงๆ ใช่ไหมครับ?"

"ใช่ ถูกต้อง" กูรูเศรษฐกิจกล่าวรับ ก่อนระบุว่า ตอนนี้ประเทศไทยต้องมีมาดที่ดีให้ได้ เพราะเรามีความพร้อมด้านต่างๆ ดีอยู่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นจุดแข็งที่ไทยต้องใช้ประโยชน์ให้ได้มากมากที่สุดและดีที่สุด

จุดไหนหรือเรื่องใดบ้างที่เป็นจุดแข็งอันน่าสนใจของไทย? ทีมข่าวฯ ถาม ก่อนที่อธิการบดี PIM จะเอ่ยตอบกลับข้อสงสัยดังกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาคค่อนข้างมาก ดูได้จากแบงก์ชาติมีทุนสำรองของประเทศอยู่ตั้งเกือบครึ่งของ GDP โดยมีเงินสำรองประมาณ 223,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน GDP อยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแค่ไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นแบบนี้ ซึ่งการที่เรามีทุนสำรองแบบนี้ก็เหมือนมีกำปั่นที่เป็นความมั่นคงของชาติ

"ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อของไทยต่ำมาก จุดนี้ยิ่งทำให้ดำเนินนโยบายได้ง่าย หนี้ของภาครัฐเราก็ค่อนข้างต่ำ ถ้าไปเทียบกับภาครัฐอื่นๆ ทั่วโลก ส่วนภาระทางการคลังของเราก็ค่อนข้างจะต่ำกว่าหลายประเทศ"

รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า เราจึงต้องเอาจุดแข็งของประเทศออกมาโชว์ออกมาขายให้ได้ ดังนั้น นโยบายการเงิน การคลัง มันไม่ควรจะขัดแย้งกัน มันควรจะต้องสอดประสานกันเพื่อเพิ่มพลังของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

ทุกประเทศมีจุดอ่อนและจุดแข็ง :

เมื่อถามว่า ไทยมีแนวโน้มจะเป็นต่อเวียดนามหรือไม่ เนื่องจากระยะหลังมีกระแสข่าวออกมาว่า ต่างชาติพากันตบเท้าเข้าลงทุนที่นั่น เนื่องจากประเทศมีเสถียรภาพมากกว่า กูรูเศรษฐกิจตอบแทบจะทันทีว่า "ไม่จริงอะ"

"ระบบการเมืองของเวียดนาม ด้านหนึ่งอาจมีประสิทธิภาพสูงจริง แต่ว่าระบบของเขาก็เหมือนจีน คิวบา หรือลาว นั่นก็คือระบบคอมมิวนิสต์สังคมนิยม ซึ่งก็ต้องถามว่าประเทศเสรีนิยมชอบใจระบบการเมืองแบบนี้หรือเปล่า เพราะถ้าเขาชอบ เขาจะทำกับจีนแบบที่ทำทุกวันนี้เหรอ"

รศ.ดร.สมภพ กล่าวต่อไปว่า เหตุที่เขาไปลงทุนเวียดนามกันมาก แน่นอนว่าเขาต้องการออกจากจีน โดยชาติตะวันตกจะใช้ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เล่นงานจีน ฉะนั้นจึงต้องถอยห่างออกมา แล้วดูว่าตรงไหนเหมาะที่จะไปอยู่ 

"ผมถึงบอกว่าประเทศไทย ถ้าทำให้เข้าหูเข้าตาเขา เขาก็จะมาที่คุณ แต่ทำไมเขาเลือกเวียดนามมากกว่าเลือกคุณ อันนี้รัฐบาลต้องไปคิดให้หนักเลย แต่เวียดนามเขาก็มีจุดอ่อน และหากว่าวันหนึ่งเกิดเศรษฐกิจเวียดนามเติบใหญ่ขึ้นมาเยอะๆ มีเสถียรภาพทางการเงินสูง จนกระทั่งปีกกล้าขาแข็ง ตะวันตกเขาจะไว้ใจเวียดนามระยะยาวได้ไหม"

รศ.ดร.สมภพ กล่าวต่อว่า ทุกที่มีจุดอ่อนและจุดแข็งกันหมด อย่าไปคิดว่าเวียดนามมีเสถียรภาพการเมืองดีกว่าเรา เพราะเสถียรภาพการเมืองเวียดนามก็มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง จุดแข็งคือมีเสถียรภาพ แต่ก็ต้องมองต่อไปในอนาคตว่าอีก 2 ปีข้างหน้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ เพราะขณะนี้การเมืองภายในเขาขัดแย้งกัน เวลาแค่ 2 ปี เปลี่ยนรัฐมนตรี 3 คน แสดงว่าภายในพรรคจะต้องมีปัญหา แล้วอีก 2 ปี 'เหงียน ฟู้ จ่อง' (Nguyễn Phú Trọng) เลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนให้เขาออกเพราะอายุเยอะแล้ว ฉะนั้นถ้ามีการปรับเปลี่ยนก็น่าสนใจต่อว่าจะมีปัญหาภายในการเมืองประเทศหรือเปล่า 

"ดังนั้นอย่าไปมองว่าเขาเหนือกว่าเรา เขาเข้มแข็งกว่าเรา" กูรูเศรษฐกิจย้ำอีกครั้ง ก่อนจะเสริมว่า ประเทศไทยถึงแม้การเมืองเป็นแบบนี้ ดูมีจุดอ่อน แต่ก็ยังมีจุดแข็ง ซึ่งจุดแข็งคือ ระบบการเมืองไทยมีความยืดหยุ่นสูง ถึงมันจะขัดแย้งกันมาก แต่ก็ไม่ลุกมารบราฆ่าฟัน มีเถียงกันบ้างเป็นปกติ มีอุบัติเหตุการเมืองเป็นครั้งคราว แต่ไม่นานก็ตั้งหลักได้ และนี่เป็นจุดแข็งที่ดี แต่เราขายไม่เป็นไง 

"อย่างที่ผมกล่าวนะ ขณะนี้ต้องทำงานเชิงรุกให้ได้ ต้องสร้างเอกภาพด้านต่างๆ ให้ได้ อย่าวางบุคคลผิดฝาผิดตัว ทำงานเชิงรุกให้ได้ ไม่ใช่คิดแต่ว่าจะตั้งรับ หรือคอยแต่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง" รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าวปิดท้าย. 

อ่านบทความที่น่าสนใจ :