วิเคราะห์ความพร้อมของ “ก้าวไกล” ในวันที่ อะไรๆ ที่ยังไม่แน่นอน ในประเด็นเรื่อง พรรคสำรอง หัวหน้าพรรค และ งูเห่า 

18 มิถุนายน 2567 มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย และ หลายๆ เรื่องราวถือว่าจะยังไม่จบในวันนี้ อาทิ 

1.“ทักษิณ ชินวัตร” ยังรอดคุก หลังจากศาลให้ประกันตัวในคดี มาตรา 112 โดยมีเงื่อนไขหลายอย่าง 

2.คดียุบพรรคก้าวไกล ได้มีการนัดพิจารณาคดีต่อ 3 กรกฎาคมนี้ ให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐาน 9 กรกฎาคม 

3.ยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน จากนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่ม 40 สว. ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและ ส่งหลักฐานเพิ่มภายใน 15 วัน หรือ นัดพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 ก.ค.นี้

มีเพียงเรื่องเดียวคือ กรณี ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9-0 เดินหน้าเลือกตั้ง สว. วินิจฉัย 4 มาตราของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 

จากทั้งหมดทั้งมวล...

รอด ไม่ขัด นัดพิจารณาอีกที ทำให้บรรยากาศทางการเมือง คลายความตึงเครียดไปได้บ้าง แต่มันก็ยังไม่จบ

วันนี้ “เรา” มีโอกาสได้คุยกับ รศ.ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ประเมิน “ความพร้อม” ของก้าวไกล ในคดี “ยุบพรรค” ว่าจะเป็นอย่างไร

...

พรรคก้าวไกล : 

รศ.ดร.สติธร ประเมิน ว่า หากพรรคก้าวไกลยังคงอยู่ ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม เพียงแต่ในทางการเมือง การแข่งขันนั้น จะนำไปสู่ ความพยายามในการตัดทอนคนออกจากเกมบางส่วน โดยเฉพาะ ตำแหน่ง กรรมการบริหารพรรค 

ภาพรวมความแข็งแกร่งของก้าวไกล ไม่ได้มีแค่ “ชื่อพรรค” แต่หมายถึงตัวบุคคลด้วย ฉะนั้น เกมการเมืองอาจมีการพุ่งเป้าทำให้ “ก้าวไกล” ไม่พร้อมในส่วน “บุคลากร” ด้วย หมายความว่า ต่อให้คุณชนะเลือกตั้งในสมัยหน้าได้ แต่คุณจะหา “รัฐมนตรี” และคนเห็นแล้วรู้สึก “ว้าว” ได้ยาก 

ถึงแม้เวลานี้จะมีบุคลากร บางคน “โดดเด่น” แต่เมื่อถึงการเลือกตั้งรอบหน้า ไม่ได้ลงเป็น “ตัวจริง” ก็จะส่งผลต่อความร้อนแรง แตกต่างจากครั้งนี้ ยกตัวอย่าง หากครั้งหน้า “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” คู่แข่งอาจจะรู้สึกเบาใจก็ได้...

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ฝ่ายตรงข้าม เริ่มรู้แล้วว่า การแข่งขันกับสิ่งที่เรียกว่า “ก้าวไกล” ต้องทำอย่างไร และรู้วิธีการรับมือแล้ว การที่แม่ทัพนายกอง ออกไปบ้าง หาคนหน้าใหม่เข้ามาบ้าง ถึงแม้จะสู้ด้วยแรงพรรคไม่ได้ ก็สู้ด้วยตัวบุคคล

ถามว่า ความนิยม ก้าวไกล ยังสามารถยืนระยะได้ไหม ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง จากสถาบันพระปกเกล้า อธิบายว่า ตอนนี้เขายังไม่ทำให้ผิดหวัง และโอกาสที่จะทำให้กองเชียร์ผิดหวังได้ก็ต่อเมื่อ เขาต้องไปเป็นรัฐบาล..เว้นแต่ว่า เขาแอบไปดีลกับใครไว้ แล้วสะดุดขาตัวเอง หรือ ใส่เกียร์ว่าง เล่นไม่เต็มที่ ที่สำคัญ ช่วงนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุม ฉะนั้น คงต้องรอเกมใหญ่ในเร็ววันข้างหน้า

พรรคสำรอง : 

อาจารย์สติธร บอกว่า การตั้งพรรคสำรอง ถือเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง ที่มีการตั้งพรรคสำรองไว้รอเหตุไม่คาดฝัน เพราะถ้าเตรียมพร้อมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็จะเหนื่อย เนื่องจากกระบวนการตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายนั้น มีหลายขั้นตอน ทั้งการจดจัดตั้งพรรคการเมือง การประชุมที่ต้องมีจำนวน 500 คน การกำหนดนโยบายต่างๆ ซึ่งขั้นตอน “ธุรการ” เหล่านี้ มันใช้เวลา หากมีการดำเนินการไว้ ก็จะเข้ามาสวมภายหลัง 

ส่วนคนที่ทางก้าวไกล วางตัวไว้ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรครุ่นต่อไป คือ คุณไหม ศิริกัญญา ตันสกุล อ.สติธร มองว่า ไม่พ้นกลุ่มนี้ ซึ่งเธอก็น่าจะเป็น หัวหน้าพรรค และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวคิดว่าเธอ “กล้า” ที่จะขึ้นเป็นหัวหน้า 

“ยังไงคุณไหมก็ต้องเป็นหัวหน้าคนต่อไป หากเกิดอะไรขึ้นกับก้าวไกล เพราะสไตล์ก้าวไกล ไม่ใช่สไตล์ที่ต้องหลบ ข้อดีของ ศิริกัญญา คือ เป็นผู้หญิง มีโปรไฟล์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าจะเป็นตัวแทนในการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเวลานี้ หากจะแข่งกันตั้งรัฐบาลก็มีแต่เพื่อไทยเท่านั้น ที่สำคัญ เธอก็เป็นที่นิยม และมีบทบาทมาช้านานแล้ว ไม่จำเป็นต้อง “สร้างคนใหม่” มีแต่ต้อง บิว และ บูต ให้ขึ้นไป...”

...

แนวทางการรับมือการยุบพรรค ของก้าวไกล จำเป็นต้องปรับเรื่อง กก.บห.พรรค หรือไม่ เรื่องนี้ ดร.สติธร บอกว่า หากเราสังเกต จาก พรรคอนาคตใหม่ เป็น ก้าวไกล และเปลี่ยนจาก คุณพิธา หยุดพักไป มาเป็น คุณชัยธวัช ตุลาธน ก็เห็นแล้วว่าเขาเลือกที่จะไม่หลบ หากเห็นใครเหมาะก็ขึ้นมา เพียงแต่กฎหมายก็เปิดช่อง คือ ไม่ต้องรับอันตรายครบทุกคน อย่างคุณไหมวันนี้เขาเป็นรองหัวหน้าพรรค 

โครงสร้างทางกฎหมาย ไม่ได้ระบุว่า “รองหัวหน้าพรรค” เป็นกรรมการบริหารพรรค นี่ก็มีเฉพาะ หัวหน้า, กรรมการบริหาร และ เลขาฯ ดังนั้น หัวหน้าก็สามารถวางตัวจริงได้ และยิ่งสไตล์ แคนดิเดตนายกฯ ก็ต้องเป็นหัวหน้า อย่างวันนี้ คุณชัยธวัช ได้ขึ้นเป็นหัวหน้า เพราะเขาต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เพราะหากก้าวไกล จะแหยง เขาก็จะด่าคนอื่นไม่ได้ 

คุณไหม ศิริกัญญา ควบคุมพรรคอยู่ไหม อาจารย์สติธร เชื่อว่า คุมได้อยู่ และที่ผ่านมา ไม่ว่าจะผลักดันใคร จะไม่มีเสียงบ่นจากคนในพรรค ว่าไม่เก่ง ไม่ดี มันเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ตอนถูกผลักดันขึ้นมา ขอแค่ว่า พรรคยอมรับ คนในพรรคยอมรับ ก็สามารถเดินหน้าไปได้ 

งูเห่า ก้าวไกล ระวังเจอของแทร่ : 

ดร.สติธร เชื่อว่า หากมีการยุบพรรคจริงๆ “งูเห่า” น่าจะมีอยู่แล้ว แนวโน้มคือ มากหรือน้อย ส่วนครั้งนี้มากหรือน้อย มองได้ 2 แบบ งูเห่าแท้ๆ คือท้อกับพรรค ไม่ไหวกับแนวอุดมการณ์ เหมือนกับงูเห่ารุ่นก่อน ถึงเขาจะสอบตกในครั้งนี้ แต่เขาก็มีตำแหน่งแห่งหน อยู่ในฝ่ายบริหาร เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ได้เข้าทำเนียบ 

“ต่อให้สอบตก คุณมีความสามารถ พรรคเขาก็ดูแล...แต่ถ้าอีกแบบ มองว่าอยู่ที่นี่ อาจการันตีว่าไม่สอบตก แต่จะเข้าถึงฝ่ายบริหารนั้นอาจจะยาก หรือต้องรอ นี่คือ โอกาสที่จะเกิดงูเห่า ในครั้งนี้ เพื่อสานต่อโอกาสในการทำงานครั้งหน้า”   

...

ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือ “งูเห่าของแทร่ ที่พร้อมแว้งกัดคนเลี้ยง” คือ งูเห่าแอบแฝงตัว แบบได้ผลประโยชน์ด้วย ได้ซ่อนตัวอยู่ฝั่งตรงข้ามด้วย โดยเฉพาะหากพบว่ามีตัวเลขงูเห่ามากกว่าปกติ มันอาจจะมีทั้ง 2 แบบก็เป็นได้ 

ในทางการเมือง กับอะไรๆ ที่ยังไม่แน่นอน 

แกนนำ รุ่น 1, 2 จะมีอิทธิพลเหนือพรรคไหม หากมีการตั้งพรรคใหม่ รศ.ดร.สติธร เชื่อว่า กลุ่มรุ่น 1, 2 ก็คงต้องเล่นบท “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ส่วนบทบาทในพรรคก็คงเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เราเห็นๆ กันอยู่ อย่าง คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ คุณพ่อของเขา ก็มีการช่วยหาเสียง เขาคงไม่ได้เฟดตัวออกไป เพียงแต่การขึ้นมานั้น ต้องดูแล้วเหมาะสมและให้การยอมรับ ไม่ใช่ยึดเอาไว้เป็นของเรา จนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของพรรค และควรมีการบริหารความรู้สึกกันภายใน ส่งเสริมโอกาสที่จะเติบโตภายในพรรค ไม่ใช่ “แกนนำรุ่น 1-2” ยึดไว้หมด 

“ในทางการเมือง ทุกอย่างสามารถคิดได้หมด หากมีอะไรแปรเปลี่ยนไปแม้แต่เพียงเล็กน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน ณ เวลานี้ คือ พรรคก้าวไกล ค่อนข้างพร้อม หากเกิดเหตุไม่คาดฝันไว้แล้ว” 

...

อ่านบทความที่น่าสนใจ