เหตุไฟไหม้ตลาดค้าสัตว์เลี้ยงกลางกรุงเทพฯ คร่าชีวิตสัตว์ไร้หนทางหนีจากเพลิงมรณะกว่า 5,000 ตัว จากนั้นมีการตรวจสอบใบอนุญาตเกี่ยวกับการค้าสัตว์เลี้ยงและสัตว์แปลก พบว่าผู้ประกอบการหลายร้านไม่มีการขออนุญาตถูกต้อง “วอชด็อกไทยแลนด์” เปิดเผยต้นตอ วงจรค้าค้าสัตว์เลี้ยง-เอ็กโซติก ที่เป็นมุมมืดแสนทรมาน บังคับสัตว์ผสมพันธุ์ มาขายในตลาดตั้งแต่อายุ 2 เดือน แถมมีอาการติดเชื้อเป็นภาระรักษาให้กับผู้เลี้ยง วงจรนี้ควรปราบปราม ทลายฟาร์มเถื่อนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเสียที

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ ใกล้กับตลาดจตุจักร จ.กรุงเทพฯ ตลาดค้าสัตว์เลี้ยง มีร้านค้าได้รับผลกระทบ 118 ร้าน มีสัตว์ตาย 5,343 ตัว จนมีการเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดูแลสัตว์เลี้ยง ตลาดที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด จากนั้น กทม.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดที่ขายสัตว์เลี้ยงในพื้นที่จตุจักร และสนามหลวง 2 พบร้านค้าหลายแห่ง ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แบบ อภ.2 ที่ขอกับกทม. และใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ แบบ ร.10 ซึ่งขอกับกรมปศุสัตว์ ที่มีผลต่อสวัสดิภาพสัตว์

...

โลกโซเชียลวิจารณ์ให้ปิดสถานที่ในการค้าสัตว์เลี้ยง แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า การปิดตลาดไม่ใช่ทางออกสุดท้าย เพราะการแก้ปัญหาการทารุณสัตว์ต้องแก้ต้นทาง ตั้งแต่การผสมพันธุ์ ทุกวันนี้ยังมีวงจรเถื่อนค้าสัตว์เลี้ยง และสัตว์แปลก หรือเอ็กโซติก ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด โดยเฉพาะการขายในโลกออนไลน์

วงจรมืดค้าสัตว์เลี้ยง-เอ็กโซติก ปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข

“สบันงา นนธะระ” หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ กล่าวว่า มุมมืดวงจรการค้าสัตว์เลี้ยง และสัตว์แปลก หรือเอ็กโซติก เกิดจากไทยไม่มีข้อบังคับ มาตรฐานควบคุมฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์ ทำให้มีฟาร์มที่เพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงไม่ถูกกฎหมาย และชาวบ้านที่เพาะพันธุ์อยู่ตามบ้านจำนวนมากทั่วประเทศ ฟาร์มเถื่อนหลายเจ้าทำเป็นธุรกิจ โดยไม่มีความเมตตาต่อสัตว์ เช่น บังคับสัตว์ผสมพันธุ์ตั้งแต่อายุ 6 เดือน เพื่อให้ผลิตลูกหมาแมวออกมาเป็นสินค้า บังคับให้ผสมพันธุ์ไปจนแก่ บางตัวมีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถคลอดลูกให้ได้ ซึ่งฟาร์มที่ไม่มีมาตราฐานจะนำอดีตพ่อ-แม่พันธุ์ไปทิ้งตามพื้นที่สาธารณะ

“สุนัขที่มีสายพันธุ์ที่ถูกนำมาทิ้ง ส่วนใหญ่เคยเป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อหมดประโยชน์ผสมพันธุ์ไม่ได้แล้วถูกน้ำมาทิ้ง เช่น หมาสายพันธุ์ ปอมเมอเรเนียน ชิวาวา ไซบีเรียน ล่าสุดมีสุนัขพันธุ์พิตบูล ถูกทิ้งที่หาดใหญ่ สภาพร่างกายสุนัขมีเต้านมจำนวนมาก คาดว่าเคยเป็นแม่พันธุ์ที่ให้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว วงจรที่ส่งเสริมฟาร์มเถื่อนเหล่านี้ จะมีคนที่นำลูกสัตว์จากฟาร์มเถื่อน หรือบ้านที่แอบเพาะพันธุ์สัตว์ มาขายต่อในพื้นที่ตัวเอง หรือส่งไปขายต่อให้กับพ่อค้ารายย่อยในกรุงเทพ”

ฟาร์มหรือบ้านที่เพาะพันธุ์เถื่อน ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดแถบภาคเหนือและอีสาน เมื่อมีการขายสัตว์ มีการขนส่งไปให้ลูกค้าอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 24 ที่ต้องขนย้ายสัตว์ให้มีสวัสดิภาพ แต่ฟาร์มเถื่อนขนส่งด้วยกระบวนการถูกที่สุดคือ ส่งไปกับรถทัวร์ เอาไปไว้ใต้ท้องรถที่ไม่มีอากาศถ่ายเท ปลายทางอยู่ที่สถานีหมอชิต พ่อค้าสัตว์จะไปรอรับ แต่มักเจอลูกสัตว์ตายระหว่างขนส่ง ซึ่งตัวที่ตายจะนำไปทิ้ง ส่วนที่ยังมีชีวิตนำไปขายต่อ

ลูกสัตว์จากฟาร์มเถื่อน จะถูกขายตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 2 เดือน เพราะมีความน่ารัก แต่ส่วนใหญ่มีโรคติดเชื้อ เนื่องจากอายุยังน้อย ทำให้ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ ทำให้เกิดการเพาะเชื้อโรค ที่มีโอกาสติดมาตั้งแต่อยู่ในฟาร์ม เมื่อนำมาขายในตลาด กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อมาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

...

กระบวนการวางขาย มีการพักเพาะเชื้อ 7 – 14 วัน ก่อนนำมาวางขาย คนที่ซื้อไปจะรู้สึกว่าสัตว์ซึม ท้องเสีย เนื่องจากสัตว์ติดเชื้อพาร์โวไวรัส หรือติดไข้หัดสุนัข โดยโรคนี้มีการติดเชื้อส่งต่อกันมาหลายทอด

“วงจรที่ทารุณของการค้าชีวิต คือนำลูกสัตว์ที่ยังไม่พร้อมด้านอายุ ไม่มีภูมิคุ้มกัน ผู้ค้ามองว่า ถ้าขายสัตว์ตอนโตจะขายยาก โดยราคาถ้าเป็นลูกสุนัขมีสายพันธุ์ไม่ต่ำกว่าตัวละ 3,500 – 8,000 บาท แต่มีอีกกลุ่มที่นำมาหลอกขาย เช่น ลูกหมาไทยมาขายเป็นลูกหมาหลังอาน อ้างว่าต้องรอให้โตก่อน ซึ่งการขายนำมากองไว้หน้าร้านบริเวณทางเท้า เป็นอีกเกรดที่มีราคาขายเหลือตัวละ 200 – 1,000 บาท”

ปิดตลาดขายสัตว์เลี้ยง แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

การแก้ปัญหาวงจรเถื่อนค้าสัตว์เลี้ยง “สบันงา” มองว่า ต้องเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือฟาร์มที่เพาะพันธุ์สัตว์ ที่ผ่านมามีการร่างมาตรฐานฟาร์มในการเพาะพันธุ์สัตว์ เช่น หมา แมว มาตรฐานที่ออกมาได้ถูกกำหนดเป็นแค่สิ่งที่ควรทำ แต่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานบังคับได้ ทั้งที่จริงควรมีการกำหนดบังคับใช้ เพราะการที่เราไม่มีกฎบังคับให้ฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยง เลยทำให้ไม่มีกฎหมายที่สามารถเข้าไปตรวจฟาร์มเถื่อนแต่ละแห่ง หรือบ้านที่ดัดแปลงเป็นสถานที่ผสมพันธุ์สัตว์แปลกได้

...

การไม่มีข้อบังคับ ทำให้ไม่สามารถบังคับว่าฟาร์มควรขายลูกสัตว์ที่มีอายุ 2 เดือนครึ่งขึ้นไป โดยต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ สิ่งนี้ทำให้มีลูกสัตว์ที่อายุไม่ถึงเดือน ยังไม่อดนมแม่ ถูกกองขายในตลาดค้าสัตว์กลางใจเมืองเต็มไปหมด

สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในวงจรการเพาะพันธุ์เถื่อนที่น่าห่วงคือ สุนัข แมว สัตว์แปลก และสัตว์ป่าที่ลักลอบขาย เช่นกระรอกบางสายพันธุ์ คนเลี้ยงหลายราย เมื่ออยากได้ก็ไปซื้อสัตว์เลี้ยงมา พอเบื่อก็ปล่อยสู่ระบบนิเวศธรรมชาติ เช่น ซาลาแมนเดอร์ ชูการ์ไกลเดอร์ ปลาซัคเกอร์ กิ้งก่าสายพันธุ์แอฟริกา

“จากกรณีที่มีเหตุตลาดค้าสัตว์เลี้ยงไฟไหม้ แล้วมีการรณรงค์ให้ปิดตลาด มองว่าสถานที่ค้าเป็นปลายเหตุ แต่โรคภัยไข้เจ็บของลูกสัตว์มันติดมาตั้งแต่ต้นทาง และถ้ามีการตรวจสอบปราบปรามแหล่งเพาะสัตว์เถื่อน ตรวจสอบใบอนุญาตร้านค้าอย่างถูกต้อง ร้านค้าในตลาดค้าสัตว์ก็คงไม่แออัดอย่างที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ ใครก็ทำและขายได้ โดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์”

เหตุไฟไหม้ตลาดค้าสัตว์เลี้ยง ต้องหาทางออกร่วมกัน ตัดไฟขบวนการค้าเถื่อน

...


"ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล" เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) มองว่า ขบวนการค้าสัตว์เลี้ยงเถื่อน เมื่อมีการเพาะพันธุ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดสัตว์ที่มีความพิการ ทำให้ไม่สามารถขายได้ มีการนำไปปล่อยตามแหล่งธรรมชาติ ขบวนการค้าสัตว์จะใช้ตลาดกลางใจเมืองกรุงเทพฯ เป็นแหล่งพักสัตว์ แต่ตลาดที่ขายใหญ่ที่สุดคือ การขายผ่านระบบออนไลน์ ที่ไม่มีการควบคุม เพราะถึงจะอ้างว่ามีหน้าร้าน แต่ในฟาร์ม หรือหลังร้านยังมีสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่อีกหลายตัว

ด้วยความที่การซื้อขายสัตว์เลี้ยง ไม่มีราคากลางชัดเจน ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อและขาย สัตว์ที่ผ่านการเพาะพันธุ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อซื้อไปต้องเสียเงินในการดูแลรักษาสัตว์ ด้วยจำนวนเงินที่สูงมาก ผู้ซื้อหลายรายก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดผู้ประกอบการได้ เลยมีกระบวนการที่ออกเป็นใบรับรองสายพันธุ์สัตว์ขึ้น เป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ

สำหรับการป้องกันเหตุที่ตลาดค้าสัตว์เลี้ยง ควรมีระบบการออกแบบอาคารที่ปลอดภัยต่อเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น การจะปิดตลาดไปเลยก็ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการที่เจอเหตุไฟไหม้ย่อมได้รับผลกระทบ แต่การปิดตลาดไปเลย ต้องมีทางออกให้กับผู้ค้าด้วย เพราะผู้ประกอบการหลายรายก็ทำถูกต้อง ดูแลสวัสดิภาพสัตว์ดี ตอนนี้ต้องหันมามองว่า ถ้าพัฒนาระบบธุรกิจการค้าสัตว์ให้มีสวัสดิภาพ ต้องมีตลาดที่เหมาะสม และใครจะเป็นผู้พัฒนาต่อ

กทม.เข้มใบอนุญาตประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยง

“นายสัตวแพทย์ ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์” ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังมีเหตุไฟไหม้ตลาดค้าสัตว์เลี้ยง ทาง กทม. และกรมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แบบ อภ.2 ที่ขอกับ กทม. และใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ แบบ ร.10 ซึ่งขอกับกรมปศุสัตว์ ให้ผู้ประกอบการมีการดำเนินการที่ถูกต้อง ซึ่งมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ซื้อไม่ควรสนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานราชการ ถ้าไม่มีการสนับสนุน ไม่นานผู้ค้าเหล่านี้จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้.