ไฟไหม้โซนสัตว์เลี้ยง โครงการตลาดศรีสมรัตน์ มีสัตว์นับหมื่นแต่พื้นที่แออัด แถมอากาศไม่ถ่ายเท ทำสัตว์ตายเยอะกว่าที่ควรจะเป็น! ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่ามอง "กลัวเวลาที่ผ่านไป จะทำให้คนลืมเหตุการณ์ และไม่นำมาเป็นบทเรียน"

มนุษย์รักตัวกลัวตายเช่นไร เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ก็รักตัวกลัวตายเช่นกัน…

11 มิถุนายน 2567 ภาพสัตว์จำนวนมากโดนไฟคลอก ถูกเผยแพร่และส่งต่อตามสื่อต่างๆ อย่างรวดเร็ว ภาพเหล่านั้นชวนให้ผู้พบเห็นเกิดความสังเวชใจเป็นอย่างมาก

ต้นตอของเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 04.08 น. ของวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567 ณ โครงการตลาดศรีสมรัตน์ โซนจำหน่ายปลากัดและสัตว์เลี้ยง ภาพยังกล้องวงจรปิด เผยให้เห็นว่า เกิดไฟปะทุขึ้นที่ห้องๆ หนึ่ง ก่อนจะลามอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอัคคีภัย เผาวอดพื้นที่โดยรอบมากถึง 118 ห้อง และมีสัตว์ต้องสังเวยชีวิตไม่น้อยกว่า 1,000 ตัว

สำหรับเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน ส่วนกรณีที่เกิดการตั้งข้อสงสัยกันว่า ร้านต้นเพลิงเปิดพัดลมไว้ให้สัตว์เลี้ยง จนทำให้เกิดไฟช็อตและนำมาซึ่งความสูญเสีย ก็ยังคงต้องรอการรวบรวมและพิสูจน์หลักฐานอีกครั้ง

...

พื้นที่แออัด ไม่เอื้ออำนวยต่อสัตว์นับหมื่นชีวิต! :

จากเหตุการณ์ไฟไหม้โซนค้าสัตว์เลี้ยง ในพื้นที่ตลาดศรีสมรัตน์ 'คุณเอ็ดวิน วีค' (Edwin Wiek) ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า แสดงความคิดเห็นกับเราว่า ประเด็นแรกที่ผมคิดว่า ทุกคนต้องทำความเข้าใจกันก่อน นั่นก็คือ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ที่ผ่านมาทางเจ้าของร้านแต่ละคน เขาก็คงพยายามดูแลสัตว์ให้ดีที่สุดอยู่แล้ว เพราะสัตว์ถือเป็นทรัพย์สินที่เขาเสียเงินซื้อมา บางตัวราคาหลักหมื่น บางตัวอาจแตะหลักแสน 

แม้ว่าผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เขาก็ยอมรับกับเราว่า โซนค้าสัตว์ที่เกิดเหตุมีปัญหาต่อสวัสดิภาพสัตว์จริง และเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน

คุณเอ็ดวิน วีค เผยว่า ส่วนตัวเคยมีโอกาสไปเดินสังเกตพื้นที่โดยรอบบ่อยครั้ง และล่าสุดเพิ่งเดินทางไปบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพตลาดถือว่ามีความแออัด แต่ละล็อกแต่ละร้านมีขนาดแค่ประมาณ 3 คูณ 4 เมตร หรือประมาณ 12 ตารางเมตร จะเห็นได้ว่าพื้นที่มีแค่นั้น แต่มีสัตว์รวมกันอยู่พันตัวหมื่นตัว

"ผมคิดว่าพื้นที่ตรงนั้น ตอนเริ่มแรกถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อขายเครื่องแต่งกาย หรือของฝากของที่ระลึก ไม่ใช่เพื่อการค้าสัตว์ คราวนี้เมื่อสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการค้าเฉพาะทาง มันจึงทำให้หลายอย่างสุ่มเสี่ยง อย่างช่วงโควิดก็เคยเกิดประเด็นมาครั้งหนึ่ง เพราะโรคระบาดของคนเสี่ยงไปสู่สัตว์ แล้วตอนนี้มีประเด็นไฟไหม้เข้ามาอีก เพราะว่ามันแออัดและร้อน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปิดแอร์และพัดลมทั้งคืน จึงทำให้เกิดไฟไหม้"

ด้านสัตวแพทย์ท่านหนึ่ง แสดงความคิดเห็นกับทีมข่าวฯ ว่า เคยมีโอกาสไปเดินโซนสัตว์เลี้ยงอยู่บ้าง และพบว่าโซนดังกล่าวจะมีอยู่ 2 ตลาด โดยตลาดหนึ่งจะอยู่ในพื้นที่ของตลาดจตุจักร ซึ่งถือว่าจัดการได้ค่อนข้างดี อากาศถ่ายเท มีห้องแอร์ให้สัตว์ และจำนวนไม่มากเกินไป

แต่อีกตลาดหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟ (ตลาดศรีสมรัตน์ : พื้นที่เกิดเหตุ) ส่วนนี้จะมีความแออัดค่อนข้างมาก ร้อน อากาศไม่ถ่ายเท เนื่องจากค่าเช่าราคาถูกกว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถขายสัตว์เลี้ยงได้ในราคาถูกกว่าตลาดในพื้นที่จตุจักรด้วย อย่างไรก็ตาม เคยทราบมาว่าแม้จะราคาถูก แต่บางครั้งสัตว์เลี้ยงมีโรคติดตัวไปด้วย

...

ต้องปรับปรุงพื้นที่ให้ได้มาตรฐาน และสัตว์มีสวัสดิภาพที่ดี : 

ทีมข่าวฯ ถามสัตวแพทย์ซึ่งอยู่ปลายสายว่า การจัดการหลังจากนี้ควรเป็นไปในทิศทางไหน?

คำตอบของคำถามนี้คือ ส่วนตัวมองว่า ทุกฝ่ายวางแผนกันใหม่โดยนำเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียน เห็นเมื่อวาน (11 มิ.ย. 2567) ทางผู้ว่าฯ ชัชชาติก็จัดประชุม มีแนวทางเสนอว่าให้รีโนเวตใหม่ จะทำให้ดีเหมือนโซนตลาดจตุจักร อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี "หากทำได้"

"อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่า มันไม่ควรจะเลี้ยงอย่างนี้ เพราะความแออัดทำให้สัตว์ตายเยอะขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเขามีการจัดการที่ดีตั้งแต้ต้น เหตุการณ์อาจไม่เป็นเช่นนี้ ดูตัวอย่างที่เห็นในคลิป รปภ.ยังเอาถังดับเพลิงออกมาใช้ไม่เป็น ทำให้ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ทัน จนลุกลาม"

"ทุกวันนี้ NGO ก็พยายามไม่ให้มีการซื้อขายสัตว์โซนนี้ ซึ่งก็รู้สึกเห็นด้วย แต่การจะไม่ให้มี มันก็ต้องมีทางออกว่า คนที่เขาอยากเลี้ยงจะไปซื้อที่ไหน เพราะบางคนมองว่าการได้มาเดินเลือกซื้ออย่างนี้ ยังดีกว่าการไปซื้อออนไลน์ เพราะอันนั้นอาจจะโดนหลอกและโดนสารพัด ผมเลยอยากย้ำว่า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลจริงๆ"

...

ด้านเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ให้ความเห็นว่า หากในอนาคตยังต้องการเปิดโซนค้าสัตว์เลี้ยง ควรมีการทบทวนสิ่งที่มีมาก่อนหน้า และพยายามปรับปรุงข้อเสียต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยความเป็นอยู่ของสัตว์ถือเป็นประเด็นแรกที่ทุกส่วนต้องคุยกัน

"ถ้ายังคิดจะขายสัตว์จริงๆ ไม่ว่าจะสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์แปลก ต้องปรับปรุงพื้นที่หลายอย่างเลยครับ ตั้งแต่ขนาดร้าน หลังคาที่ใช้ การระบายความร้อน การระบายความชื้น ส่วนเรื่องที่เก็บสัตว์ก็ต้องดูเป็นกรณีไป ต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบ ถ้าอันไหนไม่ดีไม่มีมาตราฐานก็ต้องเปลี่ยน"

สิ่งหนึ่งที่คุณเอ็ดวิน มองว่า ควรเพิ่มเติมเข้ามาอย่างยิ่ง คือ อุปกรณ์ป้องกันไฟที่มากขึ้น โดยเฉพาะสปริงเกอร์ที่เปิดโดยอัตโนมัติ เมื่อเกิดอัคคีภัย

สัตวแพทย์ผู้เป็นแหล่งข่าวของเรา แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ที่จริงแล้วหากต้องการขายสัตว์เลี้ยงก็ต้องดูแลสวัสดิภาพให้ดี แต่คนอาจจะไม่ได้ใส่ใจมากเท่าไร เพราะแม้ว่าจะดูแลสวัสดิภาพสัตว์ไม่ดี ตาม พ.ร.บ.แล้ว ก็มีเพียงโทษปรับเท่านั้น คนเลยอาจจะไม่ค่อยเกรงกลัวเท่าไร แต่ถ้าเป็นการทารุณกรรมสัตว์คนอาจจะไม่อยากทำ เพราะเป็นความผิดทางอาญาและมีโทษจำคุก 

"อย่างกรณีไฟไหม้ เราต้องพูดกันตรงๆ ว่ามันเป็นอุบัติเหตุ กรณีไฟไหม้ ผมพูดตรงๆ ว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งถ้าไปมองกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ กฎหมายก็มีครอบคลุมแค่บางเรื่อง เช่น มีน้ำ มีอาหาร พื้นที่ไม่คับแคบ ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงว่า จะต้องมีดับเพลิง หรือมีการกู้ชีพ"

...

"กลัวว่าคนจะไม่ได้มีบทเรียนหรือเรียนรู้จากตรงนี้" :

ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า มองว่า การแก้ไขเรื่องต่างๆ ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย และจริงๆ แล้ว เรื่องการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ เป็นเรื่องที่กรมปศุสัตว์และผู้ที่เป็นเจ้าของต้องจัดการให้ได้ ในส่วนของเจ้าของพื้นที่ น่าจะมีรายได้จากตรงนี้มหาศาล สามารถนำเงินมาปรับปรุงได้อยู่แล้ว 

"แต่ที่ผ่านมาผมมองว่ายังไม่มีการแก้ไขอะไรอย่างจริงจัง การเลี้ยงสัตว์ที่ได้เห็นมันดูไม่มีมาตรฐานเลย เสี่ยงเกิดอันตรายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ผมเห็นมีการลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อย แต่ไม่เคยเจออะไรที่ผิดกฎหมายเลย มันเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง พากันไปถ่ายรูปนี่นู่นนั่น ทุกอย่างเลยเหมือนเดิมแบบนี้ต่อไป"

คุณเอ็ดวิน วีค แสดงความกังวลให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วกฎหมายก็มีปัญหา เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์มีแค่ 8-9 หน้าเอง รายละเอียดก็ไม่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายจึงยังไม่ดีเท่าไร อย่างในกรณีที่เกิดขึ้น พูดในฐานะคนรักสัตว์ และทำงานเกี่ยวการอนุรักษ์สัตว์ ผมไม่อยากให้เกิดภาพแบบนี้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องบอกว่า เราคิดมาเสมอว่า สักวันอาจจะต้องเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ 

"ผมแค่อยากขอว่า อยากให้ทุกคนใช้บทเรียนนี้ เพื่อก้าวสู่เปลี่ยนแปลงต่อไป เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงที่ทุกคนกำลังเฮฮา ตื่นเต้น คื่นตัว เถียงกันไปมา ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ผมกลัวกลัวที่สุดคือ ถ้าเริ่มมีการรื้อของ ปรับปรุงพื้นที่ ก่ออิฐ ทำหลังคาใหม่ แล้วเวลาผ่านไป 3-4 เดือน จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเป็นแบบนั้นทุกอย่างอาจจะกลับมาเหมือนเดิม แล้วก็ต้องรอไฟไหม้หรืออุบัติเหตุอีกครั้ง ค่อยกลับมาสนใจกัน นั่นคือสิ่งที่ผมกลัวที่สุด กลัวว่าคนจะไม่ได้มีบทเรียนหรือเรียนรู้จากตรงนี้"

ส่อง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ : 

มาตรา 3 ของ พระราชบัญญัติ ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้ให้คำนิยามคำว่า "สัตว์" และ "การจัดสวัสดิภาพสัตว์" ไว้ว่า

"สัตว์" หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัย อยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

"การจัดสวัสดิภาพสัตว์" หมายความว่า การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะ ที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ

หมวด 5 การป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มาตรา 20 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร

หมวด 6 การจัดสวัสดิภาพสัตว์ มาตรา 22 ระบุว่า เจ้าของสัตว์ต้องดําเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

ทีมข่าวฯ ขอยกข้อมูลบางส่วนจาก 'ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับหลักสวัสดิภาพสัตว์' เรียบเรียงโดย สัตวแพทย์หญิงธนิดา หรินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ซึ่งได้ระบุว่า

"สวัสดิภาพสัตว์" หมายถึง สภาวะทางกายภาพและจิตใจของสัตว์ ในขณะที่ดำรงชีวิตอยู่และตาย สัตว์ที่มีสวัสดิภาพที่ดีจะมีสุขภาพดี ความสบาย ความปลอดภัย และปราศจากความไม่สบายต่างๆ เช่น ความเจ็บปวด ความกลัว และสามารถแสดงพฤติกรรมปกติได้ ทั้งร่างกายและจิตใจ การที่สัตว์จะมีสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีนั้นจะต้องมีการป้องกันโรค การดูแลด้านสุขภาพสัตว์ การจัดการ ด้านอาหารสัตว์ และการเลี้ยงดูที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ตลอดจนถึงในโรงฆ่า หรือขณะฆ่า

นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงหลักการของสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย 5 หลักการสากล คือ (1) ปราศจากการทิ้ง การละเลย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง, (2) ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม, (3) ปราศจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และโรคภัย, (4) ปราศจากความกลัว และทุกข์ทรมาน และ (5) มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจบอกคุณผู้อ่านได้ว่า "อะไรผิดหรือถูก" แต่เราเพียงอยากตั้งคำถามชวนคิดว่า เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ กฎหมาย ข้อแนะนำเบื้องต้นแล้ว หากนำไปผนวกกับประสบการณ์ส่วนตัว ที่คุณผู้อ่านอาจจะได้ไปพื้นที่ดังกล่าวก่อนเกิดเหตุมาด้วยตัวเอง หรือเห็นจากภาพถ่าย หรือจากวิดีโอตามสื่อต่างๆ ทุกคนคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้?

ภาพ ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์ #ThairathPhoto

อ่านบทความที่น่าสนใจ :