ข้าวไทย ส่งออกแพ้เวียดนาม แต่คุณภาพความหอมยังเหนือกว่า นักวิชาการชี้ ที่ผ่านมางานวิจัยสายพันธุ์ข้าวไม่เคยขาด แต่ยังไร้ระเบียบในการจัดการและนำไปใช้

ซีรีส์สกู๊ปข้าวไทย 2 EP. ที่ผ่านมา ทีมข่าวฯ ได้พาคุณผู้อ่านไปดูปัจจัย ที่ทำให้เวียดนามถือเป็นคู่แข่งตัวเต็งน่ากลัว อีกทั้งยังพาไปส่องนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่ได้วางแผนดำเนินการอย่างแยบยล จนทำให้วงการข้าวเวียดนามผงาดแซงไทยได้

เดินทางเข้าสู่ตอนที่ 3 เราจะขอพาคุณผู้อ่านไปดูกันว่า "ข้าวไทยกับข้าวเวียดนามแตกต่างกันอย่างไร?" จุดไหนที่เรามี แต่เขาไม่มี หรือจุดไหนที่เราดี แต่เขาอาจจะดีกว่า ซึ่งผู้ที่จะมาไขข้อสงสัยคลายฉงนให้เราวันนี้ นั่นก็คือ 'ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร' ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว (Rice Science Center) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

...

ข้าวไทยและเวียดนามไม่ต่างกันมาก : 

คำถามแรกที่เราเปิดประเด็นการสนทนา คือ ข้าวไทย และเวียดนามแตกต่างกันอย่างไร?

ศ.ดร.อภิชาติ ให้คำตอบว่า ถ้ามองในปัจจุบันข้าวที่เวียดนามปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา ถือว่าแทบไม่มีความแตกต่างกับข้าวไทย เพราะเขาพัฒนาจากสิ่งที่ข้าวไทยมี แต่สุดท้ายก็ยังทำได้ไม่เหมือน แต่เวียดนามมีการพยายามพัฒนาบางอย่างเพิ่มเข้าไป นั่นคือ การบวกคุณสมบัติของข้าวสัญชาติอินเดีย อย่างบาสมาติ (Basmati) ลงไปด้วย

"ทั้งข้าวบาสมาติของอินเดีย และข้าวหอมมะลิของไทย ถือเป็นข้าวเกรดพรีเมียมทั้งคู่ แม้ว่าจะอยู่คนละตลาด ทำให้เวียดนามคิดว่า ถ้ารวมข้อดีของข้าว 2 สัญชาตินี้ไว้ด้วยกัน น่าจะได้ข้าวที่สุดยอดกว่า"

ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กล่าวต่อว่า เขาดึงเรื่องเด่นๆ ออกมาใส่ในข้าวตัวเอง อย่างสายพันธุ์ ST24 เป็นเหมือนสุดยอดของเขา ลักษณะทางกายภาพเรียวคล้ายบาสบาติ และยาวคล้ายหอมมะลิของไทย ส่วนความนุ่ม ความเหนียว ก็คล้ายกับของไทยไม่ต่างกันมาก หรือปริมาณแป้งอะไมโลสก็ยังใกล้เคียงกัน

ศ.ดร.อภิชาติ ระบุว่า เวียดนามมองข้าวไทยมานานมากแล้ว เขาพยายามทำให้เหมือน หรือดีกว่า จุดเด่นที่เขาเอาไปอย่างหนึ่งคือ ความยาวเมล็ด ซึ่งข้าวรุ่นใหม่ๆ เขาทำได้ ทำให้ความเรียวมากกว่าข้าวไทยด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ดี การที่เขาพยายามใช้จุดเด่นของข้าวบาสมาติ มันก็มีข้อเสียมากกว่าข้อดีนะ ข้อเสียจะอยู่ตอนสีข้าว เพราะสีแล้วข้าวจะหักไม่เต็มเมล็ด

"แต่ผมว่าจุดเด่นที่ทำให้เขาแตกต่างจริงๆ คือ ข้าวเวียดนามอายุสั้นกว่าเรา เพราะภายใน 100 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย ซึ่งมันจะเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย และชลประทานที่ถั่วถึง เมื่อ 2 อย่างนี้ดี ข้าวจะดีและไม่ล้ม ด้านชลประทานเวียดนามไม่ค่อยขาด เพราะเขาอยู่ฝั่งที่รับมรสุมตลอดเวลา และนั่นยังเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาต้องพัฒนาพันธุ์ข้าว เนื่องจากเขาจะปลูกข้าวที่ลำต้นสูงปานกลาง หรือสูงเหมือนบ้านเราไม่ได้ มันจะล้มหมด เขาเลยต้องมีข้าวต้นเตี้ยและอายุสั้น เพื่อเลี่ยงปัญหามรสุม"

ข้าวไทยเน้นหอมนุ่ม ข้าวเวียดนามขอนุ่มก็พอ : 

อย่างไรก็ดี เมื่อข้าวเวียดนามได้รับน้ำเยอะจากอิทธิพลของมรสุม และการปลูกแบบนาชลประทาน ทำให้ความพยายามที่อยากจะให้ข้าวมีกลิ่นหอมเหมือนของไทย ยังไม่ประสบความสำเร็จดั่งคาดหวัง ซึ่ง ศ.ดร.อภิชาติ ได้อธิบายเหตุผลประกอบไว้ว่า

...

"หากมองเรื่องคุณภาพ กายภาพ และการหุงต้ม มันเป็นของที่เลียนแบบกันอยู่แล้ว แต่ปัจจัยหลักอยู่ที่พื้นที่การทำนา โดนนาส่วนใหญ่ของเวียดนามเป็นนาชลประทาน ส่วนบ้านเรา 50% เป็นพื้นที่นาน้ำฝน ถ้าข้าวได้รับน้ำเยอะ ความหอมจะน้อยลง เขาจึงทำข้าวหอมได้ไม่ดี เลยหันมาเน้นความนุ่ม และความเรียวยาวแทน"

ศ.ดร.อภิชาติ กล่าวต่อว่า 'ความหอม' ยังคงเป็นความยูนีคของข้าวไทย เพราะเราปลูกในนาน้ำฝน เวียดนามเคยพยายามทำให้ข้าวหอมแบบเรา โดยมาปลูกแถบชายแดนกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความใกล้เคียงกับไทย แต่ด้วยเนื้อที่ปลูกข้าวไม่เยอะ จึงไม่สามารถผลิตได้ตามต้องการ 

ด้วยปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว ทำให้เวียดนามที่เคยคิดอยากลงเล่นใน Fragrant Rice หรือ กลุ่มข้าวหอม หันมาเล่น Non-fragrant rice แทน "โดย Non-fragrant rice ไม่เน้นหอม แต่เน้นนุ่ม เป็นอีกกลุ่มตลาดที่ลงมานิดนึง และราคาข้าวถูกกว่า ซึ่งเวียดนามมองว่าไม่ต้องหอมมากก็ได้ ขอแค่นุ่มก็อยู่ในร้านอาหารได้และขายออกแล้ว ตอนนี้เราเลยแข่งกับเขาด้วยราคา"

...

ศ.ดร.อภิชาติ แสดงความคิดเห็นว่า ทำให้ตอนนี้เรื่องข้าวนุ่ม เราอาจจะชนะยาก เพราะเราโฟกัสว่าอะไรก็ต้องหอม ซึ่งความหอมนี้มันดึงผลผลิตไว้ ทำให้การปรับปรุงพันธุ์ยากขึ้น เพราะความหอมนั้นจะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม เราเลยสูญเสียกลุ่มลูกค้าที่เขาอาจจะต้องการแค่ข้าวนุ่ม แต่ถ้าแข่งกันขายข้าวที่กลิ่นหอม ยังไงเราก็ยังเหนือกว่า

"อีกทั้งข้าวหอมไทยอาจจะโดนกดราคาบางครั้ง เพราะคนจีนที่จะมาซื้อข้าวหอมมะลิไทย เขาจะคาดการณ์เลยว่า ก่อนเก็บเกี่ยวฝนจะตกจังหวัดไหนๆ มากขนาดไหน ถ้าเขาดูแนวโน้มแล้วว่าฝนตกเยอะ ข้าวอาจจะหอมน้อยลง เขาก็จะเริ่มกดราคาข้าวไทย"

ตลาดข้าวหอมไทยกำลังถูกเซาะกร่อน : 

จากบทสัมภาษณ์ก่อนหน้า ที่เราเคยได้พูดคุยกับ 'คุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์' นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย และ 'รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์' นักวิชาการอิสระ อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ทำให้เราพอจะทราบว่าขณะนี้การส่งออกของตลาดข้าวไทยกำลังเป็นรองเวียดนาม

แต่หลังจากได้สนทนากับ ศ.ดร.อภิชาติ ซึ่งให้ข้อมูลว่า ความหอมของข้าวเวียดนามยังสู้ข้าวไทยไม่ได้ ทำให้เราสงสัยต่อไปว่า หากเป็นเช่นนี้ถือว่าไทยยังได้เปรียบในตลาดใช่หรือไม่?

...

ศ.ดร.อภิชาติ แสดงความคิดเห็นว่า การได้เปรียบก็พูดยากนะ ผลผลิตของข้าวหอมไทยน้อย และใช้ต้นทุนสูงกว่าเวียดนาม ตรงนี้แหละที่มองว่าเสียเปรียบ เพราะเขาขายได้เยอะกว่าในราคาที่ต่ำกว่า 

แม้ไทยได้เปรียบในแง่ของสายพันธุ์ที่มีความหอม แต่ก็ยังเสี่ยงแพ้ตลาดการส่งออกอยู่ดีใช่หรือไม่? 

"ใช่… ในอนาคตข้างหน้า ถ้ายิ่งอากาศร้อนขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดู มีเรื่องน้ำมาก-น้ำน้อย ข้าวพวกนี้ก็จะส่งผลกระทบได้ง่าย ความร้อนกับช่วงที่ข้าวออกดอก มันยิ่งอาจทำให้ผลผลิตต่ำชัดเจน นี่เป็นจุดอ่อน เพราะข้าวหอมมะลิก็ปลูกได้ปีละครั้ง ถ้าพลาดก็พลาดเลย"

ด้าน 'รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์' แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นตลาดข้าวหอมไทยว่า "เรากำลังถูกเซาะกร่อน" เพราะถูกแย่งชิงส่วนแบ่งไปเยอะพอสมควร อย่างเมื่อก่อนข้าวหอมมะลิเคยส่งออกได้ 2 ล้านกว่าตัน มาวันนี้แม้ข้าวหอมจะส่งได้ 2 ล้านตันกว่า แต่เป็นข้าวหอมมะลิประมาณ 1 ล้าน 2 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวหอมปทุม อีกทั้งการส่งออกข้าวหอมเวียดนามก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ในตลาดของไทยถูกแบ่งออกไป เมื่อเซาะกร่อนแบบนี้ก็ส่อแววแย่

รศ.ดร.สมพร กล่าวว่า แต่หากมองแค่ในมุมของสายพันธุ์นั้น การที่ข้าวเวียดนามจะเอาชนะข้าวหอมมะลิไทยได้ก็ยาก เพราะเป็นความจำเพาะของพันธุ์ เหมือนข้าวโคชิฮิคาริของญี่ปุ่น ที่ไม่มีใครทำแบบเขาได้ แต่ตอนนี้ผลผลิตมันต่ำ ต้องคิดว่าจะทำยังไงจะให้สูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราเหมือนทะนงตัวว่าผลิตข้าวหอมพรีเมียมได้ราคาดี ไม่มีใครสู้ได้ 

"ข้าวพื้นนุ่มอื่นๆ ราคาจะอยู่ที่ 560 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน มีช่วงหนึ่งขึ้นไปถึง 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน คราวนี้เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนก็หันไปซื้อข้าวที่ราคาถูกแต่นุ่ม ไม่หอมก็ไม่เป็นไร ผมเคยไปจีน เขาบอกว่า ข้าว ST25 ของเวียดนาม นุ่มได้ที่คล้ายกับข้าวไทย ตามภัตตาคารจึงหันมาเสิร์ฟข้าวพื้นนุ่มแทน แทนที่จะเป็นหอมมะลิของไทยเหมือนเมื่อก่อน"

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สมพร มองว่า ตลาดข้าวหอมยังมีความจำเพาะอยู่ สามารถจะสร้างกลุ่มเฉพาะขึ้นมาได้ ตอนนี้ยังไม่ถึงกับว่าจะหายไป เพราะอย่างสิงคโปร์ หรือฮ่องกง พวกคนที่มีเงินเยอะ เขายังชอบข้าวมะลิไทยอยู่ 

พันธุ์ข้าวไทยได้รับการพัฒนา แต่ไร้คนเหลียวแล : 

สำหรับประเด็นการวิจัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราทำกันมาเยอะ หลักๆ แล้ว กรมการข้าว จะรับผิดชอบสายพันธุ์ที่คนนิยมปลูก ส่วนทาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะดูข้าวชนิดพิเศษ แต่ที่คนมองกันว่า เมืองไทยไม่มีการพัฒนาพันธุ์ เนื่องจากยังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นระเบียบเหมือนเวียดนาม เพราะหากมองเวียดนามจะพบว่า ถ้ารัฐบาลอยากทำอย่างไร ก็แค่วางแผนและสั่งลงมา ด้านเกษตรกรจะทำตามที่ได้รับมอบ

"เขาทำเรื่องระเบียบได้อย่างดี เพราะส่วนหนึ่งเขาเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ของเรายังทำได้ยาก เพราะทุกอย่างเสรีไปหมด ทุกอย่างตามใจฉัน บางครั้งขอร้องให้ทำยังไม่ทำ แล้วเราจะไปเหมือนเวียดนามได้ยังไง ของเขามีคนคอยบอก และถ้าผู้นำเขาดีทุกอย่างมันก็สุดยอด"

ศ.ดร.อภิชาติ แสดงความคิดเห็นว่า กลับมามองเมืองไทย หากต้องการส่งออก ต้องส่งออกตามที่เกษตรกรกำกับมา ว่าปลูกพันธุ์ไหนได้เยอะ ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นำใครกันแน่ รัฐนำเกษตรกร หรือเกษตรกรนำรัฐ คราวนี้จะช่วยเหลือ หรือวางแผนอะไรได้ 

"ประเทศเรามีครบทุกอย่าง เครื่องผสมข้าวก็มี หรือต้องการข้าวหอมมะลิที่บริสุทธิ์ระดับ 95-99% เราก็มี ครั้งจะให้ทำถึง 100% ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ซึ่งแบบนี้เวียดนามยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ"

ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็วิจัยพัฒนาข้าวหอมมะลิค่อนข้างมาก โดยเน้นไปที่เรื่องประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มขึ้นมาได้เรื่อยๆ แต่เมื่อทำออกมาแล้วไม่ค่อยได้รับการรับรู้ หรือการจะนำเข้าไปสู่แบรนด์สักแบรนด์ก็ทำได้ยาก หากจะไปตั้งแบรนด์ข้าวใหม่ก็ไม่มีเงินทุนสนับสนุน

ที่ปรึกษาอาวุโส ยกตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาให้เราฟังว่า เช่น ข้าวหอมสยาม ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าข้าวหอมมะลิ นอกจากนั้นยังมีข้าวอื่นๆ ในโครงการ เช่น ข้าว กข.51 เหมือนกับข้าวหอมมะลิ ทนน้ำท่วมฉับพลันได้ดีกว่า แต่ก็ยังไม่มีคนพูดถึง จนเดินทางมาถึง กข.87 ก็ยังไม่มีใครพูดถึง ไม่มีการนำไปใช้ 

"เรามีข้าวมากกว่าเวียดนาม เรื่องพันธุ์ข้าวไม่ต้องห่วง เรื่องการต้านทานโรค เราก็ทำล่วงหน้ามานานแล้ว เรามีครบทุกอย่าง อยู่ในรูปของข้าวคุณภาพสูง ทั้งทนน้ำท่วม ระบบรากดี ใช้น้ำน้อย ไปจนถึงมีการพูดถึงโลว์คาร์บอนด้วย เราเดินไปข้างหน้าแล้ว แต่แค่ยังไม่มีการนำไปใช้"

ต้องวางระเบียบวงการข้าวไทยใหม่ : 

ทีมข่าวฯ สอบถามที่ปรึกษาอาวุโสว่า หากเป็นดังที่กล่าวมาควรทำอย่างไรต่อไป?

คำตอบของคำถามนี้คือ จุดนี้ต้องมานั่งเปิดใจกัน เพื่อวางระเบียบให้ไปในทิศทางเดียวกันแล้ว เพราะเรากำลังมีคู่แข่งตัวจริงทั้งข้างบนและข้างล่าง มานั่งดูว่าเรามีอะไรดีบ้าง แล้วเอาข้อดีนั้นๆ มารวมกัน ถึงเวลาที่ต้องสามัคคีกันแล้ว 

ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร กล่าวว่า ฝั่งรัฐบาลต้องเปิดรับฟังให้กว้าง มองถึงสิ่งที่ประเทศจะได้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็อุตส่าห์เอาเงินวิจัยมาลงทุนหลายบาท ไม่อยากให้เงินตรงนั้นเสียเปล่า และเวลาประกันรายได้เกษตรกร ต้องเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ลงไปด้วย เราต้องทำให้เกษตรกรเห็นด้วยว่ามันจะใช้ได้ การปลูกของเขาจะไม่สูญเปล่า 

"ในส่วนของเกษตรกรเขาไม่มีอะไรมากหรอก เขาปลูกข้าวตามผู้ซื้อ ถ้าผู้ซื้อยินดีและเข้าใจกับสิ่งที่เขาทำ ไม่ว่าจะปลูกอะไรมันก็ไปต่อได้ แต่ตัวอย่างที่ผ่านมา เกษตรกรปลูกข้าวหอมสยาม ไปด้อยค่าว่าเป็นข้าวราคาถูก สุดท้ายเกษตรกรก็ไม่อยากปลูก เรื่องมันแค่นั้นเลย"

"ผมยังเชื่อว่าเรามีข้าวดีๆ กว่าเวียดนามเยอะ นี่ยังไม่ได้พูดถึงวงการข้าวสีไทยที่ล้ำไปไกลมาก ข้าวสีเราน่าจะก้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ทำจริงจัง เวียดนามเขาก็กำลังหันมาสนใจเหมือนกัน พยายามเลียนแบบ แต่ยังทำไม่ได้"

สำหรับผมแล้ว ความน่ากลัวของเวียดนามมีอย่างเดียว ที่เขามี แต่เรายังทำไม่ได้ นั่นคือ "ความจริงจัง และความสามัคคี ตั้งแต่เกษตรกร เอกชน ไปจนถึงรัฐบาล" ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร กล่าวส่งท้าย.


อ่านบทความที่น่าสนใจ :