ที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวในการให้คนไทย “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” เนื่องจากประชากรเกิดใหม่ลดลง แม้มีการให้เงินอุดหนุนบุตร ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ขวบ แต่พบว่ามีเด็กตกสำรวจมากกว่า 30% ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณาการให้เงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งยังต้องมาลุ้นว่าจะผ่านการพิจารณาหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มมาตรการ “เงินอุดหนุนบุตร” ที่ช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดไปจนถึง 6 ปี ให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยรัฐช่วยออกค่าเลี้ยงดูบุตรให้คนละ 600 บาท/เดือน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย แต่ด้วยเงื่อนไขการยื่นคำร้องที่ยุ่งยาก ทำให้มีเด็กตกหล่นอีกจำนวนมาก จึงมีการเสนอให้ปรับการให้แบบถ้วนหน้า ประกอบกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จึงมีการนำเสนอให้เพิ่มเงินอุดหนุน

จากข้อมูลล่าสุด องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่าภายในเดือนมิถุนายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้เป็นแบบถ้วนหน้า และให้เงินอุดหนุนกับหญิงตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มีการเสนอให้เพิ่มจำนวนเงินอุดหนุน แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในเรื่องสวัสดิการเด็กในสังคมโลกอย่างแท้จริง

...

ครอบครัวตกสำรวจ เงินอุดหนุนบุตร

เพิงพักที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ ในซอยเสือใหญ่อุทิศ กรุงเทพฯ ถูกใช้เป็นโกดังเก็บของเก่า เพื่อรอการนำไปจำหน่ายต่อเป็นของมือสอง ด้านหลังมีการกั้นห้องแบบง่าย ซึ่งเป็นที่พักของ “ธีรนาฏ ทิศแดง” อายุ 26 ปี แม่ของน้องซูบี้ อายุ 1 ปี ที่ตกสำรวจการขอเงินอุดหนุนบุตรเดือนละ 600 บาท แม่น้องซูบี้ เล่าว่า ด้วยความที่สามีต้องทำงานคนเดียว ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอ ขณะที่น้องเริ่มโต เลยนำลูกไปฝากไว้ที่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม (บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่) ซ.ลาดพร้าว 23

รายจ่ายในการเลี้ยงลูกอยู่ที่ 6,000 บาท/เดือน โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ค่านม แพมเพิร์ส ยิ่งช่วงไหนต้องไปหาหมอเพื่อฉีดวัคซีน จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ด้วยความที่แม่ไม่ได้ทำประกันสังคม และพื้นที่บ้านอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำให้การรักษาพยาบาลยังไม่ครอบคลุม

บ้านหลังที่อยู่ดัดแปลงให้เป็นสถานที่เก็บของเก่า และมีญาติพี่น้องรวม 6 ชีวิต ต้องเสียค่าเช่าเดือนละ 15,000 บาท แต่ด้วยความที่ที่บ้านเริ่มทำอาชีพรับของเก่ามาขาย ทำให้ยังมีรายได้ไม่แน่นอน และต้องมีการใช้จ่ายแบบเดือนต่อเดือน ส่วนรายได้ของสามีทำเต็นท์รถ รายได้แต่ละเดือนก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับยอดขาย

ตอนนี้ยังไม่ได้ขอเงินอุดหนุนบุตร เพราะไม่รู้ว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมเอกสารและลองไปยื่นดู เพราะอย่างน้อยถ้ามีรายได้ช่วยเหลือเดือนละ 600 บาท ก็จะช่วยในเรื่องค่าอาหารและของกินของลูกให้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ของแพง ทำให้ต้องไปยืมเงินจากพ่อแม่แทบทุกเดือน
อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณา ในการให้เงินอุดหนุนบุตรแบบถ้วนหน้า เพราะก่อนหน้านี้ต้องมีเงื่อนไขทั้งเรื่องเอกสาร และรายได้ของครอบครัว ซึ่งถ้าให้แบบถ้วนหน้า จะช่วยให้เข้าถึงเงินส่วนนี้ได้มากขึ้น

...

เงินอุดหนุนบุตร ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

ห้องเช่าขนาดไม่กี่ตารางเมตร ในซอยเสือใหญ่อุทิศ กรุงเทพฯ “ญาณิศา เดชสุข” อายุ 24 ปี ที่เข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ กำลังรับจ้างเสียบลูกชิ้นให้กับรถลูกชิ้นทอด โดยมี น้องต้นไม้ อายุ 1.2 ปี นั่งอยู่ไม่ห่าง แม้ครอบครัวจะได้เงินอุดหนุนบุตร แต่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

แม่น้องต้นไม้ เล่าว่า ได้ไปขอเงินอุดหนุนบุตร หลังจากออกจากโรงพยาบาล เพราะไปคลอดที่ต่างจังหวัดพังงา ต้องไปทำเรื่องที่ อบต. แต่กว่าจะได้ต้องใช้เวลากว่า 8 เดือน เพราะต้องแก้เอกสารในส่วนที่มีการเขียนผิด จากเด็กชายกลายเป็นเด็กหญิง รายได้ของครอบครัวตอนนี้ ด้วยความที่สามีต้องไปหาของมาขาย ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนตัวเองรับจ้างขายของ และช่วยเสียบลูกชิ้น มีรายได้ประมาณเดือนละ 6,000 บาท แต่ด้วยความที่ตัวเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ ทำให้ต้องซื้อนมกล่องมาเลี้ยงลูก ตกลังละ 300 – 400 บาท ซึ่งอยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็หมด เพราะลูกชายคนโต อายุ 4 ขวบ ก็ต้องกินด้วย

...

เงินอุดหนุนเด็กที่ได้เดือนละ 600 บาท ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอ ซึ่งเงินที่ได้มาใช้ซื้อนมได้ประมาณ 2 ลัง แต่ลูกก็กินนมเก่ง ทุกวันนี้ซื้อนมอาทิตย์ละ 1 ลัง ยังไม่พอ แต่ถ้าใช้นมผงเลี้ยงก็ยิ่งมีราคาสูงมากขึ้นไปอีก

ประกอบกับรายจ่ายในครอบครัวตอนนี้พุ่งสูงมาก โดยเฉพาะค่าห้องที่รวมค่าน้ำค่าไฟ ตกเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งห้องเช่าอยู่ด้วยกัน 4 คน “พ่อ แม่ ลูก”

อยากให้มีการช่วยเหลือปรับขึ้นเงินอุดหนุนบุตรเป็นเดือนละ 1,200 บาท ให้จนถึงอายุ 6 ขวบ ก็จะช่วยให้เด็กมีอาหารการกินที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่กังวลต่อจากนี้ หากลูกโตและเข้าโรงเรียนก็จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเองและสามีก็เตรียมที่จะต้องหาเงินในส่วนนี้มาเพิ่มขึ้น

คนจนเมือง เด็กตกสำรวจที่ต้องปรับเกณฑ์ใหม่

ครูต้อ-ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ
ครูต้อ-ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ

...

ครูต้อ-ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า เงินอุดหนุนบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาท ในกลุ่มเด็กที่ทางบ้านยากจน แต่ปัญหาที่ตามมาเกิดจากเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดไม่ได้ให้กับเด็กแบบถ้วนหน้า เลยทำให้เด็กมีการตกหล่นกว่า 30% เนื่องจากมีครอบครัวที่ไม่รู้จำนวนมาก และการลงทะเบียนทำให้มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

ประกอบกับต้องมีการรับรองว่าครอบครัวจนจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน ซึ่งพบว่าคนที่รับรองไม่ยอมเซ็นให้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะรับรองดีหรือไม่ ขณะที่อีกบางส่วนจะเซ็นให้กับคนที่รู้จักเท่านั้น ซึ่งผู้นำท้องถิ่นบางรายก็ยังไม่มีความรู้ ทำให้ไม่ยอมเซ็นให้กับครอบครัวเด็กที่ยากไร้

สิ่งที่อยากเรียกร้องกับผู้เกี่ยวข้องคือ การปรับเปลี่ยนเกณฑ์เป็นการให้แบบถ้วนหน้า ซึ่งจะช่วยให้คนที่ตกหล่นได้รับเงินช่วยเหลือ ส่วนจะปรับขึ้นในอัตราเท่าไรต่อไปก็สามารถพิจารณาได้ เพื่อจะได้ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมในช่วงวัยดังกล่าว

ยูนิเซฟ ผลักดันให้เงินอุดหนุนบุตรถ้วนหน้า

“กานต์กมล สินเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
“กานต์กมล สินเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

“กานต์กมล สินเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มองว่า เงินอุดหนุนบุตร ที่ต้องมีการพิจารณาตามเงื่อนไขทำให้เป็นภาระในการหาเอกสาร เดินทางไปหาผู้ที่จะพิสูจน์รายได้ของตัวเอง และกลายเป็นภาระ ทำให้หลายครอบครัวไม่มั่นใจว่าจะไปขอได้จริงหรือไม่ เพราะการเดินทางบางครั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่าย

"ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานรัฐควรพิจารณาคือ การให้เงินอุดหนุนบุตรแบบถ้วนหน้า โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขกำหนดรายได้ของผู้รับ และอำนวยความสะดวกการลงทะเบียนให้ง่ายที่สุด ซึ่งโครงการลักษณะนี้มีการทำมาแล้วหลายประเทศ พบว่ามีประโยชน์ต่อเด็กมาก"

จากการวิจัยพบว่า เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ยังไม่เพียงพอ แต่ควรปรับให้เป็นเดือนละ 1,500 บาท หรือ 2,700 บาท ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้ของคณะรัฐมนตรีในรอบต่อไป จะขอพิจารณาการให้แบบถ้วนหน้าก่อน ซึ่งขั้นถัดไปค่อยพิจารณาเพิ่มเงิน

เด็กในวัยแรกเกิดถึง 6 ปี เป็นช่วงวัยที่ต้องลงทุนในเรื่องพัฒนาการและอาหารอย่างมาก เพื่อที่จะทำให้เติบโต และมีศักยภาพในการเรียนต่อไปได้ เพราะทุกวันนี้อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงอย่างมาก ดังนั้น เราต้องยิ่งให้ความสำคัญกับเด็กที่เกิดขึ้นมาให้มากขึ้น เพื่อที่เขาจะได้เติบโตมาอย่างมีศักยภาพมากขึ้น.

ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์