ชวนรู้จักแนวคิด '3 ลด 3 เพิ่ม' และนโยบายปฏิรูป 'โด๋ยเม้ย' 2 แผนพัฒนาพาข้าวเวียดนามพุ่งแรงแซงข้าวไทย นักวิชาการชี้ ข้าวไทยมีดีแต่ยังติดกับดักนโยบายประชานิยม 

สกู๊ปข้าวไทยก่อนหน้านี้ น่าจะทำให้คุณผู้อ่านพอทราบถึงปัจจัยบางอย่าง ที่อาจทำให้ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง และอาจจะทำให้พอเข้าใจว่า เหตุใด 'คุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์' นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย ถึงมองว่าเวียดนามคือคู่แข่งรายสำคัญที่น่ากลัว!

อย่างไรก็ดี การเติบโตของวงการข้าวเวียดนาม ไม่ใช่โชคดีหรือความบังเอิญ ทุกอย่างถูกวางแผนผ่านนโยบายและแนวคิดอย่างแยบยล ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของเอเชียนี้ ทุ่มงบประมาณและจริงจังกับการพัฒนาข้าวเป็นอย่างมาก!

เอาเป็นว่า… อย่ารอช้าเลยดีกว่า! ทีมข่าวฯ ขอพาไปทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์ที่เราได้สนทนากับ 'รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์' นักวิชาการอิสระ อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ 

รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์
รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์

...

สโลแกน 3 เพิ่ม 3 ลด : 

หากเราจะพยายามค้นหาคำตอบว่า เหตุใดข้าวเวียดนามถึงกำลังรุกหน้าแซงข้าวไทย ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1980 ที่รัฐบาลเวียดนามปิ๊งไอเดีย จนเกิด 'นโยบายปฏิรูปโครงสร้างข้าว' เรียกว่า '3 ลด 3 เพิ่ม' ซึ่ง รศ.ดร.สมพร ได้อธิบายให้เราเข้าใจโดยง่ายว่า "3 ลด คือ ลดค่าปุ๋ย ลดค่ายา ลดต้นทุน ส่วน 3 เพิ่ม คือ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มกำไร โดยเวียดนามพยายามดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง เขามองว่าถ้าทำ 2 อย่างนี้ได้ ยังไงกำไรต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน"

อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินของเขามีข้อมูลเชิงประจักษ์เลยว่า ประมาณ 10-12 ปีที่แล้ว เวียดนามปลูกข้าวพื้นนุ่มและส่งออกได้ประมาณ 2 แสนตันต่อปี และขายได้แค่ประมาณ 370 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ช่วงนั้นมีคำดูถูกต่อข้าวเวียดนามมากมายว่า "ไม่มีทางสู้ไทยได้" จนกระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามปรับคุณภาพข้าวนุ่มส่งออกได้เป็นล้านตัน และปีที่ผ่านมาส่งออกได้ประมาณเกือบ 3 ล้านตัน 

อย่างไรก็ตาม การจะมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เกิดจากการพยายามของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ รศ.ดร.สมพร ชี้ว่า นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านที่เกิดโดยง่าย แต่มีกลไกขับเคลื่อนนโยบายจาก 3 ฝ่ายผสานเข้าด้วยกัน คือ รัฐบาล เอกชน และประชาชน โดยรัฐมีหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์ข้าวต่างๆ เช่น ST21 (Vietnamese Fragrant Rice ST21) หลังจากนั้นให้เอกชนนำไปขยายพันธุ์ และลงมาส่งเสริมภาคเกษตรกร โดยการให้ความรู้และสร้างเป็นชุมชนขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีการร่วมมือกับพ่อค้าในประเทศ เพื่อรับซื้อผลผลิตและนำส่งออกต่อไป

"เพราะฉะนั้น จากเมื่อก่อนที่ 100 ครัวเรือน ปลูก 100 สายพันธุ์ จะกลายเป็น 100 ครัวเรือน ปลูก 1 สายพันธุ์ ทำให้ข้าวมีความสม่ำเสมอสูง มันจะดีเท่าๆ กันหมด อีกทั้งเวียดนามสามารถเปลี่ยนจากข้าวพื้นแข็งที่ตลาดไม่ต้องการเป็นข้าวพื้นนุ่มได้ด้วย"

"การพัฒนาของเวียดนาม ทำให้ราคาข้าวก้าวกระโดด จากที่เคยขายได้แค่ประมาณ 370 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขยับขึ้นเป็น 600 เหรียฐสหรัฐต่อตัน แสดงว่าชาวนาเวียดนามจะมีรายได้ขึ้นมากกว่าเดิมแน่นอน ยิ่งปีนี้มีโอกาสเข้ามา ราคาข้าวขึ้นเพราะขาดแขน เวียดนามก็มีโอกาสขายได้สูง เพราะเขาปรับปรุงประสิทธิภาพไปไกลมากแล้ว"

...

พื้นที่ปลูกข้าวของเวียดนามเข้าถึงชลประทานมากกว่า 70% : 

รศ.ดร.สมพร ระบุว่า ปัจจุบันเวียดนามต้องการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกเป็น High-value ส่งออกให้มากขึ้น เขาถึงกับโค่นกาแฟพันธุ์ที่ราคาไม่ค่อยดีเพื่อไปปลูกทุเรียนแทน และก็ประสบผลสำเร็จ เพราะปลูกจนส่งออกไปจีนได้อย่างก้าวกระโดด แม้แต่ที่นาบางจุด เขาทำเป็นโคกยกขึ้นมาปลูกทุเรียน นอกจากนั้น ตอนนี้ชาวนาเวียดนามทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น ไม่ได้เป็นเชิงเดี่ยวเหมือนชาวนาไทย

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้ามองในมุมการปลูกข้าว พื้นที่การปลูกของเวียดนามถือว่ามากกว่าไทย เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ถ้าบนที่สูงชาวนาเขาจะทำแบบคอนทัวร์ มีที่ลุ่มแถบแม่น้ำโขงเป็นแหล่งผลิตใหญ่ อีกทั้งเวียดนามจะทำนา 3 ฤดู เพราะเขาใช้เวลาปลูกข้าวเพียง 100 วัน ทำให้สามารถทำนาได้ถึง 3 ครั้งต่อปีได้ ส่วนไทยใช้เวลาปลูกประมาณ 120 วัน

แต่เอ๊ะ! ในเมื่อพื้นที่โดยรวมของประเทศไทย ก็ดูจะใหญ่กว่าเวียดนาม แต่เหตุใดถึงปลูกได้น้อยกว่าล่ะ? 

รศ.ดร.สมพร ให้คำตอบว่า เพราะเขามีข้อดี คือ มีชลประทานประมาณ 70-75% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ขณะที่ไทยมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 25% ของพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งเวียดนามยังมีระบบการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ที่เข้มแข็ง มีการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่สูงกว่าไทยเป็นเท่าตัว 

...

"จะเห็นได้ว่า ชลประทานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันทำให้พวกเขาใช้ที่ดินได้มีประโยชน์มากขึ้น กลับกันทางอีสานของไทย ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 50% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด กลับปลูกข้าวได้ประมาณปีละ 1 ครั้ง เพราะพื้นที่แล้ง ระบบชลประทานก็ไม่อำนวย ยิ่งไปกว่านั้นนิยมปลูกข้าวหอมมะลิ แม้ว่าจะมีราคาสูง แต่ผลผลิตต่ำ และต้นทุนต่อหน่วยสูง"

รศ.ดร.สมพร มองว่า ผลจากปัจจัยต่างๆ ทำให้ชาวนาเวียดนามไม่ได้ยากจน กลับกันนั้นชาวนาไทยเป็นหนี้สินล้นพ้น มันเป็นปัญหาที่นโยบายของรัฐแก้ไม่ตรงจุด เหมือนตาบอดคลำช้าง ถ้าไทยนำเงินมาปรับปรุงแหล่งน้ำในไร่นา หรือหาองค์ความรู้เผยแพร่เปลี่ยนมายด์เซตของชาวนาให้ดีขึ้น มีกลไกแนะนำให้เขาปลูกแบบผสมผสาน ป่านนี้เขามีฐานะดีขึ้นไปแล้ว

เวียดนามจริงจังกับการพัฒนาข้าว : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม รศ.ดร.สมพร ว่า เหตุใดรัฐบาลเวียดนามถึงจริงจังกับการพัฒนาข้าวมากขนาดนี้ เราได้รับคำตอบจากปลายสายว่า เพราะเขามองไปถึงเรื่อง Food security หรือความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 'จำนวนประชากร' และ 'การเรียนรู้ผลของสงคราม'

...

รศ.ดร.สมพร กล่าวเสริมว่า ประชากรเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านคนแล้ว เขาเลยใส่ใจเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร เพราะอดีตเขาเคยเป็นประเทศที่ขาดแคลนในยุคสงครามเวียดนาม เขาเรียนรู้และเห็นผลของความลำบาก จนประมาณปี 1986 เกิดนโยบายที่เรียกว่า 'Đổi Mới' (โด๋ยเม้ย) 

"เวียดนามพยายามจะไม่ส่งออกข้าวเกิน 7-8 ล้านตัน ทั้งที่เขาปลูกได้มากกว่าไทย อย่างข้าวสารปลูกได้ประมาณ 28 ล้านตัน ข้าวเปลือกประมาณ 40 ล้านตัน เขาสำรองไว้ให้เพียงพอ เพราะประชากรเวียดนามถือว่ากินข้าวเยอะในระดับหนึ่ง"

ก่อนเราจะไปกันต่อ… ทีมข่าวฯ ขอแวะพาคุณผู้อ่าน ทำความรู้จักกับนโยบาย Đổi Mới กันสักนิดนึง

นโยบาย Đổi Mới เกิดขึ้นจากการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 6 เป็นนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ จากเน้นส่วนกลางสู่ระบบตลาด พูดง่ายๆ คือ ต้องการ 'เปิดประเทศมากขึ้น' นอกจากนั้น ยังต้องการขจัดข้อจำกัดการค้าภายในประเทศ ยกเลิกการผูกขาดทางการค้า เพื่อกระจายอำนาจทางธุรกิจแก่ท้องถิ่น และยังเป็นการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของนโยบายนั้น ถือว่าสอดคล้องกับความหมายของ Đổi Mới เพราะ Đổi หมายถึง เปลี่ยน และ Mới หมายถึง ใหม่ นั่นเอง…

ประเทศไทยยังติดกับดักนโยบายประชานิยม : 

หันกลับมามองนโยบายเกี่ยวกับข้าวของสยามเมืองยิ้ม อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ มองว่า ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไทยรวบรวมและปรับปรุงข้าวได้ดีมาก มีการสร้างนาทดลอง ทำอะไรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมาพังประมาณปี พ.ศ. 2540 เมื่อการเมืองเริ่มเข้าไปยุ่ง และพังมากที่สุดในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีโครงการจำนำข้าว

รศ.ดร.สมพร กล่าวเสริมว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2554 เริ่มที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไทยก็แจกเงินมาโดยตลอด ใช้เงินเปล่าอุดหนุนชาวนา ซึ่งนั่นเป็นการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม หากคำนวณงบประมาณที่รัฐจ่ายไป สูงถึงประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

"รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสียงบไปกับโครงการรับจำนำข้าว ประมาณ 6 แสนล้านบาท รัฐบาลประยุทธ์อีก 6 แสนล้านบาท และเมื่อเพื่อไทยเข้ามามีนโยบายอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท ก็จ่ายไปอีก 56,000 ล้านบาท ดูสิ… เงินหายไปประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยที่ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลย แล้วทุกวันนี้จะไปแข่งขันกับใครได้"

รศ.ดร.สมพร แสดงความคิดเห็นว่า ชาวบ้านไม่มีน้ำจะปลูก ต้นทุนสูง พันธุ์ข้าวก็ผลผลิตต่ำและแข่งขันไม่ได้ มันเป็นสารพัดปัญหาอีนุงตุงนัง ซึ่งเกิดจากนโยบายที่บิดพลิ้ว อะไรที่ควรทำไม่ทำ ไปทำนโยบายที่ไม่ควรทำ แถมยังเป็นนโยบายระยะสั้นเพื่อใช้หาเสียง จนส่งผลกระทบไปหมด

รัฐบาลไทยเน้นนโยบาย 'ประชานิยม' ไม่เน้นการวิจัยและพัฒนา เรามีพันธุ์ข้าวดีๆ มากมาย มีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่เก่งไม่แพ้ชาติใด แต่เรากลับดำเนินนโยบายอย่างผิดพลาดมาโดยตลอด ซึ่งโทษใครไม่ได้เลย ต้องโทษนโยบายที่รัฐทำว่ามันไม่ดี 

"ประเทศไทยติดกับดักนโยบายของรัฐ ที่ทำให้ชาวนาอยู่ในภาวะยากจน เป็นกับดักที่ไปไหนไม่รอด ถ้าถามว่าจะหลุดจากกับดักนี่ได้ไหม ก็ต้องบอกว่า ต้องเปลี่ยนมายด์เซตของนักการเมือง ถ้านักการเมืองหวังแต่จะแจกเงิน มันก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าคุณจะสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน คุณจะมามัวนั่งแจกเงินไม่ได้ ต้องหันมาใส่ใจเรื่องนวัตกรรม และการพัฒนาเกษตรกร" รศ.ดร.สมพร กล่าวกับเรา

ไทยมีของดีแต่ไร้งบสนับสนุน : 

ผลจากการพยายามซื้อใจเกษตรกรโดยการเน้นทำ 'นโยบายประชานิยม' ส่งผลให้รัฐบาลอาจเผลอหมางเมินต่อ 'การวิจัยและพัฒนา' ของดีที่มีอยู่ในมือ! รศ.ดร.สมพร มองว่า วิทยาศาสตร์เรื่องข้าวของเวียดนามก้าวไปไกลมาก เผลอๆ นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวอาจดีกว่าไทยด้วย

ช้าก่อนคุณผู้อ่าน… นั่นไม่ใช่คำดูหมิ่นดูแคลนจากนักวิชาการอาวุโส แต่เป็นการแสดงความกังวลถึงอนาคตวงการข้าวไทยในตอนนี้ต่างหากล่ะ เหตุที่ รศ.ดร.สมพร เอ่ยเช่นนั้น เพราะมองว่า ที่จริงแล้วคนไทยและของไทยมีดี แต่รัฐไม่มีเงินไปสนับสนุน เงินวิจัยที่มีก็ต่ำมาก ผิดกับเวียดนามที่แค่ระดับจังหวัดก็ได้งบทำวิจัยแล้ว 

"ของเราก็มีงบประมาณนะ เป็นงบที่ผ่านกรมข้าว แต่มันเหมือนเบี้ยหัวแตก เพราะกรมข้าวปีหนึ่งก็ได้งบไม่เท่าไร แม้แต่วันนี้นักปรับปรุงพันธุ์ในกรมข้าวก็แทบไม่มีเหลือแล้ว ระบบทุนที่มีอยู่ก็ไม่ได้เอื้อให้เกิดการสร้างฐานให้ดีขึ้น เรามีจีโนมสายพันธุ์ข้าวมากที่สุดในโลก เรามี 5,000 กว่าสายพันธุ์ แต่คุณรู้ไหมว่าเรามีแล้วเหมือนเก็บไว้เฉยๆ เพราะว่าการจะใช้มาผสม ต้องใช้หลัก Genomics (จีโนมิกส์) แต่ทุนวิจัยมันมีน้อย"

อย่างที่ผมบอกไป ไทยเน้นประชานิยม ไม่เน้นการวิจัยและพัฒนา กลับกันทางเวียดนามลงทุนการวิจัยสูงกว่าเราประมาณ 5-6 เท่า งบประมาณเรามีไม่ถึง 300 ล้านบาท แต่ของเขาประมาณ 3,000 ล้านบาท เท่ากับว่าสูงกว่าถึง 10 เท่าด้วยซ้ำไป เขาให้สถานีวิจัยระดับจังหวัดสามารถทำวิจัยขึ้นมาได้ มีคนคอยสนับสนุน มีนโยบายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวต่อไปว่า เรื่องศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ของเราก็มี แต่เราผลิตได้ไม่เท่าเขา ปีปีหนึ่งเราต้องการเมล็ดพันธุ์ 1.5 ล้านตัน แต่มันมีพันธุ์ที่ Purity (ความบริสุทธิ์) ไม่ได้ เพราะบางครั้งซื้อจากตลาด ทำให้เมล็ดพันธุ์ปนกันไปหมด จนส่งผลให้คุณภาพลดลง 

ทุกวันนี้ชาวนาไทยบางกลุ่มนำข้าวสายพันธุ์ของเวียดนามมาปลูก เพราะข้าวหอมพวง ที่คนไทยเรียกกัน ที่จริงมันก็คือข้าวสายพันธุ์ Jasmine 85 ซึ่งเป็นสายพันธุ์สาธารณะที่เวียดนามปรับปรุง เหตุที่เขาหันมาปลูกข้าวพันธุ์นี้ เพราะผลผลิตสูง และใช้เวลาแค่ประมาณ 100 วัน แต่ข้าวไทยส่วนมากใช้เวลา 120 วัน ซึ่งชาวบ้านเขาก็อยากประหยัดเวลา และต้องการผลผลิตที่สูงขึ้น

รัฐบาลไทยต้องเลิกให้เปล่าแก่เกษตรกร : 

จากปัญหาที่อีนุงตุงนังและคาราคาซังมานับสิบปี ทำให้ รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ มองว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ต้องเลิกการให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขได้แล้ว ต้องเพิ่มทุนที่ดีให้แก่เกษตรกร ซึ่งทุนนั้นก็คือสายพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์แล้ว รวมไปถึงพัฒนาโครงสร้างชลประทานให้ทั่วถึง 

"ทุกวันนี้เราไปช้ากว่าเขา เราต้องกลับมาให้ความสนใจใหม่ เพราะมีของดีอยู่ในมือ อยู่ตามหน่วยงานต่างๆ มากมาย นักวิทยาศาสตร์เราเก่ง ขาดแค่ระบบส่งเสริมที่ดีก็เท่านั้น"

รศ.ดร.สมพร กล่าวว่า เราควรจริงจังกับเรื่องนี้ได้แล้ว เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และความมั่นคงของเกษตรกรไทย ถ้าเรามีสายพันธุ์ดีๆ จัดการเกษตรให้มีความรู้ดีๆ บำรุงพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวไว้ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน จะช่วยให้ชาวบ้านปลูกแล้วมีรายได้ที่ดี และความมั่นคงทางอาหารเราก็จะดี

อ่านบทความที่น่าสนใจ :