นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย เผย 5 เดือนแรก ส่งออกข้าวกว่า 4 ล้านตัน แต่ครึ่งปีหลังมีปัจจัยส่อแววทำไทยส่งออกได้น้อยลง มอง 'เวียดนาม' คือคู่แข่งรายสำคัญที่น่ากลัว!
หากจะกล่าวถึงพืชที่มีความสำคัญระดับโลก ก็คงจะหนีไม่พ้น 'ข้าว' ซึ่งเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับพันล้าน ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นานาประเทศต่างพยายามแข่งขัน และช่วงชิงตำแหน่งตัวท็อปของผู้ส่งข้าว เพื่อหวังโกยเงินเข้าประเทศ และเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
'ไทย' เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ระดับแนวหน้า ของผู้นำการส่งออกข้าวมาโดยตลอด แต่ระยะหลังเราอาจจะเห็นข่าวมาบ้างว่า ตำแหน่งนั้นกำลังสั่นคลอนเป็นระยะ โดยประเทศที่ดูจะทำให้ไทยพะวักพะวนได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือ เวียดนาม ซึ่งจากที่เราได้มีโอกาสสนทนากับ 'คุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์' นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย เขาก็ดูจะคิดอย่างนั้นเช่นกัน
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคุณชูเกียรติมองว่า แม้ 5 เดือนแรกของปี 2567 ไทยจะส่งออกข้าวได้เป็นอย่างดี แต่ครึ่งปีหลังกลับมีปัจจัยส่อแววทำไทยส่งออกได้ลดลง โดยเรื่องหลักๆ มาจากราคาข้าวของไทย ที่มีราคาสูงกว่าเวียดนาม!
...
5 เดือนแรก ส่งออกข้าว 4.3 ล้านตัน :
คุณชูเกียรติ ระบุว่า การส่งออกข้าวไทยช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างดี เพราะเราส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 4.3 ล้านต้น ซึ่งถ้าเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ทำให้แค่ครึ่งปีแรกเราทำภาพรวมออกมาได้ดีมาก
ปัจจัยหลักๆ เนื่องจาก ปีนี้อินโดนีเซียยังเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ มีการคาดการณ์ว่าอินโดฯ จะซื้อข้าวจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา กัมพูชา รวมแล้วประมาณ 4 ล้านตัน เพื่อจะเอาข้าวไปชดเชยกับผลผลิตในประเทศปีที่แล้วที่ลดลง ทำให้ตอนนี้เพียง 5 เดือน ไทยก็ส่งออกข้าวไปอินโดฯ รวมกว่า 8 แสนต้นแล้ว นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย กล่าวกับเรา
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 'นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์' อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยปี 2567 ต่อสื่อว่า คาดการณ์ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยว่าจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับที่คุณชูเกียรติให้สัมภาษณ์กับเราว่า "ช่วงต้นปีผมถือว่าทำไว้ค่อนข้างที่จะดี เพราะฉะนั้นเป้าที่เราวางไว้ว่า ปีนี้จะส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน น่าจะทำได้"
ก่อนจะเข้าสู่หัวข้อถัดไป ทีมข่าวฯ แวะถามคุณชูเกียรติว่า โซนยุโรปบริโภคข้าวไทยเยอะหรือไม่?
คุณชูเกียรติ ตอบว่า โซนยุโรปบริโภคน้อย สัดส่วนการนำเข้าข้าวจากไทยมีไม่ถึง 5% ถ้าซื้อก็นิยมข้าวหอมมะลิเป็นหลัก ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะระยะหลัง กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวหอมได้แล้ว และกัมพูชาจะได้เปรียบไทยตรงที่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส จึงมีเรื่องของ EU (สหภาพยุโรป) เข้ามาเกี่ยว เพราะเขาไม่เก็บภาษีนำเข้าจากกัมพูชา
ในขณะที่ถ้าไทยจะนำเข้า ต้องโดนเก็บภาษีประมาณ 120-150 ยูโรต่อตัน ทำให้กัมพูชาขายข้าวได้ในราคาถูกกว่า และยังมีข้าวหอม เช่น ข้าวหอมผกาลำดวน ที่สามารถแข่งกับเราได้ พอราคาต่างกันเยอะก็ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อทางนั้นมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ตัวเลขของไทยค่อยๆ ลดลง
"แต่ตลาดข้าวหอมที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือสหรัฐอเมริกา เราส่งออกไปปีนึงประมาณ 5 แสนตัน ส่วนตัวท็อปของเราจะเป็นข้าวขาว ถ้าดูสถิติตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 48% ของยอดการส่งออกทั้งหมด ส่วนข้าวหอมประมาณ 20%"
ครึ่งปีหลังส่อแววขายข้าวได้น้อยลง :
...
วงการส่งออกข้าวไทยดูไปได้สวยในครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังส่อแววความน่ากังวลให้เราเห็นอยู่รางๆ เมื่อคุณชูเกียรติให้สัมภาษณ์ว่า ครึ่งปีหลังเราคิดว่าตัวเลขส่งออกน่าจะลดลง เพราะราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งอย่าง 'เวียดนาม' เมื่อครึ่งปีแรกราคาข้าวสูสีกับเวียดนาม ต่างกันไม่ถึง 10 เหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้เริ่มห่างกันถึง 50 เหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ผู้นำเข้าอาจจะหันไปซื้อเวียดนามมากขึ้น และถ้าช่วงหลังของปีนี้อินเดียเลิกแบนการส่งออกข้าวขาว กลับสู่ตลาดการส่งออก ก็ยังส่อแววน่ากังวลว่า ตัวเลขส่งออกเราอาจจะลดลงเหลือประมาณ 6 แสนตันต่อเดือน ตรงนี้เป็นอะไรที่ต้องเฝ้าดูต่อไปว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
เอาล่ะครับคุณผู้อ่าน ตอนนี้มีทั้ง เวียดนาม และ อินเดีย แต่เราขอพักเรื่องอินเดียไว้ และพาทุกคนไปที่เวียดนามก่อนดีกว่า! ทีมข่าวฯ สอบถามนายกสมาคมฯ ซึ่งอยู่ปลายสายว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ข้าวไทยแพงกว่าข้าวเวียดนาม คำตอบของคำถามนี้ คือ Supply หรือ จำนวนที่มีอยู่
...
คุณชูเกียรติ อธิบายว่า เนื่องจาก 5 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกของเราดีมาก ทำให้ Supply ในตลาดหายไปค่อนข้างเยอะ ส่งผลให้ราคาข้าวแพงขึ้น อีกทั้ง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาส่งออก (FOB) แพงขึ้น ด้วยสองปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้ราคาข้าวของไทยขยับห่างจากเวียดนามประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ
"ข้าวไทยที่ส่งออกช่วงที่ผ่านมาเป็นออเดอร์เก่า แต่ออเดอร์ใหม่ครึ่งปีหลังอาจจะลดลง เนื่องจากราคาที่มันแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ณ วันนี้ราคา FOB ข้าวขาว 5% ของเรา อยู่ประมาณ 620-625 เหรีญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 575-580 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้น จึงอาจจะทำให้ขายได้ยากขึ้น"
เมื่อถามว่ากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะอาจทำให้ผลผลิตน้อยลง จนอาจนำไปสู่ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น คุณชูเกียรติ มองว่า ยังไม่ค่อยห่วงเท่าไร เพราะปีนี้ฤดูกาลเพาะปลูก เรามีฝนตกค่อนข้างดี และจากพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาก็บอกว่า ฝนจะตกไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐาน เพราะฉะนั้น เรื่องปัญหาผลผลิตที่จะลดลง ดูแล้วอาจจะไม่มี
'เวียดนาม' คู่แข่งค้าข้าวที่น่าจับตามอง! :
...
หากคุณผู้อ่านสังเกตตั้งแต่เริ่มต้น จะพบว่าคุณชูเกียรติพูดถึงประเทศเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะเขามองว่า "ถ้าไม่นับอินเดียที่ถือว่าครองแชมป์อันดับ 1 เรื่องการส่งออกข้าว 'เวียดนาม' ถือเป็นคู่แข่งอันดับ 1 ที่น่าจับตามองที่สุด"
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้เวียดนามส่งออกค่อนข้างเยอะเช่นกัน ตกเดือนละประมาณ 8-9 แสนตัน ไล่ตามหลังเรามาติดๆ แตกต่างแค่เล็กน้อย นอกจากนั้น ในอดีตข้าวเวียดนามอาจไม่ค่อยมีคุณภาพก็จริง แต่ปัจจุบันคุณภาพข้าวดีขึ้นมาก แทบไม่ต่างอะไรกับประเทศไทยเลย
"เขาพัฒนาเรื่องพันธุ์ข้าวค่อนข้างดีมาก และเขายังได้เปรียบเราจากเรื่องผลผลิตต่อไร่ ซึ่งของเขาดีกว่าเราเยอะ ของเราข้าวทุกประเภททั้งประเทศรวมกัน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 900 กิโลกรัมต่อไร่ จะเห็นได้ว่ามากกว่าเท่าหนึ่ง เพราะฉะนั้น เขาขายถูกกว่าเราเขาก็ยังมีกำไร"
การพัฒนาพันธุ์ข้าวของเวียดนาม ถูกถ่ายทอดผ่านการให้สัมภาษณ์จากคุณชูเกียรติต่อไปว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เวียดนามพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ผิดกับประเทศของเราที่ค่อนข้างละเลยเรื่องนี้ ได้แต่เน้นการนำเงินช่วยเหลือเกษตรกร เช่น จำนำ ประกันรายได้
"นักการเมืองหรือใครต่อใคร หากไม่ได้อยู่ในวงการข้าว ก็มักจะพูดเสมอว่า ข้าวไทยดีที่สุดในโลก แล้วก็ภูมิใจอยู่แต่ตรงนั้น โดยไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้ ในขณะที่เพื่อนบ้านเราทำตรงนี้ค่อนข้างดีมาก เวียดนามมีงบพัฒนาพันธุ์ข้าวประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปี ส่วนของไทยประมาณ 100 ล้านบาท บางครั้งไม่ถึงด้วย ตรงนี้เป็นความแตกต่างที่ทำให้เราคิดว่าในอนาคตความยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวบ้านเราจะด้อยกว่าเวียดนาม"
มีเพียงเวียดนามประเทศเดียวใช่หรือไม่ที่เป็นคู่แข่งที่ของเราตอนนี้? เราถามปลายสาย คำตอบคือ "ตอนนี้เป็นไปในทิศทางนั้น" เพราะเมื่อก่อนจะมีเมียนมาที่ถือว่าน่ากลัว แต่ก็ในช่วงที่อองซาน ซูจียังเป็นรัฐบาล เนื่องจากขณะนั้น เงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าประเทศเยอะมาก ซึ่งอุตสหกรรมข้าวก็เป็นตัวหนึ่งที่ต่างชาติยอมควักเงิน ทั้งทำโรงสี และพัฒนาด้านต่างๆ
"แต่เมื่อมีความวุ่นวายของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การลงทุนต่างๆ หายไป เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูตอนนี้เวียดนามถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด เราจะไม่ไปพูดถึงอินเดียแล้วเพราะเขาเหนือกว่าเราไปเยอะมาก" นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย กล่าวกับเรา
'อินเดีย' ผู้ส่งออกข้าวนัมเบอร์วันของโลก! :
จากที่ทีมข่าวฯ ขอพักเรื่อง 'อินเดีย' ไว้ก่อน เพื่อพาคุณผู้อ่านไปดูข้าวที่เวียดนาม ตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะพาทุกคนไปดูว่า การส่งออกข้าวของอินเดียจะส่งผลอย่างไรกับไทยแลนด์ แต่ก่อนอื่นเราขอพาไปทำความรู้จักกับพี่ใหญ่คนนี้ก่อนสักนิดดีกว่า
ประเทศอันร่ำรวยไปด้วยอารยธรรมอย่าง 'อินเดีย' ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก ครองส่วนแบ่งในตลาดกว่า 35.4% โกยรายได้เฉียด 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพี่ใหญ่คนนี้ยังคงรักษาตำแหน่งตัวท็อปมาได้อย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2555
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวและข้าวบาสมาติ (Basmati) หรือเรียกง่ายๆ ว่า "แบน" นั่นแหละครับคุณผู้อ่าน ที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะต้องการลดปัญหาราคาสินค้าในประเทศ ที่พุ่งทวีจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งนั่นก็เป็นการแฝงนัยทางการเมืองไปด้วย เพราะพวกเขาต้องการรักษาความนิยมการเลือกตั้ง
แต่… สิ่งที่คุณชูเกียรติกังวล มันอยู่ต่อจากนี้ต่างหาก!
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่เราเป็นห่วงทุกวันนี้ คือ ครึ่งปีหลังเมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไป มีความเป็นไปได้สูงว่า อินเดียจะเลิกแบนการส่งออกข้าวขาว และถ้าอินเดียเปิดให้ส่งออกได้ปกติ สิ่งนี้น่าจะมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงกับไทย
"โดยปกติราคาข้าวอินเดียจะต่ำกว่าไทยประมาณ 60-70 เหรียญสหรัฐ ปัจจัยนี้น่าจะทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวทางนู้นมากขึ้น เพราะช่วงที่อินเดียงดส่งออกข้าว เราก็เหมือนได้อานิสงส์ไปด้วย ซึ่งภาพที่ชัดก็คือทำให้ไทยส่งออกได้ค่อนข้างดีในครึ่งปีแรก และถ้าอินเดียกลับมาส่งออก ราคาข้าวในตลาดโลก อาจจะต้องปรับตัวลดลงจากปัจจุบันลงอย่างต่ำ 50 เหรียญสหรัฐ"
คุณชูเกียรติ กล่าวต่อไปว่า อินเดียมีศักยภาพในการส่งออกข้าวค่อนข้างสูงมาก เพราะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าแซงไทยอย่างไม่เห็นฝุ่น ขนาดปีที่แล้วอินเดียงดการส่งออกข้าวขาว แต่ข้าวอย่างอื่น เช่น ข้าวบาสมาติ (Basmati) เขาก็ยังส่งได้ประมาณ 17 ล้านตัน ส่วนปี 2022 ส่งรวมออกได้ถึง 22 ล้านต้น เราก็เป็นห่วงว่าถ้าอินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้ง เม็ดเงินเราอาจจะน้อยลง การส่งออกของเราน่าจะลดลงเยอะ
ต้องพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรม :
แม้ว่าตอนนี้ไทยจะสามารถหยัดยืนในวงการส่งออกข้าวได้ระดับต้นๆ บนเวทีโลก แต่นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย มองว่า ยังมีเรื่องที่เราต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง แม้การพัฒนาจะใช้เวลานานก็ต้องทำ เราต้องมีพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น หากอยากอยู่ในอุตสาหกรรมข้าวอย่างยั่งยืน
คุณชูเกียรติ ให้ความความของ 'พันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น' ไว้ทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น "อย่างตอนนี้ไทยเฉลี่ยได้ข้าวเปลือกประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนเวียดนามเฉลี่ย 900 กิโลกรัมต่อไร แต่เราต้องทำให้ได้สัก 1,000 กิโลกรัมต่อไร่"
ประการที่ 2 พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีระยะเวลาเก็บที่สั้นลง "ปกติทั่วไป โดยเฉลี่ยแล้วตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ไทยจะใช้เวลารวมประมาณ 120 วัน แต่ว่าเวียดนามใช้เวลาเพียง 90 วัน ทำให้เขาสามารถทำรอบได้มากกว่า" และ ประการที่ 3 พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการให้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น พันธุ์ข้าวขาว และพันธุ์ข้าวหอม
"ทั้ง 3 ข้อ ที่ผมได้กล่าวมา ล้วนเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องทำให้ได้เพื่อความยั่งยืน เพราะถ้าเวียดนามสามารถแซงเราได้ จะทำให้ส่วนแบ่งในตลาดลดลงเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้เราโฟกัสเวียดนามก่อน ผมว่าเขาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ไม่ต้องไปมองถึงอินเดีย เพราะเขาลอยลมเรื่องนี้ไปแล้ว"
คุณชูเกียรติ กล่าวว่า ต้องคำนึงว่าแม้ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ของเราจะเป็นอินโดนีเซีย แต่เขาก็ไม่ใช่ของตายสำหรับเรา เพราะบางปีเขาไม่ซื้อข้าวเลย เพียงแต่ 2 ปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียเผชิญกับเอลนีโญ และราคาข้าวภายในสูงมาก ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งการนำเข้าเขาก็จะดูเรื่องราคา
"10 ปีข้างหน้าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราอาจจะส่งข้าวออกเหลือแค่ปีละ 4-5 ล้านตันก็ได้ เพราะเราไม่สามารถสู้เรื่องราคาได้ ถ้าต้นทุนที่อื่นถูกกว่า เขาจะสามารถแย่งชิงตลาดได้ อย่างเวียดนามคุณภาพข้าวดีขึ้นมากแตกต่างกว่าในอดีต เพราะฉะนั้น ถ้าเราพัฒนาข้าวไทยได้จะดีมาก"
อ่านบทความที่น่าสนใจ :