ตำรวจตัดตำรวจ วิเคราะห์ เกมอำนาจใน สตช. ช่องโหว่ทางรอด “บิ๊กโจ๊ก” และความยุ่งยากอาจมาสู่ “บิ๊กต่าย” และ นายกฯ ...

ตอนนี้หลายๆ คนเริ่มสับสนกันแล้ว สำหรับเรื่อง “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. หลังจาก “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  รอง ผบ.ตร. รักษาราชการ ผบ.ตร. เซ็นคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และมีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงปมฟอกเงิน โดยยึดหลัก พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 131 ที่ระบุว่า ข้าราชการตำรวจคนใด ถูกกล่าวหาความผิดร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่าการกระทำผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญาฯ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 มีอำนาจในการสั่งพักราชการ หรือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน  

ในขณะที่ “บิ๊กโจ๊ก” สู้กลับ โดยใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ในมาตรา 119, 120 (วรรค 4) ในระหว่างสอบสวน จะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใดให้กระทบต่อสิทธิของผู้สอบสวนได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชา จะสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน

หากยึดตามกฎหมายในขั้นตอนนี้ ดูเหมือน “บิ๊กต่าย” อาจทำไม่ถูกต้อง เพราะได้มีการให้ออกจากราชการ และตั้งกรรมการสอบสวนในช่วงเวลาเดียวกัน โดยที่คณะกรรมการ ยังไม่มีความเห็น หรือข้อเสนอใดๆ 

ขณะเดียวกัน สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และต่อมา วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ความเห็นของ “กฤษฎีกา”  

...

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 

อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการในกรณีนี้ไว้ จึงเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป....

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีการให้ข้อสังเกต บัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจและคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และพิจารณาเรื่องร้องเรียนประกอบกับมาตรา 120 วรรค 4 ได้เพิ่มหลักการใหม่นอกเหนือจากมาตรา 131 วรรคหนึ่ง

โดยบัญญัติว่าในระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชา จะสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน

การตั้งข้อสังเกตดังกล่าว จึงถือว่า เข้าทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ 

“เอก” ชี้สุดท้ายต้องขึ้นอยู่ที่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม 

ซึ่งเรื่องทั้งหมด มาสู่คำถามว่า นายกฯ จะ “กล้า” นำเรื่องนี้ กราบบังคมทูลทรงมีพระราชบรมราชโองการให้ “บิ๊กโจ๊ก” พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ แล้วจะเดินหน้ากันอย่างไร 

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่โต้เถียงกันอยู่นั้น ทาง สตช. อ้างเรื่องมาตรา 131 ที่ให้ออกจากราชการ ขณะที่ “รองโจ๊ก” ต่อสู้ 120 วรรคท้าย ที่ทางคณะกรรมการยังไม่ให้ความเห็นเลย... 

“ผมอยากจะยืนยันว่า สุดท้าย คือ ต้องรอความเห็นจาก คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอยู่ เพราะการที่ต่างฝ่าย ต่างให้ความเห็นกันไปมา มันทำให้ไม่เกิด “ข้อยุติ” แม้กระทั่งความเห็นของกฤษฎีกา ให้ข้อสังเกต ที่ดูเหมือน “เป็นคุณ” กับทาง ท่านรองโจ๊ก ก็ตาม แต่มันไม่มีผลอะไร...” 

พล.ต.อ.เอก ย้อนความว่า ตอนนั้นจำได้ไหม ที่มีการเถียงกันเรื่อง “หมายจับ” ว่าออกได้หรือไม่ สุดท้าย ศาลอนุมัติหมายจับ ทุกอย่างก็จบ 

...

ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้คือ “คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม” ไม่ได้อยู่ที่ กฤษฎีกา จะมีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ด้วยการสื่อสารออกมา ทำให้สังคมสับสน

ดังนั้น ตามขั้นตอนต่างๆ ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน 

เมื่อถามว่า เวลานี้เหมือนท่านสุรเชษฐ์ เดินเกมหนัก พล.ต.อ.เอก บอก ผมไม่ทราบว่าท่านคิดอย่างไร แต่สุดท้ายก็ต้องรอคำวินิจฉัย เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมา เป็นข่าวมาก เพราะมีการอ้างอิงบันทึกของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีการตั้ง “ข้อสังเกต” ดังกล่าว และที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด เคยวางแนวทางไว้ว่า หากมีหน่วยงานใดถามกฤษฏีกา เรื่องใด แล้วกฤษฏีกา ตอบมา ก็ให้เป็นไปตามที่กฤษฎีกาให้ความเห็น แต่...หากเป็นความเห็นเพิ่มเติม ในลักษณะ “ข้อสังเกต” เพิ่มเติม ให้เพื่อประกอบเป็นดุลพินิจ ของผู้ที่ถามเท่านั้น ไม่ได้เป็นบทบังคับ 

เมื่อถามว่า เมื่อมีหน่วยงานถามกฤษฏีกา แล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกามักจะตอบเฉพาะที่ถาม แต่ครั้งนี้มีข้อสังเกตเพิ่มเติม ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ พล.ต.อ.เอก บอกว่า แล้วแต่จะวิพากษ์วิจารณ์ บางท่านก็มองว่าไม่ปกติ ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อหน่วยงานใดถามอะไรไป ก็มักจะตอบเท่านั้น เช่น กรณีท่านพิชิต ถาม 160 วรรค 6 ทางกฤษฎีกา ก็ตอบแค่วรรค 6 ไม่ได้ตอบกรณี วรรค 4 หรือ 5 ด้วย ซึ่งหากแนวทางเป็นแบบนี้ ก็ต้องให้ “ข้อสังเกต” เช่นเดียวกัน... ว่าเหตุใดถึงไม่ให้ข้อสังเกต ในกรณี วรรค 4 วรรค 5 ด้วย ส่งผลให้เรื่องแบบนี้อาจทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ 

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้ว หากการดำเนินการของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผิดขั้นตอนจริงๆ ผลที่ตามมาคือ ท่านกิตติ์รัฐ อาจจะโดนตั้งข้อกล่าวหาในคดีวินัย และอาญา ตามมา เพราะสุดท้ายท่านต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำไป ซึ่งไม่ว่าข้าราชการคนใด หรือ ใคร หากทำผิดพลาด บกพร่อง ก็ต้องรับทั้งหมด

...

ช่องโหว่ ทางรอด บิ๊กโจ๊ก ความยุ่งยาก บิ๊กต่าย 

ด้านแหล่งข่าวระดับสูง อดีตตำรวจเชี่ยวชาญกฎหมาย ให้ความเห็นกับไทยรัฐออนไลน์ ในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ ก.ตร. ไม่กล้าตัดสินอะไร เพราะหากตัดสินอะไรไปแล้ว ก.ตร. ก็จะโดนด้วย ฉะนั้น สิ่งที่ ก.ตร. ทำ คือ โยนไปให้ อนุ ก.ตร. ซึ่งจะมีการประชุม 17 มิ.ย. เรื่องนี้ขนาด กรรมการกฤษฎีกา ยังให้ข้อสังเกต ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าต้องปฏิบัติตาม 

ดังนั้น หากมีการยกเลิกคำสั่ง รองโจ๊ก ก็กลับมาเป็น รอง ผบ.ตร. และเมื่อเป็นดังนั้น รองโจ๊ก ก็จะเป็นผู้อาวุโสสูงสุด และหากเป็นรอง ผบ.ตร. สูงสุด ก็ต้องกลับมาที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ว่าจะตั้งใครเป็นรักษาการ 

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปวดหัวของนายกฯ จะตั้งใครเป็น รักษาการ ผบ.ตร. จะตั้ง บิ๊กต่ายก็ไม่น่าได้ เพราะอาวุโส น้อยกว่า ซึ่งตามหลักการตั้งคนรักษาการ ก็ตั้งผู้อาวุโสสูงสุด 

หรืออีกทาง จะส่ง “บิ๊กต่อ” กลับมา...นั้นก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจาก ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลเรื่องการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน กรณีนี้ หากชี้มูล จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่... แบบนี้ก็เข้าทางบิ๊กโจ๊กอีก! 

...

ส่วนโจ๊ก ถูกหรือผิด นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทาง ป.ป.ช.  

ส่วนอีกประเด็นที่เพิ่มเข้ามา คือ บช.น. ส่งคดี “บิ๊กโจ๊ก” กับพวกให้ทาง ป.ป.ช. ไปแล้ว ตอนนั้นวิเคราะห์แล้วว่าทรัพย์ที่มีการทุจริตกันนั้น เกิน 400 ล้าน จึงเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ซึ่งตอนนั้น พนักงานสอบสวน มีการแยกสำนวน เป็น 3 เส้นทางการเงิน เป็นจำนวน 290 ล้าน ไม่ถึง 300 ล้าน ยังไม่ถือเป็นอำนาจ ของ DSI 

เรื่องนี้ สตช. ยอมแพ้ ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. วันที่ 18 แต่สำนวนที่ทำไปแล้ว ข้อหาฟอกเงิน, มีตัวผู้ต้องหาแล้ว และสามารถฝากขัง 4 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน ไม่เกิน 48 วัน ซึ่งเวลานี้ถือว่า “ใกล้เวลา” ที่จะต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้กับอัยการ ด้วยเหตุนี้ พนักงานสอบสวน จึงเครียด ไม่รู้จะส่งสำนวนอย่างไร 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปให้อัยการ หากส่งไม่ได้ ก็จะพ้นการควบคุมของพนักงานสอบสวน และยังข้อตกลงระหว่าง ตำรวจ และอัยการ คือต้องส่งสำนวนล่วงหน้า 4 วันด้วย หากทำผิดข้อตกลง ทางอัยการก็จะตีกลับทันที ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเรื่องใหญ่ แต่เชื่อว่าทาง ป.ป.ช. ไม่คืนสำนวนให้หรอก ขณะที่ “พนักงานสอบสวน” ที่ทำหนังสือทวงไป ก็เพื่อไปอ้าง ว่าทำหน้าที่ของตนเองแล้ว 

เรื่องนี้จะจบอย่างไร จะกลายเป็น “มวยล้มต้มคนดู” หรือไม่ แหล่งข่าวระดับสูง อดีตตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เชื่อว่า เรื่องนี้จะจบโดย “บิ๊กต่าย” จะกลายเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบ และต้องเพิกถอนคำสั่ง 

และหลังจาก “บิ๊กโจ๊ก” เข้ามา และ “บิ๊กต่าย” อาจจะเสนอให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการซ้ำได้! นี่เรียกว่า อาจตายสนิทได้ และชงต่อนายกฯ ให้โปรดเกล้าปลดได้ 

จุดพลิกผันของเกมนี้ จะอยู่ที่ “คำสั่งของนายกรัฐมนตรี” หากมีการตั้งรักษาการ ผบ.ตร. และเห็นว่า รองโจ๊ก อาวุโสสูงสุด อันนี้ก็จบเหมือนกัน! 

ส่วนอีกหนึ่งอำนาจ คือ ที่คณะกรรมการสอบสวน หากเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องให้ “รองโจ๊ก” ออก บิ๊กโจ๊ก ก็ไม่ต้องออกจากราชการ ประเด็นนี้ “อำนาจ” ไม่ได้อยู่ที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เพราะอาจจะจำเป็นที่ต้องทำตามกฤษฎีกา แนะนำ...

อ่านบทความที่น่าสนใจ