2 ช่องว่างท้าทาย 3 ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ ทำรัฐเก็บภาษีได้น้อย และ 3 วิธีจูงใจดึงคนช่วยจ่ายภาษี สู่การปลดแอกเดอะแบก 'มนุษย์เงินเดือน' ที่ต้องจ่ายเกินสัดส่วนที่เป็นธรรม

ในทางทฤษฎี ประชากรของประเทศมีหน้าที่ 'เสียภาษี' ให้แก่รัฐ เพื่อให้รัฐนำเงินส่วนนั้นไปใช้ประโยชน์ ตั้งแต่การพัฒนา จนถึงการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศ แต่เมื่อพูดถึงทางปฏิบัติ ใช่ว่าทุกคนจะเสียภาษีตามกฎหมาย คุณผู้อ่านอาจเคยเห็นข่าว หรือผลโพลต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่ามีคนไม่จ่ายภาษี หรือกระทั่งอาจมีคนรู้จักในชีวิตจริงทำแบบนั้นอยู่ก็ได้

แล้วปัจจัยใดที่นำไปสู่การกระทำเช่นนั้น เมื่อรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย? วันนี้เราขอชวนผู้อ่านเข้าสู่โลกภาษี พร้อมกะเทาะเปลือกแห่งปัญหาของระบบ ผ่านการสนทนากับ 'รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ' อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สัดส่วนภาษีของไทย : 

หากจะตั้งข้อสงสัยว่าทำไมคนไทยไม่อยากเสียภาษี เรื่องนี้ กูรูด้านภาษี แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้เราต้องเรียนกันตามตรง ผมว่าเป็นเรื่องปกติของทุกคนและทุกประเทศ ใครๆ ก็อยากเสียเงินให้น้อยที่สุด อีกประเด็นคือผู้เสียภาษีเขาจะมองว่า "จ่ายเงินไปแล้วคุ้มไหม" ซึ่งอันนี้ก็อยู่ที่ความคิดของคนในประเทศนั้นๆ 

...

"คนจะมองว่าจ่ายเงินไปแล้วได้ผลตอบแทน เป็นสินค้าหรือบริการที่คุ้มค่าหรือเปล่า ซึ่งสินค้าและบริการในที่นี้คือบริการจากรัฐ เช่น บริการสังคม โครงสร้างพื้นฐาน ผู้เสียภาษีจะมองว่าภาครัฐจัดการตรงนี้ได้มีประสิทธิภาพไหม ประเด็นพวกนี้จึงมีผลต่อความคิดของเขา" 

สำหรับสัดส่วนการเก็บภาษีของไทย รศ.ดร.อธิภัทร ระบุว่า ปกติจะวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี (GDP) ตัวที่ผมดูว่าเราเก็บภาษีได้เท่าไร คือ รายรับสุทธิ ที่หักการคืนภาษีต่างๆ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกไปแล้ว ซึ่งรายรับสุทธิของภาษีจึงอยู่ที่ประมาณ 14% ต่อ GDP

โดยสัดส่วนภาษีที่มีน้ำหนักเยอะสุด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นประมาณ 30% ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 14-15% ซึ่ง 3 ตัวนี้จะเป็นตัวหลัก นอกนั้นจะเป็นภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีป้าย ฯลฯ แต่น้ำหนักไม่เยอะเท่าไร 

เมื่อถามต่อไปว่า คนกลุ่มไหนเสียภาษีมากที่สุด คำตอบของคำถามนี้ คือ 'มนุษย์เงินเดือน' เพราะรัฐรู้ว่าพวกเขามีรายได้เท่าไร โดยรู้จากภาษีหัก ณ ที่จ่าย เวลาที่นายจ้างจ่ายเงินให้พนักงาน ก็จะหักส่งมาให้สรรพากรทุกเดือน คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้ "สรรพากรก็จะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย"

'มนุษย์เงินเดือน' เป็นเดอะแบก : 

กรณีสัดส่วนการเก็บภาษี มีเรื่องหนึ่งที่ รศ.ดร.อธิภัทร มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ ขณะนี้ภาระภาษีกำลังตกไปอยุ่ที่มนุษย์เงินเดือน โดยจากข้อมูลจะพบว่า มีผู้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นแค่ 10% ของกำลังแรงงานทั่วประเทศ ที่กำลังแบกรับภาษีเงินได้ของทั้งประเทศ และถ้าดูใน 4 ล้านคนที่จ่ายภาษี จะเห็นว่าผู้จ่าย 80% เป็น 'มนุษย์เงินเดือน' เราเลยจะเห็นได้ว่า มนุษย์เงินเดือนแบกรับภาษีในสัดส่วนเกินที่ควรจะเป็น 

"ในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เราเก็บ 80% มาจากมนุษย์เงินเดือน ถ้าจะดูว่าสัดส่วนนี้มันแฟร์ไหม ผมก็ไปเทียบกับรายได้ครัวเรือนประชาชาติ ก็จะเห็นว่าสัดส่วนจริงๆ ของมนุษย์เงินเดือนในรายได้ครัวเรือนทั้งประเทศ อยู่ที่ประมาณ 50% แสดงว่า มนุษย์กลุ่มนี้กำลังจ่ายเกินสัดส่วนที่เป็นธรรมของเขา"

เราจึงถามอาจารย์อธิภัทรต่อไปว่า หากเป็นเช่นนั้น การที่มนุษย์เงินเดือนยังต้องจ่ายภาษีแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.อธิภัทร อธิบายว่า ผมมองว่า ถ้าเรามองภาพการคลังระยะยาว เราจะเห็นว่ารัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ประเทศเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย สวัสดิการก็ต้องเยอะและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าถามไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สามารถลดได้ไหม คำตอบคือมันก็ยาก เพราะเรายังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้น แนวโน้มรายจ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะรายจ่ายสวัสดิการ

...

อีกทั้งที่ผ่านมารายรับของประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยอยู่ประมาณ 16% ต่อ GDP ปัจจุบันลดลงมาที่ 14% ต่อ GDP ซึ่งก็น่าแปลกใจ เพราะว่าประเทศเรามีการพัฒนามากขึ้น รัฐบาลเลยควรจะมีประสิทธิภาพการเก็บภาษีมากขึ้น 

"แต่ตรงกันข้ามสิ่งที่รัฐทำเพิ่มมา คือ Policy Gap ส่งผลให้ความสามารถในการเก็บภาษีของรัฐลดลงเรื่อยๆ แปลว่าในอนาคตถ้ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น ความน่ากังวลคือมันจะกลับมาตกอยู่ที่มนุษย์เงินเดือนอีกนี่แหละครับ"

กูรูด้านภาษี ชี้ว่า สิ่งที่รัฐต้องทำคือขยายฐานภาษี ทำให้รัฐมีรายได้จากส่วนอื่นมาช่วยทดแทนมนุษย์เงินเดือนมากขึ้น ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจนอกระบบ และในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่รัฐเก็บไม่ได้มาตลอด เช่น รายได้จากทุน (Capital income) รายได้จากทุน คือ รายได้จากการขายกำไร ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่เรายกเว้นการเก็บภาษีเงินได้มา 40 กว่าปี ซึ่งก็จะเป็นตัวหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนมองว่าอาจจะไม่แฟร์สำหรับพวกเขาเท่าไร 

'Informal Gap' ความท้าทายมิติแรกของปัญหาภาษีไทย : 

...

รศ.ดร.อธิภัทร ให้ข้อมูลกับทีมข่าวฯ ว่า เมืองไทยมีความท้าทายที่นำไปสู่ปัญหาอยู่ 2 มิติ คือ Informal Gap และ Policy Gap เอาล่ะครับคุณผู้อ่าน เดี๋ยวเราจะลองมากะเทาะเปลือกไปทีละมิติ พร้อมๆ กับดูไปว่า ในแต่ละมิติส่งผลให้เกิดปัญหาต่อภาษีไทยอย่างไรบ้าง? 

เริ่มต้นกันที่ Informal Gap กูรูด้านภาษี บอกกับเราว่า 'Gap' ในที่นี้หมายถึง 'ช่องว่าง' เกิดจากการที่มี 'เศรษฐกิจนอกระบบ' อยู่ ทำให้รัฐไม่รู้ว่าบุคคลกลุ่มนั้นมีรายได้เท่าไร จึงนำไปสู่การที่พวกเขาเสียภาษีไม่ถูกต้องนั่นเอง

โดย 'เศรษฐกิจนอกระบบ' มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน เรียกรวมๆ ว่า '3 Milestone'

เริ่มกันที่เรื่องแรก คือ 'ธุรกิจไม่เข้าระบบภาษี' รศ.ดร.อธิภัทร ระบุว่า จุดนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเงินได้นิติบุคคล ผม Estimate (ประมาณการ) ว่า ธุรกิจไทยที่เข้าระบบภาษีเงินได้มีแค่ประมาณ 25% ที่เหลืออีก 75% ยังอยู่นอกระบบ

เข้าสู่เรื่องที่ 2 เกี่ยวข้องกับ 'ขนาดของธุรกิจ' อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า กลุ่มธุรกิจที่มีรายรับมากกว่า 1.8 ล้านต่อปี ต้องมาดูว่าเขาเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือไม่ ถ้าเรานำ Dissipation (การกระจายตัว) มาไล่ดู จะเห็นว่ามีผู้ประกอบการไปกองตัวที่รายรับประมาณ 1.78-1.79 ล้านบาทเยอะมาก เพราะเขากลัวว่าถ้าแตะ 1.8 ล้านบาท จะต้องเข้าสู่ระบบ VAT 

...

"มีงานวิจัย ระบุว่า กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กกังวลที่จะเข้าสู่ระบบ VAT ค่อนข้างมาก สิ่งแรกที่เขาห่วงก็คือถ้าเข้าระบบต้องชาร์จราคาสินค้า หรือบริการ 7% แต่ส่วนนี้ผมจะบอกว่า หากขายแบบ B2B (Business-to-business) การชาร์จ 7% อาจไม่ได้เสมอไป และการชาร์จ VAT ก็จะไม่มีผล เพราะเขาสามารถไปขอเครดิตภาษีซื้อคืนได้อยู่แล้ว หรือธุรกิจที่อาจมีการซื้อมาขายไป มีต้นทุนซื้อวัตถุดิบเยอะ ถ้าเข้าระบบ VAT ก็จะได้ประโยชน์โดยการนำใบเสร็จมาขอเครดิตภาษีซื้อได้"

อย่างไรก็ดี มีอีก 1 ข้อกังวลที่กูรูด้านภาษีมองว่า เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการกังวลกว่าการชาร์จ 7% นั่นก็คือ การเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มี Administration costs หรือต้นทุนทางธุรการ ค่อนข้างสูง สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำให้ได้อันดับแรก คือ ในทุกธุรกรรมต้องออกใบกำกับภาษีให้ได้อย่างถูกต้อง เพราะถ้าทำไม่ได้และไม่ถูกต้อง เท่ากับว่ามีความผิด 

โดยกฎหมาย หากผู้ประกอบการมีรายรับจากการขายสินค้า หรือบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ 150,000 บาทต่อเดือน พวกเขาต้องยื่นคำขอเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม รศ.ดร.อธิภัทร มองว่า แม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่ขายดี ยังไงยอดก็ถึงอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาไม่ได้ให้ใบกำกับภาษีเรามา ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า เขาหลีกเลี่ยงการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม 

"ลำดับถัดมา ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ให้สรรพากรทุกเดือน จากที่ต้องเคยยื่นแค่ 2 ครั้งต่อปี แล้วยังมีต้นทุนที่ต้องทำสมุดบัญชี 4 เล่ม เอาไว้เผื่อสรรพากรเข้าตรวจสอบ คราวนี้เมื่อธุรกิจขนาด 1.8 ล้าน ยังไม่ใช่ไซส์ใหญ่ ถ้าจะเข้าระบบปุ๊บ แล้วไม่ได้เป็นนักบัญชีเอง ก็ต้องจ้างนักบัญชีแน่นอน ซึ่งต้นทุนพวกนี้ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง"

และเศรษฐกิจนอกระบบแบบที่ 3 คือ 'ผู้ประกอบการไม่ยอมเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือไม่ยอมก้าวพ้นการเป็น SME' แต่เอ๊ะ! ทำไมกันนะ ถ้าก้าวพ้นจากการเป็น SME ได้ ก็น่าจะเป็นโปรไฟล์ให้บรรดาผู้ประกอบการพูดได้ว่า ธุรกิจเติบโตในทิศทางที่ดี

จุดนี้ รศ.ดร.อธิภัทร ชี้แจงว่า การเป็น SME เมืองไทย จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นอัตราต่ำกว่า และยกเว้นไปเลยถ้ากำไรไม่ถึง 3  แสนบาท ฉะนั้น ถ้าดูการกระจายตัวจะพบว่า ผู้ประกอบการบ้านเราจำนวนมาก จะแสดงรายรับธุรกิจที่ 29 ล้านบาท ไม่ยอมมีรายรับเกิน 30 ล้านบาท เพราะพวกเขากังวลว่า ถ้าตัวเองรายรับเกิน 30 ล้านบาทไปแล้ว จะต้องเสียภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย คือ 20% และถ้าเข้าสู่การเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แล้วมันย้อนกลับมาไม่ได้ ไม่สามารถจะใช้สิทธิ์ SME ได้อีก 

'Policy Gap' ช่องวางภาษีทำรัฐมีรายได้ลดลง :  

เมื่อสักครู่นี้คุณผู้อ่านคงจะได้รู้จักกับ Informal Gap ไปแล้วไม่มากก็น้อยใช่ไหมล่ะครับ คราวนี้ผมจะพาไปดูอีก 'ช่องว่าง' หนึ่ง ที่กูรูด้านภาษีมองว่าเป็นมิติที่นำไปสู่ปัญหาทำรัฐรายได้ลด นั่นก็คือ Policy Gap 

รศ.ดร.อธิภัทร เลกเชอร์ว่า Policy Gap ถือเป็น Gap ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ส่วนนี้เป็นช่องว่างจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของรัฐ ซึ่งรัฐบาลอาจจะมองว่ากิจการทางเศรษฐกิจบางอย่างมีประโยชน์ เช่น เราอยากดึง BYD เข้ามาในประเทศให้เขามาผลิตรถไฟฟ้า เราก็มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เขา เรียกว่า Tax-holiday เป็นการยกเว้นภาษีนิติบุคคล หรือถ้าใกล้ตัวเราขึ้นมาหน่อย เช่น โครงการช็อปดีมีคืน 

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายต่อไปว่า เรื่อง Policy Gap ถ้ามองภาพกว้างกว่านั้น ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างภาษีที่สำคัญของประเทศแทบทุกอัน รัฐลดภาษีแทบทั้งหมด มียกเว้นไว้แค่อันเดียว

"เหตุผลคือรัฐอยากบรรเทาภาระภาษีให้ครัวเรือนและธุรกิจ ในแง่การเมืองนี่คือวิธีที่ง่ายมาก ใครก็อยากเอาใจประชาชน แต่ผลระยะยาวกลับกลายเป็นว่ารายได้ระยะยาวของประเทศลดลงเรื่อยๆ มันเคยอยู่ 16% ของ GDP ตอนนี้อยู่ที่ 14% ของ GDP"

แต่เรื่องที่รัฐยกเว้นไว้อันเดียว คือ เมื่อปี 2535 สมัยรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน รัฐปรับโครงสร้างเดียวที่เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ นั่นก็คือ เปลี่ยนจากภาษีการค้า 1.5% ต่อรายรับธุรกิจ เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นี่เลยเป็นตัวเดียวที่เป็นการปรับโครงสร้างภาษี และเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐ

วิธีจูงใจกลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบให้จ่ายภาษี : 

จากกรณีของกลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบ ทีมข่าวฯ จึงสงสัยว่า มีวิธีใดบ้างที่ช่วยจูงใจให้พวกเขาหันหน้าเข้าสู่ระบบเพื่อเสียภาษี ส่วนนี้ รศ.ดร.อธิภัทร ได้ให้คำตอบและคำแนะนำว่า แบ่งวิธีดึงเข้าระบบออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง คือ การลงโทษและบังคับใช้กฎหมาย เช่น การไปตรวจสอบ กำหนดโทษให้หนักขึ้น 

กลุ่มที่สอง คือ การลดต้นทุนของกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น แทนที่จะให้ยื่นแบบแสดงภาษี แบบแสดงรายรับ-รายจ่าย ทุกเดือน ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการยื่นรายไตรมาส

อย่างไรก็ดี 2 กลุ่มข้างต้น อาจารย์อธิภัทร มองว่า "อาจจะไม่ค่อยเวิร์กสำหรับบริบทสังคมไทย" อาจารย์จึงแนะนำกลุ่มที่สาม คือ การให้ formal reality privileges หรือสิทธิประโยชน์ของการเข้าระบบภาษี "ผมว่าวิธีที่เวิร์กที่สุดในบริบทของไทยคือวิธีนี้" กูรูด้านภาษีกล่าวกับเรา ก่อนอธิบายเสริมว่า

เนื่องจากปัจจุบันการเข้าระบบภาษีเงินได้ไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ บางครั้งรัฐบาลจะช่วยคนที่อยู่นอกระบบภาษีก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งมันอาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนยิ่งรู้สึกว่าการจ่ายภาษีไม่ได้อะไรกลับมา หรือถ้าจะให้ตรงประเด็นและชัดเจน ก็คือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เราเห็นได้เลยว่ามนุษย์เงินเดือนที่จ่ายเงินถูกต้อง มีเงินเดือนมากกว่า 70,000 จะไม่ได้ดิจิทัลวอลเล็ต 

"กลับกันบางคนเป็นเทรดเดอร์เล่นหุ้นอยู่บ้าน รายได้ต่อเดือนอาจจะมากกว่า 70,000 บาทด้วยซ้ำ ส่วนเงินฝากก็ไม่มี เพราะเอาไปลงหุ้นหมด แต่กลับได้ดิจิทัลวอลเล็ตเฉยเลย ซึ่งรัฐบาลก็คงไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่พวกอย่างนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ระมัดระวัง เลยดูไม่ให้เกียรติผู้เสียภาษีเท่าไร"

อีกหนึ่งเรื่องที่อาจารย์อธิภัทรคิดว่า หากแก้ไขได้อาจจะช่วยดึงคนเข้าระบบได้มากขึ้น นั่นก็คือ การแก้รูปแบบภาษาของเมืองไทยที่เป็น "One size fit all business"

รศ.ดร.อธิภัทร "One size fit all business" เปรียบเปรยอย่างเข้าใจง่ายว่า "มันเหมือนการพยายามตัดไซส์เสื้อเดียวกันสำหรับทุกคน" รูปแบบนี้เป็นการที่รัฐมีกฎเกณฑ์ภาษีเดียวกันสำหรับธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กแม้ว่าอยากจะเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เขาก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน 

ต่างประเทศจะมีวิธีแก้ไขปัญหา One size fit all business ที่เรียกว่า Simplified VAT สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเมืองไทยกฎหมายไม่เปิดโอกาส แต่บอกว่าเราต้องปฏิบัติกับธุรกิจทุกประเภทอย่างเท่าเทียมกัน กลายเป็นว่าธุรกิจขนาดเล็กต้องใช้ต้นทุนสูง พวกเขาจึงไม่อยากเข้าร่วมระบบ

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ
รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ

ไม่ต้องรื้อระบบ แค่ทำให้ไม่ลำบากใจ : 

จากมิติปัญหาทั้งมวลที่กล่าวมา ไปจนถึงแรงจูงใจเพื่อดึงคนเข้าระบบภาษี ทำให้เราสงสัยว่า ไทยควรไปถึงจุดที่รื้อระบบโครงสร้างภาษีทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ก็คือ "ถ้าใช้คำว่ารื้อ อาจไม่สื่อสักเท่าไร"

รศ.ดร.อธิภัทร กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำคือการทำให้คนไม่ลำบากใจมากนัก ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ที่พอจะทำได้ก็คือการทำให้ระบบเข้าภาษีไม่กลายเป็นต้นทุนที่มากเกินไป อย่างจากที่เคยเป็น One size fit all business ก็ต้องเปลี่ยนให้มันง่ายขึ้นสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ผู้เสียภาษีได้ formal reality privileges ส่วนเรื่องระบบการตรวจสอบ ผมมองว่าตรงนี้มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำไม่ทันคือมันมี Policy Gap เพิ่มขึ้นตลอด ทำให้รายได้ของรัฐน้อยลงไป

หากยังมีการหลบเลี่ยงภาษีเรื่อยๆ จะส่งผลอย่างไรบ้าง? คำถามสุดท้ายก่อนเลกเชอร์เศรษฐกิจนี้จะจบลง

'รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ' อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า อันแรกเลยคือสรรพากรก็จะเก็บภาษีได้น้อย ส่วนการที่เราอาจจะหวังรัฐสวัสดิการที่ดีกัน ต้องบอกว่า การเป็นรัฐสวัสดิการมันต้องมาควบคู่กับทุกคนจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งบ้านเรายังห่างไกลตรงนั้น เพราะอย่างที่บอกครับ ถ้าดูภาษีเงินได้มันมีอยู่แค่กลุ่มเดียวที่โดนไปเต็มๆ และโดนเก็บมากกว่าคนอื่นเขาด้วยก็คือ 'มนุษย์เงินเดือน'

อ่านบทความที่น่าสนใจ :