ลิงลพบุรีทยอยเข้ากรง! ชีวิตจ๋อแฮปปี้ กรงยังแข็งแรง แต่ต้องตรวจสอบเป็นระยะ ด้านนายกเทศบาลเมืองลพบุรี ตั้งเป้าทำกรงเพิ่ม 4 ไร่ ฝั่งประชาชนรู้สึกมีหวัง แต่วอนทำจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่ทีมข่าวฯ เดินทางลงพื้นที่ จ.ลพบุรี เมื่อ ธันวาคม 2566 จนถึง พฤษภาคม 2567 นับเป็นเวลามากกว่า 5 เดือน ที่เราได้ติดตามสถานการณ์ลิงลพบุรีมาโดยตลอด จนกระทั่งวันนี้เดินทางสู่ วิกฤติลิงลพบุรี EP.15 เป็นจุดที่เรามองว่า เริ่มเห็นแสงสว่างแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่รำไร ที่กล่าวเช่นนั้น เนื่องจากขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เทศบาลเมืองลพบุรี ทหาร ตำรวจ สัตวแพทย์ สัตวบาล และหน่วยกู้ภัยเกือบร้อยชีวิต ได้ร่วมมือดำเนินการจับบรรดาจ๋อลพบุรีเข้ายัง 'สถานอนุบาลลิง' หรือ 'กรงลิง' ซึ่งตั้งอยู่ข้าง สภ.ท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จับปล่อยเข้ากรงลอตแรกรวม 27 ตัว เพื่อทดสอบความแข็งแรงของกรง ถือว่าบรรลุเป้าหมายจากที่ตั้งไว้เพียง 25 ตัว อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการจับจ๋อยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยภารกิจถัดมาจะดำเนินการตั้งแต่ 23-28 พฤษภาคม 2567 และตั้งเป้าไว้ที่ 300 ตัว!ปฏิบัติการครั้งนี้เจ้าหน้าที่บอกว่า จะเริ่มตั้งกรงดักลิงตั้งแต่ช่วงโรงแรมลพบุรีเอเซีย ไปจนถึงร้านเซ่งเฮงลพบุรี เขตตลาดสดเทศบาลเมืองลพบุรี ซึ่งนับเป็นย่านเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันกำลังซบเซาลงทุกขณะ เหตุด้วยลิงเริ่มรุกเข้ามายังพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนต่อที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข่าวลิงทำร้ายคนให้เห็นอยู่เป็นระยะ"จะจับให้ได้มากที่สุด" : หลังจากรถของเราหยุดจอดหน้าตลาดสดเทศบาลฯ ทีมข่าวฯ เดินเท้าต่อไปบริเวณข้างกำแพงของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ (วังนารายณ์) ซึ่งอยู่ห่างเพียงเล็กน้อย จุดดังกล่าวมีเต็นท์ตั้งเป็นวอร์รูมปฏิบัติการจับลิง พื้นที่โดยรอบเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ สื่อมวลชนจากหลากสำนัก และประชาชนในพื้นที่ซึ่งมาสังเกตการณ์ปฏิบัติการครั้งนี้ ตรงข้ามกับจุดที่เรายืนอยู่ มีกรงสีดำขนาดใหญ่พอสมควร ตั้งอยู่ข้างอาคารลักษณะทรุดโทรม ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง บนพื้นเต็มไปด้วยเปลือกผลไม้ ซึ่งเจ้าหน้าที่หมายมั่นใช้เป็นเหยื่อล่อจับจ๋อ แต่สิ่งที่ทีมข่าวฯ เห็น ทำให้เกิดคำถามชวนสงสัยว่า จะจับลิงได้อย่างไร เพราะพวกมันวิ่งเข้าไปหยิบผลไม้ ก่อนนำออกไปกินนอกกรงอย่างเอร็ดอร่อย หนำซ้ำยังปีนป่ายกรงนั้นราวกับว่าเป็นของเล่นชิ้นใหม่ข้อสงสัยนี้ 'นายเผด็จ ลายทอง' ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ว่า ขั้นตอนกระบวนการลักษณะนี้ เป็นส่วนของการสร้างความคุ้นชินให้กับลิง โดยเราเอาอาหารวางไว้ก่อน ปกติถ้าไม่มีปัจจัยอื่นมาแทรกซ้อน เช่น อย่างวันนี้มีสื่อมวลชนเยอะ เจ้าหน้าที่จะเอากรงมาตั้งไว้ก่อนประมาณ 2 วัน ให้ลิงกินกันปกติ อาหารหมดก็เติม เมื่อเขารู้สึกชินแล้วเราค่อยจับ ทำให้จับทีนึงจับได้นับร้อยตัว เมื่อถามว่าครั้งนี้ตั้งเป้าหมายจับไว้ที่กี่ตัว ผอ.เผด็จ กล่าวว่า "เราก็เอาแน่ไม่ได้ แต่จะจับให้ได้มากที่สุด เพราะวัตถุประสงค์ของโซนนี้เราหวังจับออกให้หมด" ทางด้าน 'นายจำเริญ สละชีพ' นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ระบุว่า รอบนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 300 ตัว ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ถึงเป้าไหม แต่คิดว่าอาจจะถึง ลอตแรก 27 ตัว กรงยังแข็งแรง ลิงมีสุข เจ้าหน้าที่แฮปปี้ : สำหรับน้องลิงลอตแรกที่ถูกย้ายเข้ากรงเมื่อ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายจำเริญ แสดงความคิดเห็นว่า ตอนแรกที่จับไป 27 ตัว ก็เพื่อทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของกรงว่า ลิงจะสามารถงัดออกได้หรือไม่ ลิงเข้าไปเขาจะมีความสุขไหม หรือมีพฤติกรรมเป็นยังไง ซึ่งภาพรวมตอนนี้ดีมาก ผมเข้าไปทุกวัน เขามีความสุข เล่นห้อยโหน มีน้ำกินของกินตลอดเวลา ตอนนี้เลยไม่ห่วงเรื่องกรงแล้ว แต่อาจจะห่วงเรื่องการทยอยจับลิง ความคิดเห็นของนายกเทศบาลฯ สอดคล้องกับบทสัมภาณ์ของ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่กล่าวว่า ลิงลอตแรกที่เข้าไปมีความสุขมาก เนื่องจากเขาไปอยู่ในที่ที่มีทั้งน้ำและอาหาร มีร่มเงา มีที่แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เขาไม่เครียดเลย สำหรับปฏิบัติการที่ดูท่าจะไปได้ด้วยดีครั้งนี้ นายจำเริญ สละชีพ ถึงกับเอ่ยปาก "ผมดีใจนะ" เทศบาลเตรียมตัวบริหารจัดการลิงตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนู้นความรู้ของเรา อาจจะยังไม่รู้ว่าลิงเป็นสัตว์คุ้มครองไม่สามารถจัดการเองได้ อย่างกรมอุทยานฯ เคยจับไปทำหมันแล้วก็นำกลับมาไว้ที่เดิม ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจการทำงานของเทศบาลฯ"แต่ ณ ตอนนี้เราเริ่มเอาลิงออกไปได้แล้ว ผมก็ดีใจที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ เดี๋ยวจะมีการปรับปรุงพื้นที่ ขัดสีฉวีวรรณ ให้เมืองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ส่วนลิงก็ยังคงต้องมีอยู่ในจุดสำคัญ เช่น พระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ แต่ต้องอยู่ในจำนวนที่เหมาะสม"ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ดูท่าจะรู้สึกยินดีกับการทำงานครั้งนี้เช่นกัน "ภาพรวมตอนนี้ออกมาโอเค ผมต้องเรียนว่า ตั้งแต่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ลงนามประกาศให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถมีอำนาจและหน้าที่ แก้ไขปัญหาสัตว์ป่าในพื้นที่ของตัวเอง พอสามารถจับได้ ดูแลได้ เคลื่อนย้ายได้ อะไรที่ท้องถิ่นไม่มั่นใจก็มาปรึกษากรมอุทยานฯ ทำงานร่วมไปด้วยกัน เมื่อเป็นแบบนี้มันเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการช่วยกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหา"งบประมาณที่ใช้ดูแล และแผนสำหรับอนาคต : สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคล้ายเรา คือ งบประมาณด้านต่างๆ ที่ใช้สำหรับการดูแลลิงในกรงจะหามาจากไหน 'นายจำเริญ สละชีพ' นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ได้ชี้แจงถึงประเด็นชวนสงสัยนี้ว่า"ขณะนี้ที่ดำเนินการอยู่ เราเชื่อว่าอะไรๆ น่าจะดีขึ้น ชาวบ้านแฮปปี้ขึ้นเพราะเราทำอย่างต่อเนื่อง เรื่องอาหารไม่ต้องห่วง ณ เวลานี้ผมตุนอาหารเม็ดไว้แล้ว ดูได้อย่างต่ำประมาณ 2-3 เดือน ส่วนประชาชนคนไหนมีจิตศรัทธา คนไหนที่รักลิง ก็สามารถเข้าไปให้อาหารได้""แล้วก็ทางผู้ว่าฯ เขามีเงินจำนวนหนึ่ง ผมจำไม่ได้ว่า 7 แสน หรือ 9 แสนบาท ซึ่งเป็นเงินเหลือจ่ายที่โอนกลับเข้าไปในกรม เดี๋ยวจะมีการขอกลับมาใช้ใหม่เกี่ยวกับลิง 2-3 เดือนนี้ เราจึงต้องมีการหาอาหาร หาอุปกรณ์เองไปก่อน เพื่อจะรอเงินจากท่านผู้ว่าฯ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร ส่วนเรื่องยาทางกรมอุทยานฯ บอกว่า เบื้องต้นจะหามาช่วย เพราะตอนนนี้เป็นกลางปีงบประมาณ ทางเราก็ไม่ได้ตั้งงบเพื่อการณ์นี้ไว้"ทีมข่าวฯ ถามนายกเทศบาลเมืองลพบุรีต่อไปว่า กรงทั้งหมดจะสามารถให้ลิงอยู่ได้กี่ตัว โดยที่ไม่แออัดจนเกินไป "ถ้ารวม 3 กรงก็พันกว่าตัว" นายจำเริญตอบ พร้อมอธิบายเสริมว่า เป็นการประมาณคร่าวๆ อย่างกรงกลางซึ่งใหญ่สุด เอาลิงไว้ได้สัก 400 ตัว ส่วนกรงซ้ายและขวา ตั้งไว้ที่ประมาณกรงละ 300 ตัว ซึ่งในครั้งนี้เรามุ่งจับจุดที่ลิงแสบๆ แย่งอาหารคน ทำลายข้าวของ ฉกชิงวิ่งราว "แต่ในอนาคตสมมติว่าเราจับลิงได้ 2,000 ตัว ค่าอาหารต่อปีต้องใช้ประมาณ 10 ล้านบาท เป็นเงินที่เฉลี่ยจากค่าอาหาร 15 บาท ต่อวัน ต่อตัว ซึ่งจุดนี้เราพูดให้ฟังเฉยๆ ว่าเราจะต้องหาแผนดำเนินการไว้ แต่เราก็ไม่มีงบประมาณไปตั้งเป็น 10 ล้านหรอก ต้องหากัลยาณมิตร หาท้องถิ่น เช่น อบจ. หรือท้องถิ่นไหน สามารถสนับสนุนช่วยเหลือได้ไหม นั่นก็เป็นแผนสำหรับปี 2568"อย่างไรก็ดี นายจำเริญ ได้พูดถึงแผนคร่าวๆ ในอนาคตให้ฟังว่า ณ เวลานี้ โครงการที่ 2 สำหรับประเทศไทย คือ เราจะได้รับเงินอุดหนุนจากท่านนายกฯ เศรษฐา เขาจะใช้งบพิเศษของเขา งบกลางของเขา แล้วเขารับปากแล้ว ตอนนี้เอกสาร ปร.4, ปร.5 ส่งไปแล้ว เขาก็ว่าจะทำภายในปีนี้ จะมีการสร้างกรงที่มีพื้นที่รวม 4 ไร่ แบ่งเป็นกรงใหญ่ 3 ไร่ และข้างบนข้างๆ รวมกันอีก 1 ไร่ หากสร้างเสร็จเราก็จะรองรับได้อีกประมาณ 2,000 ตัว รวมทั้งหมด 3,000 ตัว คำล่าวของ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกับนายกเทศบาลเมืองลพบุรี โดยให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นเรื่องอาหารนายกพูดชัดเจนว่า ในรอบแรกก่อนตั้งงบประมาณเข้าสู่สภาฯ ท่านจะดูแล แล้วเราก็ได้รับข่าวมาว่าทางผู้ว่าจะใช้เงินเหลือจ่ายของจังหวัด ให้เทศบาลทำเรื่องขอไปได้ "นอกจากนั้นก็ยังมีห้างร้านต่างๆ รวมถึง สส. ช่วยกันบริจาคอาหาร ซึ่งได้ข่าวมาว่า ขณะนี้ได้รับบริจาคอาหารเม็ดมาถึง 4 ตัน ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้การให้อาหารสะดวกสบาย อีกส่วนคือ การร่วมมือกันจากทุกฝ่าย เพราะจุดนี้จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้หมด ซึ่งผมก็หวังว่าจะขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ด้วยดี"ลงทะเบียนจ๋อ ก่อนเข้ากรง : หลังจากสังเกตการปฏิการจับจ๋อบริเวณตลาดสดเทศบาลอยู่สักระยะ ทีมข่าวฯ เดินทางต่อมาที่ 'สถานอนุบาลลิง' หรือ 'กรงลิง' ข้าง สภ.ท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น เพื่อดูขั้นตอนการนำลิงเข้ากรง ส่วนนี้เราได้ข้อมูลอย่างคร่าว จากทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานฯ ว่า ลิงที่โดนจับมาต้องผ่านการคัดกรองเบื้องต้นก่อน โดยจะดูว่าตัวไหนทำหมันแล้ว หรือตัวไหนที่ยังไม่ได้ทำหมัน สำหรับลิงที่ยังไม่ได้รับการทำหมัน เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้เรียบร้อย จุดสังเกตคือลิงที่ทำหมันแล้ว จะมีตัวเลข 2 แถว คล้ายรอยสักอยู่บริเวณแขน ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวฯ ตัวเลขชุดแรกหมายถึงเขตจังหวัด ตัวเลขชุดต่อมาเป็นเหมือนเลขประจำตัวของน้องลิง คล้ายกับเลขบัตรประชาชนของมนุษย์ หลังจากนั้น ลิงทุกตัวจะได้รับการสักตัวเลขเพิ่ม 1 ชุด คือ C67 หมายความว่า ลิงตัวนี้หรือกลุ่มนี้เป็นลิงของกรง C ปีงบประมาณ 2567 และยังมีการแต้มรอยดำช่วงอกและบนหน้า เพื่อเป็นอีกหนึ่งจุดสังเกตว่าตัวไหนทำหมันแล้ว ซึ่ง ผอ.เผด็จ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการทำงานส่วนนี้ว่า ลิงทุกตัวที่เข้าไปอยู่ในกรง เราจะจัดทำทะเบียนทั้งหมดหมด เพราะหากเกิดว่ามีลิงหลุด เราจะสามารถตามจับ แล้วตรวจสอบได้ว่าเราลงทะเบียนไว้หรือเปล่า หรือเป็นลิงที่หลุดไปจากกรงไหน และปีงบประมาณอะไรการตรวจสอบความแข็งแรงของกรง : อีก 1 ข้อฉงน ที่เราได้เอ่ยถามต่อ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ก่อนเดินทางมายังสถานอนุบาลลิงนั่นก็คือ "ตอนนี้กรงแข็งแรงดีใช่หรือไม่?"ผอ.เผด็จ บอกว่า ณ ตอนนี้กรงที่เราเห็นยังโอเคอยู่ ที่ต้องใช้คำนี้เพราะสิ่งที่เรามองไม่เห็นยังมี เช่น อาจมีรอยตะเข็บบางจุดที่ต้องแก้ไข หรือตอนนี้ลิงอาจจะยังไม่รื้ออะไร เพราะเขาอยู่กันแค่ 27 ตัว แต่ถ้าจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็มีโอกาสที่เขาจะรื้อ ซึ่งเราต้องคอยจับตาดู เมื่อเราถามว่ามีกำหนดหรือไม่ ว่าเวลาผ่านไปเท่าไรจึงจะตรวจสอบ?"เราไม่มีระยะเวลาที่แน่ชัดว่าตอนไหนต้องทำกรง แต่ต้องสังเกตและประเมินอยู่เสมอ เช่น ถ้าเขาไปขย่มตลอด เราก็ต้องคอยดู เพราะมีโอกาสที่จะกรงจะชำรุด สำคัญที่สุดคือต้องไม่ให้เขาเครียด ถ้าลิงไม่เครียดเขาก็ไม่พยายามที่จะหาทางออก เราจึงต้องบอกว่าจะประเมินเป็นระยะ"คำตอบของ ผอ.เผด็จ ไปในทิศทางเดียวกับ 'นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน' หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือที่เราคุ้นชื่อตามหน้าสื่อว่า ‘หมอล็อต’ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ว่า ตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่สำรวจทุกวัน เพราะอาจมีบางจุดของกรง ที่มีรอยรั่วเล็กๆ น้อยๆ ถ้าตรงไหนมีจุดที่ต้องแก้ไข เขาก็จะปรับปรุง "กรงที่ทำเป็นกรงขนาดใหญ่ สังเกตดูว่ากรงจะสูงเป็นพิเศษด้วย เพราะลิงพวกนี้เป็นลิงหางยาว เขาจะใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก หากเป็นในธรรมชาติเขาจะอยู่ตามต้นไม้ เพราะพวกนี้จะใช้มือเป็นหลัก เราจึงสร้างสภาพแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติมา นอกจากนั้น จะมีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม เพื่อเอาไว้ช่วยเป็นหูเป็นตาอีกแรง"จากการเดินสังเกตกรงของทีมข่าวฯ เราพบว่ายังมีบางจุดที่กรงเป็นรู และรอยเชื่อมไม่สมบูรณ์ ในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในกรง แม้ว่าเราจะเข้าไปดูด้านในกรง C ไม่ได้ แต่เราได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ในกรง B ซึ่งมีลักษณะและรูปแบบเดียวกันพบว่า อุปกรณ์ค่อนข้างแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้ดี เชือกที่รัดไว้มีความหนาแน่น ส่วนน้ำสำหรับให้ลิงอุปโภค ถือว่าสะอาดและมีหลายจุด น้ำภายในบ่อใสสะอาด แม้จะมีสีเขียวจากตะไคร่ให้เห็นบ้าง แต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อยการให้อาหาร และการดูแลความสะอาด : นายสัตวแพทย์ภัทรพล ให้ข้อมูลว่า ช่วงเวลาของการให้อาหารแต่ละวันไม่ตรงกัน เราพยายามให้ช่วงเวลาที่หลากหลาย เพราะโดยธรรมชาติลิงกินอาหารไม่เป็นเวลาอยู่แล้ว วันนี้อาจจะได้กินเช้า เที่ยง บ่าย วันอื่นๆ ก็เปลี่ยนไป เพื่อให้เขารู้สึกมีความหิวกระหาย มีการโหยหาที่อยากจะหาอาหาร หากเราให้เป็นเวลาทุกวัน เขาจะไม่ได้ออกกำลัง จะมานั่งรอตรงจุดให้อาหาร ส่งผลให้อ้วน ร่างกายไม่ฟื้นฟู เพราะไม่ได้ออกกำลังกาย หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุสัดส่วนของอาหารที่เหมาะสมสำหรับลิงว่า ใบไม้ 60%, ผลไม้ 39% และหนอนหรือแมลง 1%"ใบไม้เราก็เอาตามข้างทาง หรือบางทีประชาชนเอามาให้ เช่น ใบกระถิน ใบมะม่วง เพราะฉะนั้นใบไม้ซึ่งเป็นอาหารหลัก จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง ในขณะเดียวกันอาหารเดิมที่เขาคุ้นเคย ซึ่งก็คืออาหารเม็ด เราก็ยังคงต้องให้เขาอยู่ แต่ทยอยปรับเรื่องอัตราส่วนของอาหาร""อาหารจำพวกหนอน แมลง หรือแหล่งโปรตีน เราจะมีเมล็ดธัญพืช ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ซึ่งเจาะรูไว้ เวลาลิงกลิ้งกระบอก เมล็ดธัญพืชจะออกมาทางรู เหมือนเขาได้ออกกำลังกายไปด้วย ส่วนแมลง เราอาจจะจับพวกแมลงเม่า หรือจิ้งหรีดมาให้เขากินเป็นอาหาร ขณะเดียวกันรอบกรงจะมีการติดหลอดไฟด้านนอก เพื่อล่อแมลงเข้ามา โดยใช้ฉากสังกะสีเป็นตัวสะท้อนแสง แมลงก็จะตามไฟแล้วตกลงมา ลิงสามารถนำแมลงเหล่านั้นมาเป็นแหล่งโปรตีนอีกทางหนึ่ง"ขณะสนทนากับหมอล็อต สายตาเราก็จับจ้องไปในกรงที่มีลิงอยู่ 27 ตัว ทีมข่าวฯ สังเกตว่าเปลือกผลไม้และเศษผักต่างๆ ที่นำให้ลิงกิน มีให้เห็นเกลื่อนกลาดตามพื้น ดูแล้วไม่ค่อยสะอาดสักเท่าไร แต่เรื่องนี้ นายสัตวแพทย์ภัทรพล ชี้แจงว่า จะมีเจ้าหน้าที่มาทำความสะอาดทุกวัน "ในทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาล มาจัดการกับเศษอาหารที่เหลืออยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดูว่าเศษอาหารที่เหลือเหล่านั้น ยังสามารถเป็นอาหารให้ลิงกินได้อีกหรือเปล่า ช่วงทำความสะอาด อาจจะเป็นตอนเย็นหรือเช้าตรู่ของแต่ละวัน โดยจะใช้น้ำฉีดล้างเศษอาหาร รวมไปถึงล้างเศษอุจจาระปัสสาวะด้วย ต้องย้ำว่าจุดนี้เป็นกระบวนการที่ต้องทำทุกวัน สังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีร่องน้ำอยู่โดยรอบกรง น้ำจากการชะล้างจะไหลลงท่อที่มีฝาปิด ซึ่งด้านล่างเป็นระบบบำบัดน้ำ หลังจากนั้นจะมีการลงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวัน เพราะเน้นเรื่องสุขอนามัย" หมอล็อตกล่าวกับเราการอนุบาลและการดูแล : แม้ว่ากรงนี้จะถูกสร้างมาเพื่อลิงลพบุรี แต่จุดนี้เป็นเพียงสถานอนุบาลเพียงเท่านั้น พวกมันไม่ได้จะอยู่ตลอดไป ด้าน หมอล็อต ระบุกับเราว่า พื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นพื้นที่กึ่งกลาง เรานำเขามาไว้เพื่อปรับสัญชาตญาณ ปรับพฤติกรรม และฟื้นฟูสุขภาพ ก่อนนำไปสู่พื้นที่การดำรงชีวิตที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด"ต่อจากนี้เราต้องศึกษาว่า มีพื้นใดบ้างที่เราจะใช้เป็นโมเดลในการนำเขาไปอยู่อย่างถาวร ซึ่งเรามีแผนระยะยาวอยู่แล้ว ต้องดูและติดตามกันต่อไป ส่วนถ้าถามว่าจะใช้เวลาปรับพฤติกรรมตรงนี้นานแค่ไหน เอาง่ายๆ เลย ก็ต้องดูว่าสถานที่ปลายทางเขาเสร็จตอนไหน"อย่างที่ย้ำมาตลอดว่า ตอนนี้มีลิงในกรง 27 ตัว พวกจ๋อเลยยังไม่ตีกัน หากมีขึ้นมาถึง 300 ตัวล่ะ คุณคิดว่าพวกมันจะตีกันหรือไม่?คำตอบนี้ ยังไม่มีอะไรแน่ชัดแต่ค่อนข้างเป็นไปได้ เพราะการที่ลิงจะตีกัน เป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่หมอล็อตบอกว่าคาดการณ์ไว้แล้ว แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการตีกันเพื่อจัดระเบียบสังคม เดี๋ยวก็หยุดกันไปเอง ในขณะเดียวกัน ถ้ามีลิงตัวไหนไม่ยอมหยุด มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก็อาจจะต้องถูกจับแยกมาปรับพฤติกรรม "มันจึงมีหลายฉากทัศน์ที่เราคาดการณ์ไว้" นายสัตวแพทย์ กล่าวกับเรานายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กล่าวว่า แม้ว่าตอนนี้ทางเทศบาลยังไม่มีสัตวแพทย์ แต่ก็มีสัตวบาล ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดจ้างสัตวแพทย์ รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเรื่องโรงพยาบาล ตอนนี้ทางกรมอุทยานฯ จะเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งมีทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานฯ มาคอยให้คำแนะนำหมอล็อต กล่าวอย่างภาคภูมิว่า ต่างประเทศให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะหลายพื้นที่มีปัญหาคล้ายกับเรา เขาก็มาดูเราเป็นโมเดล เขาเซอร์ไพรส์ที่เราไม่ได้แค่จับแล้วจบ แต่มีการดำเนินการในส่วนของคน ลิง และสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องของคนก็จะมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขไปตรวจคัดกรองสุขภาพ นอกจากนั้นก็จะมีการตรวจสุขภาพลิง ในส่วนของสิ่งแวดล้อมก็จะมีการทำความสะอาด ปรับปรุงพื้นที่ ทาสี บูรณะฟื้นฟูความคาดหวังของคนลพบุรี : คุณผู้อ่านคงจะได้รับรู้ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้วิกฤติลิงไปพอสมควรแล้ว ทีมข่าวฯ จะพาไปส่องความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กันบ้างดีกว่า ว่าที่ผ่านมาเขารู้สึกอย่างไรต่อบรรดาจ๋อ และหลังจากได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง?'คุณวราภรณ์ วงษ์กระสันต์' ผู้ประกอบการร้านขายชุดนักเรียน นักศึกษา เล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้เราฟังว่า พี่ขายของมาตั้งแต่ปี 2528 ตรงนี้มันเจริญมาตลอด เพิ่งมาดร็อปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากโควิดและลิงที่เหมือนมาซ้ำเติม เราได้รับความเดือดร้อนจากลิงเยอะมาก ตอนนี้ไม่ได้นอนที่นี่แล้ว เพราะลิงกระชากสายแอร์ขาด รื้อคอมเพรสเซอร์กระจาย จนเราอยู่ที่นี่อยู่ไม่ได้ ทุกวันนี้เลยได้แค่มาเปิดร้านแล้วต้องไปนอนบ้านอีกที่นึง รถก็จอดแถวนี้ไม่ได้ ต้องไปเสียค่าเช่าที่จอดรถ "ก็รู้สึกดีที่เขามาจับลิงไป เราคาดหวังว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะช่วยให้ลพบุรีกลับมาเจริญสักที อยากให้ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่หยุดแค่นี้ เพราะทุกทีที่ผ่านมาเป็นการจับแล้วก็หยุด แต่ถ้าทำแบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ก็คงจะดี แล้วก็อยากให้ปรับภูมิทัศน์ของเมือง เพราะตอนนี้มันดูเก่ามากลิงทำไว้โทรมหมดเลย จนเหมือนตึกมันไม่มีคุณค่า"เดินออกจากซอยร้านของคุณวราภรณ์ เราพบกับ 'คุณวิเชียร ใจอารี' ที่ตั้งร้านเล็กๆ ขายเสื้อผ้าอยู่หน้าร้านไก่ทอดชื่อดังเจ้าหนึ่ง คุณลุงวิเชียร บอกว่า ที่ผ่านมาได้รับเดือดร้อนจากเรื่องลิงอยู่บ้าง มันแย่งของนิดๆ หน่อยๆ เพราะเรามีไม้กันไว้มันก็ไม่ค่อยเข้ามาเท่าไร แต่บางครั้งมันก็มากันเยอะ เราก็ป้องกันตัวเองบ้าง "ได้เห็นหน่วยงานมาทำแบบนี้ก็รู้สึกสบายใจ เราเชื่อว่าทุกคนหวังดี อยากให้เขาดำเนินการแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ให้มันเรียบร้อยขึ้น บ้านเมืองจะได้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เราคาดหวังให้เมืองบูมขึ้นมาอีก หวังแค่ว่าอะไรที่ซบเซาจะดีขึ้น เราเคยอยู่ยุคที่มันรุ่งเรืองมาก่อน ตอนนั้นทุกคนดูสบายดี เราก็รู้สึกสดชื่น กินอิ่ม นอนหลับ"หลังจากกล่าวลาคุณลุงวิเชียร ทีมข่าวฯ เดินเข้าไปยังตลาดสดเทศบาลเมืองลพบุรี 'คุณเหนา ศรีสุวรรณ' ผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยว จำทีมข่าวฯ ได้ จากการที่เราเคยมาลงพื้นที่ครั้งที่ผ่านมา คุณลุงจึงกล่าวทักทายเราด้วยรอยยิ้มเฉกเช่นคนคุ้นเคย อย่างไรก็ดี จึงถือโอกาสนี้สอบถามความคิดเห็นของคุณลุง"ที่ผ่านมาลิงรบกวนมากเลย จุดที่เสียหายที่สุดคือลูกค้าไม่อยากมาตลาด อย่างปกติลูกค้าเคยมากินก๋วยเตี๋ยวเราตลอด เขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่อยากมาแล้วเพราะจอดรถก็โดนลิงรื้อรถ ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ 20 กว่า ตอนนี้ 80 กว่าแล้ว แต่ลิงเพิ่งมารบกวนแถวนี้ 3 ปีให้หลังเอง""ผมคิดว่าที่หน่วยงานมาทำมันก็ดีนะ ลิงจะได้น้อยลง ส่วนประชาชนก็จะได้เดือดร้อนน้อยลง ผมว่าถ้าทำไปเรื่อยๆ มันก็ดีนะ ถ้าทำไวเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น อยากขอร้องให้เจ้าหน้าที่จัดการให้ไว เพราะถ้าลิงไม่มารบกวน คนก็คงจะมาตลาด ผมรู้สึกมีหวังแล้วนะ ขอแค่ทำจริงจังและต่อเนื่อง แล้วก็สมมติถ้าลิงมันน้อยลงหรือจัดการได้แล้ว ก็อยากให้มาทำอะไรให้เข้าที่เข้าทาง อย่างไฟเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีแล้วเพราะลิงมันทำดับหมด"อีกหนึ่งคนที่ทีมข่าวฯ ได้พูดคุยด้วย นั่นก็คือ 'คุณแก่น ศรีสุวรรณ' ที่กำลังนั่งพูดคุยกับพี่ๆ คนขับวินมอเตอร์ไซค์อยู่หน้าตลาด คุณลุงแก่น บรรยายความเดือดร้อนโดยรวมว่า ถนนเส้นนี้ (ถนนข้างตลาด) แต่ก่อนคนเยอะมาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนเพราะลิงมากวน จวนใกล้จะเจ๊งกันหมดแล้ว เจอโควิดด้วย เจอลิงด้วย แย่เป็น 2 เด้ง"ผมว่าที่จับลิงกันก็จับได้ไม่หมดหรอก ลิงมันฉลาด แต่ที่เขามาทำแบบนี้มันก็คงให้ความรู้สึกว่าลิงมันน้อยลง แต่สุดท้ายก็จัดให้หมดหรอก เดี๋ยวมันก็เข้าไปแอบตามซอกโรงแรมเอเซีย พูดถึงลิงมันก็เล่นเอาเศรษฐกิจเราแย่ คือถ้าไม่ปราบจริงจังให้หมด สุดท้ายถ้าหลงเหลืออยู่แป๊บเดียวเดี๋ยวมันก็เพาะพันธุ์ ดังนั้นถ้าจะทำต้องทำให้จริงจังและต่อเนื่อง" ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhotoอ่านสกู๊ปลิงลพบุรี : คน-ลิงลพบุรี ทุกข์ทุกซอก ทุกข์ทุกมุม (คลิป)ทุกข์ที่ยังวิกฤติ ตามติด 'ลิงลพบุรี' หลังลงนาม MOU 1 เดือนรออีก 1 ปี ย้ายลิงลพบุรีเข้ากรง กับงบ 30 ล้าน ที่ยังไร้คำตอบ?