สภาพอากาศแปรปรวน จะต้องเตรียมรับมือว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทยหรือไม่? ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง หลังปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจนอากาศร้อน โลกเดือดเป็นประวัติการณ์ จะสิ้นสุดลงเดือน พ.ค.นี้ สลับมาเป็นปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ไทยมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ และมีอุณภูมิลดลง ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญสลับมาเป็นลานีญาในปีเดียวกันเกิดขึ้นไม่บ่อยมากนัก โดยในรอบ 75 ปี เกิดขึ้นเพียง 10 ครั้งเท่านั้น
ก.ย.-ต.ค. ภาคกลาง ตะวันออก ใต้ เสี่ยงน้ำท่วมหนัก
แต่ปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่บ่งชี้สถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้ง แล้วเกี่ยวข้องกับปัจจัยใดบ้าง "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ให้เห็นจากเหตุการณ์น้ำแล้ง และน้ำท่วมในไทยทั่วประเทศ ตั้งแต่อดีตกว่า 50 ปี จนถึงปัจจุบัน ยังมีปัจจัยความแปรปรวนของสภาพอากาศในมหาสมุทรอินเดีย ที่มีจำนวนความรุนแรง และเส้นทางพายุจรที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย แต่เอลนีโญหรือลานีญา ก็เป็นปัจจัยบ่งชี้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น หรือต่ำลงกว่าปกติ ประมาณบวก-ลบ 0.2 ถึงบวก-ลบ 0.3 องศาฯ ทำให้ปลายปี 2567 จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปี 2566
...
จากการประเมินสภาพอากาศในครึ่งปีหลัง 2567 พบว่าช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ปริมาณฝนเฉลี่ยยังคงมีน้อยกว่าปกติทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ และเมื่อผ่านเข้าเดือน ก.ค.-ส.ค. ปริมาณฝนจะเริ่มมากขึ้นทั่วทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จนเข้าสู่ปลายฝนในเดือน ก.ย.-ต.ค. ปริมาณฝนยังคงมากขึ้นในภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้การคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงครึ่งปีหลังในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดเหตุ "น้ำท่วมใหญ่" หรือไม่
“ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีโอกาสเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง เป็นน้ำท่วมฉับพลัน น้ำรอการระบายจากฝนตกหนักในเวลาสั้นๆ หรือเป็นน้ำท่วมใหญ่จากอิทธิพลพายุจร รวมถึงพื้นที่ภาคกลางต้องจับตาน้ำท่วมด้วย เพราะพื้นที่รับน้ำลดลงทุกปี จากการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน แม้ปริมาณน้ำเหนือน้อย แต่ระดับน้ำสูงกว่าปี 2554 จนล้นคันกั้นน้ำมาแล้วในปี 2564 และปี 2565 สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินในหลายพื้นที่” นี่คือคำเตือนจาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ลานีญา เร่งตัว ก.ย.ถึง ธ.ค. ฝนตกน้ำท่วม อีสานเย็นสุดๆ
เช่นเดียวกับ "รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ได้อ้างถึงการพยากรณ์ล่าสุดของ Climate Prediction Center (NOAA) และศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป ระบุว่า เอลนีโญสิ้นสุดในเดือน พ.ค. 2567 และจะเปลี่ยนสู่เฟสกลาง หรือภาวะปกติในช่วงเดือน มิ.ย. ถึงเดือน ก.ค. จากนั้นลานีญาจะกลับมาตั้งแต่เดือน ส.ค. และคาดว่าจะจบลงช่วงเดือน พ.ค. 2568
"ลานีญาจะทำจุดสูงสุดช่วงเดือน ม.ค. 2568 และช่วงลานีญาเร่งตัวราวเดือน ก.ย. ถึงเดือน ธ.ค. 2567 ต้องระวังน้ำท่วม และเดือน พ.ย. 2567 ภาคอีสานอาจเริ่มเผชิญอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ เนื่องจากกำลังลานีญามีแนวโน้มอยู่ในระดับอ่อนถึงปานกลางมากที่สุด"
ด้านค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 12 สำนักทั่วโลก บ่งชี้ว่าเดือน มิ.ย. 2567 ปริมาณฝนจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยเกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยภาคเหนือและอีสานบางส่วน ต้องระวังภัยแล้งยืดเยื้อ ส่วนภาคใต้ ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และเดือน ก.ค. 2567 ปริมาณฝนจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคเหนือ และภาคตะวันตก ส่วนภาคใต้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และภูมิภาคอื่นปริมาณฝนจะกลับสู่ภาวะปกติ
...
พ.ย. ฝนสู่ภาวะปกติ ยกเว้นภาคใต้ ระวังน้ำท่วมให้มาก
เดือน ส.ค. 2567 ปริมาณฝนจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคตะวันตก ส่วนภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคอีสานฝั่งตะวันออก ฝนจะลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ส่วนภาคเหนือฝนจะกลับสู่ภาวะปกติ และภาคใต้จะมีฝนมากกว่าปกติ ขณะที่เดือน ก.ย. 2567 ผลพยากรณ์จากอุตุนิยมวิทยา 12 สำนักทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทาง โดยบ่งชี้ว่าทุกภูมิภาคจะมีปริมาณฝนเท่ากันหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสาน และใต้ เพราะฝนจะมีปริมาณที่สูงกว่าปกติ
ส่วนเดือน ต.ค. ทุกภูมิภาคต้องระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบน อาจต้องระวังมากกว่าภูมิภาคอื่น ก่อนที่เดือน พ.ย. ปริมาณฝนจะกลับสู่ภาวะปกติในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ต้องระวังน้ำท่วมให้มาก เพราะเดือน ต.ค.เป็นช่วงฤดูฝนมีปริมาณฝนสูง
...
“ให้เตรียมรับมือกับอากาศผันผวน เหมือนเล่นรถไฟเหาะตีลังกา เพราะเอลนีโญสลับเป็นลานีญาในปีเดียวกันเกิดขึ้นไม่บ่อยมากนัก ในรอบ 75 ปี มีเพียง 10 ครั้ง และเตรียมรับมือฝนที่จะมีปริมาณมากกว่าปกติ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต้องระวังข้าวล้มช่วงฝนมาก อาจทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก พืชผลเสียหาย และความชื้นสูง เอื้อต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช และพายุอาจสร้างความเสียหายได้”.