เช็กกระแส Art Toy ลาบูบู้ ท่ามกลางของปลอมเกลื่อน “ขาโหด” กูรูการตลาดวิเคราะห์ ขาขึ้น และสัญญาณขาลง!

“สมัยจตุคามรามเทพ ที่มีกระแสฮิตมาก แต่แล้ววันหนึ่งก็ตกเลย คนทำก็ขาดทุน ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้คุยกับ “หมอลักษณ์ เรขานิเทศ” เขาบอกว่า สาเหตุที่ “เจ๊ง” เพราะออกมาผิดจังหวะ ช้าเพียงเดือนเดียว ทุกอย่างจบ ความหมายของเรื่องคือ เวลามันเลิกฮิต อย่าว่าแต่ถือเลย เขาไม่ให้ใครเห็นด้วยซ้ำ..และของใหม่ก็จะมาแทนอย่างรวดเร็ว” 

นี่คือความเห็นของ อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กูรูการตลาดเจ้าของฉายา “ขาโหด” กับเรื่องราวการวิเคราะห์กระแส Art Toy กับสถานการณ์ในเวลานี้ว่าเป็นอย่างไร คนไทยยังมีความต้องการอย่าง “บ้าคลั่ง” อยู่หรือไม่ และอะไรจะเป็นปัจจัยในการเสื่อมความนิยม 

กระแสฮิต Art Toy จาก KOls ระดับโลกอย่าง “ลิซ่า” 

อาจารย์ธันยวัชร์ อธิบายว่า การตลาดของ Art Toy ที่กำลังฮิตกันอยู่ในขณะนี้นั้น ไม่แตกต่างจากตุ๊กตาบลายธ์เลย แต่ประเด็นฮอตที่เป็นการจุดกระแสให้กับ “ลาบูบู้” นั่นก็คือ “ลิซ่า แบล็กพิงก์” ที่ขยายให้ตูมตาม เพราะมีโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ “TikTok” ซึ่งถือเป็นช่องทาง “Marketplace” ด้วย  

...

“กระแสขึ้นเร็วมาก แต่ส่วนจะลงเร็วหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่ว่า “ลิซ่า” จะถือตัวใหม่ๆ หรือไม่ สมมติว่าตอนนี้เริ่มขาลงแล้ว แต่หาก “ลิซ่า” ถือตัวใหม่ ลิมิเต็ดอีก ก็มีโอกาสที่จะมีคลื่นต่อไป” 

กูรูการตลาดวิเคราะห์ปัจจัยว่า คนที่มีอิทธิพล ก็คือ KOLs (Key Opinion Leader) หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมจากการเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สำหรับ “ลิซ่า” คือ สายแฟชั่น และโดยมากจะอยู่ใน IG จากนั้นก็มาอยู่ใน TikTok  

กูรูการตลาดมองว่า “ลิซ่า” คือมีพลังทั่วโลก เพราะเขาไม่ได้ดังแค่ในประเทศไทย นอกจากไทยแล้ว ในจีนลิซ่าก็ได้รับความนิยม แต่...สำหรับคนไทยนั้น “บ้าคลั่ง” เกินเหตุ นี่แหละคือ “กระแสฮิต”

 Art Toy กับการลงทุน 

คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับสินค้าเหล่านี้เยอะ สังเกตจากการยอม “ประมูล” เพื่อให้ได้มา โดยเฉพาะกลุ่มที่พอจะมีเงิน เรียกว่าแพงแค่ไหนก็ซื้อ เพราะคนกลุ่มนี้คือโดยมากจะเป็นคนอายุน้อย รวยเร็ว บางคนอายุไม่ถึง 20 ปี มีเงินเป็นสิบล้าน  

อาจารย์ธันยวัชร์ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้เวลาสะสมอะไร เขาจะโชว์ อยากบอกให้รู้ว่าเป็นความสำเร็จอะไรสักอย่าง และเมื่อมีการสะสมไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเป็นรายจ่ายอย่างเดียว แต่เป็นเหมือนการลงทุนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่ Art Toy หมายรวมถึงทุกอย่าง หรือจะเป็นนาฬิกาแพงๆ เช่น โรเล็กซ์ ราคาก็ไม่ถึงขนาดนี้ แต่เมื่อซื้อไปแล้ว เหมือนเป็นการลงทุน และราคาขายมันแพงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าที่เกิดจากความชอบ การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ “แบรนด์” ที่บ่งบอกถึง “สถานะทางการเงิน” ด้วย” 

แต่...แบรนด์จีน ยากจะปั้นให้เป็น Laxury 

กูรูการตลาด สังเกตว่า จีนเก่งในเรื่องการผลิตสินค้า ไม่ว่าจะสินค้าอะไร ของเล่น รถยนต์ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จีนทำไม่ได้คือ ความเป็น Laxury สมมติว่าแบรนด์คุณทำกระเป๋าได้ดีกว่า Hermes Birkin แต่คุณจะขายราคาเท่าเขาได้หรือไม่ เพราะ “Hermes” มีความเป็นแบรนด์ มีความเก่าแก่ Birkin อยู่มานานมาก คนก็ยังอยากได้ 

ความเป็น Laxury จะทำตรงข้ามกับหลักการตลาด คือ ไม่เอาใจลูกค้า ต้องซื้อสะสมเป็นลูกค้าเก่า ขายความ Rarity คือได้มายาก ตรงข้ามกับสินค้าระดับ Mass 

...

หากเป็นแบรนด์ทั่วไป สิ่งที่ต้องทำ คือ การหา “Influencer” ที่มีผู้ติดตาม ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย  

สมมติว่าเป็น “ลาบูบู้” ลิซ่าคือตัวท็อปของโลกไปแล้ว เขาอยู่ในวัยนี้ และที่สำคัญคือเธอคือผู้นำทางแฟชั่น และไม่ใช่คน “ตระหนี่ถี่เหนียว” แม้ลิซ่ามาเที่ยวเมืองไทย เขาก็ไปถ่ายรูปลูกชิ้นยืนกิน สายไหม อยุธยา เขาก็ทำให้ดังได้ 

ขาโหดการตลาด อธิบายว่า ลิซ่าเปรียบเสมือน Influencer ที่เป็นศูนย์กลาง หากกลุ่มเป้าหมายตรงกับสินค้าเขา ลงรูปตูมเดียวดังทั่วโลก เพราะ “ลิซ่า” มีองค์ประกอบครบหมด คือ เป็นผู้หญิง ศูนย์กลางด้านแฟชั่น และที่สำคัญคือ “เจ้าตัวมอนสเตอร์” นี้ มันราคาไม่แพง

“แม้กระเป๋าที่เขาเอามาห้อยนั้นราคาหลายแสนบาท ซึ่งคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง แต่ว่าตุ๊กตาที่ห้อย ราคาระดับพันกว่าบาทเท่านั้น สามารถผลิตในระดับ Mass  และสินค้านี้ก็อยู่ในจีน และจีนก็เป็นเจ้าแห่งการก๊อป ของปลอมก็ออกมา พอเห็นคนห้อยลาบูบู้นี่ คำถามคือ ของจริงหรือของปลอม หากเป็นของจริง “ลิมิเต็ด” หรือเปล่า...” (หัวเราะ) ก็กลายเป็นแข่งกันเรื่องนี้ 

...

การตลาดต้องสร้าง Demand

สิ่งสำคัญของการตลาด คือ การสร้าง Demand หมายถึง คนต้องมีกำลังซื้อ มีความต้องการ หากมีความต้องการ ไม่มีกำลังซื้อ ก็ไม่เกิดยอดขาย หากมีกำลังซื้อ แต่ไม่ต้องการ ก็ไม่เกิดยอดขายเช่นกัน 

หากคุณต้องการขายในตลาด Mass ของที่คุณขายต้องไม่แพงมาก ถึงแม้ว่า สินค้าตัวใหม่ๆ จะแพงขึ้น หายากขึ้นก็ตาม เพราะสิ่งที่ต้องทำสิ่งแรก คือ ทำให้คนอยากได้ ก่อนเพิ่มมูลค่า 

ถ้าคุณได้ Influencer ระดับ “ลิซ่า” คำถามคือ “ลิซ่า” จะโพสต์ให้กี่ครั้ง.... 

หากไม่ได้ “ลิซ่า” สิ่งที่เจ้าของแบรนด์ต้องทำคือหา KOLs ในระดับรองลงมา เช่น  ในระดับประเทศ เพื่อให้ดำรงกระแสต่อไป เพื่อสร้างลูกคลื่นเล็กๆ ตามมา และในสินค้า ก็ต้องหา “ความอยาก” เพื่อสร้าง Demand กันตลอด 

หากเมื่อไร “ลูกคลื่น” มันหาย หรือกระแสตก ยุคนี้คือจะหายไปเลย ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อน มีลักษณะเป็น “ระฆังคว่ำ” คือ Parabola ค่อยๆ โต ยืนระยะ ถึงจุดอิ่มตัว เหมือนพี่เบิร์ด พี่หม่ำ โน้ต อุดม อยู่นาน 30 ปี แต่ยุคนี้ จะดังเป็นพลุ ตูมขึ้นมา เมื่อกระแสตก ก็เหมือนอุกกาบาต

...

“สิ่งที่โน้ต อุดม ทำ คือการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ หันมาทำกับเน็ตฟลิกซ์ เนื้อหาที่นำเสนอจึงหนักขึ้น คำหยาบมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการแสดงสด ที่ไม่ได้ทำแบบนี้ ถือเป็นการเปลี่ยน Audience เป็น Gen Z และคนดูได้เป็นล้านคน ขณะที่การแสดงสด คนดู 3,000 กว่าคน เป็นแฟนจริงๆ หากสังเกตเดี่ยวของโน้ต 4 ครั้งหลังสุด ก็มักจะโจมตีคนแก่ ยกย่อง Gen ใหม่” 

โอกาสความเสื่อมถอยของ ลาบูบู้ 

อาจารย์ธันยวัชร์ มองว่า เมื่อถึงวันหนึ่ง ของทุกอย่างก็ถึงวันเลิกความนิยม เพียงแต่เขาจะเลี้ยงกระแสได้แค่ไหน มีคลื่นความนิยมใหม่ๆ เข้ามาหรือไม่ แต่สำหรับ ลาบูบู้ จะเสื่อมช้า เสื่อมเร็ว ก็ต้องดูด้วย เช่น ตอนนี้เริ่มมีของปลอมเข้ามาขายในราคาถูก เมื่อของปลอมมีจำนวนมาก “ความเสื่อม” ก็จะตามมา 

ที่สำคัญ คือ สมัยนี้สินค้าทุกอย่าง “ขึ้นเร็ว ลงเร็ว” กว่าสมัยก่อน ขึ้นพีกสูงภายในเวลาไม่กี่เดือน เมื่อถึงเวลาลง ก็จะลงอย่างรวดเร็ว แต่...ก็จะขึ้นได้อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มคน KOls จะเข้ามาเล่นอีกหรือไม่ 

คำถามคือ เจ้าของแบรนด์นั้นรู้ไหม...เขาก็รู้ ฉะนั้น เขาจึงนำตัว “ลิมิเต็ด” ให้กับ “ลิซ่า” “ลิซ่า” ก็เอากระเป๋าแอร์เมส (Hermes) ใบเล็กๆ มาห้อย “ลาบูบู้” กลายเป็น “แฟชั่น” 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าของแบรนด์เขารู้ว่ากระแสนิยมกำลังเข้าสู่ขาลง เขาจึงส่งตัวลิมิเต็ดให้กับ “ลิซ่า” 

ส่วนตัวเชื่อว่า สุดท้ายกระแสตก เพราะ 1. มีมากเกินไป ใครๆ ซื้อได้  2. ราคาไม่แพงมาก มีของแท้ ของปลอม คนซื้อของแท้มา เจออีกคนใช้ของปลอม แบบนี้ไม่ใช้ดีกว่า... 

ส่วนการเพิ่มมูลค่า มันจะยาก เพราะสินค้าเป็น Mass ยกเว้นแต่ว่ามีตัวเดียวในโลก เพราะมีการสลักชื่ออะไรแบบนี้ ซึ่งถามว่าน่าลงทุนไหม คำตอบคือ อยากให้ลงทุนกับของที่มีมูลค่าดีกว่า 

ขาโหดกูรูการตลาด กล่าวว่า ตอนนั้นสมัยจตุคามรามเทพ ที่มีกระแสฮิตมาก แต่แล้ววันหนึ่งก็ตกเลย คนทำก็ขาดทุน ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้คุยกับ “หมอลักษณ์ เรขานิเทศ” เขาบอกว่า สาเหตุที่ “เจ๊ง” เพราะออกมาผิดจังหวะ ช้าเพียงเดือนเดียว ทุกอย่างจบ ความหมายของเรื่องคือ เวลามันเลิกฮิต อย่าว่าแต่ถือเลย เขาไม่ให้ใครเห็นด้วยซ้ำ..และของใหม่ก็จะมาแทนอย่างรวดเร็ว 

ลิซ่า ชอบจริง หรือมีการจ้าง? 

กับคำถามข้างต้น “เรา” ถามความเห็น อาจารย์ธันยวัชร์ “เชื่อ” ว่าน่าจะมีการพูดคุยกัน ตอนหลังเจ้าของก็มอบรุ่นลิมิเต็ดให้ ซึ่งความรู้สึกส่วนตัวคิดว่า “อาจจะ” ไม่จ้างก็ได้ เพราะหากวิเคราะห์ลักษณะนิสัยลิซ่านั้น เป็นคนใจกว้าง ชอบก็โพสต์ 

แตกต่างกับ Influencer คนอื่นๆ เพราะคิดว่าการโพสต์แต่ละครั้งเป็นเงินเป็นทองหมด แต่ “ลิซ่า” ไม่ใช่สไตล์นั้น มิเช่นนั้น เขาคงไม่โพสต์ “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่สำคัญ “ลิซ่า” มีแฟนคลับในจีนเยอะ ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้ซื้อ หากจะซื้อโพสต์จริงๆ ต้องใช้เงินมหาศาล เพราะลิซ่าถือว่าเป็นระดับโลกไปแล้ว 

อย่าง “เมสซี” หรือ โรนัลโด โพสต์ภาพหนึ่งมูลค่านับสิบล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ “ลิซ่า” เองก็มีคนตามใน IG เป็น 100 ล้าน 

แล้วคุณล่ะ ตอนนี้ยังอยากได้ “ลาบูบู้” หรือ Art Toy อยู่ไหม คิดว่าจะสะสม แล้วเพิ่มมูลค่าหรือไม่...? 

อ่านบทความที่น่าสนใจ