ไขที่มา “ลาบูบู้” ต้องผ่านการตรวจมาตรฐาน มอก. เจ้าหน้าที่แจงละเอียด ชี้ ของแท้-ปลอม ตุ๊กตางานวัดยังมี
กลายเป็นเรื่องดราม่า เมื่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่ผนึกกำลังกับเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทำการตรวจยึดของกลาง ตุ๊กตาลาบูบู้ และตุ๊กตา Art Toy ของกลางกว่า 100 ตัว ภายในร้านค้าเช่าภายในห้างสรรพสินค้าจังหวัดนนทบุรี จำนวน 11 ร้าน ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่ารวมกันนั้น มากกว่า 1 แสนบาท
ผิดอะไร... ทำไมต้องไปจับ หิ้วมาขายก็ผิด? ซึ่งตามกฎหมาย การทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต เข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือนำเข้าเพื่อจำหน่าย มีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากการจับกุมครั้งนี้ จะเรียกว่ากระแสนิยม “ลาบูบู้” ทำพิษก็ว่าได้ โดยเฉพาะคนที่หิ้วเข้ามา เพราะโทษที่โดนนั้นค่อนข้างหนัก ถามว่าเพราะอะไร จึงต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ นางสาวสิริลักษณ์ ชูโชติ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) บอกว่า มาตรฐาน มอก. ที่เป็นของเล่นนั้น มีการแบ่งประเภทออกเป็น 16 ประเภท 27 แบบ ซึ่งการตรวจสอบว่ามีมาตรฐานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น ลาบูบู้ มีลักษณะเป็นตุ๊กตานุ่มนิ่ม มีวัตถุประสงค์ในการใช้คือนอนกอด แบบนี้ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐาน
...
ประเด็นที่ตรวจสอบ คือ
1. ต้องไม่ลามติดไฟ หากมีการติดไฟต้องดับได้เอง
2. หากเด็กเอาไปกัด อม จะต้องไม่มีแมลง หรือของมีคม ตะเข็บในการเย็บตุ๊กตาต้องแน่น สะอาด ไม่มีเชื้อรา
3. หากผ่านการใช้งานสักระยะ เช่น 2-3 ปี ยังต้องมีสภาพดี ไม่มีสารหนู ตะกั่ว แคดเมียม ที่เคลื่อนย้ายอนุภาคมาถึงตัวเด็ก
นางสาวสิริลักษณ์ สรุปว่า เหล่านี้คือตัวอย่างการตรวจสอบ ตุ๊กตาประเภทกอดนอน หากเป็นของเล่นที่เด็กเอาเข้าปาก ก็จะมีการตรวจสอบที่เข้มข้น โดยเฉพาะสารเจือปนประเภทสารหนู ตะกั่ว แคดเมียม
กลับกัน หากเป็นลักษณะ “พวงกุญแจ” แบบนี้ไม่ต้องแสดงใบอนุญาต และไม่จำเป็นต้องแสดงตราสัญลักษณ์ มอก. เลย เพราะวัตถุประสงค์นำมาใช้เพื่อเป็น “พวงกุญแจ”
เมื่อมีคนถามว่า หากมีการทำตุ๊กตาพวงกุญแจขนาดใหญ่ ที่ใช้กอดนอนได้ แบบนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของผู้ปกครองด้วย...เพราะสุดท้ายเขาจะตรวจสอบการใช้งานตามวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ หากเป็น “ของเล่น” สำหรับเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยมากจะไม่ต้องตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย หากระบุว่า สำหรับเด็กอายุ 14 ปีลงมา แบบนี้จะต้องตรวจสอบ โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ หุ่นยนต์ ลูกโป่ง ลูกหิน ไม้ กระดาษ ตุ๊กตา ถือว่าเป็นสิ่งทอ
“หากเป็นของเล่นเด็กเล่น จะยิ่งตรวจสอบเข้มข้นมาก"
แปลว่า “สินค้าที่เป็น Art Toy ไม่จำเป็นต้องผ่าน มอก. ทุกชิ้นทุกแบบ” น.ส.สิริลักษณ์ ตอบว่า “ถูกต้อง!” ซึ่งเหล่านี้จะมีการ “แยกประเภท” ว่าเป็นสินค้าชนิดใด
...
“สิ่งที่กำลังสื่อนั้น อยากจะบอกว่าผู้ประกอบการทั่วไปรู้ขั้นตอนดีอยู่แล้ว เพราะก่อนจะขาย ผู้ประกอบการทราบดีอยู่แล้วว่า สินค้าประเภทไหน จำเป็นต้องมีการตรวจมาตรฐาน มอก. หากไม่ทราบ เราก็จะนำข้อมูลที่เป็นหลักเกณฑ์ไปตรวจสอบ”
แปลว่า บริษัทของเล่นทุกแห่งที่ขายในประเทศไทยนั้น หากมีชิ้นไหนต้องผ่านการตรวจ เขาจะส่งให้ตรวจอยู่แล้ว
ดราม่าการจับกุม ลาบูบู้ และ Art Toy
นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวถึงดราม่าการจับ “ลาบูบู้” ว่า เราเองจำเป็นต้องดูก่อนว่า มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และ QR Code ที่ใช้ตรวจสอบหรือไม่ หากไม่มีเครื่องหมาย เราสามารถสงสัยได้ว่าไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ร้านค้าก็รู้ดี ว่าผลิตภัณฑ์แบบไหนต้องขอเครื่องหมายมาตรฐานสินค้า
“ทุกปีเราจะมีการจัดพบกับผู้ประกอบการ เพื่ออัปเดตกฎหมาย สิ่งที่เปลี่ยนแปลง มีอะไรต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานบ้าง มีสินค้าแบบไหนเข้า แบบไหนไม่ต้องตรวจ”
เมื่อถามว่า หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะร้านค้าถูกลิขสิทธิ์นั้นมีไม่เพียงพอ แต่เมื่อหิ้วเข้ามาขายกลับโดนจับในประเด็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย น.ส.สิริลักษณ์ ตอบว่า ประเด็นลิขสิทธิ์นั้นไม่ทราบว่าใครได้มาบ้าง แต่สำหรับ สมอ. นั้น สามารถออกเครื่องหมายให้กับทุกคน ทุกบริษัท และตุ๊กตาทุกชนิด เพียงแต่เมื่อมีการนำเข้าตุ๊กตาเข้ามา ก็ต้องผ่านการตรวจและขออนุญาตจาก สมอ.
...
“คนหิ้วตุ๊กตาเข้ามา โดยหลักกฎหมายแล้ว หากเราซื้อมาเอง 1-2 ตัว ไม่มีปัญหา เพราะถือเป็น “ของใช้ส่วนตัว” แต่เมื่อไรที่มีการรวมกันหลายๆ ตัวเพื่อขาย...นี่คือกลายเป็นการขายที่ไม่มีใบอนุญาต ถ้าขายกันเอง ไม่ได้วางขาย แบบนี้ สมอ. ก็ไม่ทราบ แต่เอามารวมวางขาย สมอ. ก็จะทราบ ต้องผ่านการทดสอบ”
ของแพง ของถูก ของแท้ ของปลอม ก็ต้องตรวจ มอก.
นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ว่าตุ๊กตาแบบไหน จะของแพง หรือของไม่แพง อย่างตุ๊กตา โรงงานที่ผลิตที่ จ.ราชบุรี ซึ่งหากเป็นประเภทใช้กอด ก็ต้องขอมาตรฐานความปลอดภัย ตุ๊กตางานวัดก็มี มอก.
“เคยไปเล่นงานวัด ได้ตุ๊กตา 7 ตัว และเราตรวจสอบก็พบว่ามี มอก. ทุกตัว ซึ่งตุ๊กตาแต่ละประเภท ก็มีการตรวจสอบแตกต่างกัน แม้คุณภาพของขน จะแตกต่างกัน แต่เท่าที่ดูก็ไม่พบแมลง หรือของมีคม ตะเข็บก็ยังเย็บแน่น ไม่มีรา ของเหล่านี้เรียกว่า ไทยทำไทยใช้”
ของเล่นที่มีปัญหา ส่วนใหญ่เป็นของเล่นประเภทไหน น.ส.สิริลักษณ์ ระบุว่า ของเล่นไม่ค่อยพบปัญหา ผลการทดสอบไม่ค่อยตก โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เจอปัญหาที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเรามีการควบคุมค่อนข้างเยอะ และเรามีการปรับปรุงมาตรฐานการตรวจสอบอยู่ตลอด
...
“บางครั้งเรามีการสุ่มตรวจสอบ ทั้งในท้องตลาดและออนไลน์ หากรีเช็กแล้ว ไม่พบตราสัญลักษณ์ก็อายัดหมด”
เมื่อถามว่า หากเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จะมีการตรวจสอบหรือไม่ น.ส.สิริลักษณ์ ตอบว่า เนื่องจากหน่วยงานเราไม่ได้ดูเรื่องลิขสิทธิ์ หากสินค้านั้นๆ มีการยื่นขอมาตรฐานความปลอดภัย เราก็ตรวจสอบ
“ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ไม่ใช่หน้าที่หน่วยงานเรา หากของผลิตขึ้นมาแล้ว ต้องมีใบอนุญาตมาตรฐานขั้นต่ำ ต้องผ่านเกณฑ์ ส่วนของนั้นๆ จะละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการ”
แปลว่า “ของปลอม” ก็มีการตรวจมาตรฐานอุตสหกรรม? นางสาวสิริลักษณ์ หัวเราะ บอกว่าเราพูดแบบนั้นไม่ได้ เรามีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องมาตรฐาน
เมื่อถามว่า “ลาบูบู้” ปลอมที่ขายเกลื่อน ก็มีมาตรฐานความปลอดภัย? นางสาวสิริลักษณ์ บอกว่า ถ้าเป็นประเภทที่ต้องตรวจสอบ ก็มี เพราะจะเลียนแบบอย่างไร เราไม่ทราบได้
สินค้าที่ถูกอายัดไปแล้ว มีโอกาสได้คืนหรือไม่ น.ส.สิริลักษณ์ ตอบว่า หากมีการตรวจสอบแล้ว ของได้มาตรฐานหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วได้มาตรฐานก็จะคืนให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้มาตรฐาน ก็จะทำลายทิ้ง
เพียงแต่...มีเงื่อนไขที่ต้องชี้แจง ที่มาที่ไปของสินค้านั้นๆ ซึ่งเรื่องนี้จะผ่านการตรวจสอบของกองกฎหมาย นอกจากนี้ การตรวจสอบก็มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะต้องผ่านการตรวจสอบแล็บ หากเป็นประเภทพลาสติก ต่อชุดในการตรวจสอบหลักหมื่นบาท
“ดังนั้น หากเป็นสินค้ามูลค่าไม่สูงมาก ผู้ประกอบการก็เลือกจะทิ้ง และเราก็จะนำไปทำลายทิ้ง”
อ่านบทความ