คุยกับ “ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ กับปม ขึ้นค่าแรง 400 บาท ชี้ เวลาไม่เหมาะ หนีไม่พ้นของแพง กับปัญหา โรงงานอุตสาหกรรมจะรับไม่ไหว... 

ครั้งที่มีการกระชากค่าแรง มาเป็น 300 บาท ปริญญาตรี ได้ 15,000 บาท เมื่อหลายปีก่อน ภาพรวม “คนทุกระดับ” ได้ประโยชน์ เงินเดือนขึ้น 

แต่...ในความเป็นจริง ผลที่ตามมา คือ หลายๆ บริษัท ต้องมีการ “ปรับฐานเงินเดือน” ใหม่ทั้งหมด เพราะน้องใหม่เงินเดือน 15,000 บาท ทั้งที่รุ่นพี่บางคนในเวลานั้น ทำงานมาหลายปี เพิ่งจะมีเงินเดือน 15,000 บาท เมื่อน้องใหม่มา รุ่นพี่ก็ต้องขึ้น ตำแหน่งใหญ่โตก็ต้องขยับ 

นี่คือ “ภาพเล็กๆ” สำหรับ บริษัทๆ หนึ่ง หากเป็นทั้งประเทศล่ะ จะเป็นอย่างไร... 

ล่าสุด มีการหารือ ว่าจะขึ้นค่าแรง เป็น 400 บาท ทั่วประเทศ และคาดการณ์ว่าจะเริ่มใช้ในเดือนกันยายน หรือ ตุลาคมนี้ และทาง ครม.ก็รับทราบแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับทาง “ไตรภาคี” ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ได้พูดคุยกับ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย วิเคราะห์ว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ หากเป็นไปตามที่มีการแถลงนั้น ก็ดูคล้ายเป็นนโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย 

...

ขึ้นค่าแรง เพิ่มต้นทุน “โลจิสติกส์” ผู้ประกอบการ ตจว.ส่อกระทบหนัก

นายธนิต กล่าวว่า ค่าแรงในเวลานี้ ถูกแบ่งเป็น 17 อัตรา ต่ำสุดสูงสุดอยู่ที่ 330-370 บาท ยกตัวอย่างอุดรธานี หากจะปรับค่าแรง เป็น 400 บาท เดิมอยู่ที่ 340 บาท แปลว่าต้องขึ้นให้วันละ 60 บาท คิดกลมๆ 30 วัน แปลว่า ต้องขึ้นเงินเดือนให้เขา 1,800 บาท/คน หากโรงงานนั้นจ้างคน 300 คน แปลว่า เจ้าของโรงงานต้องขึ้นเงินเดือนให้กับแรงงานทั้งหมด คิดเป็นเงิน 540,000 บาท 

สิ่งที่นายธนิต จะสื่อ หมายความว่า “ค่าแรง” แต่ละคนไม่เท่ากัน ตามสถานที่ และแหล่งผลิต ดังนั้น หากจะขึ้น ก็หมายความว่า บางคนได้ขึ้น วันละ 30 บาท บางคนได้เงินขึ้นวันละ 70 บาท 

นายธนิต อธิบายว่า บางโรงงานในเวลานี้ มีกำไรเหลือน้อยแล้ว บางแห่งขาดทุน แปลว่า บางโรงงานที่อยู่ไกล ใช้แรงงานขั้นต่ำ 330 บาท ต้องขึ้นอีก 70 บาททันที โรงงานที่ตั้งอยู่ไกลๆ เหล่านี้ ที่มีฐานค่าแรงขั้นต่ำไม่สูง แต่เมื่อต้องขึ้นเงินให้ก็จะทำให้เขามีสภาพ “ไม่สามารถแข่งขันได้”

ขณะเดียวกัน วัตถุดิบ ในการใช้แต่ละโรงงาน ก็มีการขนส่ง เช่น โรงงานอยู่อุดรฯ ของส่งมาจากแหลมฉบัง แค่ค่ารถเท่าไร ทริลเลอร์ ก็ประมาณ 1 หมื่นบาท บวกค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าไร 

ส่วนเรื่องราคาสินค้า ของในห้าง ย่อมแพงกว่าร้านโชห่วยอยู่แล้ว หากเดินห้าง ทางห้างก็จะมีค่า Margin อีก 30% เพราะเขาลงทุนไปกับแอร์ คนขาย สถานที่นับพันล้าน ทั้งที่ ชาวบ้านต่างจังหวัด บางครั้งเขาก็ยังซื้อของโชห่วยอยู่ ซึ่งอาจจะถูกกว่า 

“แปลว่า หากขึ้นค่าแรงพร้อมกัน คนที่จะกระทบมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการในต่างจังหวัด เพราะ ต้นทุน โลจิสติกส์ สูงกว่า ขณะที่ “การลงทุน” เขาก็ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนที่ต่างจังหวัด เพราะค่าแรง เท่ากันทั่วประเทศ” 

ประเทศคอมมิวนิสต์ยังได้ ค่าแรงไม่เท่ากัน! 

นายธนิต ย้ำว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโรงงานในต่างจังหวัดคือ มีโอกาสที่จะเจ๊งกันหมด เนื่องจาก ไม่มีใครมาลงทุน ที่สำคัญ นโยบายลักษณะนี้ คือ การขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศนั้น ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน 

แม้แต่ประเทศ คอมมิวนิสต์ ในจีน ยังมีค่าจ้างไม่เท่ากัน บางตำบลได้มากกว่า บางตำบลได้น้อยกว่า อย่าง กวางตุ้ง กว่างโจว มณฑลเดียวกัน ค่าจ้างยังไม่เท่ากัน แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับค่ามณฑลเขาใหญ่มาก เวียดนาม ประเทศคอมมิวนิสต์ ค่าจ้างก็ไม่เท่ากัน 

ส่วนประเทศ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน หรือในยุโรปหลายๆ ประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่เท่ากัน 

“ผมไปดูงานมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก เขาก็เป็นแบบนี้ เพราะ เขาต้องการ “กระจายความเจริญ” ให้แต่ละพื้นที่มี “แต้มต่อ” ส่วนที่บอกว่า “คนจะไม่ออกจากพื้นที่” มันอาจจะไม่จริง เพราะโรงงานเหล่านี้จะเจ๊งกันหมด” 

ดังนั้น ประเด็นที่บอกว่า จะแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ นั้นไม่ใช่เรื่องจริง แม้แต่ประเทศพม่า เขายังไม่มีแบบนี้เลย 

...

ถามว่า มีประเทศไหนทำได้หรือไม่ ที่ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเท่ากัน รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ชี้ว่า มี แต่ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่ เช่น สิงคโปร์ บรูไน หรือประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ 

“การที่เราคิดง่ายๆ ว่า ให้ค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้คนไม่ต้องออกจากบ้านเกิด ทำงานอยู่ในพื้นที่ แต่เขาลืมไปว่า สิ่งที่เขาไม่ได้พูดถึงเลย คือ เรื่อง “ค่าโลจิสติกส์” หากเป็นทางเรือ ท่าเรือหลักอยู่ใน กทม. และ ภาคตะวันออก สนามบินหลักอยู่สุวรรณภูมิ ส่วนภาคใต้ แม้จะมีที่ จ.สงขลา แต่กลับไม่ค่อยมีสินค้ามาลง เขาจะไปลงที่สิงคโปร์” 

ค่าจ้างขั้นต่ำ คือ แรงงานใหม่ ไร้ฝีมือ 

ค่าจ้างขั้นต่ำ นั้น คือ ค่าจ้างแรกเข้า ที่คนหนึ่งคน จะดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นค่าจ้างที่คุ้มครองคนเปราะบาง ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ พิการ การศึกษา และเชื้อชาติ คนต่างด้าวก็ได้ นี่คือ ค่าแรงสำหรับแรงงานใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” จะต้องเอาหาเลี้ยงทั้งครอบครัว 

...

ทั้งนี้ ค่าจ้าง สำหรับแรงงานไทย นั้น โดยมากก็เกิน 300 บาทอยู่แล้ว และหากเขาเหล่านั้น มี “ผลิตภาพ” หรือ “ประสบการณ์ที่มากขึ้น ค่าจ้างย่อมสูงขึ้นอยู่แล้ว...

ส่วนจะได้หรือไม่ได้นั้น ตอนนี้เท่าที่ทราบคือ ทางภูมิใจไทย พยายามผลักดัน อย่างเต็มที่ โดย “เสี่ยหนู” หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เขาให้สัมภาษณ์ด้วยตัวเอง ว่าจะเดินหน้าผลักดันเป็นเรือธง 

“การแทรกแซงค่าจ้าง โดยรัฐบาล นั้น จะทำตรงๆ ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ฉะนั้น เขาต้องมีการพูดคุยผ่านไตรภาคี แม้แต่ในสมัย “กระชากค่าของชีพ” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องเข้าไปแก้ใน คณะกรรมการค่าจ้าง จึงมีคำพูดที่ว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไก ค่าจ้าง ซึ่งการทำเรื่องนี้ เขาจะเลือกทำแบบเงียบๆ เพราะรู้ว่ามีกลไกของมันอยู่แล้ว เพราะ มี “ไตรภาคี” คือ กลไกจาก ลูกจ้าง นายจ้าง และ รัฐบาล” นายธนิต กล่าวและว่า  

โดยฝ่ายรัฐบาล มีตัวแทน จาก ก.คลัง, ก.พาณิชย์, สภาพัฒน์ ซึ่งครั้งที่แล้ว “เสียงแตก” เพราะตัวแทนจากรัฐบาลบางส่วนเขาไม่เห็นด้วย แต่งวดนี้เขาอาจจะหารือพูดคุย ผ่านต้นสังกัด หรือ มีการพูดคุยกับฝ่ายลูกจ้าง หาก 2 ใน 3 ผ่าน มันก็น่าจะชนะแล้ว เพียงแต่ว่า เรื่องนี้เอง ทาง กกต. ก็ต้องมีการพิจารณา การหาเสียงด้วย หากใช้ “นโยบายค่าจ้าง” มาหาเสียงกันแบบนี้ได้หรือไม่ 

นายธนิต ชี้ว่า การ “หาเสียง” นั้น สามารถทำได้ทุกอย่าง บางโครงการใช้เงินจำนวนมากเขายังกล้าที่จะทำ เพราะต้องการเสียงสนับสนุน เพียงแต่เราต้องกลับมามองที่ความพร้อมด้วย เพราะแต่ละอุตสาหกรรม ใช้แรงงานไม่เท่ากัน 

บางอุตสาหกรรม เน้นใช้คนส่วนใหญ่ เช่น แปรรูปการเกษตร, ทำปลากระป๋อง, รองเท้า เพราะอุตสาหกรรม 3.0 จำนวนมาก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี และ เทคโนโลยี บางอย่างก็ยังมีข้อจำกัด รัฐบาลเองก็ต้องให้การส่งเสริม 

...

ที่บอกว่า AI มาใช้ คำถาม คือ AI จะมาตัดหัวปลา หางปลา ได้อย่างไร...กลับกัน หากเป็นอุตสาหกรรม ยานยนต์ ก็อาจจะทำได้ 

“เราต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมในประเทศไทย นั้น ยังติดกับดัก ที่ต้องใช้แรงงานคนมากว่า 20 ปี บางอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นของดั้งเดิม ก็ไม่เคยเปลี่ยน” รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ กล่าว 

ย้อนดู กระชาก “ค่าแรงขั้นต่ำ” 300 บาท และผลกระทบที่ตามมา 

นายธนิต เล่าย้อนว่า สมัยที่มีการกระชากค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 300 บาท นั้น หลายคนบอกว่าไม่มีผล แต่ผมเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมอยู่ 8 ปี สิ่งที่เห็นเลย และอยู่ในเหตุการณ์เลย สิ่งที่เสียไปคือ 

1.เราเสียแชมป์ส่งออกหลายๆ อุตสาหกรรมการ์เมนต์ เช่นพวกสิ่งทอและอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า งานแปรรูปเกษตร 

2.เราเสียแชมป์ investment การลงทุนต่างๆ ถูกแย่งไปหมด และไปทำให้ อินโดนีเซียเกิดด้วย เพราะเมื่อการลงทุนในเวียดนามเต็มแล้ว เขาก็ไปอินโดนีเซียต่อ นี่หาก “พม่า” ไม่มีปัญหาเรื่องสงคราม เขาอาจจะเป็น “เวียดนาม 2” ก็ได้ 

“คุณลองไปดูป้ายเสื้อผ้าที่คุณใส่สิ เราจะรู้ว่า มันมาจากต่างประเทศ เวียดนาม กัมพูชา หรือ แม้แต่อินโดนีเซีย ซึ่งแปลง่ายๆ คือ เขาย้ายฐานการผลิต แม้แต่ปลากระป๋อง ยี่ห้อไทยแท้ๆ ยัง Made in Vietnam ผมรู้เรื่องนี้ดี เพราะผมทำธุรกิจโลจิสติกส์ การขึ้นค่าแรงเยอะๆ นั้น สิ่งที่ตามมาทันทีคือ การทำลายฐานการผลิต” 

นายธนิต เผยว่า ปัจจุบัน เด็กที่จบในระบบการศึกษาไทย ค่าแรงเกินกว่า 400 บาท ไปแล้ว เพียงแต่ หากมีการขยับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว มันจะเป็นการ “ยกฐานทั้งประเทศ” เพราะเงินต้องหนีกันตามกันไป ยกตัวอย่างแรงงานพม่า 400 บาท หัวหน้าคนไทย จะยกไปที่เท่าไร และระดับ ผู้จัดการจะเท่าไร หลังจากนั้น “ค่าครองชีพ” ก็จะตามมา 

การขึ้น ค่าแรง 400 บาท หากเอาค่าเฉลี่ย ค่าแรงขั้นต่ำมาคำนวณ จะเท่ากับการขึ้นค่าแรง 16% คำถามคือ ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหน มีการขึ้นค่าจ้าง 16% จะไม่ปรับราคาสินค้านั้น แทบเป็นไปไม่ได้ 

หากมีการขึ้นค่าจ้าง 3-5% สินค้าและบริการนั้นๆ เขาจะเลือก “ทน” กัดฟันต่อไป เพราะคู่แข่งในตลาดอาจมีมาก แต่หากค่าจ้างขึ้น 16% ไม่ปรับ คุณตาย...

ขึ้นค่าแรง 400 บาท หนีไม่พ้นของแพงขึ้น โรงงานส่อย้ายฐาน 

เมื่อถามว่า “ค่าครองชีพ” อาจจะขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ นายธนิต ตอบว่า อยู่ที่สัดส่วนต่อต้นทุน ยอดขาย มาคำนวณด้วย เช่น เกษตรแปรรูป อาจจะขึ้นได้สัก 3% หรือ บางสินค้า ที่ต้องจ่าย VAT เป็นทอดๆ การคำนวณราคา ก็จะถูกบวกๆ กัน กลายเป็น “ราคา” ที่เราต้องจ่ายปลายน้ำ 

ฉะนั้น หากเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ใช้คนเยอะ ก็มีโอกาสขึ้นราคาสินค้ามากที่สุด เช่น แปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง การให้บริการ 

“สิ่งที่กังวลมากที่สุด สำหรับผม มันเป็นการขึ้นค่าแรงในเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะเวลานี้เศรษฐกิจไม่ดี การส่งออก หดตัว กำลังการผลิต เดินอยู่ประมาณ 60% เศรษฐกิจโลกก็ไม่เอื้อ และหนี้เปราะบาง หรือ สถาบันการเงินที่เป็นหนี้อยู่แล้ว จะมีแนวโน้มสูงขึ้น และที่สุด “ข้าวของจะแพงขึ้น” ปีที่แล้วส่งออกติดลบ ปีนี้คาดว่าโตไม่เกิน 2% สภาพการส่งออกอาจจะค่อยๆ โตแบบซึมๆ”