ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง เผย 'มะเร็งผิวหนัง' เกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ 'แสงแดด' เป็นสาเหตุหลัก เตือนผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด! แนะวิธีสังเกต ดูแล และป้องกันตนเอง ย้ำรู้ไว แก้ไขเร็ว ยิ่งปลอดภัยห่างไกลโรค!ในช่วงที่ร้อนมาก จะสังเกตเห็นได้ว่ามีข่าวผู้ป่วยและเสียชีวิตจาก ฮีตสโตรก อยู่เป็นระยะ ด้วยความห่วงใยของทีมข่าวฯ เราจึงนำเสนอสกู๊ปเรื่อง ร้อน หน้าแดง เหงื่อไม่ออก เสี่ยงฮีตสโตรกถึงตาย แนะวิธีรับมือดูแลผู้สูงอายุ เพื่อหวังเป็นข้อมูลให้ทุกคนได้ใช้ระวัง และดูแลร่างกายเบื้องต้นหลังจากนั้นไม่นานนัก เราพบว่า 'มะเร็งผิวหนัง' ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังในช่วงอากาศร้อน เนื่องจากกรมการแพทย์ ได้เผย สถิติข้อมูลมะเร็งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018) ซึ่งรวบรวมโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าในแต่ละปีพบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังรายใหม่เฉลี่ย 4,374 คนต่อปี หรือวันละ 12 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นหากจะถามว่า เหตุใดจึงต้องระวังโรคนี้ในช่วงร้อนจัด นั่นก็เพราะว่าหลังจากที่ทีมข่าวฯ ได้ต่อสายตรงหา 'นพ.วีรวัต อุครานันท์' ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องมะเร็งผิวหนัง ทำให้เราพบว่าหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรค คือ การได้รับ แสงแดด และ รังสีอัลตราไวโอเลต ทั้งชนิดเอ (UVA) และชนิดบี (UVB) ต่อเนื่องเป็นเวลานานภาพรวมมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกชนิด : ก่อนเข้าสู่เรื่อง 'มะเร็งผิวหนัง' นพ.วีรวัต กล่าวเท้าความว่า ก่อนหน้านี้ผมเป็น ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ซึ่งเป็นเครือข่ายของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พวกเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า 'ทะเบียนมะเร็ง' ซึ่งจะเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลมะเร็งทั้งหมดทั่วประเทศ ผมเลยอยากบอกก่อนว่า ตอนนี้ไม่ใช่แค่มะเร็งผิวหนังเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่มะเร็งทุกชนิดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน "สาเหตุเนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และประชากรไทยมีอายุยืนยาวขึ้น เราจึงตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็พบมะเร็งเพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ แล้วภาพรวมมะเร็งทุกชนิด เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทยในตอนนี้ด้วย"ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ระบุว่า สาเหตุที่มะเร็งผิวหนังมักจะพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากโดยปกติแล้ว หากเราสัมผัสกับแสง UV ผิวหนังก็จะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพของร่างกายก็ลดลง หากถึงจุดที่ผิวไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปัจจัยของมะเร็งผิวหนัง : ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ระบุว่า มะเร็งผิวหนังก็เหมือนมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ มันเป็นเนื้อร้ายที่เกิดจากการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ในผิวหนังและเยื่อบุ การเติบโตของมะเร็งผิวหนังจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆ พบว่าเกิดขึ้นได้น้อยมาก และสำหรับมะเร็งผิวหนัง มากกว่า 80% มักพบบริเวณศีรษะและใบหน้า เพราะเป็นส่วนนอกร่มผ้าที่โดนแสงแดดได้บ่อย ทีมข่าวฯ สอบถามต่อว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้? นพ.วีรวัต กล่าวว่า ปัจจัยนั้นมีหลากหลาย แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การได้รับ 'แสงแดด' และรังสีอัลตราไวโอเลต ทั้งชนิดเอ (UVA) และชนิดบี (UVB) ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งแดดที่เรียกได้ว่าแรงที่สุดและเป็นความเสี่ยง ก็คือช่วงเวลาประมาณ 10.00-15.00 น. นั่นจึงทำให้คนพูดถึงโรคนี้ช่วงหน้าร้อนมากขึ้น เพราะปีนี้แดดแรงจัดด้วย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี หรือการสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ อีกทั้งการได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น สารหนู (arenic) ซึ่งอาจปะปนในสิ่งแวดล้อมจากน้ำ การเกษตร เหมืองแร่ หรือยาบางชนิด ก็ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ หรือจะเป็นการติดเชื้อไวรัสบางตัว เช่น เชื้อ HPV (Human Papilloma virus) นี่ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน"เชื้อชาติก็มีส่วนสำคัญนะครับ อย่างกลุ่มคนผิวขาว เช่น กลุ่มชาติพันธุ์คอเคซอยด์ (Caucasoid) โซนยุโรป ซึ่งมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ร่างกายของเขาจึงมีความสามารถป้องกันรังสี UV ได้น้อยกว่าคนที่มีสีผิวเข้ม เพราะฉะนั้น คนผิวขาวก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่า"ปัจจัยของมะเร็งผิวหนังยังไม่หมดเพียงเท่านั้น นพ.วีรวัต อธิบายต่อว่า คนที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ หรือกลุ่มคนที่มีแผลเป็นจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือเป็นผื่นและแผลที่เป็นแล้วไม่หาย จุดนี้ก็เสี่ยงเหมือนกัน"อีกสองปัจจัยเสี่ยงสุดท้าย คือ คนที่มีไฝในร่างกายมากกว่า 100 จุด หรือมีไฝที่ขนาดใหญ่มากกว่า 20 เซนติเมตร รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีภาวะบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ คนกลุ่มนี้จะมีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ง่าย""อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก็ยังเป็นแสงแดด" ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เน้นย้ำไปถึงปัจจัยแรกอีกครั้งหนึ่ง!3 มะเร็งผิวหนังที่พบบ่อย : นพ.วีรวัต ระบุว่า "ผิวหนังของเราจะมี 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (ชั้นตื้น : Epidermis) ชั้นหนังแท้ (ชั้นลึก : Dermis) และชั้นฐาน (Subcutaneous) นอกจากนั้นยังมีเซลล์อยู่จำนวนมาก แต่มะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยมีอยู่ 3 ชนิด คือ มะเร็งเบเซลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma : BCC), มะเร็งสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma : SCC) และ มะเร็งเมลาโนมา (Malignant Melanoma)"สำหรับ 'มะเร็งเบเซลเซลล์' เกิดบริเวณผิวหนังชั้นตื้น ถือว่าเป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย มักจะไม่กระจายไปอวัยวะอื่น แต่มีโอกาสลามขยายขนาด อาจแตกกลายเป็นแผลเรื้อรัง ลักษณะเป็นตุ่มหรือผื่น ส่วน 'มะเร็งสเควมัสเซลล์' จะเกิดขึ้นบริเวณหนังกำพร้า ก่อนลามลงไปถึงด้านล่างเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูจะพบว่ามีลักษณะเป็นก้อนแข็งๆ เริ่มจากเป็นตุ่มหรือผื่น ก่อนจะค่อยๆ หนาตัวขึ้นกลายเป็นโรค และบางครั้งอาจจะแตกจนเป็นแผล และชนิดที่ 3 คือ 'มะเร็งเมลาโนมา' เกิดจากเซลล์เม็ดสีเมลานิน พบได้น้อยแต่ถือว่าร้ายแรงกว่าอีก 2 ชนิดแรก สามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว ลักษณะเป็นจุดน้ำตาลแดงดำ หรือปื้นแดงดำ หรือบางรายอาจเริ่มจากการมีไฝ มักเกิดขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ หรือโคนเล็บ สำหรับมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ หากพบในระยะแรกมักไม่มีอันตราย แต่หากพบระยะหลัง หรือขั้นลุกลามแล้ว อาจมีโอกาสเสียชีวิตได้ เพราะมันจะกระจายเข้าไปทำร้ายปอดและกระดูก วิธีสังเกตมะเร็งผิวหนัง : คำถามต่อมาที่เราสงสัยก็คือ ถ้าแสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด แล้วมีระยะเวลาหรือไม่ว่าต้องสะสม หรือโดนแดดนานแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเสี่ยง… นพ.วีรวัต ตอบคำถามนี้ว่า จริงๆ แล้ว ปัจจัยเรื่องมะเร็งไม่ใช่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่มันมีหลายปัจจัยร่วมกัน อย่างมะเร็งปอด มะเร็งตับ หรือมะเร็งอื่นๆ ก็เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า มีวิธีสังเกตเบื้องต้นหรือไม่ว่า อาการแบบไหนที่ต้องระวัง และเสี่ยงจะเกิดมะเร็งผิวหนัง?ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ชี้ว่า มะเร็งผิวหนังระยะเริ่มต้น มีการแสดงออกทางร่างกายที่หลากหลาย แต่ก็ถือว่ามีจุดสังเกตได้ไม่ยากเท่าไร อยู่ที่ว่าเราต้องใส่ใจสำรวจตัวเอง และถ้าพบว่ามีความเสี่ยง หรือไม่มั่นใจว่าใช่มะเร็งผิวหนังหรือเปล่า ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะหากพบว่าเป็นจุดเริ่มของเนื้อร้าย จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที "มะเร็งผิวหนัง มันจะเป็นแผลเรื้อรัง ที่รักษาไม่หายนานกว่า 4 สัปดาห์ วิธีสังเกต เช่น เรามีผื่นเรื้อรัง แต่ผื่นนั้นอยู่ดีๆ ก็นูนขึ้นมา นั่นแสดงว่ามันมีความผิดปกติ หรือการมีตุ่ม ก้อน บริเวณผิวหนัง แล้วมันโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น อาจจะมีอาการปวดหรือไม่ปวดก็ได้ นั่นก็เสี่ยงเหมือนกัน"นพ.วีรวัต อธิบายต่อว่า รวมไปถึงผื่นเดิม แผลเดิม ไฝเดิม ที่วันดีคืนดีลักษณะมันเปลี่ยนแปลงไป เช่น จากเดิมเป็นก้อนกลมๆ ลักษณะเท่ากัน อยู่ๆ มันเบ้ไปทางหนึ่ง ลักษณะไม่สมมาตร หรือขอบเขตไม่ชัด ขรุขระ สีก้อนไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน หรือบริเวณนั้นมีเลือดออกได้ง่าย ก็ถือว่ามีความเสี่ยง อย่างไฝที่โตเกินกว่า 6 มิลลิเมตร ก็ให้ระวังไว้ การป้องกันตัวเองจากมะเร็งผิวหนัง : คุณผู้อ่านคงจะได้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ไปบ้างแล้ว ซึ่งทางผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ได้แนะนำวิธีป้องกันเบื้องต้นไว้ว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือรังสี UV ทั้ง UVA และ UVB ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เราสามารถเริ่มป้องกันได้ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเซลล์มะเร็งผิวหนังเป็นได้ทุกช่วงวัย ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดช่วง 10.00-15.00 น. ถ้าจำเป็นต้องออกแดดในช่วงเวลาดังกล่าว ก็แนะนำว่าให้สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด กับใส่หมวกป้องกันแดด และการทาครีมกันแดดก็สามารถป้องกันได้ ควรทาครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB และมีค่า Sun Protection Fector หรือ SPF ตั้งแต่ 55 ขึ้นไป และ Protection Grade (PA) ของ UVA ประมาณ 3+ (PA+++) ควรทาอย่างน้อย 15-20 นาทีก่อนออกแดด ในกรณีที่เราจะต้องไปออกกำลังกาย หรือว่ายน้ำ ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมงนพ.วีรวัต แสดงความห่วงใยต่อว่า ต้องย้ำว่าถ้าไม่แน่ใจสิ่งที่เป็นก็ควรเข้าพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับคำปรึกษาและดูอาการ หรือใครยังไม่สะดวกมาทันที ก็ให้ถ่ายรูปเก็บไว้ก่อน เพื่อดูว่ามันเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง แล้วลองเอารูปนั้นให้แพทย์ช่วยวิเคราะห์อีกที"จริงๆ มะเร็งผิวหนังมีคีย์เวิร์ดสำคัญ คือ รู้ได้เร็ว ถ้าสังเกตตัวเองดีๆ ว่าสิ่งที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แล้วรักษาได้ทัน โอกาสหายค่อนข้างสูง และมะเร็งชนิดนี้ยังพอที่จะป้องกันได้ ง่ายสุดคือการหลีกเลี่ยงการออกแดด และทากันแดดก็ช่วยได้ แต่ถ้าบางท่านต้องปฏิบัติงานกลางแดดตลอดเวลา การสวมเสื้อมิดชิดตลอดเวลา ที่เป็นแขนยาว รวมถึงหมวกปีกกว้าง ใส่แว่น ก็จะช่วยได้เยอะ"ทีมข่าวฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สกู๊ปนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน ไม่มากก็น้อย อย่าลืมหมั่นดูแลสุขภาพ และเช็กร่างกายตนเองอยู่เสมอ เพราะสุดท้ายแล้ว 'อโรคยา ปรมาลาภา' ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ… ภาพ : iStockอ่านบทความที่น่าสนใจ : ร้อน หน้าแดง เหงื่อไม่ออก เสี่ยงฮีตสโตรกถึงตาย แนะวิธีรับมือดูแลผู้สูงอายุเพราะเมาแล้วขับ EP.1 เปิดชีวิตเหยื่อ ต้องกำพร้าแถมพิการตั้งแต่ 3 ขวบเพราะเมาแล้วขับ EP.2 ดื้อ ดื่ม ดับฝันนักฟุตบอลทีมชาติเพราะเมาแล้วขับ EP.3 พิการ 30 ปี สูญทุกสิ่ง ไร้ผู้รับผิดเพราะเมาแล้วขับ EP.4 น้ำเปลี่ยนนิสัย แว้นจนพิการ ดับฝันที่ไม่เคยได้ลองทำ