เดือนเมษาปี 2567 ผ่านไป กับประสบการณ์ชีวิตในการเผชิญอากาศร้อนสุดขั้ว แทบจะหาคำบรรยายไม่ได้ ถือว่าร้อนมากๆ แบบไม่เคยเจอมาก่อนในเมืองไทย แต่ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ หรืออาจถึงวันที่ 5 พ.ค. อากาศก็ยังคงร้อนและร้อนจัดต่อเนื่อง โอกาสเกิดฝนยังมีน้อย มีบ้างบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาเตือนให้ระวังรักษาสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด ระวังโรคลมแดด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ

ช่วง 3-10 พ.ค. น่าจะเป็นข่าวดี เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาออกมาบอก ลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง เป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนระดับบนมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุม มีสัญญาณเมฆและฝนเริ่มเพิ่มขึ้น ซึ่งฝนส่วนใหญ่เกิดจากพายุฤดูร้อน จะเกิดลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางแห่ง โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล

ข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา
ข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา

นั่นหมายความว่าอากาศที่ร้อนจัดจะเริ่มเย็นลง พอจะคลายความร้อนลงได้บ้าง ส่วนภาคใต้ยังมีฝนฟ้าคะนอง แต่ต้องติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ภายใต้ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ทำให้สภาวะทางอุตุนิยมวิทยาเปลี่ยนแปลงไปได้

...

เดือน ต.ค. ภาคกลาง-ตะวันออก-ใต้ ฝนมากกว่าค่าปกติ

การคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือน พ.ค. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมน้อยกว่าค่าปกติ แต่เมื่อเข้าเดือน มิ.ย. พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงหรือมากกว่าค่าปกติ ยกเว้นด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง และด้านตะวันออกของภาคอีสาน จะมีปริมาณฝนรวมน้อยกว่าค่าปกติ ส่วนเดือน ก.ค. ภาคเหนือ และด้านตะวันออกของภาคอีสาน รวมถึงภาคใต้ตอนบนจะมีปริมาณฝนรวมน้อยกว่าค่าปกติ ขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนกลางและตอนล่าง จะมีปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าปกติ

ในเดือน ส.ค. พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้จะมีปริมาณฝนรวมน้อยกว่าค่าปกติ กระทั่งเดือน ก.ย. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงหรือมากกว่าค่าปกติ ส่วนภาคใต้จะมีปริมาณฝนรวมน้อยกว่าค่าปกติ และเดือน ต.ค. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ไทยจะผ่านความร้อนสุดขั้ว หลังสัปดาห์ที่ 2 เดือน พ.ค.

ฝั่งผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ระบุว่า ประเทศไทยจะผ่านความร้อนแบบเดือดๆ แบบสุดขั้วไปได้ หลังสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. แต่อากาศก็คงร้อนอยู่ อุณหภูมิจะต่ำกว่า 40 องศาฯ ประมาณ 35-39 องศาฯ จะเริ่มสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. เป็นต้นไป จนเข้าสู่เดือน มิ.ย. จะรู้สึกเบาลง เริ่มดีขึ้น อุณหภูมิจะลดลงเฉลี่ย 3 องศาฯ เหลือประมาณ 35-36 องศาฯ ก็ยังอากาศร้อน เพราะโลกร้อนอย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ก็ยังดีกว่าเดือน เม.ย.

“ฝนไม่ค่อยดีตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. ไปจนถึง มิ.ย. มีฝนก็จริงแต่น้อยกว่าค่าปกติ ก่อนจะเริ่มตกมากขึ้นกลางเดือน ก.ย. และปลายปีนี้จะดีขึ้น มีฝนตกหนักรอการระบายในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากการเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญ มาเป็นลานีญาระดับปานกลาง ทำให้ช่วงปลายปีอากาศเย็นกว่าปกติ อุณหภูมิลดลงเฉลี่ยประมาณ 0.5 องศาฯ ช่วยให้หายร้อน แต่ห่วงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และอีสานตอนบน ถ้าฝนตกน้อยก็จะหนักไปถึงปีหน้า จะไม่ได้น้ำมาก แม้มีเขื่อนใหญ่ภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ แต่ปริมาณน้ำเหลือต่ำกว่า 30%”

...

ลุ้นพายุเข้าไทย ช่วยเติมน้ำ แต่โอกาสน้อยนิดมาก

มีการคาดการณ์ว่าระหว่างเดือน พ.ค. ถึงเดือน ต.ค. ปีนี้ จะมีพายุโซนร้อน 18 ลูก จากเฉลี่ย 20 ลูก ในจำนวนนี้พัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่น 10 ลูก เป็นความหวังที่จะทำให้ไทยได้น้ำเพิ่ม และเส้นทางที่พายุจะเข้ามาจะต้องติดตามว่าจะเข้าประเทศใด แต่เมื่อดูความเป็นไปได้จะเกิดน้อยมากกว่าปกติในไทย คาดว่าจะเข้าไทยน้อยสุด 2 ลูก หรือเพียง 10% เท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องบริหารความเสี่ยงเตรียมรับมือ และปรากฏการณ์ลานีญา จะสิ้นสุดช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ปี 2568 หลังจากนั้นก็กลับมาเป็นเอลนีโญ 

ในขณะนี้ไม่มีใครกล้าพูดความจริง เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ทำให้ผลไม้สุกเร็ว อย่างทุเรียน ปกติ 100-120 วัน จะต้องตัด แต่เมื่ออากาศร้อนมากขึ้น ทุเรียนจะร่วงได้ง่าย ต้องตัดในช่วง 92 วัน ทำให้รสชาติไม่หวาน และไม่ได้น้ำหนัก แต่รัฐบาลกลับบอกให้เกษตรกรเร่งตัดทุเรียนช่วงวันที่ 10-15 พ.ค. พยายามสื่อสารว่าผลผลิตทุเรียนดีขึ้น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรกร ทั้งๆ ที่ผลผลิตออกช้าจากปัญหาอากาศร้อน จะต้องมีคนเก่ง ทำอย่างไรให้ไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ใช้วิกฤติเป็นโอกาสไปพัฒนาพันธุ์พืชผลไม้ ให้ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ต้องเร่งพัฒนาใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย

...

เมื่อเอลนีโญกลับมาในปีหน้าก็จะร้อนขึ้น ถือว่าเรื่องโลกร้อนและสภาวะอากาศแปรปรวน เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะขณะนี้โลกร้อนโดยเฉลี่ย 1-2 องศาฯ ในรอบ 30 ปี และเดือน ก.พ. ปีที่แล้วจนถึงเดือน มี.ค. ปีนี้ โลกร้อนมากขึ้น 1.58 องศาฯ ซึ่งร้อนเกินไป แสดงว่าหนทางจำกัดให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาฯ ไม่สามารถทำได้

“ไทยต้องกลับไปดูตัวเอง ลดอุณหภูมิให้ต่ำลง ออกแบบเมืองสีเขียวอย่างสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน สังคมโลกก็กดดันให้แต่ละประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากไทยยังเดินหน้าอย่างนี้ จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องใช้พลังงานสะอาด เพราะโลกร้อนคือเรื่องใหญ่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้”.