โฆษกกรมควบคุมโรค เผยปัจจัยทำผู้สูงอายุเสี่ยงฮีตสโตรกมากที่สุด พร้อมแนะวิธีสังเกตอาการ ที่ต้องสังเกตมากกว่าช่วงวัยอื่น เตือนลดการดื่มแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน ซึ่งเป็นสาเหตุกระตุ้นการเกิดภาวะขาดน้ำ!

แม้ว่าตามตำราเรียนจะบอกว่า ประเทศไทย มี 3 ฤดู คือ ร้อน ฝน และหนาว แต่แก๊กเสียดสีที่คนไทยมักนำมาหยอกกันว่า 'ประเทศไทย มี 3 ฤดู คือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนจัด!' ดูท่าจะเหมาะกับสภาพอากาศช่วงนี้ของบ้านเราเสียมากกว่า

เพราะเพียงแค่ทีมข่าวฯ ก้าวเท้าออกจากที่พัก แล้วร่างกายสัมผัสกับแสงแดด ก็รู้สึกได้ถึงอากาศร้อนมาก และเมื่อเปิดดูพยากรณ์อากาศของ 'กรมอุตุนิมยมวิทยา' ทำให้ยิ่งชัดเจนว่า 'อากาศร้อนจัด!' จริงๆ 

พยากรณ์อากาศวันนี้ (29 เม.ย. 2567) พื้นที่ กทม. และปริมณฑล อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศ 'ร้อนจัด' บางแห่ง โดยอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 30-31 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 37-41 องศาเซลเซียส

...

ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนมากขนาดนี้ ทำให้ 'สถานการณ์โรคลมร้อน' หรือ 'ฮีตสโตรก' (Heat stroke) กลายเป็นที่พูดถึง และสร้างความกังวลต่อสุขภาพของผู้คน หากคุณผู้อ่านได้ติดตามข่าวก็จะพบว่า โรคนี้อันตรายถึงขั้น 'เสียชีวิต' และผู้ถึงแก่มรณกรรมมักจะเป็น 'ผู้สูงอายุ'

ตัวอย่างเหตุการณ์อันน่าสลด เกิดขึ้นเมื่อ 28 เม.ย. 2567 ตำรวจ สภ.บ้านบึง พบร่างของ นายศักดิ์ชัย นราเทียม อายุ 65 ปี เสียชีวิตข้างร้านสะดวกซื้อในตลาดสดเนื่องจำนงค์ จ.ชลบุรี เมื่อตรวจสอบร่างกายพบผิวหนังผอง คาดการณ์ว่าเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียส ด้านแม่ค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เล่าว่า ช่วงบ่ายเห็น นายศักดิ์ชัย นั่งนิ่งคล้ายคนไม่มีแรง หลังจากนั้นน้ำลายเริ่มฟูมปาก ก่อนจะค่อยๆ เอียงตัวนอนกับพื้นในลักษณะตะแคงข้าง ตนจึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

ด้วยสถานการณ์น่ากังวลเช่นนี้ ทีมข่าวฯ จึงได้ติดต่อไปยัง 'นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ' นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค เพื่อชวนคุยเกี่ยวกับ 'ความเสี่ยงของผู้สูงอายุกับสภาพอากาศร้อน' วันนี้เราจะมาดูกันถึง เรื่องที่ต้องระวัง วิธีสังเกตผู้สูงอายุ และข้อควรปฏิบัติในการดูแล

ปัจจัยที่ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุเสี่ยงกับสภาพอากาศร้อนที่สุด! : 

นพ.วีรวัฒน์ ได้อธิบายสาเหตุให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า "ผู้สูงอายุมีหลายปัจจัย ที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงกับอากาศร้อน จนอาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า 'ฮีตสโตรก' ซึ่งที่จริงแล้วกลุ่มอายุอื่นๆ ก็ถือว่ามีความเสี่ยง แต่ผู้สูงอายุจะเสี่ยงที่สุด"

เรามาเริ่มกันที่ 'ปัจจัยแรก' ซึ่งโฆษกกรมควบคุมโรคบอกว่า เกี่ยวกับเรื่อง 'การระเหยของเหงื่อ' โดยได้อธิบายไว้ว่า ปกติแล้วการระบายความร้อนของร่างกาย เกิดจากการที่เหงื่อออกแล้วระเหยจากร่างกาย จึงทำให้ความร้อนถูกดึงออกไปด้วย แต่กลไกส่วนนี้จะลดน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของร่างกาย ทำให้ผู้สูงอายุระบายความร้อนได้น้อยกว่าคนในวัยหนุ่มสาว

ปัจจัยต่อมา คือ ผู้สูงอายุมี 'โรคร่วม' อยู่ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ทำให้พวกเขาทนต่อภาวะความร้อนได้ไม่ดี เนื่องจากเมื่ออากาศร้อนขึ้น ร่างกายจะมีกลไกปรับตัว ทำให้อุณหภูมิกลับไปที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียล ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติ บวกลบได้เล็กน้อย แต่ถ้าอุณหภูมิขึ้นไปถึง หรือมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ระบบร่างกายจะรวน เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว ทำให้ผู้สูงอายุทนต่อภาวะพวกนี้ไม่ได้ 

ปัจจัยที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องจากปัยจัยที่ 2 เมื่อมี 'โรคร่วม' ก็จะต้อง 'กินยา' แต่ยาบางชนิดจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อกลไกการลดอุณหภูมิของร่างกายได้ช้าลง เช่น ยาลดความดันบางตัว ยาขับปัสสาวะ ยาทางด้านหลอดเลือดสมองบางอย่าง

...

เข้าสู่ปัจจัยที่ 4 โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่อายุเยอะมากๆ บางคนต้องติดเตียง หรือนั่งอยู่แต่ในบ้าน ซึ่ง 'อากาศอาจจะถ่ายเทไม่สะดวก' คราวนี้เมื่อไปรวมเข้ากับ ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น และ ความชื้นในบรรยากาศสูง จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อ 'ภาวะฮีตสโตรก'

ปัจจัยสุดท้าย คือ ผู้สูงอายุบางคนนอกจากจะป่วยติดเตียง ยังอาจกินอาหารเองไม่ได้ ต้องใส่สายจมูกทำให้ผู้ป่วยตอบสนองช้า และบอกไม่ได้ว่าต้องการน้ำ ต่างจากพวกเราที่เมื่อรู้สึกร้อนก็จะไปนำน้ำเย็นมาดื่ม ดังนั้นช่วงอากาศร้อนแบบนี้ ถ้าคนไข้ต้องอยู่ในปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา และผู้ดูแลยังให้น้ำคงเดิม ก็อนุมานได้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเป็น 'ฮีตสโตรก' มากขึ้นไปอีก

ทีมข่าวฯ สอบถามต่อไปว่า 'ช่วงนี้ต้องระวังฮีตสโตรกมากที่สุดเลยใช่ไหมครับ?' คุณหมอขานรับว่า "ใช่ครับ" ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า…

"โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือน ตั้งแต่มีนาคมถึงมิถุนายน เพราะจากสถิติที่ผ่านมา สถิติความเสี่ยงสูงสุดจะอยู่ที่เดือนเมษายน และพฤษาคม ซึ่งเมษายนเรียกได้ว่าเสี่ยงสูงสุด รองลงมาเป็นพฤษภาคม มีนาคม และมิถุนายน ตามลำดับ เพราะฉะนั้นช่วงปลายเมษายนถึงต้นพฤษภาคม เป็นรอยต่อที่ถือว่า 'พีก' สูงสุดของความเสี่ยง"

...

การสังเกต 'ฮีตสโตรก' ในผู้สูงอายุ : 

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ ได้อธิบายวิธีสังเกตการเกิด 'ฮีตสโตรก' โดยเปรียบเทียบระหว่าง 'กลุ่มทั่วไป' และ 'กลุ่มผู้สูงอายุ' ให้ทีมข่าวฯ ฟัง ซึ่งถือว่ามีจุดสังเกตที่ทุกคนน่าจะเรียนรู้ไว้พอสมควร…

โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ หากมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ใจสั่น หน้าแดง ผิวแดง เหงื่อไม่ออก ผิวแห้งผิดปกติ หน้ามืด หายใจเร็ว ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดฮีตสโตรก บวกกับถ้าไปอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยง เช่น อากาศร้อนจัด หรือไม่ถ่ายเท ก็จะยิ่งเสริมให้เกิดฮีตสโตรก

อย่างไรก็ตาม หากลองมาดูในกลุ่มผู้สูงอายุ เราจะพบว่าการสังเกตอาการฮีตสโตรก 'จะไม่ชัดเจน' เพราะแม้ว่าจะไม่ได้ออกกลางแดด ก็ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว ทำให้บางครั้งผู้ดูแล หรือคนรอบข้าง ไม่ทันสังเกตว่าอาจจะเกิดเหตุอันตราย

"ถ้าอาชีพทหาร ตำรวจ หรือเกษตรกร หากไปหมดสติอยู่กลางแดด ตัวร้อน เราอาจจะสันนิษฐานได้ว่าเขาเป็นฮีตสโตรก แต่ผู้สูงอายุถ้าอยู่ในบ้าน เราก็อาจจะนึกไม่ถึงว่าเขาจะเป็น เพราะบางทีผู้สูงอายุอยู่บ้านแล้วอาการซึมลง เราไปคิดว่าเขาเบื่อ แต่ที่จริงนั่นอาจจะเป็นหนึ่งในอาการฮีตสโตรก"

...

นพ.วีรวัฒน์ อธิบายต่อว่า เราต้องสังเกตดีๆ หากเขาหายใจเร็ว ตอบสนองช้าลงกว่าปกติ พูดคุยช้าลง สติสัมปชัญญะลดลง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันสูงขึ้น เหงื่อไม่ออก หรือผิวแห้ง หากมีลักษณะดังกล่าว เราจำเป็นที่จะต้องระวังให้มาก 

ดังนั้น แม้ว่าจะสังเกตได้ยาก แต่ถ้าเรารู้สึกสงสัยว่าท่าไม่ดีก็ต้องส่งพบแพทย์ แต่การส่งพบแพทย์ก็ยากอีกนะครับ สมมติว่าผู้สูงอายุคนหนึ่งป่วยติดเตียง เป็นอัมพฤกษ์นอนอยู่บ้าน ใส่สายจมูก หรือใส่สายปัสสาวะ พวกเขามีโอกาสจะติดเชื้อบางอย่าง

"ซึ่งบางคนหากติดเชื้อก็จะมีไข้ ตัวแดง หายใจเร็ว เพราะฉะนั้นอาการติดเชื้อบางอย่างจะไปทับซ้อนกับอาการฮีตสโตรก ยิ่งทำให้แยกยากขึ้นไปอีก หากมาพบแพทย์ แพทย์ก็ต้องคำนึงถึงหลายๆ โรคที่ทับซ้อนกันในผู้สูงอายุ"

วิธีระวังและดูแลผู้สูงอายุ เพื่อลดการเกิดฮีตสโตรก : 

สำหรับวิธีการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อลดการเกิดฮีตสโตรก นพ.วีรวัฒน์ ได้แนะนำเบื้องต้นว่า ควรลดการทำกิจกรรมช่วง 11.00-15.00 น. และควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือถ้าจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรดื่มน้ำบ่อยๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง 

"หากผู้สูงอายุอยู่ในบ้านแล้วดูตัวเองไม่ได้ ลูกหลานต้องหมั่นสังเกตอาการเบื้องต้น จากข้อมูลที่ได้อธิบายไป ส่วนสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย ผมแนะนำว่า ให้เปิดประตูหรือหน้าต่างไว้ เพื่อให้อากาศระบายได้สะดวก เพราะถ้าอากาศถูกกักและไม่ถ่ายเท ก็จะทำให้ความเสี่ยงเกิดฮีตสโตรกเพิ่มขึ้นไปอีก ในกรณีที่ผู้สูงอายุลุกไปไหนมาไหนเองไม่ได้ แนะนำว่าให้หาน้ำมาวางไว้ใกล้ๆ อาจจะเป็นน้ำธรรมดา หรือน้ำเย็นก็ได้"

โฆษกกรมควบคุมโรค แสดงความกังวลต่อไปว่า แต่กลุ่มที่สำคัญ คือ คนไข้ป่วยติดเตียง หรือใส่หลอดส่งอาหารอยู่ พวกเขาจะบอกเราไม่ได้ว่า 'ต้องการอะไร' ดังนั้นผู้ดูแลอาจจะต้องให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือให้ดื่มน้ำเพิ่มระหว่างมื้ออาหาร ซึ่งก็ต้องปรึกษาแพทย์ว่าสามารถเพิ่มได้เท่าไร เนื่องจากบางคนมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ เช่น โรคไตวาย 

การช่วยเหลือเบื้องต้นหากเป็นฮีตสโตรก : 

นพ.วีรวัฒน์ แนะนำวิธีเบื้องต้นสำหรับช่วยเหลือผู้เกิดอาการ 'ฮีตสโตรก' ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับคนทุกช่วงวัย และมีขั้นตอนปฏิบัติหลักๆ ดังนี้ 

หากพบผู้มีอาการฮีตสโตรกอยู่กลางแจ้ง เราต้องเคลื่อนย้ายให้เข้ามาในที่ร่มก่อน หลังจากนั้นจับตัวให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง และถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก เมื่อเรียบร้อยแล้วให้เทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

หลังจากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ ในส่วนนี้ไม่ควรใช้ผ้าเปียกนั้นคลุมตัวไว้ เพราะมันจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย และสุดท้าย ให้ผู้ช่วยเหลือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรศัพท์หาสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ

เครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดภาวะขาดน้ำ : 

ท่ามกลางอาการที่ร้อนจัด และแดดแรงแบบนี้ เราก็มักจะเลือกเครื่องดื่มเย็นๆ ช่วยดับกระหายคลายร้อน อย่างไรก็ดี ยังมีเครื่องดื่มบางชนิดที่ นพ.วีรวัฒน์ แนะนำว่าไม่ควรดื่ม เพราะอาจจะทำให้เกิด 'ภาวะขาดน้ำ' ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการสำคัญของ 'ฮีตสโตรก'

โฆษกกรมควบคุมโรค อธิบายต่อไปว่า เครื่องดื่มที่ควรงดหรือลด ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง เครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายเกิดความร้อน และเส้นเลือดขยายตัว 

"หากสังเกตดีๆ คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ผิวจะแดง และหน้าจะแดง เพราะเส้นเลือดขยายตัว ทำให้ความร้อนสูงขึ้น ส่งผลให้การระบายความร้อนไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุแล้วไปดื่มกาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ จะทำให้การระบายความร้อนน้อยลง ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว การที่จะเอาตัวเองเข้าไปเพิ่มความเสี่ยง ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ" นพ.วีรวัฒน์ กล่าวด้วยความเป็นห่วง

โรคอื่นๆ ที่ต้องระวัง : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม นพ.วีรวัฒน์ เพิ่มเติมว่า นอกจาก 'ฮีตสโตรก' ยังมีอะไรอีกหรือไม่ ที่ผู้สูงอายุต้องระวังช่วงอากาศร้อนจัดแบบนี้?

คำตอบของคำถามนี้ นพ.วีรวัฒน์ ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเกิดไปในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน และรอบบริเวณมีการเผาไหม้เยอะ ก็ต้องระวังเรื่อง 'ฝุ่น' เพราะจะทำให้ระบบทางเดินหายใจของผู้สูงอายุเกิดการระคายเคือง 

"ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุบางคนที่มีโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ฝุ่นจะเข้าไปกระตุ้นทำให้อาการระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ระคายเคือง ไอ หอบ หรือมีอาการระคายเคืองที่ตากับผิวหนัง เพราะผิวหนังผู้สูงอายุจะบาง"

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ

ผู้เสียชีวิตจากความร้อน ปี 2567 เพิ่มสูงขึ้น : 

โฆษกกรมควบคุมโรค แสดงความห่วงใยว่า ปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติแล้วจะมีการติดตามช่วงหน้าร้อน 4 เดือน คือ มีนาคมถึงมิถุนายน ซึ่งปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากความร้อน 37 คน แต่ปีนี้ติดตามมาได้แค่ครึ่งทาง มีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน เพราะฉะนั้นถือว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่า ที่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าเช่นนั้น เพราะค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มสูงในปีนี้ 

"ในช่วงที่หน้าร้อนแบบนี้ อยากให้หลีกเลี่ยงการไปในบริเวณที่มีอากาศร้อน หรือกลางแจ้งที่แดดแรงจัด แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ แนะนำว่าให้ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป และเน้นสีอ่อนๆ เนื่องจากจะช่วยลดการดูดซับความร้อนสู่ร่างกาย" นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ กล่าวทิ้งท้าย.

อ่านบทความที่น่าสนใจ :