หลังผ่านเทศกาลสงกรานต์ พบว่าสถานการณ์โควิดในไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าช่วงวันที่ 15-21 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาลสูงถึง 1,004 ราย ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก จากการระบาดของโควิด สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน JN.1 มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แม้อาการไม่รุนแรง แต่การแพร่กระจายได้ง่าย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในระลอกนี้ และการล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม และสวมหน้ากากอนามัย เป็นวิธีป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด

ล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเตือนให้ระวังโควิด สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน KP.3 ตัวใหม่จะมาแทนที่สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน JN.1 ในอนาคตอันใกล้ จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโควิด จากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกและแชร์ขึ้นไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก จีเสส (GISAID) พบโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ KP.3 ทั่วโลก จำนวน 295 ราย และในไทย 2 ราย จาก จ.พระนครศรีอยุธยา

โอมิครอน KP.3 ตัวใหม่ แพร่เร็ว หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี

...

จากการยืนยันของ "ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์" หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โควิด สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน KP.3 กลายพันธุ์มาจากโอมิครอน JN.1 ซึ่งมีการกลายพันธุ์บางตำแหน่งบริเวณส่วนหนามของไวรัส และที่สำคัญทั่วโลกได้สุ่มตรวจถอดรหัสพันธุกรรม จนพบว่ามีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ KP.3 จำนวน 295 ราย และไทยใน จ.พระนครศรีอยุธยา 2 ราย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการระบาดไปมากกว่านี้ เพราะเพิ่งเริ่มต้น

"โอมิครอน KP.3 ตัวใหม่นี้ สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีทีเดียว ไม่ว่ามีการฉีควัคซีนโควิดไปแล้ว หรือคนที่เคยติดเชื้อโอมิครอน JN.1 ก็ไม่สามารถป้องกันโอมิครอน KP.3 ได้เลย จากการนำแอนติบอดีของคนติดเชื้อ JN.1 มาทดสอบ ก็ปรากฏว่าไม่สามารถยับยั้งเจ้าตัวนี้ได้ดีพอ ก็เลยเป็นข้อมูลในการเร่งพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ ให้สอดรับกับไวรัสที่กลายพันธุ์ อาจต้องพัฒนาวัคซีนทุกๆ 6 เดือน"

แต่ต้องยอมรับว่าวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ๆ พัฒนาได้ช้า เพราะโควิดกลายพันธุ์เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ในการป้องกันระดับหนึ่งไปก่อน แม้จะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ดีกว่าวัคซีนโควิดดั้งเดิมหรือยุคไวรัสอู่ฮั่น อีกทั้งจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโอมิครอน KP3 พบว่าแพร่ระบาดได้เร็วเหนือกว่าโอมิครอน JN.1 เกือบ 2.3 เท่า อาจมาจากการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบริเวณส่วนหนามของไวรัสที่ใช้จับผิวเซลล์ ในตำแหน่ง Q493E ทำให้หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น จึงแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น แม้เคยติดเชื้อโควิด หรือได้รับวัคซีนมาแล้ว

อยุธยาติดเชื้อ 2 ราย แค่สุ่มตรวจ ตัวเลขจริงอาจมากกว่า

ความร้ายกาจของโอมิครอน KP.3 ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่ก่อให้เกิดความกังวล เพราะมีการกลายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน จึงอยากให้ระมัดระวังในการป้องกันตัวเองและหวังว่าจะไม่รุนแรง หากรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ก็จะตีวงในการควบคุมไม่ให้แพร่ระบาด โดยกรณีผู้ติดเชื้อ 2 รายใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแค่การสุ่มตรวจเท่านั้น คาดว่าตัวเลขที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อโอมิครอน KP.3 ในไทย อาจมากกว่า 5 เท่า หรือ 10 เท่า อาจเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดแทนโอมิครอน JN.1 และหากไม่จำเป็นไม่ควรเข้ามาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แม้กระทั่งการเจาะเลือด ควรใช้บริการเจาะเลือดที่บ้านจะดีกว่า หรืออยู่ในโรงพยาบาลให้สั้นที่สุด

การป้องกันนอกจากการล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม และสวมหน้ากากอนามัย ก็ควรหมั่นตรวจเชื้อด้วย ATK ในกลุ่มเปราะบาง เพราะขณะนี้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ควบคู่ไปด้วย เพื่อการให้ยาอย่างถูกต้อง และสิ่งที่ออกมาเตือน ก็เพื่อให้คนระมัดระวังมากขึ้นให้มีความตระหนัก แต่ไม่ตระหนก และอย่างที่บอกหนามของโอมิครอน KP.3 แปลกมากไม่เคยพบมาก่อน ทำให้การยับยั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างการศึกษา และย้ำเตือนว่าการต่อสู้กับโควิดยังอีกยาวไกล.

...