ไฟปริศนาไหม้โรงเก็บกากอุตสาหกรรม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เข้าสู่วันที่ 4 ในการดับไฟที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะภาคประชาสังคมตั้งคำถาม การจัดเก็บกากอุตสาหกรรมที่ส่อมีพิรุธ และอาจเชื่อมโยงกับโรงงานเก็บกากอุตสาหกรรม ที่มีปัญหามาก่อนหน้านี้ในพื้นที่ จ.อยุธยา รวมถึงกระบวนการทำงานป้องกันของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลร้ายให้เกิดสารพิษตกค้างกระทบกับชาวบ้านโดยรอบ
25 เม.ย. 67 มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) โพสต์เฟซบุ๊ก อัปเดตเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกักเก็บกากสารพิษที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเข้าสู่วันที่ 4 ของเหตุเพลิงไหม้ พบว่า สภาพอากาศทั่วบริเวณหมู่ 1, 4 และ 8 ของบ้านหนองพะวาเต็มไปด้วยควันขาวปกคลุม ลอยต่ำ กระทั่งช่วงประมาณ 07.00 น. เป็นต้นมาจึงค่อยบรรเทาลง เนื่องจากควันยกระดับลอยสูงขึ้น และมีลมพัดแรงเป็นระลอก ทำให้ควันกระจายไปทางทิศเหนือ ทางด้านพื้นที่หมู่ 8
เมื่อวัดคุณภาพอากาศ พบระดับกลิ่นขึ้นไปสูงอยู่ในระดับมากกว่า 5,000 ถึงเกือบ 10,000 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 1-10) อยู่ที่ประมาณ 100-150 ug/m3 และค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (VOCs)
...
เมื่อกลับเข้าสู่พื้นที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 1-10) สูงถึงระดับ 1,000 ug/m3 และพบว่า โกดัง 5 ยังปล่อยควันพิษออกมาอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางปริศนาเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี และปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านโดยรอบ "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า เหตุไฟไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมี ทางจังหวัดและหน่วยงานเกี่ยวข้องมีการประชุมกันว่าจะดับไฟให้ได้ภายในวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถดับได้ เพราะมีไฟปะทุขึ้นมาอีก แสดงให้เห็นว่าการไหม้ของกากอุตสาหกรรม ไม่ได้ดับง่ายด้วยน้ำธรรมดา
สิ่งที่เป็นความยากลำบากในการดับเพลิงคือ ภายใต้อาคารมีการซุกซ่อนกากน้ำมันใช้แล้ว และสารเคมีที่เป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นอุปสรรคที่ต่อให้มีการดับเพลิงที่ลุกไหม้บนพื้นอาคารได้ แต่ใต้ดินยังมีบ่อกากน้ำมัน และสารเคมีบางอย่างที่ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีสารเคมีอะไรบ้าง เลยทำให้ทีมดับเพลิง ประเมินสถานการณ์ในการดับไฟผิดพลาด จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า วันนี้ 25 เม.ย. 67 ก็ยังไม่สามารถดับเพลิงให้ดับสนิท
ปริศนาเพลิงไหม้กากอุตสาหกรรม
"เพ็ญโฉม" วิเคราะห์ว่า เหตุไฟไหม้ในโรงงานเก็บกากอุตสาหกรรม จ.ระยอง อาจไม่ใช่เหตุเพลิงไหม้ธรรมดา การสอบสวนเพื่อหาหลักฐาน เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ดำเนินการต่อ แต่การเข้าไปในโรงงานระหว่างเกิดเพลิงไหม้ค่อนข้างอันตรายมาก จากประสบการณ์ที่หน่วยงานทำมา และเกิดเหตุในลักษณะใกล้เคียงกัน มักเกิดจากฝีมือคน
น่าสนใจว่า มีประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงความเกี่ยวโยงกับโรงเก็บกากอุตสาหกรรมที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้คล้ายกันเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเมื่อตรวจสอบในพื้นที่พบปะทัดคล้ายระเบิดปิงปอง ผูกเสียบไม้ไว้กับพื้นโรงงานประมาณ 100 จุด
ที่ผ่านมาหน่วยงานได้เข้าร่วมกับตำรวจและหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบ โรงเก็บกากอุตสาหกรรมที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือน มี.ค. 66 จนพบ "โกดังลับ" มีการทำเป็นห้อง เมื่อกากอุตสาหกรรมเต็มในห้อง จะทำการโบกปูนปิดตาย ถ้าเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแล้วไม่รู้ นึกว่าเป็นผนังปูนธรรมดา แต่เมื่อพังกำแพงปูน พบถังสารเคมีจำนวนมาก น่าแปลกใจว่า ไม่มีใครรู้ว่ามีการแอบเก็บกากอันตรายไว้จำนวนมาก
...
การพบโกดังลับที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากนายอำเภอ ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีน้ำสีเหลือง ส่งกลิ่นรุนแรง ไหลออกมาจากสถานที่แห่งนี้ ทำให้ปลาในแหล่งน้ำตายจำนวนมาก เบื้องต้นที่นายอำเภอไปตรวจสอบพบบ่อน้ำ ที่อยู่ภายในโรงงาน เดิมเป็นบ่อน้ำธรรมดา แต่บ่อนี้ถูกนำกากเคมีและน้ำเสียมาทิ้งลงในบ่อ ก่อนที่น้ำในบ่อจะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ คาดว่าน้ำมีความเป็นกรดสูง เพราะขอบบ่อน้ำสาธารณะ มีคราบเหลืองเกือบทั้งหมด จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชาวบ้านร้องเรียน
นอกจากนี้ ยังมีโรงเก็บกากอุตสาหกรรมอีกแห่งที่ อ.กลางดง จ.นครราชสีมา เคยเกิดเหตุไฟไหม้เช่นเดียวกัน มีการสอบสวนจนพบว่าเป็นฝีมือมนุษย์ ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก จนกรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งปิด
...
เช่นเดียวกับ โรงเก็บกากอุตสาหกรรม อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้านในพื้นที่ได้เคยรวมตัวปิดถนน เพื่อไม่ให้รถขนกากนำไปฝังกลบในพื้นที่ ต่อมาพบว่ามีการนำถังกากเคมีขนาด 200 ลิตร ไปแอบเททิ้งที่ ต.ดีลัง จ.ลพบุรี รวมแล้วประมาณ 80,000 ลิตร ทุกวันนี้กากอันตรายถูกทิ้งไว้ที่เก่า ยังไม่สามารถจัดการได้ ขณะที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีงบประมาณในการจัดการ เลยกลายเป็นพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษที่ค่อนข้างรุนแรงมาถึงปัจจุบัน
ต้นเหตุโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน
หลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงเก็บกากอุตสาหกรรม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาแสดงความเห็นว่า เอกชน ที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้ตามมาตรฐานมีจำนวนน้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ประกอบการทั้งหมด 550 ราย แต่ "เพ็ญโฉม" มองว่า เอกชนที่กำจัดกากอุตสาหกรรม ไม่ได้มาตรฐาน เท่าที่ประเมินมีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการลักลอบเก็บไว้ในโกดังลับ จะมีในหลายพื้นที่
เหตุผลสำคัญคือ การกำจัดการอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่สูงมาก ถ้าจะกำจัดให้ถูกต้องมีค่าใช้จ่ายตันละ 5,000-20,000 บาท มีผลทำให้ผลกำไรของบริษัทผู้ผลิตลดลง เพราะที่ผ่านมาการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม มักถูกมองว่าต้องมีการลงทุนให้ต่ำที่สุด
...
“กากอุตสาหกรรมเป็นอันตรายที่กรมโรงงานกำหนดไว้มีประมาณ 11 กลุ่ม ได้แก่ กากปิโตรเลียม มาจากอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำมัน ส่วนกากเคมี มาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นสารในการทำละลาย โดยทุกอุตสาหกรรมล้วนมีกากอุตสาหกรรม ซึ่งกากนั้นเป็นอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการผลิตนั้น”
กากอุตสาหกรรมเป็นอันตรายรุนแรงสูง ได้แก่ กากปิโตรเลียมที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารก่อมะเร็ง, น้ำจากกากอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อนของตัวทำละลาย มีความเป็นกรด เมื่อเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้, ตะกรันจากกากอุตสาหกรรม บางชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดเป็นมะเร็ง
ปกติการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีต้นทุนกำจัดแตกต่างกัน แต่มีการทำลายตั้งแต่ 1. ฝังกลบ (Secure Landfill) เป็นการทำหลุมฝังกลบที่มีความมั่นคง เพื่อไม่ให้กากที่มีสารอันตรายซึมลงใต้ดิน ต้องมีการขุดหลุมขนาดใหญ่ บดอัดด้วยชั้นดิน ชั้นทราย ชั้นกรวด ปูทับด้วยแผ่นยางที่ทนทานต่อการกัดกร่อนของเคมี แต่ก่อนนำไปฝังกลบ ต้องมีกระบวนการทำให้กากเคมีจับกันเป็นก้อน ไม่รั่วซึม
2. เผาทำลาย ในเตาเผาปูน แต่มีความอันตราย ถ้าอุณหภูมิเผาไม่สูงพอ ระบบการกรองมลพิษไม่ดีพอ ทำให้เป็นแหล่งมลพิษทางอากาศ 3. ปรับสภาพเอาสารบางอย่างออกจากกากอุตสาหกรรม
มลพิษกากอุตสาหกรรมรั่วไหลร้ายแรงก่อมะเร็ง
"เพ็ญโฉม" กล่าวถึงผลกระทบว่า หลายชุมชนรอบโรงเก็บกากอุตสาหกรรมที่มีปัญหา พบปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น บ่อน้ำตื้นในชุมชนที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน มีกลิ่นเหม็นจากการปนเปื้อน แม้นำไปซักล้างก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือในกรณีที่กากอุตสาหกรรมรั่วไหลที่ จ.ราชบุรี ทำให้สวนลำไยของชาวบ้าน ยืนต้นตายไปกว่า 100 ต้น เกษตรกรที่ร่ำรวยจากการส่งออกลำไย กลายเป็นคนล้มละลายในพริบตา
ตัวอย่างผลกระทบล่าสุด จากไฟไหม้โรงเก็บกากอุตสาหกรรม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ทำให้สวนยางของชาวบ้าน ที่มีทั้งหมด 12 ไร่ เสียหายจนต้องตัดทิ้งทั้งหมด เช่นเดียวกับบ่อน้ำที่นำมาใช้ในสวน กลายเป็นบ่อน้ำปนเปื้อนสารพิษ
"โรงงานเก็บกากอุตสาหกรรมไม่ได้มาตรฐาน เป็นการซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM 2.5 กรณีไฟไหม้โรงเก็บกากอุตสาหกรรม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้อยู่ในอากาศอีกนาน ไม่ใช่ว่าดับไฟแล้วเรื่องจะจบ เพราะกากสารเคมีจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ถือเป็น PM 2.5 ขั้นทุติยภูมิ ที่เป็นละอองฝุ่นที่มีสารอันตรายเกาะอยู่ แม้เกิดไฟไหม้ที่ระยอง ไม่ได้หมายความว่าคนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นปลอดภัย แต่ฝุ่นที่ปนเปื้อนสารเคมี มีอายุได้อยู่เป็นปี โดยลอยไปตามทิศทางลม ไปเกาะในพื้นที่ใด และถ้ามีกระแสลมแรง ก็ฟุ้งลอยตามลมไปได้ไกลอีก ถ้ากระแสลมพัดมาถึงกรุงเทพฯ สามารถส่งผลเป็นมลพิษได้”
สารเคมีจากการไหม้ของกากอันตรายที่เกาะและลอยไปตามฝุ่น มีตั้งแต่สารสารไดออกซิน ที่เป็นตัวก่อมะเร็ง มีอายุยืนยาวถึง 10 ปี รวมถึงสารโลหะหนัก แคดเมียม สารปรอท สารเหล่านี้ถ้าเข้าไปสะสมภายในปอดของมนุษย์ ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
พิรุธปมคอร์รัปชัน ภาครัฐยังสาวไม่ถึงตัวการใหญ่
เหตุเพลิงไหม้กากอุตสาหกรรมหลายครั้ง ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชน ถึงปมพิรุธคอร์รัปชัน "เพ็ญโฉม" ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังหาคำตอบไม่ได้ในหลายกรณี เพราะถ้าไม่มีปมทุจริต ปัญหาการซุกซ่อนกากอุตสาหกรรมในหลายที่จะไม่เกิดขึ้น
“ปัญหากากอุตสาหกรรม เกิดขึ้นจากการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำกับดูแล ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด การที่กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นที่ยำเกรงต่อราชการที่กระทำผิด หรือเอกชนที่กระทำผิด โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งกฎหมายกระทำผิดในเรื่องนี้ไม่ได้รุนแรง แต่ขนาดไม่รุนแรงก็ไม่มีการนำมาใช้ในการลงโทษ ซึ่งเอกชนบางรายทำความผิดเป็นหมื่นล้านบาทให้กับประเทศ แต่ทุกวันนี้ยังสุขสบายดี ไม่ถูกดำเนินคดี เพราะอะไรที่คนสร้างความเสียหายให้กับประเทศขนาดนี้ ยังหลุดรอดมาได้ ขณะเดียวกันผู้บังคับใช้กฎหมายก็ได้รับผลประโยชน์จากวังวนของการกระทำผิด และหาทางหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้บทลงโทษย้อนกลับมาลงโทษตัวเองได้”
ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐไทย ไม่มีการจัดการเรื่องกากอุตสาหกรรมที่จริงจัง เพราะกลัวจะเสียบรรยากาศการลงทุน กลัวว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่กล้ามาลงทุนในไทย แต่คนในประเทศกลับได้รับมลพิษจากกากอุตสาหกรรมแบบผ่อนส่ง สะสมไปเรื่อยๆ โดยไร้ทางแก้ไข.
ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)