ปะการัง ในอ่าวไทยเสี่ยงฟอกขาวครั้งใหญ่ หลังอุณหภูมิน้ำทะเลพุ่งสูงกว่าทุกปี หวั่นลุกลามไปถึงแนวปะการังในทะเลอันดามัน ส่งผลต่อเม็ดเงินการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ชาวประมงต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น เนื่องจากปลาบางส่วนอพยพหนีน้ำทะเลร้อน ไปในเขตน้ำลึก เสี่ยงจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลหนักกว่าทุกปี

"ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง" อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของทะเลไทย กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลไทย มีความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จึงมีผลทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรมีความเปลี่ยนแปลง

“ช่วงต้นปีเราจะเจอสัตว์จากทะเลลึก ขึ้นมาในพื้นที่น้ำตื้น ซึ่งคนที่ไปดำน้ำที่สิมิลัน หรือชาวประมงในพื้นที่ จ.สตูล จะเจอปลาที่อยู่ในเขตน้ำลึกขึ้นมาน้ำตื้น และทำให้หลายคนตื่นตกใจ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากกระแสน้ำเย็นลอยขึ้นมาสูงมากขึ้น และนำพาสิ่งมีชีวิตในน้ำลึก และแร่ธาตุต่างๆ ขึ้นมาตามมวลน้ำ"

สิ่งที่ตามมาตอนนี้คือ เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้นเนื่องจากความร้อนของสภาพอากาศ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ "แมงกะพรุนลอดช่อง" ลอยขึ้นมาเต็มทะเลอันดามัน ตั้งแต่ จ.สตูล ไปจนถึง จ.ระนอง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบางอย่างขยายพันธุ์มาก และการเพิ่มของแมงกะพรุนจำนวนมาก ก็อาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตประเภทอื่นลดลง

...

อีกผลกระทบจากความร้อนของน้ำทะเล ทำให้หญ้าทะเลทยอยตาย โดยเฉพาะต้นหญ้าทะเลขนาดใหญ่ แถบเกาะลิบง จ.ตรัง เนื่องจากปีนี้น้ำทะเลแห้งเป็นเวลานานกว่าปกติ เมื่อน้ำทะเลลดทำให้หญ้าทะเลที่อยู่บนผิวดิน ถูกแดดเผา จนเหง้าที่อยู่ใต้ดินตายไปด้วย

การที่หญ้าทะเลทยอยตาย ส่งผลต่อพะยูน ในทะเลอันดามัน ที่กินหญ้าทะเล เพราะจากผลสำรวจจากจำนวนพะยูน ในปีก่อนมีอยู่กว่า 180 ตัว แต่พอปีนี้พบพะยูนในพื้นที่เพียง 30–40 ตัว ซึ่งมีสมมติฐานว่า พะยูนบางส่วนอาจเสียชีวิตจากการขาดแหล่งอาหาร ขณะที่อีกบางส่วนอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์

“การที่แหล่งหญ้าทะเลลดลง มีผลมาถึงสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของมนุษย์ เพราะพื้นที่หญ้าทะเลเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สิ่งนี้ทำให้ชาวประมง หาปลาทะเลได้ลดลง จนส่งผลกระทบต่อรายได้ และบางรายต้องขึ้นฝั่งไปทำงานบนบก ขณะเดียวกันชาวประมงชายฝั่ง ก็ต้องออกเรือไปไกลจากฝั่งมากขึ้น เนื่องจากปลาไม่มีแหล่งอนุบาล และอุณหภูมิของน้ำทะเลในช่วงน้ำตื้นร้อนกว่าจุดที่เป็นน้ำลึก ทำให้ชาวประมงมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม และอาจเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกับเรือหาปลาขนาดใหญ่ได้ในอนาคต เช่นเดียวกับผู้บริโภค ก็มีแนวโน้มที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาสูง"

อุณหภูมิทะเลพุ่งสูง กระตุ้นปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่


"ศักดิ์อนันต์" เล่าต่อถึงผลกระทบของอุณหภูมิในน้ำทะเลที่พุ่งสูงจะส่งผลกระทบให้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในทะเลไทย และทั่วโลก เหมือนในปี 2540 เพราะตอนนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 1.5-2 องศา และน่าสนใจว่าอุณหภูมิจะพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งปกติอุณหภูมิในน้ำทะเลประมาณ 30 องศา ก็ถือว่าร้อนมาก โดยสัตว์น้ำแค่อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแค่ 1 องศา ก็เริ่มจะอพยพไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ หรือตายได้ง่าย

คาดว่าถ้าเกิดปะการังฟอกขาว จะเกิดในช่วงเดือน พ.ค. 67 โดยเฉพาะปะการังในเขตน้ำตื้น แถบฝั่งอ่าวไทย ที่มีอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมากแล้ว ขณะที่โซนทะเลอันดามัน เนื่องจากต้นปีมีกระแสน้ำเย็นลอยขึ้นมา ทำให้ความร้อนของน้ำทะเล ยังมีอุณหภูมิต่ำกว่า ประกอบกับทะเลอันดามันมีความลึกของน้ำกว่าโซนอ่าวไทย

...

ผลกระทบที่ตามมาจากปะการังฟอกขาว จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกิจกรรมดำน้ำเพื่อดูปะการังจะต้องหยุด ซึ่งปกติฝั่งอันดามัน จะไม่มีกิจกรรมดำน้ำตั้งแต่ 15 พ.ค. ของทุกปี แต่ปีนี้อาจจะมีคลื่นลมนิ่ง ทำให้มีคนที่ฝ่าฝืนได้

“แนวปะการังที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวคือ เกาะช้าง สมุย พะงัน แต่ก็ยังมีความคาดหวังว่า ปะการังในทะเลไทย จะมีความอดทนต่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ โดยปะการังที่ฟอกขาว ถ้าได้รับผลกระทบแต่ยังไม่ตายภายใน 1–2 เดือน ก็จะฟื้นขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ปะการังตาย จะไม่สามารถคืนสภาพได้ และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น นอกจากจะส่งผลต่อสัตว์น้ำแล้ว มนุษย์ก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวประมงที่หาปลา ขณะเดียวกันแนวทางช่วยเหลือ ที่ไม่ให้ปะการัง หรือสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบได้รับการรบกวนจากมนุษย์ คือต้องไม่ไปซ้ำเติม ด้วยการปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะลงทะเล เช่นเดียวกับหน่วยงานของภาครัฐ จะต้องมีการเข้าไปดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิดทันที.