คุยกับ 'เฮียฮั้ว' เจ้าของร้านนิยมศึกษา หนึ่งในผู้เรียกร้องหน่วยงานแก้ 'วิกฤติลิงลพบุรี' เปิดใจสาเหตุสุดทน! จนต้องขึ้นป้ายประท้วงกลางเมือง และความคิดเห็นหลังเซ็น MOU ผ่านไปกว่า 2 เดือน พร้อมรับฟังความกังวลของ 'มหากาพย์ลิง' ที่ยังไร้วี่แววจะจบลง!

"โปรดไตร่ตรองดู คนมาลพบุรีเพราะประวัติศาสตร์ หรือ…มาดูลิง"

ลพบุรี "เมืองแห่งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ" หาใช่ "เมืองลิง" ไม่!!!

กรมไหน? ปล่อยลิงหิวโหย ดุร้าย ไว้ในเมืองลพบุรี!!!

ลพบุรีไม่มีลิง ก็ยังคงเป็นลพบุรี และคงเจริญรุ่งเรืองกว่านี้ 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างข้อความจากป้ายบางส่วน ที่ถูกติดขึ้นตามหน้าร้านของชาวเมืองลพบุรี เมื่อ 22 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจาก 'ลิง' และเป็นการตั้งคำถามไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การเซ็น MOU ผ่านมาถึง 2 เดือนแล้ว ทำไมถึงยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขสักที?

...

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ 'วิกฤตลิงลพบุรี' กลายเป็น 'ประเด็นร้อน' ขึ้นมาอีกครั้ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงต่อสายตรงหา 'นายกัญจน์ตังค์ กิจรัตนกาญจน์' หรือ 'เฮียฮั้ว' เจ้าของร้านนิยมศึกษา อายุ 68 ปี หนึ่งในตัวแทนชาวเมืองลพบุรีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากลิง และเป็นเสมือนหนึ่งในแกนนำภาคประชาชนที่พยายามเรียกร้องการแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด

เราจะลองไปสอบถาม 'เฮียฮั้ว' กันว่า เหตุที่ทำให้คนในพื้นที่เลือกติดป้ายเหล่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร!?

ผ่านมา 2 เดือน MOU ยังมีปัญหา : 

ทีมข่าวฯ เริ่มบทสนทนากับ นายกัญจน์ตังค์ ด้วยคำถามที่ว่า ในฐานะคนพื้นที่ เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ตั้งแต่มีการลงนาม MOU มาแล้วประมาณ 2 เดือน?

เฮียฮั้ว ตอบว่า สิ่งที่เห็นคือทางเทศบาลเมืองลพบุรี ได้เร่งดำเนินการแก้ไข 'กรง' ให้แข็งแรง ตามคำเสนอแนะที่ได้รับจากกรมอุทยานฯ แต่ทุกครั้งก็เหมือนกับว่า เมื่อแก้ไขไปแล้วกรมอุทยานฯ ก็จะมีคำแนะนำเพิ่มเติมขึ้นเป็นระยะ จึงทำให้กรงล่าช้ามาเรื่อยๆ 

อย่างล่าสุดส่วนอนุรักษ์จาก จ.เพชรบุรี ก็ให้สายไฟฟ้ามาติดเพื่อป้องกันลิงด้วย ซึ่งตอนนี้กำลังติดอยู่ และเมื่อวานมีโอกาสได้เข้าไปดูกรงลิง ท่านนายกฯ (นายจำเริญ สละชีพ) บอกว่า 'คาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะเสร็จเรียบร้อย'

เจ้าของร้านนิยมศึกษา พูดถึงปัญหาที่ได้เห็นหลังเซ็น MOU ให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เซ็น MOU มา เราไปประชุมร่วมกับจังหวัดมาแล้ว 2 ครั้ง ปรากฏว่ามีสิ่งที่ทางจังหวัดพยายามถามในที่ประชุมอยู่ตลอด…

...

"นั่นก็คือ กรมอุทยานฯ ทำไมยังไม่ประกาศแต่งตั้งให้ท้องถิ่น หรือเทศบาลเมืองลพบุรี สามารถเป็นเจ้าพนักงานไปช่วยจัดการเรื่องลิงได้ เพราะถ้าไม่มีประกาศแต่งตั้งออกมา มันจะขัดต่อระเบียบการปฏิบัติราชการของท้องถิ่น เขาจะไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อยู่นอกเหนือการอำนาจการจัดการของท้องถิ่น"

เฮียฮั้ว กล่าวต่อว่า ล่าสุดที่ได้ไปประชุมเมื่อ วันศุกร์ที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าฯ ก็ถามในที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งตัวแทนของกรมอุทยานฯ ชี้แจงประมาณว่า เรื่องดังกล่าวเตรียมจะประกาศแล้ว อยู่บนโต๊ะของผู้เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ลงนาม

ปัญหางบประมาณ : 

แล้วยังมีเรื่องอื่นอีกหรือไม่? ทีมข่าวฯ สอบถามปลายสาย

นายกัญจน์ตังค์ จึงอธิบายต่อว่า เรื่องต่อไป หากได้รับประกาศแต่งตั้ง แล้วจะดำเนินการได้ ก็ต้องมีเรื่อง 'งบประมาณ' เข้ามาสนับสนุน เพราะถ้าจับลิงเข้าไปอยู่ในกรง จะต้องเลี้ยงดูสวัสดิภาพให้เขา รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ 

...

คราวนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะต้องนำลิงเข้าไปไว้ในบัญชี 'สัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติ' ให้มันสอดคล้องกับระเบียบของท้องถิ่นที่ประกาศออกมา เรื่องการใช้งบประมาณตรงนี้ เพราะถ้าไม่นำลิงเข้าไปอยู่ในบัญชีนี้ เทศบาลจะไม่สามารถเบิกจ่ายเงินมาใช้เกี่ยวกับเรื่อง 'ลิง' ได้ เพราะตอนนี้กฎหมายอนุญาตให้จัดการได้เฉพาะ 'แมวกับสุนัข' 

"จังหวัดลพบุรีทำหนังสือฉบับนี้ สอบถามและขอหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว ก็ยังไม่ตอบกลับมา แล้วเราประชุมกันเมื่อ 25 มีนาคม เมื่อผู้ว่าฯ ทราบว่าทางนั้นยังไม่ตอบหนังสือกลับมา จึงทำหนังสือส่งไปใหม่อีกฉบับ เพื่อขอร้องให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ช่วยเร่งพิจารณา"

เฮียฮั้ว เล่าสถานการณ์ในที่ประชุมให้ฟังว่า ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ก็คือปศุสัตว์จังหวัดบอกว่า วาระของคณะกรรมการที่จะพิจารณาเรื่องนี้อยู่ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเรามองว่า เขามองไม่เห็นความทุกข์ยากของราษฎรเลยหรือ?

แต่ยังดีที่ว่า ล่าสุดในการประชุมเมื่อ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ทางนั้นได้ทำบันทึกแจ้งกลับมาว่า เขาจะเลื่อนจัดประชุมจากกรกฎาคม มาต้นเดือนพฤษภาคม ดังนั้น การจัดการลิงจึงมาติดสองเรื่องนี้เป็นหลัก

...

"แม้กรงจะเสร็จแต่ถ้ากรมอุทยานฯ ไม่มอบอำนาจมาให้เทศบาลเมืองลพบุรี ไม่ได้ประกาศแต่งตั้ง เทศบาลก็ยังไม่สามารถไปแตะต้องลิงได้ และจะไม่สามารถนำงบประมาณมาจัดการดูแลลิงได้ มันก็เลยกลายเป็นว่า เหมือนงานราชการขัดกันเองและไม่สอดคล้อง"

ที่จริงจะติดป้ายกันมาตั้งนานแล้ว! : 

เข้าสู่คำถามที่หลายคนอาจจะสงสัย เพราะเหตุใดชาวบ้านรวมตัวกันติดป้ายประท้วงขึ้นมา?

หลังจากเสียงคำถามจบลง เฮียฮั้วที่อยู่ปลายสายตอบกลับแทบจะทันทีว่า เขาจะติดกันมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ท่านอธิบดีกรมอุทยานฯ ท่านแถลงข่าวการแก้ปัญหาลิงเมื่อปลายเดือนมีนาคม ท่านไปพูดหลายประโยคที่สร้างความรู้สึกว่า 'คนลพบุรียกย่องลิง' มันให้ความรู้สึกว่าท่านพูดแปลกๆ 

อย่างล่าสุดที่ท่านออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ท่านไม่ได้พูดแบบนั้น มันเป็นการปฏิเสธที่ไม่ได้เลย เพราะคลิปการแถลงข่าวปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว การที่ท่านจะมาบอกว่า…

'อย่ามองลิงเป็นผู้ร้าย เพราะพวกมันสร้างคุณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด และส่งเสริมการท่องเที่ยว… เราไม่ได้บริหารจัดการที่ดี จน (ลิง) กลายเป็นภัยคุกคาม และไปทำร้ายพี่น้องประชาชน แต่คนก็อาจไปทำร้ายลิงด้วยก็ได้ แต่ลิงแจ้งความไมได้'

"ดูท่านพูด" เฮียฮั้วเอ่ยขึ้นมา 

นายกัญจน์ตังค์ กล่าวเสริมขึ้นมา การแถลงข่าวต่อจากนั้น ผู้อำนวยการอนุรักษ์ยังพูดขึ้นประมาณว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างลิงกับคนมีหลายจังหวัด พอพวกเราฟังก็แปลกๆ เพราะ...ถ้าถามว่าเราขัดแย้งกับลิงเหรอ เราไม่ได้ขัดแย้ง แต่เราถูกมันรังควาน และรำคาญที่ลิงมาก่อความเสียหาย รำคาญที่มันมาทำร้ายร่างกาย และทรัพย์ของประชาชน นอกจากนั้นยังทำลายเศรษฐกิจ จนเมืองลพบุรีร้างไปครึ่งหนึ่ง

"มันไม่ใช่ผู้ร้าย มันเป็นลิง แล้วคนที่ถือกฎหมายคุ้มครองมันอยู่ ก็ควรจะเอามันไปอยู่ในที่เหมาะสม มันไม่เหมาะที่จะอยู่แบบนี้ ซึ่งทางเทศบาลก็สร้างกรงแล้ว หาทางของบประมาณมาทำให้อีก นี่เป็นความดิ้นรนของท้องถิ่นทั้งนั้น พอระดับอธิบดีออกมาพูดแบบนี้ ผมว่ามันเป็น 'ตลกฝืด' นะ"

เฮียฮั้ว อธิบายต่อไปว่า อากาศก็ทำให้พวกเราร้อนอยู่แล้ว รำคาญลิงอยู่แล้วด้วย ยังต้องมาฟังเสียงคนของกรมอุทยานฯ ที่ตลอดเวลาพยายามอนุรักษ์ ขัดขวางการทำนู่นทำนี่ วันหนึ่งชาวบ้านเขาเลยทนกันไม่ไหว เห็นโอกาสที่จะแสดงออก จึงทำป้ายกันออกมา

"เขาจะทำกันมานานแล้ว แบบที่ผมบอกไป แต่ผมก็บอกว่าอย่าเพิ่งเลย ให้ดูเขาไปก่อน เพราะเขาบอกว่าจะแถลงการจับลิง ตอนแรกบอกว่าดีเดย์จะจับลิง 18 เมษายน พอมาดูก็ไม่เห็นมีอะไร เขาก็อ้างว่ากรงไม่เสร็จ มันเป็นแบบนี้แหละ ติดขัดกันเรื่อยไป"

"ชาวเมืองเราก็อดทนกับเรื่องนี้มาสมควรแล้วนะ" เจ้าของร้านนิยมศึกษากล่าว

ถ้าเรื่องไม่แดงคงไม่มีการช่วยเหลือ : 

เฮียฮั้ว กล่าวต่อไปว่า การแถลงข่าวตอนนั้น ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาบอกว่า จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เรื่องเกี่ยวกับการระวังตัวของนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยว จนป่านนี้ผมก็ยังไม่เห็น

มีอีกเรื่องหนึ่ง คือ 'เบอร์กลาง 1362' เพื่อนร้านค้าด้วยกันพูดในที่ประชุมว่า หลังบ้านมีพื้นที่ประมาณร้อยตารางวา ต้องสร้างกรงกั้นลิงไว้ แต่พอสร้างมาหลายปีแล้ว ลิงก็เล็ดลอดเข้าไปได้ ซึ่งช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา ลิงเข้าไปได้ 11 ตัว แต่เขาดักได้ 2 ตัว เขาพยายามโทรหาให้กรมอุทยานฯ มารับและช่วยจัดการ 

"แต่พอโทรเบอร์ 1362 ติด ทางนั้นบอกว่าไม่ใช่เบอร์นี้ต้องโทรต่อไปอีกเบอร์ โอ้โห! กว่าจะติดต่อได้ กว่าจะมีคนมารับเรื่องต้องต่อไปอีกสองสามทอด แล้วแบบนี้จะตั้งเบอร์กลางขึ้นมาทำไม ความจริงแล้วถ้าเป็นเบอร์สายด่วน มันก็ควรจะเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการ"

ทีนี้มันมีข่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า น้องคนนึงถูกลิงกระโดดถีบสะบ้าเข่าหลุด จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีสั่งให้กรมอุทยานฯ พิจารณาเพิ่ม 'ลิง' เข้าไปอยู่ในบัญชีที่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยให้ผู้บาดเจ็บได้

เฮียฮั้ว พูดเชิงตั้งคำถามกับทีมข่าวฯ ว่า คุณลองคิดดูว่าถ้าไม่เกิดเหตุนี้จะมีการช่วยเหลือไหม แต่จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็มีมาตลอด ทั้งคนถูกกัด ถูกทำร้ายกันเยอะแยะ หรือในส่วนของทรัพย์สิน เมื่อวานนี้ (22 เมษายน 2567) สดๆ เลย เพื่อนต้องให้ช่างขึ้นไปเปลี่ยนหลังคาใหม่ เพราะลิงกระโดดจนขอบเยิน ทำให้น้ำรั่วเข้าบ้าน มันจึงเป็นคำถามต่อไปอีกว่า สิ่งที่เป็นทรัพย์สินเสียหายแบบนี้ ใครจะรับผิดชอบ?

เฮียฮั้ว หัวร่อขึ้นมาเบาๆ ก่อนจะพูดว่า "นี่คือความเดือดร้อน"

ไม่มีอะไรให้ไม่คาดหวัง? :

ทีมข่าวฯ สอบถามเฮียฮั้วว่า ยังมีความคาดหวังในการจัดการปัญหาอย่างไรบ้าง?

คำตอบที่ได้รับ คือ ความคาดหวังเหรอ… ขณะนี้เขาก็อ้างอย่างเดียวว่า 'กรงไม่เสร็จ' มันเลยทำให้มีปัญหาต่อไปว่า 'จับแล้วจะเอาไปไว้ที่ไหน' เพราะไม่มีที่ไหนเขาอยากรับ เอาไปเขาก็ต่อต้าน ซึ่งมันพิจารณาได้ว่า ปัญหานี้มีมานานแล้ว แต่การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเหมือนทำไปวันๆ ยังไม่มีการมองอนาคตว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้มันขยายวงเพิ่ม

"ตั้งหน้าตั้งตาทำหมันอย่างเดียว ค่าทำหมันก็ตัวละ 2,000 กว่าบาท มันถูกที่ไหนล่ะ แล้วคนอื่นก็ทำไม่ได้อีก ต้องกรมอุทยานฯ ทำอย่างเดียว แล้วเขาบอกว่าได้รับงบประมาณมาทำปีละประมาณ 2,000 ตัว"

"เมื่อคราวที่ผมเคยไปชี้แจงที่รัฐสภาเรื่องการจัดการลิง คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีท่านรองท่านหนึ่งชื่อ ท่านนิคม ผมจำนามสกุลไม่ได้ ท่านมองว่าทำไมกรมอุทยานฯ แก้ปัญหาแบบนี้ มันควรจะตั้งงบขึ้นมาทีเดียว"

"อย่างลพบุรีก็ทุ่มงบทำหมันทีเดียวให้หมดเลย ไม่ใช่มาทำทีละร้อยตัว เพราะอัตราการเกิดของลิง สวนทางกับอัตราการเกิด การทำหมันจึงไม่สอดคล้องกับการเกิดใหม่" เฮียฮั้วเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้เราฟัง...

"หรือต้องรอลิงเป็นพาหะนำเชื้อแล้วค่อยจัดการ" : 

เจ้าของร้านนิยมศึกษา แสดงความคิดเห็นว่า ในอนาคตปัญหาน่าจะลามไปเยอะกว่านี้ ลองคิดดูว่าตอนนี้มีการแก้ปัญหาแค่ในเขตตัวเมืองเก่า มีการวางแผนจะแบ่งจับเป็นเฟส แต่ปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีไม่ได้มีแค่ตัวเมือง ยังมีที่อื่นๆ อีก เช่น เขาสมโภชน์ ท่าวุ้ง แล้วเราจะไม่นึกถึงความเดือดร้อนของพวกเขาหรือ?

"มีการแนะนำการแก้ปัญหาว่า ต่อไปกรมอุทยานฯ จะจัดงบมาทำหมันส่วนหนึ่ง แล้วท้องถิ่นอาจจะต้องจับงบมาช่วยทำหมันอีกส่วน เสร็จแล้วก็จับไปไว้ในกรง เท่ากับว่าท้องถิ่นอาจจะต้องหาพื้นที่สร้างกรง"

"แต่การสร้างกรงก็ไม่ง่าย ต้องทำประชาพิจารณ์ และหางบประมาณอีก ไม่มีอะไรง่ายเลย ใครเขาจะเอา แล้วต้องหางบประมาณมาดูแลมันอีก อายุขัยอย่างน้อย 20 กว่าปี คุณต้องหางบมหาศาลมาดูแลมันอีก นี่คือการปัญหาที่ถูกต้องแล้วเหรอ?" เฮียฮั้วกล่าวเชิงตั้งคำถามอีกครั้ง!

นายกัญจน์ตังค์ ชี้แจงต่อไปว่า การประชุมครั้งล่าสุด ผมพูดในหนังสือที่ทำถึงกรรมการเข้าไปว่า ทำไมเราไม่ไปดูแบบที่ญี่ปุ่นแก้ปัญหาเรื่องกวางล้นเมือง หรือออสเตรเลียจัดการกับจิงโจ้ที่มากเกินไป 

ตอนนี้ผมว่ามันต้องมองถึงจุดนั้นแล้ว ถ้าจะมามัวมองว่ามันบาป แล้วเคยเห็นช่วงที่ไก่ติดหวัดนก หรือโรคระบาดเยอะๆ ในสุกรและวัวไหม ผลสุดท้ายเขาก็ต้องจัดการ หรือว่าคุณต้องรอให้ลิงเป็นพาหะนำเชื้อก่อน แล้วค่อยจัดการพวกมัน?

"ผมเข้าใจหัวอกคนที่รักลิง แต่พวกเขาอยู่ข้างนอก ลองไปเดินถามชาวบ้านว่าใครไม่เดือดร้อนบ้าง เราไม่เกลียดมันหรอก เรารู้ว่ามันเป็นสัตว์ เกลียดไปก็ไม่มีประโยชน์ เราทุกข์ใจไปเปล่าๆ เพียงแต่ว่าเรารำคาญพฤติกรรมของมัน"

นายกัญจน์ตังค์ เสริมต่อว่า คืออย่างนี้นะ คุณสังเกตไหมว่าไม่ค่อยมีชาวบ้านพูดว่าเกลียดมันหรอก เพียงแต่เขาจะพูดเชิงรำคาญพฤติกรรม ไม่มีใครอยากจะทำอะไรมันจริงๆ หรอก เขาแค่หวังอยากให้จัดการลดความเดือดร้อน นำมันออกไปจากพื้นที่ 

"แล้วคำถามตัวโตๆ คือ มันเป็นหน้าที่ของใคร" เฮียฮั้วเอ่ยขึ้นมา 

ก่อนจะตอบด้วยตนเองว่า "ก็กรมอุทยานฯ เพราะมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง"

ภาพ : #ThairathPhoto


อ่านสกู๊ป 'วิกฤติลิงลพบุรี' :