ตั้งข้อสังเกต ไฟไหม้โกดังเก็บกากสารเคมี ระยอง ใช่อุบัติเหตุหรือไม่ จี้ พฐ. เร่งพิสูจน์ ชี้ สารพิษ ลงดิน น้ำ อากาศ ถามป่วยระยะยาวใครรับผิดชอบ? ...
แม้จะควบคุมเพลิงในวงจำกัดได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บ “กากอุตสาหกรรม” และ “สารเคมี” ของบริษัท วินโพรเสส จำกัด ม.4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะ “มลพิษ” เพราะจากการประเมิน คาดว่าจะมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนถึง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางบุตร และ ตำบลหนองบัว จากเหตุสารพิษฟุ้งกระจายในอากาศ และไหลลงดิน คู คลอง จากน้ำที่ฉีด เพื่อควบคุมเพลิงด้วย
สารพิษจากไฟไหม้โกดังเก็บกากสารเคมี
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “กากอุตสาหกรรม” ก็คือ เศษซากของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้แล้ว เช่น น้ำมันเครื่องใช้แล้ว สารเคมีที่เป็นกรดกัดแก้ว กลุ่มสารทำละลาย (Solvent) โดยรวมๆ กันกว่า 2 พันลิตร นอกจากนี้ ยังมีบ่อน้ำมันใช้แล้ว ที่เขาเก็บไว้ในบ่อ ซึ่งเหล่านี้กำลังรอการบำบัด ซึ่งรวมๆ 20,000-30,000 ลิตร นอกจากนี้ ยังมี ถังตะกอนน้ำเสีย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะนี่คือ “โกดังเก็บสารเคมี”
...
เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้ว สิ่งที่ตามมา คือ “สารจากไอระเหย” เช่น สาร เบนซีน ไซลีน PM 2.5, PM 10 คาร์บอนมอนอกไซด์ เรียกว่าสารพัดสารพิษ ได้ปนเปื้อนสู่ธรรมชาติ ทั้งดิน แหล่งน้ำ และอากาศ
สิ่งที่น่ากลัว คือ เมื่อไอพิษ ไอโลหะหนักเหล่านี้ ลอยขึ้นสู่อากาศได้สักพัก มันก็จะมาตกลงแหล่งน้ำ ไหลลงดิน ในแหล่งน้ำ ที่สำคัญคือ ตอนที่เรากำลังควบคุมเพลิงนั้น เราใช้น้ำมหาศาล น้ำที่ฉีดเข้าไปนั้น มันจะไปไหนได้ นอกจากไหลลงดิน ลงแหล่งน้ำชาวบ้าน คู คลอง ใกล้เคียง คำถาม คือ เมื่อเป็นแบบนี้เขาจะปลูกพืชได้อย่างไร หายใจ สารพิษ ซึ่งมีส่วนก่อมะเร็ง สะสม ระยะยาว ใครจะรับผิดชอบ
กูรูด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ แค่มีการปล่อยน้ำเสียลงไปในคูคลอง ก็ทำให้ ยางพาราที่ชาวบ้านปลูกไว้ได้รับความเสียหายกว่า 30 ไร่ ยังไม่รวม พืชผลอื่นๆ ก็ไม่ออกดอก ออกผล
มลพิษ ลงดิน น้ำ อากาศ รัศมีระวัง 5 กิโลเมตร
นายสนธิ ประเมินเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ ว่า จะมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย จากมลพิษฟุ้งกระจายในอากาศ หรือไหลลงดิน กินรัศมี 800 ไร่ ส่วนการดูและต้องดูแลรัศมี 5 กิโลเมตร”
สิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน คือ การดูแลสุขภาพให้กับประชาชน หน่วยงานต้องไปตรวจวัดสารเคมี ในดิน ผิวดิน อากาศ และ น้ำคูคลอง ต้องตรวจให้หมดในรัศมีดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐเขามีการอพยพ ชาวบ้านในรัศมี 3 กิโลเมตร แต่เราอยากให้มากกว่านั้น จึงเผื่อระยะให้มากขึ้น
“คนที่สูดสารพิษเข้าไป บางคนป่วยแบบเฉียบพลันก็ต้องเร่งรักษา แต่บางคน อาจจะเข้าไปสะสมในร่างกาย และป่วยภายหลัง คำถามคือ หากเขาป่วยเป็นมะเร็ง ใครรับผิดชอบ ดังนั้น สิ่งที่อยากจะเสนอ คือ เราต้องให้ประชาชนไปตรวจสุขภาพ ในรอบ 3 ปีนี้ โดยเฉพาะผู้อาศัยในพื้นที่ใต้ลม โดยเฉพาะ 2 ตำบล บางบุตร กับบางบัว ในพื้นที่ประสบภัย ต้องไปตรวจเลือด และปัสสาวะ ประจำปี ติดต่อ 3 ปี”
เมื่อถามว่า สิ่งที่ภาครัฐทำได้ในเวลานี้ นายสนธิ ตอบว่า คือ 1.ประกาศเป็นพื้นที่สาธารณะภัย ซึ่งทำแล้ว 2.เร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ อาหาร ทุกอย่างต้องฟรีหมด 3.ตรวจสอบสภาพ ดิน น้ำ อากาศ ทั้งหลาย เพราะน้ำดื่ม น้ำใช้ต่างๆ น่าจะปนเปื้อนใช้ไม่ได้ รวมไปถึงน้ำในบ่อดิน บ้านเรือนก็ต้องทำความสะอาดทั้งหมด เพราะน่าจะมีเขม่าไปจับ สุดท้าย คือ สิ่งที่ต้องทำเหล่านี้ ใครจะเป็นคนจ่าย...? เรียกร้องจาก โรงงานต้นเหตุได้ไหม ได้เมื่อไหร่
“แบบนี้อาจจะเกิดอีกเยอะ ต่อไป เราต้องปฏิรูปกฎหมายที่ดูแลโรงงานเหล่านี้ใหม่ หากโรงงานไหนมีสารเคมีเก็บไว้เยอะ ต้องผ่าน EIA (ตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) หรือไม่ ควรจะอยู่ในระบบปิด “นิคมอุตสาหกรรม” หรือไม่ และที่สำคัญที่สุด คือ โรงงานแบบนี้ไปตั้งที่ไหน ควรจะทำ ประชาพิจารณ์ และต้องยกเลิก มาตรา 4/2559 คือ ของ คสช. ที่ให้โรงงานประเภทนี้ ตั้งที่ไหนก็ได้ เรื่องแบบนี้ต้องยกเลิกโดยด่วน
...
ตั้งข้อสังเกต “เพลิงไหม้” อุบัติเหตุจริงหรือไม่?
นายสนธิ ตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานแห่งนี้มีพิพาทกับชาวบ้านมานานแล้ว ต่อมามีคำสั่งให้ กำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งกว่า จะดำเนินการกำจัดนั้นกินระยะเวลานานมาก ซึ่งพอใช้ระยะเวลานาน ทำให้มีโอกาสเกิดเหตุลักษณะนี้บ่อย ดังนั้น สิ่งที่ควรปรับปรุง คือ ต้องให้โรงงานเหล่านี้มาประกันภัย เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นก็เอาเงินจากประกันภัยมาเยียวยา
“โรงงานลักษณะนี้มีเยอะ ซึ่งส่วนมากจะเป็นโรงงาน “รีไซเคิล” โดยเอากากอุตสาหกรรมมาเก็บไว้ สุดท้ายไม่ยอมไปกำจัด โรงงานบางแห่ง เลือกที่จะฝังไว้ในโรงงาน ตามบ่อดินต่างๆ ซึ่งยากจะตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายเคสที่จับได้ เช่น ที่ จ.ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา เก็บไว้ รอคลีนอัพ แต่...ก็เกิดไฟไหม้”
นายสนธิ ได้เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า “ไฟไหม้” ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือฝีมือมนุษย์ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้น มีการอ้างสาเหตุมาจากอากาศร้อน ทำให้เกิดเพลิงไหม้...
...
“ผมตั้งข้อสังเกตว่า การที่ไฟจะเกิดลุกไหม้จากสภาพอากาศร้อน โดยไม่มีประกายไฟ อากาศต้องร้อนจัดถึง 54 องศาเซลเซียส แต่อากาศในบ้านเรา ร้อนสุดคือ 43 องศาฯ ดังนั้น การที่ไฟจะติดได้ ต้องมี “ประกายไฟ” และเหตุใด ไฟต้องลุกไหม้ในอาคารที่ 5 แล้วทำไมสารเคมีที่เก็บอยู่นอกอาคาร ตากแดด ไฟกลับไม่ลุกไหม้...เรื่องนี้กองพิสูจน์หลักฐาน ต้องไปตรวจสอบ” นายสนธิ ทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...