คุยกับ 'รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช' เปิดที่มาไฟสู้รบกลางเมือง พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์เมียนมา ชี้ หากชายแดนเมียวดีถูกปิด จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก แนะรัฐบาลอ่านสถานการณ์เตรียมทางออก เชื่อการปะทะยังคงยืดเยื้อต่อไป

สถานการณ์ของประเทศเมียนมายังรุนแรงต่อเนื่อง ต่างฝ่ายก็สู้รบแบบไม่มีท่าทีจะยอมกัน เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ต่อสายตรงถึง 'รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช' รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเชิญชวนอาจารย์พูดคุย และวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เราขอพาคุณผู้อ่านลองไปดูกันว่า กลุ่ม KNU ตีเมียวดีแตกหรือยังไม่แตก ผ่านทรรศนะของ รศ.ดร.ดุลยภาค นอกจากนั้น ยังขอพาย้อนอดีตไปดูจุดเริ่มต้นแห่งไฟความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย พร้อมชวนวิเคราะห์ว่า สถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยควรวางตัวอย่างไร หรือจะได้รับผลกระทบแบบไหนบ้าง

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

...

เมียวดีแตกแล้ว หรือยังไม่แตก? : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม รศ.ดร.ดุลยภาค ว่า จากที่มีกระแสข่าวว่า 'เมียวดีจะแตก' หรือ 'เมียวดีแตกแล้ว' เรื่องนี้มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง?

รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. แสดงทรรศนะว่า คำว่า 'แตก' ถ้าหมายถึงกองกำลังแต่ละฝ่าย ทำลายล้างเมืองจนพินาศย่อยยับ หรือกลุ่ม KNU ตีฐานทหารพม่า แล้วทำลายล้างกำลังพลจนมีการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมหาศาล ผมคิดว่าคงจะยังไม่ใช่นิยามแบบนี้

แต่ว่าถ้าเราใช้นิยามว่า 'พื้นที่ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่' ในเมืองเมียวดีหรือรอบๆ ทั้งค่ายยุทธศาสตร์ ค่ายกองพันของกองทัพทหารพม่า รวมทั้งโรงพยาบาล หรือศูนย์ราชการหลายจุดถูกยึดครองโดย KNU หรือ ฝ่ายต่อต้าน หลังจากนั้นฝ่ายต่อต้านกำลังจะวางระเบียบการปกครอง เข้าไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ ถ้าออกมาในรูปแบบนั้นน่าจะถูกต้องกว่า 

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

"อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ไฟนอล เพราะมีแหล่งข่าวบอกว่าทหารพม่า เขาก็จะส่งกำลังมาชิงตีเมียวดีคืน เครื่องบินรบก็เตรียมถล่มเป้าหมายอยู่ กลุ่ม KNU ยังมีหลบซ่อนบ้าง แต่เข้ามายึดพื้นที่เมืองเมียวดีได้เยอะเหมือนกัน และก็ยังไม่ได้ลดลง แม้ว่าจะมีการโจมตีจากทหารพม่า"

รศ.ดร.ดุลยภาค วิเคราะห์ต่อว่า เพราะฉะนั้น สถานการณ์ตอนนี้ 'ยังไม่สะเด็ดน้ำ' ให้รอดูต่ออีกนิดนึง แต่ในภาพรวมคิดว่า ทหารพม่าก็เสียเปรียบมากพอแล้วจากการโดนยึดเมืองเมียวดี แต่เราไม่รู้ว่าเขาจะระดมสรรพกำลัง แล้วมาชิงคืนแบบเต็มอัตราศึกเมื่อไร อาจจะไม่นานนับจากนี้ก็ได้ เรื่องนี้ก็ต้องดูกันต่อ

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

ผลที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลทหาร หากเมียวดีถูกยึด : 

ทีมข่าวฯ ตั้งข้อสงสัยต่อไปว่า ในกรณีที่ 'เมียวดี' ถูกยึดจากฝ่ายต่อต้าน จะส่งผลต่อรัฐบาลทหารพม่า หรือมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง? ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค ได้ให้คำตอบสถานการณ์นี้ไว้ว่า…

...

ส่งผลแน่นอนครับ เพราะว่าฝ่ายต่อต้านเขายึดจากบริเวณที่เขาครอบครองอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเขตชายแดน แล้วก็มีกองกำลัง PDF (กองกำลังปกป้องประชาชน) ของรัฐบาล NUG เข้าไปผสมร่วม มันจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า 'การกระชับวงล้อม'

กล่าวคือ กลุ่มที่อยู่ในรัฐยะไข่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา รัฐคะฉิ่น ทำนองนี้ ก็จะเคลื่อนทัพกระชับวงล้อม บีบอัดพื้นที่ใจกลางของประเทศเมียนมา ซึ่งทหารพม่าควบคุมอยู่ จะบีบเข้ามาเรื่อยๆ คราวนี้ก็อยู่ที่ทหารพม่าว่า คุณจะฝ่าแนวที่กำลังกระชับวงล้อมตรงจุดไหน จะมีความคงทนตั้งรับระยะยาว แล้วพลิกเกมกลายเป็นผู้ชนะฝ่ายต่อต้านบางพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็ต้องว่ากันอีกที

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทย :

"แล้วผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง?"

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวว่า ส่วนทางประเทศไทย ถ้าเหตุเกิดบริเวณเมืองเมียวดี ก็ต้องให้จับตาดูเส้นทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า East–West Economic Corridor หรือแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นสำคัญของอาเซียนเลย 

...

เนื่องจากมันจะขนส่งสินค้า จากทางด้านแปซิฟิกเข้ามาที่เวียดนาม มาสะหวันนะเขตของลาว มามุกดาหาร มาขอนแก่น ต่อไปที่พิษณุโลก จนไปสู่แม่สอด ก่อนจะเข้าไปที่เมียวดี จากนั้นผ่านไปต่อที่ย่างกุ้ง และจากย่างกุ้งจะมีจุดเชื่อมดันไปถึงชายแดนอินเดีย

เพราะฉะนั้น เส้นโลหิตทางเศรษฐกิจสายสำคัญของประเทศไทย ส่วนหนึ่งมันคือเส้นนี้ ซึ่งมันต้องผ่านด่าน 'แม่สอด-เมียวดี' คราวนี้แหละ ถ้าเกิดว่าเมียวดีมันป่วน การขนส่งสินค้าบริการจะต้องหลบเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น มีการติดขัดของโลจิสติกส์ หรือทหารพม่าที่คุมด่านถูก KNU ไล่ตีแล้ว KNU ก็เข้ามาคุมด่านเก็บภาษีอากรแทน คนที่ทำธุรกิจตรงนั้นก็ต้องเปลี่ยนการจ่ายภาษี ต้องปรับกลยุทธ์เศรษฐกิจ

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

หรือถ้ามีการสู้รบ มีการปิดกั้น East–West Economic Corridor ในส่วนที่ผ่านรัฐกะเหรี่ยง ประเทศไทยก็ต้องมานั่งคิดว่า 'จะใช้เส้นทางไหน' หรือมีวิธีแก้ความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างไรบ้าง นี่ก็เป็นส่วนที่ผมมองว่า น่าจะกระทบไทยโดยตรง

...

อีกเรื่องคือ ล่าสุดเรามีนโยบายมนุษยธรรมที่ส่งความช่วยเหลือ ไปให้คนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ แล้วปรากฏว่าเส้นทางที่เราต้องลำเลียงของช่วยเหลือ ต้องเริ่มจากแม่สอดไปเมียวดี ซึ่งช่วงเดือนมีนาคม มันเป็นความร่วมมือที่เราจะต้องส่งผ่านพื้นที่ควบคุมของกองทัพทหารพม่า และ KNU ส่วนหนึ่ง 

แต่ถ้า KNU ควบคุมพื้นที่ได้มากกว่าทหารพม่า ก็กลายเป็นว่า KNU จะมีบทบาทในการจ่ายของมากขึ้น ประเทศไทยก็ต้องคิดแล้วว่า จะไปเพิ่มน้ำหนักการพูดคุยกับฝ่าย NKU มากขึ้นหรือเปล่า หากจะให้เขาช่วยเปิดพื้นที่ ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

จุดเริ่มต้นการสู้รบบนแผ่นดินเมียนมา : 

เมื่อได้วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันไปเบื้องต้นแล้ว ทีมข่าวฯ ขอให้ รศ.ดร.ดุลยภาค ย้อนอดีตเลกเชอร์จุดเริ่มต้นถึงที่มาที่ไปว่า ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า และฝ่ายต่อต้าน พวกเขามาสู้รบกันได้อย่างไร

รศ.ดร.ดุลยภาค เล่าว่า ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันมาหลายสิบปี นับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ ระยะหลังเป็นความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับชนกลุ่มใหญ่ ช่วงพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ชายขอบ เป็นผลมาจากการที่ทหารพม่าไปละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือให้พื้นที่การปกครอง ไม่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้มีการทะเลาะกันมาอยู่เรื่อยๆ

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

จนเข้าสู่ปัจจุบัน เป็นช่วงที่ 'มิน อ่อง หล่าย' ก่อรัฐประหาร ซึ่งตกระยะเวลาประมาณ 3 ปีแล้ว ช่วงแรกของเหตุการณ์นี้ ฝั่งกลุ่มชาติพันธุ์มีการแสดงท่าทีเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ มีกลุ่มที่วางตัวเป็นกลาง กลุ่มที่ร่วมกับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อตีกับทหารพม่า แล้วก็มีกลุ่มที่โน้มเอียงเข้าทางทหารพม่า 

"แต่ระยะ 2 ปีให้หลัง เราเริ่มเห็นตามข่าวแล้วว่า กองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่ม เทมาเป็นพวกกับรัฐบาล NUG เพื่อไล่ตีทหารพม่า เช่น กลุ่ม KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) เป็นต้น ซึ่งหลักๆ มาจากความไม่พอใจที่ มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจ แล้วพวกเขาอยากได้สหพันธรัฐประชาธิปไตย ซึ่งมันเป็นความต้องการและจุดยืนเดียวกัน"

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

รัฐบาล NUG กับ 'สันติ' ไม่ใช่ทางออก : 

สืบเนื่องจากเลกเชอร์ข้อแรกที่มีการกล่าวถึงว่า กลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าร่วมกับรัฐบาล NUG อาจารย์ดุลยภาค อธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจต่อไปว่า รัฐบาล NUG ย่อมาจาก National Unity Government หรือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ 

จุดเริ่มต้นของรัฐบาลนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้ง มิน อ่อง หล่าย ทำรัฐประหารรัฐบาลพรรค NLD (National League for Democracy : สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ที่นำโดย ออง ซาน ซูจี พอถูกยึดอำนาจปั๊บ! สส. และคนในสภาของพรรค NLD ต่างหลบหนีออกไป ก่อนจะกลับมารวมตัวกัน ตั้งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น เป็นรัฐบาลแห่งชาติ ชื่อว่า 'รัฐบาล NUG'

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

"เจตจำนงของเขาคือการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทหาร เอาทหารพม่าออกจากการเมือง ณ วันนี้เขาคิดว่าทหารพม่ามีอำนาจมาก เพราะยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ได้รับชัยชนะ จากการเลือกตั้งของประชาชน ทางที่ดีสุดเลยที่จะจบปัญหา คือ จับอาวุธขึ้นสู้ แล้วทำสงครามปฏิวัติ ปลดปล่อยประเทศจากแอกเผด็จการ ตรงนี้คือจุดยืนที่ชัดเจนของรัฐบาล NUG"

ทีมข่าวฯ สรุปใจความก่อนถามกลับว่า "แสดงว่าเขาคิดว่า ไม้อ่อนคงใช้ไม่ได้กับรัฐบาลทหาร ต้องใช้ไม้หนัก คือการสู้รบอย่างเดียวใช่หรือไม่" รศ.ดร.ดุลยภาค ขานรับทันทีว่า "ถูกต้องครับ"

"เขาคิดว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย ทหารก็จะปกครองประเทศไปเรื่อยๆ หรือทหารอาจจะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีทางได้เห็นประชาธิปไตยเต็มใบ เขาเลยคิดว่า ประเทศนี้ที่ทหารครอบครองมากว่า 50 ปีแล้ว ควรเปลี่ยนแปลงสักที"

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

ความร้อนแรงของอุดมการณ์นี้ เป็นผลสืบเนื่องจากที่เมียนมาเคยเปิดประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่ง รศ.ดร.ดุลยภาค ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า มาประมาณ 10 ปี ก่อนรัฐประหาร เป็นช่วงที่เมียนมาเปิดประเทศ เปลี่ยนตัวเองสู่ประชาธิปไตย ประชาชนได้ลิ้มรสการที่ประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนระบอบการเมือง

"แต่จู่ๆ มิน อ่อง หล่ายก็มายึดอำนาจ หมุนประเทศกลับสู่เผด็จการ เขาก็เลยระเบิด จากความไม่พอใจในรัฐบาลทหาร กลายเป็นคลื่นปฏิวัติขนานใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่สูงคือล้มรัฐบาลทหารพม่า"

รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. กล่าวต่อว่า พวกเขาคิดว่า แค่การเลือกตั้งก็คงจะไม่พอ ในการทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม สิ่งที่ดีที่สุดคือการทำสงครามเปลี่ยนประเทศ 'แบบถอนรากถอนโคน' ไล่ทหารพม่าออกไป ให้ยอมแพ้และยอมรับความเหนือกว่าของพลเรือน ยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิม ที่ให้สิทธิทหาร แล้วไปสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ นี่เป็นหมุดหมายที่สำคัญ

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

ต่างสู้รบกันมาต่อเนื่อง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ : 

รศ.ดร.ดุลยภาค บอกว่า มีการรบแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ แต่ในบางจุดมีการพักรบอยู่บ้าง เกิดความสงบชั่วคราว แล้วก็มาปะทะกันใหม่ หรือบางจุดที่รุนแรงอยู่แล้ว ก็รุนแรงเข้มข้นขึ้นไปอีก เมืองบางเมืองอาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะว่าฝ่ายต่อต้านมายึด แล้วทหารพม่านำเครื่องบินรบมาถล่ม จนกลายเป็นเมืองร้าง ทำให้เมืองหรือตำบลบางจุด 'เละ' ไปเลย ไปใช้ชีวิตหรือไปลงทุนก็คงไม่ได้

"ถ้าถามว่าเมืองต่างๆ ในประเทศเมียนมา เช่น มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง เนปิดอว์ ยังปลอดภัย ยังลงทุน หรือยังใช้ชีวิตได้ไหม ก็ต้องตอบว่า 'ได้' แต่มันก็เริ่มมีสัญญาณความไม่ปกติสุข หรือไม่ค่อยมั่นคง มีความเสี่ยงบางอย่างต้องระมัดระวัง"

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

จากที่อาจารย์กล่าว อะไรคือสิ่งที่เป็นสัญญาณว่าบางเมืองเริ่มไม่ปกติสุข ทีมข่าวฯ สอบถามไปยังปลายสาย

กูรูของเราตอบว่า ตัวอย่างสัญญาณ เช่น ฝ่ายต่อต้านนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เข้ามาโจมตีจุดยุทธศาสตร์ หรือสิ่งปลูกสร้างสำคัญเป็นจุดๆ เป็นหย่อมๆ แต่ยังไม่มีทัพทหารราบของฝ่ายชาติพันธุ์หรือฝ่ายต่อต้าน เข้ามาทำสงครามการรบยึดเมือง เพื่อไล่ทหารพม่าออกไป เพราะฉะนั้นบางเมืองอย่าง 'ย่างกุ้ง' ยังใช้ชีวิตได้ปกติอยู่ มีแค่บางจุดที่ได้รับการโจมตี

อย่างเมือง 'เมียวดี' ก่อนจะเป็นข่าวก็ยังไปเที่ยวได้ มีการแบ่งสัดส่วนการค้าตามแนวชายแดน แต่มาวันนี้กลายเป็นว่า เริ่มมีชาวเมียนมาอพยพจากด่านเมียวดี มาที่ อ.แม่สอด มากขึ้น เพื่อมาขออยู่ฝั่งไทยชั่วคราว เนื่องจากฝั่งเมียนมากำลังรบกันอยู่ และฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่ม KNU ก็ควบคุมเมืองเมียวดีได้เกือบจะเต็มที่แล้ว 

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงเหนียวแน่นในการต่อสู้? : 

รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. มองว่า ภาพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงมีเอกภาพ เพราะว่ารัฐบาล NUG เขาก็ตั้งหน่วยงานเฉพาะ ซึ่งทำหน้าที่ประสานการเข้าโจมตี วางยุทธศาสตร์รุก-รับ ร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ทำให้การบังคับบัญชามีเอกภาพมากขึ้น

แต่ว่าบางทีก็หลายฝัก หลายฝ่าย หลายชาติพันธุ์ ต่างมีผลประโยชน์ในพื้นที่ มันก็ส่งผลให้มี 'รอยปริแยกด้านเอกภาพและความสามัคคี'

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

ยกตัวอย่างในพื้นที่ 'รัฐฉาน' ที่เป็นฐานเมื่อปีที่แล้ว พวกกองกำลังโกก้าง และปะหล่อง ไปยึดครองพื้นที่ในรัฐฉานได้มากขึ้น ประชาชนในเมืองที่ถูกยึดเป็นชาวไทใหญ่กับคะฉิ่น ซึ่งมีองค์กรติดอาวุธสำหรับพวกเขา จนวันหนึ่งกองกำลังคะฉิ่นก็ยาตราทัพเข้ามาในบางตำบลย่อยๆ 

"สรุปเลยว่า กองกำลังปะหล่องเป็นพันธมิตรกับกองกำลังคะฉิ่น แต่เมืองที่ปะหล่องยึดมีคนคะฉิ่น และมีกองกำลังคะฉิ่นตั้งฐานที่มั่นมาก่อน เราก็เคยเห็นการทะเลาะระหว่างคะฉิ่นกับปะหล่อง ที่แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรเดียวกัน แต่ว่าดันอยู่บนพื้นที่ทับซ้อน จะจัดอาณาเขตอย่างไรก็ต้องมาคุยกันยาวอีก"

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

ถ้ายังขัดแย้ง อาจยากที่จะมีชัยเหนือรัฐบาล? : 

จากเรื่องราวของ 'ปะหล่อง' และ 'คะฉิ่น' ที่ รศ.ดร.ดุลยภาค ได้เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟัง ทำให้เราเกิดการตั้งคำถามว่า "หากกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงขัดแย้งกัน ก็น่าจะเป็นไปได้ยากหรือไม่ ที่พวกเขาจะมีชัยเหนือรัฐบาลทหารพม่า!?"

อาจารย์ดุลยภาค ตอบว่า มันก็มีส่วนนะครับ เพราะว่าที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ หมายถึงว่าทางชาติพันธุ์รวบรวมพลังกันก็จะชนะทหารพม่า แต่พอชนะปั๊บก็จะทะเลาะกันเอง คราวนี้ทหารพม่าก็พลิกกลับมา ยุให้กลุ่มชาติพันธุ์ตีกันบ้าง พอทะเลาะกันแล้ว ก็อาจจะมีอีกฝ่ายไปหาความช่วยเหลือ หรือเปิดดีลกับทหารพม่า ทั้งที่รบกับทหารพม่ามาก่อน

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

"เรื่องนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มีตัวอย่างให้เห็น มีเหตุการณ์ให้ศึกษา เพียงแต่ ณ วันนี้ เป็นการที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องร่วมกันตีทหารพม่า ฉะนั้น กลุ่มต่างๆ ก็เลยสมัครสมานสามัคคี แต่ในระดับพื้นที่เริ่มมีรอยปริแยก ก็เลยไม่รู้เหมือนกันว่า ในบางพื้นที่ถ้าไล่ทหารพม่าออกไปได้แล้ว จะทะเลาะกันเองอีกไหม"

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวเสริมว่า ถ้าทะเลาะกันอีกเมื่อไร มันก็จะกลายเป็นจุดอ่อนให้ทหารพม่าเข้ามาแทรก หรือเข้ามายึดพื้นที่คืน เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในวิวัฒนาการทางการเมืองของเมียนมา ผมเลยคิดว่าเปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นย่อมมี 

"ณ วันนี้เรายังคงเห็นภาพความสามัคคี มีความโดดเด่นกว่ารอยปริแยก แต่ในอนาคตก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกยังไง"

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

ไฟสู้รบยังคงยืดเยื้อต่อไป : 

เมื่อเราถามว่า คาดว่าการสู้รบจะยืดเยื้อหรือไม่ เรื่องนี้อาจารย์มองว่า ถ้านับสถิติ 3 ปีมาแล้วหลังรัฐประหาร ข้อสังเกตของผม คือ มันจะมีอุณหภูมิร้อนแล้วเหวี่ยงวงสวิงไป แล้วสักพักจะมีน้ำเย็นทำอุณหภูมิลดลงหน่อย แล้วมันก็จะเหวี่ยงไปร้อนอีกทีหนึ่ง 

ยกตัวอย่าง หลังรัฐประหารจะมีข่าวการสู้รบตรงลุ่มแม่น้ำสาละวิน ใกล้กับแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน สักพักหนึ่งก็เงียบไป แล้วก็เดี๋ยวมีมาอีกครั้งคราว ติดๆ หยุดๆ ดับๆ ทำนองนี้มาเรื่อยๆ 

"ส่วนเมียวดีก่อนจะเป็นข่าว มันก็สงบมาก่อนนะ มีการค้าขายข้ามแดนปกติ มีข่าวมาตลอดว่า KNU มายึดบางจุด ทหารพม่าก็เข้ามายึดคืนได้ แล้วก็เงียบ แต่พอมาวันนี้ KNU ยึดได้มาก ก็ทำให้เมียวดีเกิดอุณหภูมิร้อน แต่จะนานแค่ไหนก็ต้องดูว่าเขาจะเจรจากันอย่างไร"

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวต่อ ผมตั้งข้อสังเกตว่า จุดที่เป็นชายแดนติดกับตะนาวศรีของเมียนมา เช่น จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง เราสังเกตไหมว่าแถวนั้นจะเงียบ ไม่ได้มีการสู้รบเท่าไร มีแค่เป็นหย่อมๆ กระจัดกระจาย

หรือพอขึ้นไปแถวชายแดนรัฐฉานที่ติดกับเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ยังไม่มีการสู้รบแบบที่จะเป็นอันตรายกับไทยอย่างหนักหน่วง มีหนักแค่ช่วงรัฐฉานเหนือ แถวเล่าก์ก่ายและโกก้าง ส่วนบริเวณรัฐฉานใต้ ยังไม่มีการสู้รบขนานใหญ่ 

"จากสองจุดที่กล่าวมา ผมเลยตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจจะเป็นการวางคุมเชิงของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ยังไม่มีการเปิดศึก ทำให้ชายแดนที่กล่าวมาก็ยังนับได้ว่าเป็นจุดเสี่ยง เพียงแต่ว่าภาพรวมยังสงบอยู่ แต่ถ้าติดแล้วอาจจะลุกโชน หรือดับ สลับกันไปแบบนี้"

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้น จะพูดว่ายืดเยื้อได้หรือไม่?

อาจารย์ดุลยภาค ตอบกลับว่า "ยืดเยื้อครับ นี่ก็กินเวลามาสามปีแล้ว เอาเป็นว่าสามปีนี้เมียนมาไม่เคยสงบ มีสงครามการเมืองโดยตลอด เลยมองได้ว่าอะไรก็ยังเกิดขึ้นได้"

รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. กล่าวต่อว่า ถ้าพูดเป็นภาษารัฐศาสตร์ง่ายๆ คือ ตอนนี้สหภาพพม่ายังอยู่ ยังไม่ได้ล่มสลาย แต่ข้างในมันกลวง เพราะมีการทะเลาะ ประชัน อาจมีบางกลุ่มที่อยากประกาศเอกราช เพียงแต่ว่ายังไม่ทำ จึงทำให้สหภาพเมียนมายังอยู่ แต่อยู่แบบกระท่อนกระแท่น อยู่แบบไม่มีเสถียรภาพ 

"เพราะฉะนั้น โมเดลที่ว่า เมียนมาจะล่มสลายแล้วแตกกระจายออกเป็นรัฐอิสระ เหมือนอดีตสหภาพโซเวียต มันมีมโนทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังเร็วไปที่จะตัดสินแบบนั้น เพราะในเวลานี้ยังมีเงื่อนไขบางอย่าง ที่ผมเชื่อว่ามันยังไม่ล่มสลายโดยเร็ววัน มีแต่การที่กองกำลังหลายกลุ่มสถาปนารัฐเอกราช แต่ยังไม่แยกตัวออกจากประเทศ อยู่กันหลวมๆ ต่อไป"

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

ชาติมหาอำนาจเข้ามาสนับสนุนหรือไม่? : 

เมื่อมี ไฟกลางเมืองที่เกิดขึ้น ระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกลุ่มผู้ต่อต้าน มีข่าวออกมาบ้างหรือไม่ ว่าชาติมหาอำนาจมีแนวโน้มสนับสนุนฝั่งไหนบ้าง? 

รศ.ดร.ดุลยภาค ตอบว่า มันก็มีอยู่นะครับ เช่น รัสเซียกับเกาหลีเหนือ ก็สนับสนุนทหารพม่า ทางจีนเองก็ติดต่อทหารพม่าด้วย และให้อาวุธยุทโธปกรณ์กับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ที่สู้กับทหารพม่าด้วย 

สหรัฐอเมริกาให้กำลังใจรัฐบาล NUG เพราะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ยังลงมาเล่นมากไม่ได้ เพราะไปติดภารกิจในส่วนอื่นของโลก แล้วต้องรอดูบางสถานการณ์อีก เช่น รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งอเมริกายังติดหล่มกับดินแดนภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้อยู่

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

"นอกจากนั้น อเมริกายังต้องรอการเลือกตั้งอีกว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรไหม จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศหรือเปล่า เราต้องมาดูอีกทีว่า ถ้าอเมริกาชัดเจนขึ้นแล้ว เขาจะมีท่าทีกับเมียนมาอย่างไร จะเข้ามาทำให้ NUG แข็งแรงขึ้นหรือเปล่า ต้องดูกันต่อไป"

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวต่อว่า หรือเรื่องของบทบาทสหประชาชาติ ที่ไทยมีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สหประชาชาติก็เฝ้าดูแลอยู่ และเขาก็ตั้งทูตพิเศษด้านพม่า เป็นชาวออสเตรเลียแล้ว ทีนี้ต้องดูต่อว่าทูตพิเศษจะเข้ามาทำอะไร หรือทำมากน้อยแค่ไหนในการสร้างสันติภาพ หรือการเข้ามาจะยิ่งทำให้รัฐบาลทหารยิ่งหวาดกลัวการแทรกแซง ต้องรอดูกันไปก่อน

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมหลายทาง : 

รศ.ดร.ดุลยภาค บอกกับทีมข่าวฯ ว่า "ตอนนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน ต้องจับตาดูไปก่อน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเสมอ วางแนวทางไว้ว่าจะออกมาในรูปรอยแบบไหน" หลังจากนั้น ได้ยกตัวอย่างประกอบข้อกังวลนี้ว่า…

ตัวอย่างเช่น ในฉากทัศน์ใหญ่อาจจะออกมาว่า แต่ละฝ่ายเมื่อรบกันนานวันเข้า อาจจะเหนื่อยกันไปเอง จนต้องมาเจรจาหยุดยิงกัน ถ้าเป็นเช่นนั้น ผลลัพธ์จะเป็นยังไง ไทยจะทำอย่างไร 

หรือจะเป็นแนวทางที่ว่า รบกันแล้วฝ่ายต่อต้านชนะทหารพม่าขึ้นมาจริงๆ ไทยจะทำอย่างไรต่อ เพราะว่าฝ่ายต่อต้านคงจะสร้างระบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย นำทหารพม่าออกจากการเมือง และมีรัฐธรรมนูญใหม่ จัดการปกครองชายแดนใหม่ นำคนของตนแทนที่ทหารพม่า ไทยก็ต้องติดต่อกับฝ่ายต่อต้านเดิมมากขึ้น 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ ทหารพม่าพลิกชนะฝ่ายต่อต้าน อาจจะชนะระดับประเทศ หรือระดับพื้นที่ แต่ยังยืนหยัดปกครองประเทศต่อไปได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ต้องดูว่าเขาจะประกาศสภาวะฉุกเฉินต่อไปไหม เขาจะมีการเลือกตั้งหรือเปล่า แต่ถ้ามีก็คงเป็นการเลือกตั้งที่ทหารยังมีบทบาท

"ถ้าเป็นแบบนี้ก็เท่ากับว่า ไทยจะไปละเลยความสัมพันธ์กับกองทัพพม่าไม่ได้ เพราะเขายังยืนระยะกันอยู่ เราก็ต้องคงความสัมพันธ์กับมิน อ่อง หล่าย เพราะยังต้องค้าขายกันไปถึงใจกลางของเมียนมาอยู่ พูดง่ายๆ ว่า ไทยต้องเตรียมตัว และประเมินสถานการณ์ให้ดี ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละแบบอย่างไร มันผันแปรไปตามสถานการณ์และภูมิทัศน์"

อ่านบทความที่น่าสนใจ :