ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ เหตุกลุ่มต่อต้านถล่มเมียวดี ชี้รัฐบาลทหารพม่ากำลังอ่อนแอ แต่คงยังไม่ยอมแพ้โดยง่าย แนะไทยควรช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นผู้นำผสานกลุ่มอาเซียน หารือสร้างสันติภาพในเมียนมา

สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหาร กับกลุ่มต่อต้านในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง 'เมียนมา' ดูท่าทีแล้วจะยังไม่จบลงโดยง่าย หลังจาก สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และ กองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) บุกเข้าโจมตีเมืองเมียวดีอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์  

จนกระทั่งวันที่ 5 เม.ย. 2567 ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารสามารถยึดเมืองเมียวดีได้เกือบทั้งหมด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทางการรัฐบาลทหารพม่ากว่า 600 คน (เป็นทหาร 410 นาย) ยอมจำนนต่อฝ่ายต่อต้าน นับได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของรัฐบาลทหารพม่า ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย หลังจากรัฐประหารมา 3 ปี 

ภาพ : AFP
ภาพ : AFP

...

รายงานล่าสุด (10 เม.ย. 2567) พบว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และกองกำลังปกป้องประชาชน ผนึกกำลังปะทะกับทหารพม่ากองพัน 275 ค่ายทหารใหญ่ ฐานที่มั่นสุดท้ายของทหารพม่าในเมืองเมียวดี ติดชายแดนไทย อ.แม่สอด จ.ตาก

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายตรงพูดคุยกับ 'ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ' หรือ 'อาจารย์จา' อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังร้อนระอุ และสอบถามความคิดเห็นว่า ไทยควรวางตัวอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น!

รัฐบาลทหารพม่ากำลังอ่อนแอ? : 

ร้อยเอก ดร.จารุพล แสดงความคิดเห็นว่า ตอนนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลทหารพม่าอ่อนแอลงแล้ว อาจจะเรียกว่า 'เพลี่ยงพล้ำ' ทางยุทธการก็เป็นได้ เพราะทุกวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์เขาทำงานสอดประสานกันมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถต่อสู้ได้ในเชิงมิติทางการทหาร

ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนที่น่าคิด เพราะโดยปกติแล้วรัฐบาลหรือกองกำลังของชาติ จะมีความเข้มแข็งกว่ากลุ่มมวลชน แต่กรณีนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลสู้ไม่ได้ ทำให้เราพอจะวิเคราะห์ได้ว่า สถานการณ์ของรัฐบาลทหารเอง ก็คงไม่ค่อยดีสักเท่าไร

หรือวิเคราะห์ในมุมคนนอก ตอนนี้ถ้าจะมองว่าภายในรัฐบาลมีปัญหา ก็มีความเป็นไปได้ เชื่อว่าในเรื่องนี้ยังมีเรื่องของความชอบธรรมในหมู่ทหาร แต่ถ้าเขาไม่มีปัญหากันจริงๆ มันก็น่าจะต้องดูมีความสามัคคีกันมากกว่านี้ 

"อย่างไรก็แล้วแต่ ผมรู้สึกว่างานนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะว่าถ้าเราดูยุทโธปกรณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาสู้กับรัฐบาลทหาร จะเห็นว่าเขามีอุปกรณ์ที่น่าสนใจมาก เช่น โดรนติดอาวุธ ซึ่งมันไม่น่าจะหาได้ง่ายๆ ถ้ารัฐบาลมีก็คงไม่แปลก"

อาจารย์จา กล่าวข้อวิเคราะห์เสริมว่า มุมมองของนักวิชาการ มองว่าสถานการณ์นี้อาจจะมีมหาอำนาจต่างๆ อาจจะเข้ามามีบทบาท หรือเข้ามาสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นคำถามที่สงสัยกันอยู่ มีการวิเคราะห์ลักษณะนี้เหมือนกัน

...

รัฐบาลไม่ยอมแพ้ ส่อแววยืดเยื้อ : 

หากวิเคราะห์ออกมาเช่นนั้น ก็ดูเหมือนว่า 'ความมั่นคง' และ 'เสถียรภาพ' ของรัฐบาลทหารพม่าเริ่มสั่นคลอนแล้ว แบบนี้คาดว่าพวกเขาจะยอมแพ้ ยกธงขาวในสนามแห่งการปะทะนี้หรือไม่?

ร้อยเอก ดร.จารุพล มองว่า เรื่องยกธงขาว ผมคิดว่ารัฐบาลคงไม่ยอมหรอกครับ และคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก หากมองในฐานะรัฐบาล ถ้ายกธงขาวแล้วจะยังไงต่อ จะต้องยกประเทศให้กลุ่มอื่นบริหารไหม หรือว่าจะไปทิศทางไหนต่อ ตอนนี้มีอำนาจในมือแล้ว เขาไม่ยอมง่ายๆ 

"เรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ เพราะย่อมไม่มีใครอยากจะยอมใคร ทางรัฐบาลก็ต้องพยายามรักษาอำนาจต่อไป ลองนึกภาพเล่นๆ ก็ได้ว่า ถ้าถึงขั้นรบกันแตกหักไปข้างหนึ่ง จนกระทั่งชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับชัยชนะ ผู้ที่เคยมีอำนาจก็จะต้องมีคดี วุ่นวายกันไปหมด เขาเลยต้องพยายามสู้ให้เต็มที่ สถานการณ์น่าจะยังยืดเยื้อออกไป" ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับทีมข่าวฯ 

หากไทยปฏิเสธอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ : 

...

ทีมข่าวฯ ยกตัวอย่าง สถานการณ์เมื่อ 7 เมษายน 2567 สื่อหลายสำนักรายงานว่า หลังสู้รบกันอย่างหนัก ระหว่างทหารเมียนมากับ KNU และ PDF ที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ฝ่ายทหารเมียนมาไม่สามารถต้านอีกฝ่ายได้ ส่งผลให้ข้าราชการในสังกัดสภาบริหารทหารเมียนมา จ.เมียวดี ต้องถอนตัวออกจากตัวเมือง 

หลังจากนั้นรัฐบาลเมียนมาได้ประสานถึงรัฐบาลไทย ขอให้เครื่องบิน ATR72-600 ลงจอดที่ท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อลี้ภัยให้แก่เหล่าข้าราชการ…

เมื่อมีข่าวแพร่สะพัดออกมาเช่นนั้น ดูเหมือนว่าชาวไทยไม่ค่อยเห็นด้วยกับเรื่องนี้สักเท่าไร บางส่วนมองว่า "รัฐบาลไทยไม่ควรให้ที่ลี้ภัยรัฐบาลทหารพม่า" อีกทั้งนักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนมองว่า รัฐบาลควรตัดสินใจและวางตัวอย่างระมัดระวัง

จากเหตุการณ์ตัวอย่าง ทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ไทยในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิด ควรทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น?

อาจารย์จา แสดงทรรศนะว่า ผมเรียนอย่างนี้… ในเรื่องของการต่างประเทศ จะมี 'กระบวนการ' อยู่ ว่าเราจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไร ส่วนนี้มีมาตรการที่เป็นสากลอยู่ กรณีนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ที่เมียวดี สถานฑูตเมียนมาในประเทศไทย ก็ได้ขออนุญาตถึงกระทรวงต่างประเทศ ว่าจะมีการเอาเครื่องบินมาลงจอดที่แม่สอด เขาใช้เหตุผลทางการว่า 'เป็นการช่วยเหลือเชิงสิทธิมนุษยชน'

...

"เมื่อเข้ามาลักษณะแบบนี้ มันเป็นกระบวนการระหว่างรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับ 'ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ' ทำให้การจะไปปฏิเสธเลยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อเขาขอความช่วยเหลือเรามาแบบ 'รัฐ กับ รัฐ' ถ้ารัฐบาลไทยไปปฏิเสธเลย มันก็จะเสียหายเหมือนกัน"

ความเสียหายที่กล่าวถึงเกี่ยวข้องกับเรื่องใด? ทีมข่าวฯ สอบถาม ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

จะเสียหายในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยปกติแล้วเมื่อเป็นการทำงานระหว่าง 'รัฐ กับ รัฐ' เราจะมองไม่ได้ว่า "รัฐบาลนี้มาจากการรัฐประหารนะ หรือกลุ่มที่เขาต่อสู้เขาเรียกร้องประชาธิปไตยนะ เราต้องไม่ช่วยเหลือสิ่งที่รัฐขอมา" ซึ่งจะทำอย่างนั้นคงไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ กล่าวตอบ

ประเทศไทยควรวางตัวอย่างไร? : 

จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา มีกระแสชวนสับสนมากมาย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงสอบถามผู้เชี่ยวชาญว่า 'ประเทศไทยควรวางตัวอย่างไรดี?'

ร้อยเอก ดร.จารุพล กล่าวว่า วันนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประเทศไทยเองก็ต้องวางตัวไม่ให้เผลอเพลี่ยงพล้ำไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อย่างเช่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ แม่สอด รัฐบาลไทยเลยจำเป็นต้องตอบรับ โดยที่เราก็ต้องใช้เหตุผลตามที่เขาแจ้งมา

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยากจะให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจด้วยว่า มันมีเรื่องมาตรการ กระบวนการ และการฑูตเข้ามา ไม่ใช่ว่า รัฐบาลทหารมาขอความช่วยเหลือ แล้วเราควรจะตัดทิ้งไปเลย เพราะว่าเขาเป็นรัฐบาลเผด็จการ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ในโลกความเป็นจริง นี่คือข้อเท็จจริง

"ผมมองว่าในการรับมือของประเทศไทยวันนี้ เราต้องวางตัวกลางๆ เราต้องให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนทั้งกับ 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายชาติพันธุ์ และรัฐบาลกลาง ถ้าเขามาขอความช่วยเหลือเรา เราก็ควรที่จะต้องให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน"

หากกล่าวเช่นนั้น สมมติถ้ามีผู้ลี้ภัยฝั่งชาติพันธุ์เข้ามา เราก็ควรจะช่วยเหลือใช่หรือไม่? 

"โดยตามหลักการมนุษยชนแล้ว เราก็ควรที่จะช่วยเหลือ" อาจารย์จาตอบทันท่วงที ก่อนจะกล่าวเสริมต่อว่า…. แต่จะช่วยเหลือในระดับไหน มันก็เป็นเรื่องที่เราก็ต้องมาบริหารจัดการกันด้วย 

เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับงบประมาณ มีอีกหลายมิติที่จะต้องมานั่งดูกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ในมิติของภาพรวมที่มีผลต่อภาพลักษณ์ในเวทีสากล การช่วยเหลือด้านมนุษยชนมันทำได้ และสมควรจะทำอยู่แล้ว ถ้าเกิดว่าเราจะมีกำลังพอ

"ขณะเดียวกันก็ต้องหาความสมดุลให้ได้ การที่จะบอกว่า 'เราช่วยนะ เข้ามาเลยเป็นแสนเป็นล้าน' อย่างนั้นก็อาจจะไม่ไหว เราเองมีงบประมาณที่จำกัด คงจะต้องมาวางแผนกันตรงนี้ รัฐบาลอาจจะต้องมีการพูดคุยในเชิงระดับสูง และทุกๆ ระดับ เพื่อจัดการให้ได้ ต้องทำให้เหมาะสม และดูว่าการช่วยเหลือจะทำยังไง ให้อยู่ภายใต้ร่มของสิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม"

หากไทยช่วยกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วรัฐบาลทหารไม่โอเค จะทำอย่างไร เรื่องนี้ ร้อยเอก ดร.จารุพล มองว่า เขาก็อาจจะมีการโวยวายได้ แต่ผมเชื่อว่า ถ้ายึดถือและมั่นคงในหลักกการมนุษยชน มีจุดยืนที่ชัดเจน รัฐบาลจะสามารถจะตอบกลับได้ว่า

"เรายึดหลักนี้อยู่นะ คนของคุณเดือดร้อนมาเราก็ช่วย คนของอีกฝั่งมาเราก็ต้องช่วย เรื่องนี้มันเป็นหลักการสากลอยู่แล้ว จะเป็นจุดที่ดีพอสมควร ซึ่งโดยรวมเท่าที่ผมตามข่าว ถือว่ารัฐบาลไทยรับมือได้ดี อย่างที่เรียนไป มันเป็นเรื่องของกระบวนการ เรื่องนี้คนไม่ไม่เข้าใจกันเยอะ ซึ่งมิติการฑูตมีความซับซ้อน"

ท่าทีของนานาประเทศ : 

ทีมข่าวฯ สอบถามอาจารย์จาว่า ท่าทีของต่างประเทศ และของประชาคมอาเซียนที่มีต่อพม่าเป็นอย่างไรบ้าง?

"ตอนนี้เราไม่ได้เห็นภาพอย่างชัดเจน ว่ามีประเทศไหนมาสนับสนุนออกนอกหน้า ซึ่งไม่น่ามีประเทศไหนทำแบบนั้นด้วย" อาจารย์จากล่าว ก่อนที่จะอธิบายต่อไปว่า…

เรื่องที่กำลังเกิดขึ้น ถือเป็นปัญหาภายในประเทศ ส่วนจะมีการสนับสนุนในเบื้องลึกเบื้องหลังหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะตอบได้ เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ก็มีการวิเคราะห์คาดการณ์กันไปว่า ต่างฝ่ายต่างได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ แต่ถามว่ามีหลักฐานชัดเจนไหม มันก็ยังคงไม่มีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม 

ร้อยเอก ดร.จารุพล อธิบายต่อว่า อาเซียนของเราจะมีข้อตกลงเป็นแนวทางร่วมกันว่า จะไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของต่างประเทศ แต่อาเซียนเองมีความพยายามที่จะค้นหา พูดคุย ถึงกลไกต่างๆ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลเราเองก็ทำอยู่ และดำเนินการภายในกรอบอาเซียน 

แนะไทยนำอาเซียนผสานสันติภาพ : 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ มองว่า บทบาทของไทยในวันนี้ มีอีกสิ่งที่ทำได้ คือ ทำหน้าที่เป็น Active coordinator หรือ Active peace conductor หมายความว่าเป็นผู้นำในการหารือร่วมกันระหว่างอาเซียน เป็นจุดประสานให้สันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมา

อย่างไรก็ตาม หากจะเป็นผู้สร้างสันติภาพ ผมก็ไม่เห็นด้วยถ้ารัฐบาลไทยจะกระโดดไปเล่นด้วยตัวเองเพียวๆ เรื่องนี้ควรจะไปกับเวทีอาเซียน เพราะถ้าฉายเดี่ยว เดี๋ยวประชาคมโลกจะมองว่าเราแทรกแซงกิจการต่างชาติมากเกินไป

"แต่ถึงอย่างนั้น ถ้ามีเรื่องที่นักวิชาการหลายคนกังวล คือ ถ้าเบื้องลึกเบื้องหลังของเมียนมามีมหาอำนาจอยู่จริงๆ เวทีอาเซียนเราก็อาจจะสู้ได้ยาก เพราะอาเซียนก็ยังไม่ได้เป็นเอกภาพขนาดนั้น หลายประเทศในอาเซียนยังมีประเทศมหาอำนาจเป็นพี่ใหญ่อยู่"

ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto


อ่านบทความที่น่าสนใจ :