รองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบปมอาหารหมาเร่ร่อน หลังพลเมืองดีร้องเรียน กรณีพบอาหารสุนัขมีกลิ่นเหม็น ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” พยายามหาข้อเท็จจริง จนล่าสุด มีการลงพื้นที่และเตรียมปรับปรุงอาคาร พร้อมวางแผนการจัดเก็บอาหารสุนัขให้มีคุณภาพมากขึ้น
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร จ.อุทัยธานี โดยทำการตรวจสอบโดมเลี้ยงสุนัข อาคารเก็บอาหาร คลินิกสัตวแพทย์ และพื้นที่โดยรอบ พร้อมประชุมหารือวางแผนการปรับกายภาพของศูนย์พักพิงฯ เนื่องจากมีความชำรุดตามระยะเวลาและการใช้งาน
การดำเนินการระยะแรกจะปรับปรุงซ่อมแซมคอกสุนัข อาคารเก็บอาหารสุนัข รวมทั้งตรวจการจัดการอาหารสุนัข พร้อมวางแผนระบบการบริหารจัดการดูแลสุนัขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
...
สำหรับแนวทางการดูแลสุนัขภายในศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร จ.อุทัยธานี ประกอบด้วยการเลี้ยงดูแลประจำวัน การป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ และป้องกันเห็บหมัด การรักษาสุนัขเจ็บป่วย การสร้างความคุ้นเคย และการฝึกสุนัขให้เชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้นเพื่อรอรับการอุปการะ ศูนย์พักพิงสุนัขฯ มีสัตวแพทย์ 2 คน และเจ้าหน้าที่ดูแลสุนัข 70 กว่าคน
สัตวแพทย์จะทำหน้าที่ในการวางแผนจัดการด้านสุขภาพของสุนัข การเลี้ยงดูแล การป้องกันโรค ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลสุนัข นอกจากนี้ยังดูแลด้านการคัดกรองและการรักษาโรค ปัจจุบันยังไม่พบโรคระบาดในศูนย์พักพิงสุนัขฯ
กรณีสุนัขป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะย้ายสุนัขมาที่คอกพยาบาล ซึ่งอยู่ติดกับอาคารคลินิกสัตวแพทย์ เพื่อดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การเสียชีวิตของสุนัขในศูนย์พักพิงสุนัขฯ ส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตตามอายุขัย และตามสภาวะสุขภาพที่อาจจะไม่แข็งแรง หรือมีโรคแฝงภายในร่างกายของสุนัขจรจัดมาก่อน หรือการกัดทำร้ายกันตามลักษณะของสุนัขจรจัดเมื่ออยู่รวมฝูง
ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร จ.อุทัยธานี มีพื้นที่ 200 ไร่ สามารถรองรับสุนัขได้ 6,000 ตัว โดยมีแผนปรับลดจำนวนสุนัขต่อพื้นที่ลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ต่อตัวให้กับสุนัขมากขึ้น ภายในแบ่งเป็นโดมขนาดใหญ่ มีหลังคาสูงถ่ายเทอากาศได้ดีจำนวน 16 โดม แต่ละโดมจะประกอบด้วยคอกสุนัข 5 คอก และในแต่ละโดมมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลสุนัขประมาณ 3-4 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนของสุนัข
เมื่อสุนัขจรจัดเข้ามาที่ศูนย์พักพิงสุนัขฯ จะมีการแยกระหว่างสุนัขเดิมและสุนัขใหม่ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสภาพพื้นที่ จากนั้นจะมีการสร้างความคุ้นเคยระหว่างสุนัขเดิมและสุนัขใหม่ และจะทำการคัดแยกสุนัขที่มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าวออกจากสุนัขตัวอื่น รวมทั้งคัดแยกสุนัขแก่หรือเจ็บป่วยไปเลี้ยงดูแลในพื้นที่แต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลสุนัขประจำคอกจะทำการสังเกตพฤติกรรมของสุนัข หากพบมีการกัดทำร้ายจะทำการคัดแยกสุนัขออก.
...
ภาพจาก กทม.