สำรวจศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จ.อุทัยธานี ในความดูแล กทม. หลังพลเมืองดีร้องเรียน "สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์" กรณีพบสุนัขเร่ร่อนในสถานกักสัตว์ผอมโซ ตายต่อเนื่องผิดปกติ พบยังใช้อาหารเม็ดรูปแบบเดิมอยู่ ขณะสุนัขป่วยหนักถูกขังรวม เผยเหตุสุดอนาถไม่มีคนมารับไปเลี้ยงต่อ
กรณีพลเมืองดีร้องเรียนถึง ปัญหาอาหารสุนัขในศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จ.อุทัยธานี ในความดูแลของ กรุงเทพมหานคร ว่ามีปัญหาเรื่องคุณภาพการจัดเก็บไม่เหมาะสม ทำให้อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงสุนัขมีกลิ่นเหม็น สุนัขเร่ร่อนในศูนย์ไม่กินอาหาร และสุนัขหลายตัวมีปัญหาสุขภาพ ทำให้เสียชีวิตจำนวนมาก
จากข้อมูลกรุงเทพฯ ระบุถึงจำนวนสุนัขเร่ร่อน ที่จับได้ถูกส่งมายัง ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จ.อุทัยธานี บนเนื้อที่ 200 ไร่ ที่รองรับสุนัขได้ 8,000 ตัว ส่วนงบประมาณที่ใช้ดูแล ระบุไว้เมื่อปี 2562 มีสุนัขในความดูแล 4,871 ตัว ใช้งบประมาณ 17 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นค่าอาหาร 12 ล้านบาท เวชภัณฑ์ 5 ล้านบาท แต่ไม่พบข้อมูลตัวเลขงบประมาณในปีล่าสุด
...
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ประสานไปยังแหล่งข่าวในพื้นที่เพื่ออัปเดต สถานการณ์สุนัขเร่ร่อน ในศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จ.อุทัยธานี ได้ให้ข้อมูลในการลงพื้นที่สำรวจว่า ด้วยความที่ศูนย์ดังกล่าวอยู่ไกลจากชุมชน และมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้มีบรรยากาศเงียบเหงา โดยทางเข้าปลูกต้นไม้ไว้ร่มรื่น เมื่อเดินทางเข้าไปมีเรือนพยาบาลขนาดใหญ่ ภายในแบ่งเป็นห้องไว้ค่อนข้างเป็นระเบียบ ศูนย์แห่งนี้มีสัตวแพทย์ประจำอยู่ 2 คน ถือเป็นภาระหนักที่ต้องดูแลสุนัขกว่าพันตัว ในวันที่ลงพื้นที่มีเจ้าหน้าที่จาก กทม.ส่วนกลางเริ่มเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด หลังได้นำเสนอข่าวออกไป
ถัดออกไปจากเรือนพยาบาล เป็นสถานกักสุนัขเร่ร่อน ที่ถูกส่งมาจากศูนย์ประเวศ ทุกตัวที่ส่งมาจะมีการทำหมัน แต่บางตัวกำลังตั้งท้อง ทำให้ต้องมาคลอดในศูนย์แห่งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ส่วนนี้แบ่งเป็น 16 โดม แต่ละคอกมีสุนัขเร่ร่อนถูกส่งมาปะปนกัน ซึ่งแต่ละโดมมีสุนัขไม่ต่ำกว่า 300 ตัว และมีเจ้าหน้าที่ดูแลแต่ละคอก 1 คน เฝ้าทำความสะอาด พร้อมทั้งให้อาหาร
อาหารสุนัขยังถูกจัดสรรไม่เหมาะสม
วันที่แหล่งข่าวทำการสำรวจ พบอาหารสุนัขประเภทเม็ด ใส่กระสอบถูกตากแดดไว้เพื่อรอเวลานำอาหารไปให้สุนัข แต่น่าสนใจว่า อาหารเม็ดที่มีการประมูลมียี่ห้อเดียว และให้สุนัขกินตลอดปี อาหารเม็ดมีขนาดใหญ่ประมาณ 2-3 ซม. ทำให้สุนัขขนาดเล็กกินได้ยาก นอกจากนี้ช่วงที่สำรวจ แม้มีการยืนยันว่าให้อาหารกับสุนัขแล้วในช่วงเที่ยง แต่มีอาหารเม็ดโปรยไว้บนพื้น ซึ่งสุนัขบางส่วนไม่ได้กิน ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้น กทม.มีการระบุถึงการแก้ปัญหาว่า ได้นำอาหารสุนัขประเภทกระป๋องมาคลุกรวมกับอาหารเม็ดเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น แต่ยังไม่พบอาหารประเภทดังกล่าว
ด้านสุนัขป่วย บางส่วนไม่มีการแยกไว้เฉพาะ แต่รวมไว้กับสุนัขปกติ โดยพบว่าสุนัขที่มีอาการผอมจนเห็นซี่โครง ได้ในช่วงโดมแรกๆ สุนัขป่วยเหล่านี้จะใช้ชีวิตแยกไม่รวมเป็นฝูงเหมือนตัวอื่น และพบหมาหลายตัวเป็นขี้เรื้อน แต่ถูกขังรวมกับตัวอื่น เสี่ยงจะทำให้เกิดโรคติดต่อ ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า โรคที่สุนัขจรจัดในพื้นที่มักเป็นคือ โรคเกี่ยวกับระบบลำไส้
ข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่พบอีกปัญหาที่สุนัขจรจัดถูกนำมาขังรวมกันในที่เดียว มักมีตัวที่ดุร้าย มีพฤติกรรมเป็นจ่าฝูง กัดและทำร้ายตัวที่อ่อนแอกว่า บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปห้าม แต่ยังไม่มีเครื่องมือที่ช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่สุนัขบางตัวที่ถูกส่งมาใหม่ มีความเสี่ยงจะถูกจ่าฝูงเดิมกัด จนบาดเจ็บหรือตายได้
...
ด้วยความที่โดม ที่ใช้กักสุนัขทั้ง 16 โดม สร้างมาตั้งแต่ คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่า กทม. ทำให้บางจุดเริ่มมีความเสียหาย โดยเฉพาะฝ่าเพดานกันความร้อน หลุดเสียหายเกือบทุกโดม ทำให้ความร้อนจากภายนอกระอุเข้ามาถึงภายใน แม้บนหลังคามีสปริงเกอร์น้ำ แต่ไม่ได้เปิด ซึ่งหนึ่งในข้อสันนิษฐานการเสียชีวิตของสุนัขมากผิดปกติ อาจมาจากอากาศที่ร้อนจัด
จากการสำรวจน่าสนใจว่า สุนัขที่ถูกขังไว้ในโดมส่วนใหญ่ มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่น แม้ กทม.พยายามรณรงค์ให้คนรักสัตว์ รับเป็นผู้อุปการะสุนัขเร่ร่อนในศูนย์ แต่มีค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้รับเลี้ยงส่วนใหญ่ต้องการได้ลูกหมา แต่หมาที่อยู่ในศูนย์เป็นช่วงวัยรุ่น อาจมีพฤติกรรมดุร้าย ซึ่งหมาที่เสียชีวิตในศูนย์จะมีเตาเผาแบบเฉพาะ
สิ่งที่น่าชื่นชมในการสำรวจคือ แต่ละโดมมีการทำความสะอาด ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็น และมีการเก็บขี้สุนัขเป็นระเบียบ แต่ถังน้ำที่ให้สุนัขดื่ม แต่ละโดมจะรองใส่กาละมังไว้ 1-2 จุด
...
งบปริมาณดูแลหมาเร่ร่อนยังเป็นปริศนา
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ พยายามหาข้อมูลอาหารสุนัข ที่ศูนย์พักพิงสุนัข จ.อุทัยธานี พบว่าอาหารสุนัขดังกล่าว เหมาะกับสุนัขโตทุกสายพันธุ์ มีการขายในออนไลน์ขนาด 10 กก. เฉลี่ยกระสอบละ 345-390 บาท
ข้อมูลจากกรุงเทพฯ ระบุไว้ในปี 2562 ศูนย์พักพิงสุนัข อุทัยธานี มีสุนัขในความดูแล 4,871 ตัว ใช้งบประมาณ 17 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นค่าอาหาร 12 ล้านบาท เวชภัณฑ์ 5 ล้านบาท แต่ละปีจับสุนัขจรจัดปีละ 6,000-8,000 ตัว ในจำนวนนี้มีเจ้าของมาขอรับคืนราว 2,500 ตัว ส่วนที่เหลือถูกส่งเข้าศูนย์พักพิง
...
อีกด้านข้อมูลจากเอกสารประกาศของ กทม.เรื่องประกวดราคาซื้ออาหารสุนัขชนิดเม็ด จำนวน 480 ตัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ระบุราคากลางในการประกวดราคา เมื่อปี 2561 เป็นเงินทั้งสิ้น 12 ล้านบาท
จากข้อมูลของแหล่งข่าวในพื้นที่ และข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของ กทม. "ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์" ยังคงเกาะติด เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพหมาจรจัดที่หลากหลายอย่างเหมาะสมต่อไป.