คุยกับ 'ภัสรา นทีทอง' ผอ.เขตบางขุนเทียน ชี้การแก้ปัญหาลิงมี 3 ระยะ เข้าใจความต้องการทุกฝ่าย ตอนนี้เขตอยู่ตรงกลาง ระหว่างกลุ่มไม่ต้องการลิง และกลุ่มรักลิง ย้ำ กทม.ไม่นิ่งนอนใจ แต่ต้องใช้เวลาและไปตามสเตป22 มีนาคม 2567 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เดินทางไปยังซอยเทียนทะเล 22 และซอยบางกระดี่ 23 ณ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามสถานการณ์ และรับฟังปัญหาเรื่องลิงที่สร้างความเดือดร้อนหลังจากการได้พูดคุย พบว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากพฤติกรรมของลิง โดยเฉพาะการเข้ามาทำลายทรัพย์สิน และรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ บางคนถึงขั้นอยู่ในภาวะจิตตก จนต้องเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์ อ่านเพิ่มเติม : จิตตก อดทน 10 ปี ลิงบางขุนเทียน พังบ้าน ก่อกวน ยังไร้ทางออกเมื่อสถานการณ์ยังไม่สู้ดีนัก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ติดต่อไปยัง 'นางภัสรา นทีทอง' ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน เพื่อสอบถามถึงแนวทางบรรเทาทุกข์ดังกล่าว ซึ่ง ผอ. ได้ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาในพื้นที่ซอยเทียนทะเล 22 และบริเวณอนุสาวรีย์คุณกะลาให้เราฟัง โดยแบ่งการแก้ไขออกเป็น 3 ระยะ"การแก้ปัญหา 3 ระยะ"ระยะที่ 1 :ผอ.เขตบางขุนเทียน กล่าวว่า จุดที่มีปัญหา คือ ซอยเทียนทะเล 22 ซอยเทียนทะเล 17 และส่วนของอนุสาวรีย์คุณกะลา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของเขา (ลิง) เพียงแต่ว่าประชาชนรุกคืบเข้าไปทำธุรกิจ ปลูกสร้างบ้านเรือน ทำให้กลายเป็นว่าคนกับลิงต้องอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นจุดที่เป็นประเด็นหลักคือซอย 22 "การแก้ไขระยะแรก ได้มีการเข้าไปดูในเรื่องของความเดือดร้อน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา พบว่าสิ่งที่ลิงต้องการที่สุดคืออาหาร เราเลยบริหารจัดการแหล่งอาหาร และทำจุดให้อาหารเพิ่มขึ้น"ผอ.ภัสรา ชี้แจงต่อว่า บังเอิญเราโชคดี ที่มีคนพื้นถิ่นก็คือร้านคาเฟ่ชื่อ Hungry Monkey ที่บริหารจัดการโดยคุณฉิ่ง เขาจะคลุกคลีอยู่กับลิงกลุ่มนี้ (เทียนทะเล 22) ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยกว่าตัว คุณฉิ่งจะรู้วิธีว่าลิงจะมากี่โมง ลิงตัวไหนเป็นจ่าฝูง ตัวไหนเป็นลูก หรือมีลูกเพิ่มไหม ตัวไหนทำหมันแล้ว เขาเป็นคนที่เรียนรู้กับพฤติกรรมลิงมาตลอด เขาอยู่ตรงนี้มาประมาณ 20 กว่าปีแล้วโดยพื้นที่บริเวณบ้านคุณฉิ่งเป็นพื้นที่สวน ด้านหลังเป็นที่ว่างเปล่า ลิงจะอาศัยอยู่ด้านหลังของพื้นที่ตรงร้านเขาเลย พอเป็นอย่างนั้น เราเลยเข้าไปหารือในชุมชนทั้งหมด ประชุมร่วมกับชุมชน และขอความเห็นว่าควรทำอย่างไร จึงได้ข้อสรุปว่า…"เราจึงทำการทดสอบย้ายแหล่งอาหาร โดยขอความร่วมมือจากร้าน Hungry Monkey ให้เขาตั้งจุดให้อาหารลิงในร้าน 3 จุด ทางเขาก็ยินดีให้ความร่วมมือ นอกจากนั้นยังกรุณาปรับพื้นร้าน และทำเครื่องเล่นให้ลิง ส่วนอีกอย่างที่เราทำคือการย้ายแหล่งขยะ และทำกรงครอบขยะไม่ให้ลิงมารื้อ ป้องกันความสกปรกและวุ่นวาย โดยได้ทดลองดำเนินการมาประมาณ 2 เดือนแล้ว"ผลของระยะที่ 1 : ทีมข่าวฯ สอบถามผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียนว่า หลังจากได้ทดสอบแล้ว มีผลเป็นอย่างไรบ้าง? นางภัสรา ตอบว่า หลังจากเราทดสอบการทำจุดให้อาหารลิงมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ผลคือ ลิงกลับไปใช้เวลาอยู่ในชุมชนน้อยลง บางตัวก็ไม่ไปในจุดที่เคยไปแล้ว แต่มาอาศัยที่ร้าน Hungry Monkey แทน พอลิงกินอิ่มเขาก็จะกลับไปนอนที่ด้านหลังร้าน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาลิงกวนชาวบ้านก็ยังไม่ได้หมดไป เนื่องจาก ผอ.ภัสรา บอกว่า ทุกวันลิงฝูงนี้จะเดินผ่านร้าน เพื่อเข้าไปอยู่ในซอยชุมชน 22 แล้วก็ไปค้น ไปรื้อ ไปทำความวุ่นวายให้กับประชาชน พอเสร็จแล้วก็จะเดินกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ว่าง"ลิงคุ้นเคยกับร้าน Hungry Monkey เมื่อไรที่ลิงเข้ามาในร้านนี้ สิ่งที่เขาจะได้รับการตอบรับก็คืออาหาร แต่เมื่อไรที่เขาพ้นจากร้านนี้ไปแล้ว เขาจะได้รับการไล่บ้าง ตีบ้าง หรือขู่บ้าง ทำให้ลิงจึงผ่านร้านนี้โดยไม่ได้ทำลายข้าวของเลย แต่จะไปทำลายข้าวของประชาชนที่เดือดร้อนนอกร้าน"นางภัสรา กล่าวต่อว่า ดังนั้น การที่เราปรับจุดให้อาหารใหม่ ผลคือทำให้เขาใช้เวลาอยู่ตรงนี้มากขึ้น การรบกวนชาวบ้านเลยน้อยลง แต่ว่าก็ยังมีลิงเข้าไปกวน ถึงอย่างนั้นนี่คือสเตปแรกที่เราดำเนินการไป ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้ผลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลิงสำหรับเรื่องการให้อาหารนั้น ทางเขตไม่ได้ปล่อยให้ร้าน Hungry Monkey ดูแลฝ่ายเดียว แต่เขตมีการเข้ามาสนับสนุน โดยหาอาหารจากผู้บริจาคมาเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้เพียงพอต่อความต้องการของลิง "ในหนึ่งอาทิตย์ 2 วันเราจะไปรับอาหารที่มีผู้บริจาคมา เพื่อที่จะไปส่งต่อที่จุดบ้านคุณฉิ่ง แต่ถึงอย่างนั้นอาหารก็ยังไม่เพียงพอ แม้ว่าเขตจะพยายามทำ CSR เรื่องนี้แล้ว"ระยะที่ 2 : ระยะที่ 2 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการรับฟัง และประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ นี่เป็นข้อความรวบยอดที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พอจะสรุปได้จากคำบอกเล่าของผู้อำนวยการเขตพื้นที่"การดำเนินการระยะที่ 2 เป็นการทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า กทม.กำลังทำอะไรอยู่บ้าง เช่น การประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะให้เขากลับมาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานกับหน่วยงานที่ต้องหารือร่วมกัน และเมื่อลงตัวก็จะนำไปสู่ระยะที่สาม คือ การจัด Zoning (การแบ่งเขต)" นางภัสรา กล่าวกับเราเอาล่ะครับคุณผู้อ่าน ก่อนจะเข้าไปสู่ระยะที่ 3 กลับมาดูระยะที่ 2 กันต่อก่อนดีกว่า ว่าเขตบางขุนเทียนดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง?ผอ.เขตบางขุนเทียน อธิบายต่อว่า ส่วนที่เขตทำได้ก็คือ มีการประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนสำหรับบริเวณเกาะคุณกะลาว่า บริเวณนี้มีลิงอยู่ ให้ทุกคนชะลอการขับรถ เนื่องจากกลุ่มคนรักลิงเขาซีเรียสเรื่องการคุ้มครอง เขากลัวว่าลิงจะเกิดอันตรายจากเหตุรถชน เพราะลิงจะข้ามถนนไปมา เพื่อไปเอาอาหาร หรือไม่ก็ไปตีกันเองระหว่างฝูง เขตก็ไปดำเนินการปักป้าย ไปทำจุดเพิ่มให้อาหารให้เป็นระเบียบ"แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่ตลอดเวลาคือ เขตดำเนินการจุดตั้งอาหารไว้บริเวณเรียบทางด่วนแถวเกาะคุณกะลาแล้ว แต่ประชาชนยังใช้วิธีโยนให้ คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งที่เรามีจุดให้อาหาร แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใจบุญ มันก็เลยกลายเป็นความเลอะเทอะสกปรก"ระยะที่ 3 : เดินทางสู่แนวทางการแก้ปัญหาระยะที่ 3 จากคำบอกเล่าของ ผอ.เขต หลังจากเราได้รับฟังแล้ว ดูเหมือนว่าระยะนี้จะดำเนินการยากที่สุด เพราะต้องใช้เวลาในการตกตะกอนทุกๆ เรื่อง และมีส่วนของงบประมาณที่ 'น่าจะ' มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องจากระยะที่ 2 ที่ ผอ.ภัสรา เกริ่นไว้ว่า "เมื่อลงตัวก็จะนำไปสู่ระยะที่สาม คือ การจัด Zoning"นางภัสรา นทีทอง กล่าวว่า การจัด Zoning เป็นแผนระยะที่ 3 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะจัดพื้นที่ไว้ที่ตรงอนุสาวรีย์คุณกะลา ให้เป็นที่อาศัยของลิง เพียงแต่ว่าขณะนี้เขตยังไม่มีความเชี่ยวชาญ ในลักษณะเข้าไปตรวจสอบดูพื้นที่ ว่าต้องจัดสรรพื้นที่ประมาณเท่าไร หรือจะดำเนินการได้ไหม ถ้าได้แล้วจะยังไงต่อ ตรงนี้อยู่ในส่วนขององค์กรกับองค์กรที่กำลังคุยกันอยู่ และเขตกำลังดำเนินการอยู่"ซึ่ง ณ วันนี้ กทม.อยู่ในขั้นตอนที่กำลังจะจัด Zoning ต้องคุยในองค์รวมว่า งบประมาณจะมาจากไหน ออกแบบเป็นแบบไหน จะคุ้มทุนไหม จะถาวรไหม จะทำให้ปัญหาหมดไปไหม แต่ตอนนี้เราบรรเทาปัญหาเบื้องต้น ลิงที่ไปก่อกวนปัญหาประชาชนก็ได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว เรามองว่าวันนี้ปัญหาลดน้อยลงกว่าที่เคยได้รับ"อย่างไรก็ตาม ปัญหาดูจะไม่ใช่แค่ 'งบประมาณ' แต่การจะนำลิงจากจุดอื่นในเขตบางขุนเทียน ที่มีปัญหากับชาวบ้าน มาไว้ที่อนุสาวรีย์คุณกะลาได้ทั้งหมด ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน เพราะพวกมันเป็น 'ลิงคนละฝูง'ผอ.เขตบางขุนเทียน กล่าวเสริมว่า การจัด Zoning ที่เกาะคุณกะลา ต้องไม่ลืมว่าลิงเคยอยู่เป็นฝูง มีจ่าฝูงอยู่หลายกลุ่ม ถ้าเอาไปอยู่ในเกาะคุณกะลาทั้งหมด เขาก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง ยังไม่มีที่ย้ายลิงออกไป : จากสกู๊ปเรื่อง 'จิตตก อดทน 10 ปี ลิงบางขุนเทียน พังบ้าน ก่อกวน ยังไร้ทางออก' จะเห็นได้ว่ามีหัวข้อหนึ่ง ที่ประชาชนในพื้นที่ตั้งความหวังสูงสุดว่า "ให้เอาลิงออกไปได้ไหม?" ทีมข่าวฯ จึงถามคำถามเดียวกันนี้กับ ผอ.เขต ที่อยู่ปลายสายนางภัสรา ตอบว่า ถ้าถามว่าเราสามารถเอาออกจากพื้นที่ได้หรือไม่ ต้องถามต่อว่า "เอาออกไปไหน?""การที่เราจะเอาออกไปไหน มันก็มีคำถามต่อว่า เราจะเอาไปไหน เราเอาออกได้ไหม หรือถ้าเราเอาออกได้ แต่เราจะเอาไปไหน อันนี้คือหลักใหญ่ ซึ่งเราเคยประสานสวนสัตว์แล้ว แต่สวนสัตว์ไม่รับ ต้องไปถามที่กรมอุทยานฯ ว่า กรมอุทยานฯ ดูแล พ.ร.บ.ตัวนี้อยู่ คุ้มครองสัตว์ป่าอยู่ จะทำยังไงดี เพราะ กทม.เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการดูแลพื้นที่"ผอ.เขตบางขุนเทียน กล่าวต่อว่า ประชาชนเดือดร้อน เราต้องเข้าช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ในการช่วยเหลือกับปัญหาลักษณะนี้ ไม่ใช่อำนาจของ กทม.อย่างเดียว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง"ถามว่าเราอยากบรรเทาประชาชนไหม เราต้องบรรเทาอยู่แล้ว ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่เราจะเอาเขาไปไหน กลุ่มคนรักลิงก็ออกมาปกป้องว่ามันมี พ.ร.บ.คุ้มครองลิงอยู่ เราก็เลยต้องทำให้สองฝ่ายอยู่ในสัดส่วนที่ไปกันได้""เขตไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่อำนาจหน้าที่บางอย่างไม่ได้อยู่กับเขตโดยตรงอย่างเดียว เราหารือกับท่านอธิบดีกรมอุทยานฯ ท่านก็ให้แนวคิดว่ามาสร้างสวนลิงกันไหม แต่ถามว่างบประมาณ รูปแบบ มันมาต่ออีกหลายเรื่อง""อีกทั้งจุดที่เป็นเกาะคุณกะลา ณ วันนี้ มีการจัดสรรพื้นที่รอบๆ ประชาชนไปซื้อหาเป็นที่อยู่อาศัย ถ้าเราจะจับปัญหาหนึ่งไปไว้ตรงนั้น โดยที่จุดรองรับยังไม่พร้อม มันจะเกิดเป็นปัญหาใหม่"นางภัสรา เสริมว่า เราเคยหารือกับกรมแล้ว แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะรับลิงฝูงนี้กลับไปอยู่ตรงไหนได้เลย เขาบอกว่าที่เขาไม่พอ ที่เขาไม่มี เขาเลยแนะนำให้เราจัด Zoning อย่างที่กล่าวมารักลิง VS ไม่เอาลิง : ปัญหาเรื่องนี้ดูจะคล้ายกันแทบทุกพื้นที่ เพราะสุดท้ายไม่ใช่แค่ 'คน VS ลิง' แต่ยังมี 'คน VS คน' !!!ผอ.เขตบางขุน กล่าวว่า ในเขตบางขุนเทียน กลุ่มที่เขาต้องการให้เอาลิงออกจากพื้นที่ คือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนกลุ่มที่ต้องการให้ลิงอยู่ในพื้นที่ ก็คือกลุ่มคนรักลิง ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหา"ความถาวรที่กลุ่มคนที่เขาเดือดร้อนต้องการ คือ เอาลิงออกจากพื้นที่ ซึ่งนี่เป็นคำตอบเดียว แต่ความถาวรของกลุ่มคนรักลิง ก็ต้องการให้ลิงอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้แสดงความเป็นอัตลักษณ์ว่า บางขุนเทียนมีลิงแสมฝูงสุดท้าย ลิงฝูงนี้จะสูญหายไปจากพื้นที่ไม่ได้"นางภัสรา อธิบายต่อว่า อันนี้ก็เหมือนเป็นการต่อสู้ระหว่างสองกลุ่ม ซึ่งมีเขตอยู่ตรงกลาง เขตก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มคนรักลิงว่า ลิงไปก่อปัญหาแบบไหน แต่สุดท้ายกลุ่มที่เขารักลิง ก็ยังมีความต้องการอยากให้ลิงอยู่ กทม.และเขต ไม่เคยนิ่งนอนใจ :นางภัสรา นทีทอง กล่าวว่า เราบรรเทาความเดือดร้อนไปบ้างแล้ว แต่เราเข้าใจประชาชน เพราะถ้าเราเป็นคนเดือดร้อน เราก็คงใจร้อนเหมือนเขา ว่าทำไมทำอะไรไม่ทันใจสักที เพราะความเสียหายมีอยู่ทุกวัน แต่ในความที่หน่วยงานที่เราเป็นเจ้าหน้าที่ เราก็มีขั้นตอนกระบวนการ เข้าใจว่าปัญหายังมีอยู่ แต่ก็ทุเลาลง "พี่พูดได้เลยว่ามันทุเลาลงนะ แต่ยังไม่ถาวร""ในเขตเองก็ไม่มีงบประมาณเรื่องลิงสักบาทเดียว แต่สิ่งที่เราจะดูแลช่วยเหลือประชาชนได้ ก็อะไรที่เสียหาย มาแจ้งเรา อะไรที่เราช่วยได้ เราก็จะช่วยบรรเทา และสิ่งที่เรามองว่าจะหยุดปัญหาลิงได้ คือ ต้องให้เขาอิ่ม และอีกอย่างเขาต้องสัมผัสได้ว่าไม่มีคนทำร้าย"ผอ.เขตบางขุนเทียน กล่าวว่า สิ่งที่เราทำให้แล้วตอนนี้ คือ เมื่อประมาณสักเดือนหนึ่ง เราทำหมันไปอีกร้อยกว่าตัว เราจะทำหมันเพิ่มให้ เพื่อลดประชากรลิง ตอนนี้มีการคิดกันว่าจะทำรั้วกั้นลิงให้อยู่บริเวณร้านคุณฉิ่ง เพื่อไม่ให้ลิงออกมา แต่ต้องดูต่อไปอีกว่ารั้วต้องเป็นแบบไหน และเงินที่จะต้องทำรั้วเอามาจากไหน เพราะ กทม.ก็ยังขาดงบประมาณ "เราเข้าใจว่าความถาวรคือการย้ายออก และเราได้มีการพูดคุยหารือบ้างแล้ว ไม่ใช่รับเรื่องมาแล้วก็ปล่อยไป ท่านรองผู้ว่าฯ ท่านผู้ว่าฯ ก็เป็นห่วงเรื่องนี้มาก แต่เราต้องทำทีละสเตป ตอนนี้เราพยายามมาช่วยปรับพฤติกรรมลิง แล้วพฤติกรรมลิงไม่ใช่แค่ปรับวันเดียวหรือสองวัน เขาอยู่มาเป็น 10 ปี เราก็ต้องให้เขาใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhotoอ่านบทความที่น่าสนใจ : จิตตก อดทน 10 ปี ลิงบางขุนเทียน พังบ้าน ก่อกวน ยังไร้ทางออกรออีก 1 ปี ย้ายลิงลพบุรีเข้ากรง กับงบ 30 ล้าน ที่ยังไร้คำตอบ?'ลิงลพบุรี' ยังวุ่น ตรวจกรงนิคมลิงยังไม่ได้มาตรฐานสรุป 'วิกฤติลิงลพบุรี' ปัญหาที่ยังไม่คลี่คลายทุกข์ที่ยังวิกฤติ ตามติด 'ลิงลพบุรี' หลังลงนาม MOU 1 เดือน