ส.ต.ต.หญิง โพสต์เหตุสุดเศร้า หลังฝึกหลักสูตรกองร้อยควบคุมฝูงชน หนักถึงขั้นป่วยซึมเศร้า สภาวะจิตใจย่ำแย่ ถูกกดดันซ้ำจากระบบตำรวจ แม่ยืนยันลูกสาวฝันรับราชการ แต่มาเจอเรื่องร้ายสุดโหด ผู้เชี่ยวชาญมอง หลักสูตรฝึกตำรวจไทยล้าหลัง เทียบเยอรมัน ใช้หลักมนุษยชน วิทยาศาสตร์การกีฬา ไม่เน้น "นายเป็นใหญ่" อย่างเดียว

กลายเป็นกระแสวิจารณ์บนโลกโซเชียล เมื่อ ส.ต.ต.หญิง รายหนึ่งออกมาโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงปัญหาส่วนตัวที่ได้รับจากการฝึกตำรวจ ทำให้ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ต่อมามีภาวะซึมเศร้าและได้รับการกดดัน จนเตรียมตัวลาออกจากราชการ โดยมีเนื้อความบางส่วนดังนี้ "สวัสดีค่ะ ส.ต.ต.หญิง ผบ.หมู่ ฝอ.4 บก.อก.บช.น. วันนี้จะมาลากลับดาวแมวค่ะ อนาคตหนูได้ดับสลายแล้ว ความสามารถต่างๆ บัดนี้ได้สูญเสีย ตลอดระยะเวลาการเป็นตำรวจ 1 ปี หนูได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นคนป่วยจิตเวช เป็นโรคซึมเศร้าจากการฝึก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุถูกเตะศีรษะในค่าย ซึ่งเพื่อนที่เตะไม่ได้ตั้งใจ หนูไม่เคยโกรธ ไม่เคยติดใจ หนูรักษาตัว และถูกให้กลับไปฝึกอีกครั้ง แต่โดนครูฝึกทำโทษทุกอย่างทุกทาง พูดทำร้ายจิตใจทุกวัน เอาเชือกฟาดขา โดนดองเวรยืนเวรทุกคืนไม่ได้นอน ไม่เคยได้พักตามที่หมอสั่ง ต้องทำท่าที่เอาหัวลงพื้น มันทรมานมาก ป่วยจนไอเป็นเลือด ออกมารักษาตัวและไม่ได้กลับไปฝึกอีก เนื่องจากอาการทางจิต"

...

หลังการโพสต์ของ ส.ต.ต.หญิง ช่วงเช้าวันนี้ (25 มี.ค. 67) พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รุดไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เตรียมจะตรวจสอบหลักสูตรในการฝึกดังกล่าว และพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งถ้าเป็นการฝึกที่ไม่เหมาะสมก็จะมีการปรับเปลี่ยน

แม่ยืนยัน ลูกสาวป่วยซึมเศร้าหนัก หลังการฝึกตำรวจ

ด้านแม่ของ ส.ต.ต.หญิง ให้ข้อมูลหลังมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลตำรวจว่า ตอนนี้ลูกอยู่ในความดูแลของหมอ ซึ่งหมอมีการรักษาอย่างต่อเนื่องมาตลอด สาเหตุซึมเศร้ามาจากการฝึก โดยลูกเล่าว่า เมื่อบรรจุได้ต้องไปฝึกที่ค่าย จนมีเหตุการณ์รับน้องที่เกิดขึ้นในค่าย ซึ่งลูกได้บอกถึงอุบัติเหตุ ที่เท้าของเพื่อนมาโดน จนมีอาการเลือดออกในสมอง หลังรักษาเสร็จได้กลับเข้าไปฝึกอีกรอบ แต่ลูกยังมีภาวะบาดเจ็บที่หัวอยู่ โดยในใบรับรองแพทย์ระบุมีอาการเลือดออกในสมอง

กรณีที่ถูกครูฝึกบูลลี่ ก็เป็นไปตามที่ลูกโพสต์ โดยน้องมีอาการเครียด ซึมเศร้า หลังน้องไปฝึกมาก็รู้สึกตกใจ ลูกเรียนรักษาดินแดนมาจนถึง 5 ปี ลูกภูมิใจที่สอบได้เป็นตำรวจ ตัวแม่เองยังให้ลูกตัดสินใจว่ายังอยากรับราชการตำรวจอยู่หรือไม่ เพราะลูกมีความกดดันและเครียด ประกอบกับมีภาวะซึมเศร้า แม้ก่อนหน้านั้นพยายามรักษามาตลอด ซึ่งการที่ลูกโพสต์ออกมาก็เหมือนมีความอัดอั้นอยู่ภายใน

ด้านเพื่อน ส.ต.ต.หญิง ระบุว่า ตอนเรียนด้วยกันเพื่อนเป็นคนสดใส แต่พอไปฝึกกลับมีอาการป่วย และมาปรึกษามากขึ้น เนื่องจากมีอุบัติเหตุจากการฝึก โดยช่วงหลังๆ เพื่อนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาการที่เกิดขึ้นทำให้มีอาการซึมเศร้ารุนแรง และมีคำพูดจากครูฝึก ทำให้สภาพจิตใจแย่ เพราะทุกคืนที่นอนยังฝันเห็นภาพตอนฝึก

นอกจากนี้ ยังมีการทำโทษด้วยการดองเวร คือ ให้ยืนเข้าเวรนานๆ ขณะเดียวกันเมื่อกลับไปฝึก ก็ยังมีการให้ใช้หัวจนเกิดความบาดเจ็บซ้ำอีก และด้วยความที่ถูกกดดันมายาวนานกว่า 1 ปี ทำให้เกิดภาวะสับสน จนต้องโพสต์ออกมาบนโลกโซเชียล


ตำรวจไทยยังมีการฝึกหลักสูตรล้าหลัง

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ พยายามหาคำตอบถึงการฝึกหลักสูตรของตำรวจ ทำให้เกิดภาวะกดดันจนมีอาการป่วยซึมเศร้าได้หรือไม่ เพราะหลังจาก ส.ต.ต.หญิง ออกมาเปิดเผย มีหลายคนออกมาระบุว่า มีตำรวจอีกหลายนายเจอภาวะเช่นเดียวกัน โดย "รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล" รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การฝึกของตำรวจมีการฝึกแบบทหาร สำหรับเคสนี้เป็นการฝึกเพื่อเข้าไปอยู่ในกองร้อยควบคุมฝูงชน หรือกองร้อยน้ำหวาน โดยมีการส่งไปฝึกที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่สิ่งสำคัญต้องดูที่มาตรฐานสากลเป็นหลัก

...

เป้าหมายการฝึก เพื่อนำยุทธวิธีไปควบคุมฝูงชน อย่างในเยอรมนี แนวทางการฝึกตำรวจควบคุมฝูงชน ไม่เน้นให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะตราบใดที่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ในกระบวนการฝึก ต่อไปตำรวจจะไปละเมิดสิทธิประชาชน ดังนั้น หลักการฝึกหนักจริง แต่ต้องคำนึงถึงหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา มีนักจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วย

"กรณีที่เกิดขึ้น ต้องมาดูว่ามีกระบวนการฝึกอย่างไร และน้องรายนี้ได้รับผลกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ ก่อนกลับมาฝึกอีกครั้ง แต่ยังได้รับผลกระทบกระเทือนอีก นี่ถือเป็นประเด็นที่ทำไมครูฝึกรู้แล้วว่าน้องมีปัญหาบริเวณศีรษะ แต่ทำไมยังมีการฝึกที่ได้รับผลกระทบอีก ต้องยอมรับว่าการฝึกแบบตำรวจไทย ยังมีการฝึกแบบโบราณ แต่การจะฝึกกองร้อยน้ำหวาน ต้องอิงมาตรฐานสากล"

การฝึกตำรวจยังเน้นรูปแบบทหาร ขณะการฝึกตำรวจในต่างประเทศมีความเป็นสากลมากกว่า โดยแนวคิดเน้นว่า "การใช้กำลังเป็นทางเลือกสุดท้าย ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้" แต่ในกระบวนการฝึกต้องมีความพอดี ในการไม่ละเมิดสิทธิผู้ฝึกจนเกินไป

ไทม์ไลน์การฝึกโหดของ ส.ต.ต.หญิง

...

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. กล่าวว่า ส.ต.ต.หญิง สมัครใจลงมาฝึกตามหลักสูตรกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนเอง โดยมีไทม์ไลน์การฝึกตลอดหลักสูตร ดังนี้

เริ่มฝึกตั้งแต่ วันที่ 15 มี.ค.-12 ก.ค. 2566 ผ่านมาเพียง 4 วัน วันที่ 19 มี.ค. 2566 ส.ต.ต.หญิง ประสบอุบัติเหตุระหว่างการฝึก ถูกเพื่อนในรุ่น กระโดดชักเท้าหลังไปโดนศีรษะจนบาดเจ็บ ต้องส่งตัวไปรักษาด่วนที่ รพ.หัวหิน และส่งไปรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ กทม. แพทย์ลงความเห็นให้รักษาตัวอยู่ 10 วัน ช่วงวันที่ 20-29 มี.ค. 2566 พอถึงวันที่ 29 มี.ค. 2566 ส.ต.ต.หญิง กลับมารายงานตัวต่อที่กองร้อยการฝึก ฝึกต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 มี.ค-7 เม.ย. 2566 กระทั่งวันที่ 8-17 เม.ย. ส.ต.ต.หญิง ได้พักตามกรอบเวลา

เมื่อถึงวันที่ 17 เม.ย. 2566 ต้องเริ่มการฝึก แต่ ส.ต.ต.หญิง ไม่ได้กลับมาฝึก แต่ไปรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ และรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง แพทย์ให้ความเห็นว่า เครียด วิตกกังวล ต้องรักษาอย่างใกล้ชิด

ตามหลักสูตรการฝึก ต้องฝึกให้ครบ 440 ชั่วโมง แต่ด้วยอาการป่วย จึงฝึกต่อไม่ได้ ต้องส่ง ส.ต.ต.หญิง กลับไปที่กองอำนวยการ 4 ดังเดิม
พล.ต.ต.นพศิลป์ ยืนยันว่า การที่ ส.ต.ต.หญิง ถูกเตะศีรษะนั้นคืออุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และก็จะไม่มีบทลงโทษใดๆ กับคนที่เตะด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ส.ต.ต.หญิง ก็โพสต์ ยืนยันแล้วว่าเป็นอุบัติเหตุจริง ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น ยืนยันว่า ทางต้นสังกัดจะรักษา ส.ต.ต.หญิง ให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะได้รับตามสิทธิข้าราชการอย่างครบถ้วน.