นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทยชี้ ผลผลิตสัตว์น้ำในประเทศกำลังแย่ ส่วนหนึ่งเพราะนำเข้าจากต่างชาติ วอนภาครัฐเร่งจำกัด และเข้มตรวจสอบคุณภาพ ยกตัวอย่างเคสปลากะพงมาเลเซีย ตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน!!!หลังจากที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พบข้อมูลจากกลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและพัฒนาการประมง กรมประมง ซึ่งได้เผยจำนวนฟาร์มเนื้อที่เลี้ยง ผลผลิต และมูลค่าปลาดุก ที่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้ติดตามเรื่องนี้อยู่เป็นระยะอ่านเพิ่มเติม : 'ปลาดุกไทย' ยิ่งเลี้ยง ยิ่งลด จับตาอนาคต 2 ปัจจัยคุกคามอย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวของเราได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่ปลาดุกที่กำลังดูท่าจะมีปัญหา แต่ผลผลิตสัตว์น้ำชนิดอื่นของไทยก็กำลังลดลงเช่นกัน เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก 'การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ'ทีมข่าวฯ จึงได้ต่อสายตรงหา 'คุณสุทธิ มะหะเลา' หรือ 'คุณเค' นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ให้ได้ช่วยชี้แจงถึงสถานการณ์ขณะนี้ และความคิดเห็นถึงแนวทางในการแก้ไข ที่อาจช่วยให้ปัญหาทุเลาลง ผลผลิตปลาไทยน้อย เพราะต้นทุนสูงและสินค้านำเข้า : คุณสุทธิ กล่าวว่า ระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรบ้านเราไม่ว่าจะผลิตสินค้าอะไร เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลากะพง กุ้ง หรืออื่นๆ ราคาผลผลิตก็ไม่เคยขึ้น แต่ต้นทุนกลับขึ้นทุกปี ค่าอาหาร ค่าไฟ หรือค่าแรงก็ขึ้นมาเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง 'ปลากะพง' ช่วงประมาณ 10 ปีที่แล้ว หรือปี 2557 ค่าอาหารเลี้ยงปลาถูกกว่าตอนนี้ประมาณ 20% ส่วนราคาปลาอยู่ที่ประมาณ 105-120 บาท/กิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคาอาหารขึ้นมา 20% ทั้งที่ราคาปลาเท่าเดิม "สาเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้น เนื่องจากมันมีสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าจากต่างประเทศ ตีเป็นเลขกลมๆ ปีนึงเกือบ 2 ล้านตัน จำนวนในนั้นแบ่งเป็น 1 ล้านตัน ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตส่งออก และอีก 1 ล้านตัน นำเข้ามาภายใต้มาตรการภาษีเป็น 0 เพื่อเอามาขายให้คนไทยบริโภค"คุณเค กล่าวต่อว่า ถ้าจะถามว่าเรื่องภาษี 0% ส่งผลต่อเกษตรกรไทยยังไง ผมจะอธิบายว่า สินค้านำเข้าพวกนี้ภาษี 0% เขาไม่เสียอะไร แต่คนไทยที่ทำอาชีพเกษตรกรอยู่ในประเทศต้องเสียหลายอย่าง ไหนจะเรื่องค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ราคาวัตถุดิบอาหาร เรามีภาษีนำเข้าของเยอะแยะไปหมด และทุกวันนี้สินค้า 0% มีหลายอย่าง เช่น ปลาซาบะ ปลาแซลมอน หรือปลาทู ซึ่งนำเข้ามาแล้วขายในราคาที่ถูกลงได้ มันเลยเข้ามาเสียบเกษตรกรบ้านเรา ทำให้คนไทยผลิตแล้วขาดทุน จนต้องหยุดไปทำอย่างอื่นกันหมด เพราะฉะนั้นถ้ามองกลับไป ทุกวันนี้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรบ้านเราสูงขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำอาชีพนี้แล้ว เขาเห็นพ่อแม่ทำแล้วขาดทุน คราวนี้ใครอยากจะทำ…"ราคาต้นทุนเราสูง ปลานำเข้าก็เยอะและถูก นี่จึงเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผลผลิตปลาของไทยลดลง พอเกษตรกรไทยเลิกผลิต มันก็เลยมีที่ว่างให้สินค้านำเข้ามามากขึ้น พวกที่ทำสถิติเขาก็จะบอกว่า เมื่อบ้านเรามีน้อยลง ก็ต้องนำเข้า" นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวกับทีมข่าวฯ มาเลเซียตีตลาดปลากะพง-ปลาดุก : นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวยกตัวอย่าง ปลากะพง ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตร ที่กำลังถูกเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียตีตลาดให้เราฟังว่า ตั้งแต่ปี 2557-2562 สมาคมผู้เลี้ยงปลาทะเลไทย เคยสามารถประกันราคาปลากะพงที่ผลิตในประเทศได้ จนกระทั่งเข้าสู่กรกฎาคม 2562 ทางมาเลเซียเปลี่ยนเป้าหมาย จากการเลี้ยงกุ้งขาวมาเป็นปลากะพง และมีการนำเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้การค้าเสรีอาเซียน 0% และต้นทุนถูกกว่าในไทย "ค่าไฟของมาเลเซียถูกกว่าเราประมาณ 3 เท่า ของเขาอยู่ที่ประมาณ 1.50-1.60 บาท/ยูนิต แต่ของเราเกือบ 5 บาท ราคาน้ำมันของเขาถูกกว่าเรา 50% หรือจะราคาอาหารสัตว์ที่ถูกกว่า 20% และที่สำคัญค่าเงินริงกิตอ่อนกว่าเราประมาณ 20% อีกด้วย" คุณสุทธิ กล่าวต่อว่า ไซส์ปลาที่เขาส่งมาเมืองไทย เป็นไซส์ของเหลือจากเขา เพราะมาเลเซียจะกินปลาไซส์ขนาด 4-6 ขีด สำหรับ 7 ขีดขึ้นไปเป็นของเหลือ ของติดบ่อ ที่เขาต้องหาทางขายทิ้งเพียงแค่เอาทุนคืน "เราเกรงว่าเกษตรกรไทยจะแย่ ในฐานะที่ทำงานกับสมาคม ก็เลยส่งเรื่องให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมประมงที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น เขาพูดว่าทำไม่ได้ ตอบโต้ไม่ได้ แต่เรามองว่ามันทำได้ และมีวิธี ซึ่งก็คือเพิ่มงบตรวจยาและสารตกค้างจากของนำเข้า"นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวเสริมว่า ไม่ใช่แค่ปลากระพง แต่ปลาดุกก็เริ่มได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะนำเข้าจากมาเลเซียมากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรไทยเลี้ยงน้อยลง ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ ฟาร์มใหญ่กินฟาร์มเล็ก ปลาดุกคนที่มีทุน มีบ่อหลายบ่อ เขาสามารถเซ็นสัมปทานโครงไก่หรือไส้ไก่ จากบริษัทใหญ่ๆ แบบรับได้ไม่อั้น ทีนี้พอฟาร์มใหญ่ทำแบบนั้น ฟาร์มเล็กก็ต้องกินอาหารเม็ด หรือมีเหยื่อสดบ้าง และสุดท้ายราคาขายมันตก ฟาร์มใหญ่อยู่ได้ ฟาร์มเล็กขาดทุน ไปต่อไม่ได้ก็ต้องเลิก พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานในปลากะพงมาเลเซีย : คุณสุทธิ กล่าวถึงประเด็นการเสนอเพิ่มงบตรวจยา และสารตกค้างในปลากะพง ที่นำเข้าจากมาเลเซียต่อว่า พอมาถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบัน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า และอธิบดีกรมประมงคนใหม่ ท่านบัญชา สุขแก้ว ได้เพิ่มงบตรวจหาสารตกค้างจาก 2% เป็น 10% "ปี 2566 เก็บตัวอย่างไปตรวจประมาณ 52 ตัวอย่าง หรือประมาณ 2% จากทั้งหมดที่นำเข้า พอถึงงบประมาณปี 2567 ขยับตัวอย่างเป็น 272 ตัวอย่าง ซึ่งพบเจอยาปฏิชีวนะปนเปื้อนในเนื้อปลาจำนวน 35% จากทั้งหมด"ขยายความเพิ่มเติม อ้างอิงข้อมูลจาก 'ผลการตรวจพบสารตกค้างในปลากะพงขาวแช่เย็นที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย' โดยกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต กรมประมง พบว่า ปีงบประมาณ 2566 จากเป้าหมาย 52 ตัวอย่าง ส่งตรวจทั้งหมด 52 ครั้ง พบสารตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน 38 ครั้ง และเกินค่ามาตรฐาน 12 ครั้ง ส่วนปีงบประมาณ 2567 จากเป้าหมาย 272 ตัวอย่าง ส่งตรวจทั้งหมด 80 ครั้ง พบสารตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน 52 ครั้ง และเกินค่ามาตรฐาน 28 ครั้ง โดยทั้ง 2 ปีงบประมาณ เป็นตัวอย่างจากด่านนำเข้าศูนย์บริการจัดการด่านตรวจประมงเขต 8 (สงขลา) และเขต 9 (สตูล)นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวว่า เมื่อผลออกมาเป็นแบบนั้น ทำให้ตอนนี้จากผู้นำเข้า 8 ราย หยุดนำเข้าไปแล้ว 4 ราย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะปลากะพงที่นำเข้ามา นอกจากจะทำร้ายเกษตรกรไทยแล้ว เมื่อมียาปฏิชีวนะปนเปื้อน ก็เท่ากับว่าทำร้ายสุขภาพคนไทยในฐานะผู้บริโภคด้วย "ที่มันมีสารปฏิชีวนะปนมาเยอะแบบนั้น เพราะกรมประมงของมาเลเซียไม่ได้แข็งแรงเหมือนบ้านเรา รวมไปถึงกติกาเรื่องการใช้ยา ก็ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกรมประมงไทย อย่างสินค้าส่งออกของเรา เวลาจะส่งออกโดนตรวจอย่างเข้มข้น แต่พอเป็นสินค้านำเข้า ถูกปล่อยเข้ามาเหมือนกับทางด่วน" คุณสุทธิ กล่าวอธิบายเพิ่มเติม ควรเพิกถอนใบอนุญาต : จากกรณีที่เกิดขึ้นโดยปกติแล้ว หากมีการตรวจพบเจอสารตกค้างเช่นนี้ ทางผู้นำเข้ามีสิทธิ์ หรือควรที่จะโดนแบล็กลิสต์ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว คุณสุทธิ บอกว่า อำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าไม่ได้อยู่ที่กรมประมง แต่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)"เมื่อพฤหัสที่แล้ว (14 มี.ค. 2567) มีการประชุมกับคณะกรรมาธิการพาณิชย์ฯ ที่รัฐสภา พบว่าประมงกับ อย. คุยกันด้วยกติกาคนละแบบ ทำให้วันศุกร์เกิดการเรียกประชุมด่วน และดูเหมือนว่าทางประมงกับ อย. จะเริ่มเข้าใจแนวทางกันมากขึ้น"นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากติกาเพิกถอนการนำเข้า ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะ อย. ยังไม่เคยใช้กฎหมายนี้ อย่างตอนนี้ที่ตรวจพบเจอสารตกค้าง 35% อย. ก็รู้เรื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เพิกถอนใบอนุญาต"เรื่องพวกนี้เราไม่เคยรู้ว่าพอกรมประมงตรวจแต่ไม่มีอำนาจจัดการ มันเลยเหมือนประมงตีดาบได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ใช้ ต้องส่งดาบให้ อย. แล้วพอ อย. เอาไป ก็ยังใช้ดาบไม่ค่อยเป็น" มีอีกหลายอย่างอยากให้ตรวจสอบ : คุณสุทธิ แสดงความคิดเห็นว่า พอทำเรื่องปลากะพง หูตาเรามองเรื่องสัตว์น้ำทั้งหมดเลย ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก และไม่อยากให้ประเทศไทยกลายเป็นที่ระบายของ เพราะตอนรู้ข้อมูลคนเดียวก็อึ้งแล้ว พอเล่าให้ใครฟังเขาก็อึ้งกว่า นี่เมืองไทยมันเกิดอะไรขึ้น"พอมีผลแบบนี้ เราก็เลยจะเข้าพบคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอร้องให้นำเคสตัวอย่างนี้ เป็นมาตรฐานไปใช้กับสินค้านำเข้าทั้งหมด 100% เพราะจากการตรวจสอบว่าที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจไหม หรือเคยตรวจบ้างไหม พบว่าตรวจน้อยถึงน้อยมาก"นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวว่า เช่น หมึกถูกๆ ที่ตัวโตๆ ชิ้นใหญ่ๆ ที่ขายตามหน้าโรงเรียน หมึกพวกนี้มาจากสภาพแบบไหนก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายจะเอามาล้างด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ให้กลายเป็นเนื้อขาวๆ ถึงจะดูสวยแต่มันน่ากลัวหรืออย่าง ปลาแซลมอน เป็นปลาที่คนกินมีภาพจำว่ากินแล้วจะรู้สึกสุขภาพดี แต่ล่าสุดมีที่ปรึกษาของบริษัทหนึ่ง เป็นบริษัทที่ขายวิตามินเข้าโรงอาหารสัตว์ เขาเข้ามาหาเรา เพราะอยากถามเรื่องปลากะพงขาว เราก็เลยถามเขาเรื่องปลาแซลมอนกลับ "เขาบอกเลยว่า ทะเลตรงอ่าวนอร์เวย์คุณภาพน้ำแย่มาก เพราะตรงนั้นมีแซลมอนเป็นล้านตัน แล้วก็ใส่อาหารลงไปด้วย สุดท้ายทะเลแย่ ทุกอย่างแย่หมด พอปลาแย่ก็ต้องกินยา อย่างกรมประมงบ้านเราอนุญาตให้ใช้ยาแค่ 2 ตัว และต้องหยุดยาอย่างน้อย 21 วันขึ้นไป ถึงจะจับขายได้""แต่แซลมอนเขาหยุดยาแค่ 4 อาทิตย์ สมมติเขาหยุดยาวันที่ 1 พอถึงวันที่ 28 เขาจับขายได้แล้ว ที่สำคัญคืออุณหภูมิบ้านเราประมาณ 30 องศา มีบวกลบบ้าง แต่ที่นอร์เวย์อุณหภูมิประมาณ 5-10 องศา อย่าลืมว่ายิ่งอุณหภูมิเย็นเท่าไร การใช้เวลาสลายของยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งนานขึ้น"อีกตัวหนึ่ง คือ แพนกาเซียสดอร์รี่ ซึ่งมันคือปลาสวายเวียดนาม มีการใช้สารโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ฟอกเนื้อให้ขาว แล้วก็ใส่ฟอสเฟตเข้าไปให้อมน้ำเยอะๆ ซึ่งพวกนี้มันดูดน้ำเข้าไปในเนื้อประมาณ 50% คุณเค กล่าวกับทีมข่าวฯ คุณสุทธิ แสดงความคิดเห็นว่า นี่คือประเทศไทย… เมื่อสินค้านำเข้าเราอยู่ในสภาพแบบนี้ ก็ไม่ต้องคิดไกลหรอกว่าทำไมช่วง 20-30 ปี คนไทยมีโรคเยอะแยะไปหมด ดังนั้น คิดว่าคนนำเข้าต้องเสียตังค์ค่าตรวจ และต้องมีการตรวจให้ดี สินค้าที่นำเข้ามาขายให้คนไทย ต้องตรวจหมด เพราะไม่อย่างนั้นคนไทยจะยิ่งป่วยมากขึ้น ลดการนำเข้า = เพิ่มผลผลิต : อย่างไรก็ตาม คุณสุทธิ มองว่า หากจริงจังเรื่องตรวจสินค้านำเข้า จะทำให้ผลผลิตในประเทศกลับมา เพราะถ้าคัดกรองแล้วเจอปัญหาก็ส่งกลับไป ตรงนี้จะไม่ผิดกติกาการค้าของ WTO ใดๆ เลย พอสินค้านำเข้าลดลง ความต้องการสินค้าในประเทศจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วราคาจะเข้าไปอยู่ในจุดที่โอเค "อย่างปลานิลจากที่ผลิตได้ 200,000 ตัน ราคาโลละ 60 บาท อาจเพิ่มเป็น 250,000 ตัน ราคาลดลงมาเหลือ 55 บาท ก็ถือว่าผู้ผลิตยังมีกำไร เพราะต้นทุนปลานิลอยู่ที่ประมาณ 38 บาท และถ้าทำได้สัก 300,00 ตัน ราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 50 บาท นี่ก็เป็นกลไกของอุปสงค์และอุปทาน"นายกสมาคมฯ ยกตัวอย่างต่อว่า สมมติจำกัดการนำเข้าปลากะพงได้ เกษตรกรไทยก็อาจจะกลับมาเลี้ยงเยอะขึ้น พอทุกอย่างกลับมาเข้าที่เข้าทาง สมาคมก็จะสามารถควบคุมราคาได้ เราจะคุมราคาไม่ให้ขึ้นเกินโลละ 120 บาท ราคาก็จะนิ่ง… คุณสุทธิ มะหะเลา กล่าวถึงช่วงท้ายของการสนทนาว่า อย่างตอนนี้ปลาช่อนก็กำลังโดนเวียดนามเข้ามาแย่งตลาด ซึ่งเราไม่มีกติกาการบล็อก แต่อยากให้มีการจัดการเรื่องนี้จริงจังสักที ก่อนที่ทุกอย่างจะแย่กว่านี้ จนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต"อย่างไรก็ดี ถามว่าที่ต่างประเทศเขาทำกันอย่างนั้นมันผิดไหม ผมมองว่าไม่ผิดนะ ผิดที่หน่วยงานของเรา อาจจะยังมีมาตรการไม่ชัดเจนและครอบคลุมพอ และกติกาตรวจสอบนำเข้าสินค้าของเราก็อ่อนแอมาก" ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานกราฟิก : Anon Chantanant ภาพ : สุทธิ มะหะเลา และ iStockอ่านบทความที่น่าสนใจ : 'ปลาดุกไทย' ยิ่งเลี้ยง ยิ่งลด จับตาอนาคต 2 ปัจจัยคุกคาม'ดุกบิ๊กอุย' และถิ่นที่อยู่ ที่มาของปลาลูกผสมรสชาติถูกปากปลาดุกไทย EP.3 เกษตรกรถูกกดราคา กับปัญหาไม่คุ้มทุน