เชียงใหม่ ติดอันดับ 1 อากาศเลวร้ายสุดในโลก แม้ปีนี้สามารถลดควันจากการเผาไหม้ด้านเกษตรได้ แต่ฝุ่นควันที่ลอยข้ามแดนยังหนาแน่น ขณะงบประมาณกลางจังหวัด ยังต้องแงะกระปุกใช้งบปี 2566 เพราะระหว่างนี้รอการอนุมัติงบประมาณปี 2567 มีการเสนอให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำงบส่วนนี้มาใช้ แต่ตัวแทนหน่วยงานรัฐ มองว่ามีผลเสียมากกว่าดี เลยทำให้ช่วงเวลานี้ การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ช่วง "สุญญากาศ" ที่คนเชียงใหม่ ต้องทนอีกนานแค่ไหน

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยังแหล่งข่าวระดับสูงที่ดูแลด้านงบประมาณของ จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ตอนนี้งบประมาณการจัดการฝุ่น ต้องใช้งบประมาณในปี 2566 ไปก่อน เนื่องจากต้องรอการอนุมัติงบประมาณปี 2567 เบื้องต้นคาดว่าถ้าใช้งบประมาณปี 2566 เพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอ จึงมีการนำเงินในส่วนอื่นมาใช้ก่อน แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

ฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเชียงใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา บางฝ่ายมีข้อเสนอในการประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อจะได้นำงบประมาณเร่งด่วนมาช่วยในการแก้ปัญหา แต่ "จตุพร บุรุษพัฒน์" ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ ยังไม่เข้าเกณฑ์ในการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

...

ตอนนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จ.เชียงใหม่ โดยมอบให้ทางกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ในการเฝ้าระวังไฟป่ากว่า 3 พันจุดทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละจุดมีการจ้างชาวบ้านในพื้นที่ 3 คน เป็นเวลา 3 เดือน ในการเฝ้าระวัง ช่วยดับไฟป่าในพื้นที่

“ปัญหาฝุ่นและไฟป่าของเชียงใหม่ ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้ลดลง เห็นได้จากจุดความร้อนหรือ hotspot ลดลงกว่าปีที่แล้วกว่า 30–35 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วงนี้ฝุ่นควันที่เพิ่มขึ้นมาจากฝุ่นควันของเพื่อนบ้าน ประกอบกับสภาวะอากาศที่ไม่ระบายตัวเนื่องจากภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ”

เชียงใหม่ ไม่เข้าเกณฑ์พื้นที่ภัยพิบัติ

การแก้ปัญหาฝุ่นของเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งต้องรองบประมาณกลางที่จ่ายมาทางจังหวัด ขณะที่เงินส่วนหนึ่งที่อนุมัติแล้วให้กับกรมทรัพยากรธรรมชาติฯ ในการดูแลพื้นที่ไฟป่า อาจไม่เพียงพอกับการดูแลปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมของเชียงใหม่ จึงมีการเสนอให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ โดย "จตุพร บุรุษพัฒน์" ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มองว่าการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ยังไม่ใช่ทางออก

ถ้าเทียบปัญหาฝุ่นของเชียงใหม่ ในปีที่แล้วหนักกว่าปีนี้ แต่ทางจังหวัดก็ไม่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เนื่องจากมีเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ว่า เมืองที่ประกาศได้ ต้องมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานตลอดทั้งวัน และต้องมีค่าสูงติดต่อกันหลายวัน แต่เชียงใหม่ แม้มีฝุ่นหนาแน่นในช่วงเช้าและเย็น แต่ลดลงในช่วงบ่ายที่มีอากาศถ่ายเท

ปัจจัยสำคัญในการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ต้องดูความจำเป็น เชียงใหม่ ถ้าประกาศจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ที่ส่งผลต่อเม็ดเงินในจังหวัดถ้าเทียบกับงบภัยพิบัติที่ได้ ปัจจุบันงบฯ ก็ได้ไม่มากเท่าแต่ก่อน เลยทำให้ทางจังหวัดพยายามใช้งบกลางที่มี หรืองบฟังก์ชันต่างๆ ในการแก้ปัญหาไปก่อน

“งบภัยพิบัติยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหาฝุ่นของเชียงใหม่ บางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ เกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะลมที่พัดพาควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือภูมิประเทศของเชียงใหม่ เป็นจุดรวมฝุ่นจากหลายแหล่งกำเนิดมารวมไว้ในที่เดียว ดังนั้นทางจังหวัดจะมีมาตรการในการป้องกันเบื้องต้นในระหว่างรองบกลาง”

...

ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ แจงงบกลางยังไม่อนุมัติ

"นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบต้นเหตุฝุ่นควันส่วนใหญ่จากพื้นที่เกษตร

สิ่งที่เราจะทำต่อไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งที่กระทรวงทรัพยากรฯ จัดสรรให้กรมต่างๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ฯ จ้างคนที่มีอาชีพหาของป่าที่มีความชำนาญ เข้ามาเป็นพนักงานรักษาป่าเกือบ 2,000 กว่าคน และขณะนี้จังหวัดอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบกลางจากรัฐบาล ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงบประมาณ ก็จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเพิ่ม ดูแลทุกช่องทางการเข้าป่า และเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกดับไฟป่า ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จนถึงฤดูฝนมา

เมื่อถามว่า มีผู้กังวลถึงความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้อนถามว่า จะเอาอะไรมาไม่โปร่งใส ในเมื่อวันนี้ พ.ร.บ.งบประมาณ ยังไม่ออกเลย ยังไม่มีเงินใช้เลย ซึ่งจังหวัดอยู่ระหว่างของบไปยังรัฐบาล เงินยังไม่อนุมัติมา ดังนั้น เรื่องความไม่โปร่งใส การใช้งบประมาณถือว่าเป็นศูนย์ เพราะยังไม่มีงบให้ใช้ อย่าเพิ่งไปถามหาความไม่โปร่งใสหรือทุจริต.

...