อ่านเกม เจ้าพ่อการตลาดยี่ห้อดูไบ "ทักษิณ ชินวัตร" กับการปรากฏตัวปิ๊กบ้านเชียงใหม่ เดินสายทำบุญ มองย้อนอดีตกับการหาเสียงทางการเมือง กับมนตร์ขลังเดิมที่ถูกนำกลับมาใช้?
“เรา” เชื่อว่าทุกคนนั้น หากต้องไปไกลบ้าน ไกลเมือง หรืออยู่ห่างไกลครอบครัวนานๆ ย่อมมีอาการ Homesick หรือ “คิดถึงบ้าน” กันบ้าง รวมไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร ที่ช่วง 3 วันนี้ (14-16 มี.ค.) มีกำหนดการกลับบ้านที่เชียงใหม่ และมีการเดินสายทำบุญ พบปะผู้คน สอบถามสารทุกข์สุกดิบชาวบ้าน
การกลับบ้านครั้งนี้เอง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะชวนผู้อ่านมาย้อนความหลัง รื้อแนวคิด การตลาด “ยี่ห้อ” ทักษิณ ว่าเขาผู้นี้ต้องการอะไร...
3 วัน “ทักษิณ” ปิ๊กบ้าน ไปไหน ทำอะไรบ้าง
14 มีนาคม 2567
05.19. น. : ทักษิณ พร้อมลูกสาวและลูกเขย แพทองธาร ชินวัตร นายปิฎก สุขสวัสดิ์ เข้าสักการะศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลหลักเมือง มาจัดเตรียมชุดบวงสรวงให้ตั้งแต่ตี 4 หัวหมู เป็ด ไก่ ปลานึ่ง กุ้งเผา ปูนึ่ง ของหวาน ผลไม้มงคล 9 อย่าง ใช้เวลาสักการะ 26 นาที ก่อนเดินทางกลับและทักทายสื่อมวลชน
...
จากนั้น ช่วงสาย 09.28 น. เดินทางถึงเชียงใหม่ โดยมี “รองโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มาต้อนรับ จากนั้นไปต่อ เพื่อชมโครงการพืชสวนโลก ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมืองเชียงใหม่ ผลงานที่เคยผลักดันไว้ตอนเป็นนายกฯ ก่อนถูกรัฐประหารปี 2549
และที่นี่เอง นายทักษิณ ได้เจอ นายภูดิท อินสุวรรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทย นำพระพุทธรูปพุทธบารมี วัดทับคล้อ หน้าตัก 9 นิ้ว มามอบให้ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดง มาคอยให้การต้อนรับ สังเกตว่า สีหน้านายทักษิณนั้นสดใสในชุดเสื้อฟ้าคราม กางเกงยีนส์
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นี่เปลี่ยนแปลงไปเยอะหรือไม่... นายทักษิณ ตอบสั้นๆ ว่า “เหมือนเดิม”
ทั้งนี้ หากสังเกตในคณะ จะมีบุคคลที่มากับนายทักษิณ คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ โดยมีคนมาต้อนรับ คือ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกบ่าย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นำประชาชนมาต้อนรับ พร้อมพากันกล่าวคำว่า “ยินดีที่ได้กลับบ้านเรา” เมื่อนายทักษิณ เดินทางมาที่ถนนคนเดินคลองแม่ข่า ต.หายยา
จากนั้น ได้กราบนมัสการ พระเทพมังคลาจารย์ (สมาน) ฉายา กิตฺติโสภโณ วัดท่าตอน พระอารามหลวง ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พระเทพมังคลาจารย์ได้มอบลูกประคำไม้หอมกฤษณา และสมเด็จวัดปากน้ำปี 2535 คล้องคอ รวมทั้งได้มอบกำไลประคำสีฟ้าให้ น.ส.แพทองธาร โดยนายทักษิณถวายปัจจัยจำนวน 10,000 บาท เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่สวดให้พรพร้อมกล่าวว่า คาถาที่มอบให้เป็นคาถาฮักเน้อ คนฮักคนชอบ และอวยพรว่าขอให้อยู่กับบ้านกับเมืองไปชั่วชีวิต
มื้อค่ำ ได้โอกาสเจอเพื่อนร่วมรุ่น 08 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย
ขณะที่วันนี้ (15 มี.ค.) ได้เดินทางมาสักการะครูบาศรีวิชัย โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนมารอรับ โดยมี ข้าราชการกระทรวงพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มารอรับ และ นายก อบจ. เชียงใหม่ จากนั้นก็ได้ขึ้นดอยสุเทพ
จากนั้นนายทักษิณ และคณะก็ได้เดินทางมาเยี่ยมพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดวโรรส ซึ่งที่นี่เอง “ทักษิณ” ได้พบกับชาวบ้านมากมายมารายล้อม และ เรียกท่านนายกฯ ทุกคำ ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างอบอุ่น หนาแน่น แต่ที่สังเกต คือ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มอายุวัยกลางคนจนถึงสูงวัย ที่รู้สึกตื่นเต้น ที่ได้พบหน้า นายทักษิณ อีกครั้ง
ในช่วงบ่าย นายทักษิณ พร้อมด้วยครอบครัว ก็ได้ไปไหว้บรรพบุรุษ และทำบุญที่ สุสานวัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งที่นี่เอง “ทักษิณ” ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อนิดหน่อย และหลังจากนั้นก็ได้ออกมาพบปะกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่มารอรับมากมาย
...
ทั้งนี้ กำหนดการของนายทักษิณ จะไปกินข้าวเย็นที่ บ้านกรีนวัลเล่ย์ อ.แม่ริม ซึ่งตามกำหนดการ ซึ่งมีการคาดว่า “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” อาจจะเข้ามาร่วมวง ในขณะที่กำหนดการวันพรุ่งนี้ จะมีการเดินทางไปกินกาแฟตอนเช้า ไปไนท์ซาฟารีตอนสาย และรับประทานข้าว ก่อนกลับ กทม.
นี่คือภาพที่เราจะได้เห็นในวันนี้ และพรุ่งนี้ คำถามแล้วในอดีตล่ะ เป็นอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ โดยศูนย์ข้อมูลไทยรัฐออนไลน์ จะพาท่านย้อนกลับไป และไปดูเหตุผลในการเดินทางครั้งนั้น
ครม.สัญจร ณ เชียงใหม่ ในปี 2544
ครั้งที่ นายทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี 2544 เคยมีการจัด ครม.สัญจร ในช่วงวันที่ 15-17 กรกฎาคม โดยการเดินทางครั้งนั้น นายทักษิณ ระบุว่า การประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการ “ปรับยุทธศาสตร์” ในการแก้ปัญหาประเทศ เพื่อให้ ครม. “เดินถูกทาง” จะได้ไม่ผิดพลาด และจะมีการจัดทุก 3-4 เดือน
ในการเดินทางระหว่างนั้น จะถือโอกาสประชุมข้าราชการตั้งแต่ระดับอำเภอของภาคเหนือ ทั้งฝ่ายปกครอง พัฒนาชุมชน สาธารณสุข และตำรวจ และจะทำความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาให้ชนบท ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษา ยาเสพติด และโครงการต่างๆ เช่น 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล, 30 บาทรักษาทุกโรค พักหนี้เกษตรกร และ กองทุนหมู่บ้าน
...
เวลานั้น สิ่งที่นายทักษิณ เน้นย้ำเป็นพิเศษคือ การช่วยเหลือหมู่บ้านต่างๆ และรัฐจะนำเงินลงไปสู่ประชาชนให้มากที่สุดภายในเดือนกรกฎาคม
โดยระหว่าง ครม.สัญจร ของนายทักษิณ ช่วงวันที่ 15-17 กรกฎาคม สิ่งที่เขาย้ำเสมอ คือ เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ด้วยกลไกจากภาครัฐต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน” โดยเน้นย้ำว่า หากหมู่บ้านไหนพร้อม เงินช่วยเหลือของรัฐก็จะไปถึงผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน
ในช่วงที่ นายทักษิณ เดินสาย มีประชาชนหลากหลายคณะทยอยเข้าพบ ทั้งการขอให้แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การขอให้มีการเร่งรัดในการสร้างโรงพยาบาล การเรียกร้องการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในเครือข่ายภาคเหนือ
ซึ่งนอกจากเชียงใหม่แล้ว นายทักษิณ ยังมีไอเดียในการทำ ครม.สัญจร ที่ภาคอีสานด้วย โดยมีการเดินทางไป ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2544 ใน 3 จังหวัดอีสาน คือ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสุรินทร์
“วาระนี้ต้องการให้รัฐมนตรีแต่ละท่านได้เปิดสมองและมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่แตกต่าง จากการประชุมในวาระปกติ ที่ต้องหารือในการแก้ปัญหาตามวาระ...
...
ครั้งก่อนที่เชียงใหม่ คือ การดูนโยบายสำคัญ อาทิ ผลิตภัณฑ์, การพักชำระหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน แต่ในครั้งนี้ คือ การแก้ปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และการลงพื้นที่จริงในภาคอีสาน เพราะเห็นว่ามีปัญหาความยากจนสูงสุด” คำพูดบางส่วนจาก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่พูดไว้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 44
“ทักษิณ” รีเทิร์น เชียงใหม่ ไหว้บรรพบุรุษในปี 2551
โดยหลังจากถูกรัฐประหารในปี 2549 นายทักษิณ มีโอกาสกลับประเทศไทย ในรอบ 1 ปี 5 เดือน ซึ่งการกลับมาในครั้งนั้น มีชอตที่เป็นภาพประวัติศาสตร์ทางการเมืองด้วยการ “กราบแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 51
กระทั่งในช่วงเมษายน ซึ่งถือเป็นช่วงปีใหม่ของไทย นายทักษิณ มีกำหนดการทำบุญหลายที่ รวมถึงการทำบุญให้กับบรรพบุรุษ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี การทำบุญที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.ศรีจอมทอง เข้าร่วมพิธีสืบชะตา ประเพณีล้านนาแบบโบราณ ที่วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา ในวันที่ 3 เม.ย. 51
เวลานั้น นายทักษิณ จะไม่พูดผ่านสื่อโดยตรง แต่จะมีการเผยข้อมูล และกำหนดการ ผ่านคนสนิทและผู้ใกล้ชิด และทีมโฆษกของพรรคพลังประชาชน อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นางศันสนีย์ นาคพงศ์ โดยที่นายทักษิณ จะงดเว้นการให้สัมภาษณ์ เนื่องจากยังมีคดีติดตัวอยู่ (ขณะนั้น)
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต กับปัจจุบันนั้น คล้ายกับ “เดจาวู” คนเดิม กับสถานที่เดิม ที่เคยเกิดขึ้น ภาพที่ออกมาในอดีต กับปัจจุบันนั้นมีความคล้ายคลึง เหมือนเป็นการ “ย้ำเตือน” ว่า “เขา” กลับมาแล้ว เขาพร้อมแล้วจะกลับมาดูแลประชาชน? เขานี่แหละจะแก้ความยากจนให้ประชาชน? นี่คือภาพการตลาดที่นายห้างดูไบเคยทำสำเร็จ แต่ครั้งนี้ ไม่รู้จะ "เหมือนเดิม" หรือไม่ ในเมื่อการเมือง ในยุคนี้ พ.ศ. นี้เปลี่ยนไปแล้ว...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ