บุกฟังเสียงสะท้อน จากเกษตรกรเลี้ยงปลาดุก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เผย "ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง" ต้นทุนสูง ได้ไม่คุ้มเสีย หลายบ่อถูกกลบเป็นผืนนา ขอลาขาด! ไม่กลับมาทำอีกหลังจากที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดตามและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ 'ปลาดุก' ของประเทศไทย ก็ทำให้พบว่า 'ผลผลิต' โดยรวมทั้งประเทศลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงเริ่มค้นหาสาเหตุของสถานการณ์นี้ ว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร?สกู๊ป 2 เรื่องที่ผ่านมา ทีมข่าวฯ ได้ต่อสายตรงเพื่อพูดคุย 'คุณอัมพุชนี นวลแสง' รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง และ 'รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ' หน่วยวิจัยจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุว่า… จำนวนปลาดุกลดลงเพราะเหตุใด?ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 คน ได้คาดการณ์สาเหตุของปัญหานี้ว่า น่าจะมีที่มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.สภาพอากาศ 2.อาหารราคาแพง และ 3.พันธุ์ปลา อ่านเพิ่มเติม : 'ปลาดุกไทย' ยิ่งเลี้ยง ยิ่งลด จับตาอนาคต 2 ปัจจัยคุกคามอ่านเพิ่มเติม : 'ดุกบิ๊กอุย' และถิ่นที่อยู่ ที่มาของปลาลูกผสมรสชาติถูกปากคำถามที่เราสงสัยต่อมาก็คือ ผู้เลี้ยงเจอปัญหา 3 ข้อข้างต้นหรือไม่ หรือมีปัญหาใดที่พบอยู่… ความสงสัยนี้ทำให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ บุกลงพื้นที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ไปพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุก เพื่อค้นหาว่าความจริงเป็นอย่างไร? พ่อค้าคนกลางกดราคาผลผลิต : ทีมข่าวฯ เริ่มต้นหาข้อมูลที่บ้านของ 'ผู้ใหญ่จรูญ' หรือ 'นายณัชกิตภัทร ผลขำ' ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ชำแระ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งได้เลี้ยงปลาดุกมากว่า 20 ปีแล้วผู้ใหญ่เปิดใจว่า สถานการณ์ของปลาดุกตอนนี้ เกษตรกรกำลังลำบากและอยู่ไม่ได้ เนื่องจาก 'พ่อค้าคนกลาง' บีบราคาผลผลิต เขาจะเป็นคนกำหนดให้หมดเลยว่า ต้องการปลาจำนวนเท่าไร และจะให้ราคาอยู่ที่เท่าไร เราถามต่อว่า ที่ผ่านมาโดนบีบราคาเยอะขนาดไหน ขายได้กิโลกรัมละเท่าไร?"ในอดีตเคยขายได้ประมาณกิโลละ 48-52 บาท และเคยได้ราคาสูงถึง 56 บาท ช่วงนี้ราคาแย่หน่อยได้กิโลกรัมละประมาณ 33 บาท แต่ก็มีบางช่วงราคาตกหนักมาก อยู่ที่กิโลละ 16-18 บาท ถึงจะได้ราคาน้อย แต่สุดท้ายคนเลี้ยงก็ต้องยอมขาย เพราะถ้าเราไม่ยอม แล้วจะเอาผลผลิตไปขายที่ไหน"ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ชำแระ กล่าวต่อว่า พวกเราขายได้ราคาถูก แต่เวลาผู้บริโภคไปเดินซื้อของที่ตลาด เคยเจอปลาดุกราคาถูกไหม ผมว่าไม่มีนะ บางครั้งโลละ 60 ถึง 70 บาท พอเจอราคานี้ไปคนกินก็เลยมองว่าของมันแพง คิดว่าพวกเราเลี้ยงแล้วได้ราคาดี "ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้คือพ่อค้าคนกลาง เพราะเขามาซื้อเราในราคาที่ถูก แต่เกษตรกรอย่างพวกผม ต้องมารองรับการขาดทุน จากพ่อค้าคนกลางที่บีบราคา พ่อค้าคนกลางมากินกับเราหนึ่งทอด ไปกินกับหน้าตลาดอีกทอดหนึ่ง กดราคาที่บ่อให้ได้มากที่สุด เกษตรกรก็เหมือนลูกไก่ในกำมือ บีบเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น ถ้าให้ลมหายใจนิดนึงเราก็รอด แต่กว่าจะรอดได้ก็แทบตายแล้ว ดังนั้น มันอยู่ที่เขากำหนด เขาไม่ได้สนใจ ถ้าเราไม่ขาย เขาก็ไปซื้อที่อื่น"ทางด้าน 'ผู้ใหญ่เก็ก' หรือ 'นายปัณณทัต ปานเนียม' ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ให้สัมภาษณ์กับเราว่า ตนเองเลี้ยงปลาดุกมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ทางบ้านเป็นคนตีปลา (จับ) ขึ้นมาเอง และส่งไปขายต่อที่ จ.เชียงราย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วงนี้ขายได้กิโลกรัมละ 35 บาทเราสงสัยขึ้นมาทันทีว่า เมื่อไม่ได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำไมยังขายได้ราคาไม่ต่างจากของผู้ใหญ่จรูญ?ผู้ใหญ่เก็ก ตอบข้อสงสัยนี้ว่า ทางนู้นก็สกัดราคาเราไว้อีกทีหนึ่ง พอเราส่งเขาไป เขาจะไปเพิ่มราคาเป็นเท่าไรเราก็ไม่รู้ แต่ถ้ามองกันจริงๆ แล้ว ราคาที่เราได้ก็ไม่ต่างจากส่งพ่อค้าคนกลางเท่าไรนัก เพราะของเราก็ต้องเสียค่าลูกน้องที่ตีปลาอีกผู้ใหญ่เก็กเสริมว่า ช่วงปลายปีที่แล้วเคยขายได้กิโลกรัมละ 20-22 บาท ด้วยซ้ำ ราคาค่อนข้างแย่…'ลุงออด' เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ไม่ไกลจากฟาร์มของผู้ใหญ่จรูญนัก ยอมรับกับเราเช่นเดียวกันว่า ราคาจากพ่อค้าคนกลางเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่งผลกระทบต่อทุกอย่าง ส่วนตัวอยากได้ราคาที่ดีกว่านี้ คิดว่ากิโลกรัมละ 33 บาท ยังน้อยเกินไป…วันที่ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ บ่อของคุณลุงมีลูกจ้างของพ่อค้าคนกลางมารับซื้อปลาดุกพอดี ซึ่งหลังจากที่คุณลุงยืนอยู่หน้ากิโล พร้อมก้มหน้าจดจำนวนเข่งปลา ด้วยความเคร่งเครียดจนเข่งสุดท้าย เขาก็ย้ายไปยืนอยู่ขอบบ่อปลา พร้อมมองดูผู้มารับซื้อด้วยสีหน้าที่ไม่สู้ดีนักจำนวนปลาในบ่อที่ลุงออดขายได้ ณ วันนั้นย่าง (ตัวเล็ก) ได้ทั้งหมด 15 เข่ง เข่งละ 48 กิโลกรัม เท่ากับ ได้ปลาดุกทั้งหมด 720 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 33 บาท เท่ากับ ได้เงินประมาณ 23,760 บาทโบ้ (ตัวใหญ่) ได้ทั้งหมด 9 เข่ง เข่งละ 48 กิโลกรัม เท่ากับ ได้ปลาดุกทั้งหมด 432 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 35 บาท เท่ากับ ได้เงินประมาณ 15,120 บาทดังนั้น หากรวมตัวเล็ก และตัวใหญ่ คุณลุงขายปลาดุกไปได้ 1,152 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 38,880 บาท ผู้อ่านอาจจะคิดว่า เงินเกือบสี่หมื่นบาทนี้ ถือว่าเป็นจำนวนที่มากแล้ว แต่สำหรับลุงออดนี่ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีสักเท่าไรนัก "รอบนี้ขายได้แค่ตันกว่า เขาเอาปลาตัวใหญ่ไป ส่วนตัวเล็กที่ไม่ได้มาตรฐานที่เขาต้องการ เขาก็จะเอาใส่บ่อให้เราเลี้ยงต่อ ซึ่งมันก็จะมาเพิ่มต้นทุนให้เราเข้าไปอีก อย่างบ่อนี้เลี้ยงมาประมาณ 5 เดือน ลงทุนค่าอาหารอย่างเดียวก็ประมาณแสนห้าแล้ว ต้องเลี้ยงต่ออีก 2 เดือน ไม่รู้จะต้องเสียอีกเท่าไร เดี๋ยวดูก่อน ถ้ารอบหน้าที่ต้องมาเอาอีกรอบ ถ้าราคาโอเค ได้ต้นทุนคืน ก็อาจจะไปต่อ แต่ถ้าดูแล้วไม่ไหว ก็หยุดทำ" ลุงออดกล่าวกับทีมข่าวฯการคัดขนาดปลาเบื้องต้นของพ่อค้าคนกลาง : ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ผู้รับซื้อมีวิธีการคัดปลาอย่างไร คำตอบคือ เขาจะมีเครื่องแยกขนาดปลา หลังจากตักปลาลงในเครื่องแล้ว ปลาตัวใหญ่จะถูกดันเข้าช่องและใส่ลงเข่ง ส่วนปลาตัวเล็กนั้น คนคัดจะหยิบออกและนำไปใส่น้ำดังเดิมจากคำบอกเล่าของ 'ผู้ใหญ่จรูญ' ทำให้เรารู้ว่า ปกติขนาดปลาดุกที่ต้องการ คือ ตัวละประมาณ 7 ขีด หรือประมาณ 2 ตัว/กิโลกรัม ถ้าจับเล็กกว่านั้น อาจจะได้ราคาที่ถูก หรือตลาดไม่รองรับ ส่วน 'ผู้ใหญ่เก็ก' บอกว่า ตลาดจะนิยมปลาตัวใหญ่ น้ำหนักตั้งแต่ 5-7 ขีด ทำให้ถ้าไม่ได้ตามที่ตลาดต้องการ เช่น บางครั้งได้แค่ไซส์ 3-4 ขีด ก็ต้องเลี้ยงต่อ "การยืดเวลาก็คือการเพิ่มต้นทุน"ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางได้หรือไม่? : เมื่อโดนบีบราคาอย่างนี้ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลางได้หรือไม่?ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตอบว่า ต้องผ่านคนกลาง 100% เพราะผู้รับซื้อรายใหญ่จะไม่เข้ามาทางเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากเกษตรกรมีจำนวนปลาไม่พอที่เขาต้องการ แล้วอย่างนี้คิดว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง?"การจะแก้ปัญหาว่าทำเกษตรกรเลี้ยงปลาน้อยลง เราต้องหันกลับไปมองสะท้อนสภาพความเป็นจริง เกษตรกรแย่อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะพ่อค้าคนกลางนี่แหละ""ผู้ขายส่งหรือขายปลีกรายใหญ่ ถ้าประสานงานกับชุมชนท้องถิ่นที่เขาเลี้ยงปลาดุก ให้จับกลุ่มรวมกันได้จำนวนมาก แล้วเข้ามาซื้อโดยตรง โดยที่ยังไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ผมว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอยู่ได้นะ เรามานั่งคุยกับเราก็ได้ มาเกื้อกูลกัน แลกความรู้ซึ่งกันและกัน""เกษตรกรอย่างผม ตอนนี้อยากได้อย่างเดียว คือ อยากให้ผู้ค้ารายใหญ่ มาหารือ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็ได้ว่า จะให้รวมกลุ่มเป็นกลุ่มใหญ่ไหม หรือว่ายังไงดี ให้คุณสามารถซื้อราคาที่สูงกว่าพ่อค้าคนกลางได้ ผลผลิตจะไม่น้อยลง อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แย่อย่างเดียว แต่มันแย่มากๆ"ที่ผ่านมาได้ลองเข้าหาผู้ซื้อรายใหญ่โดยตรงหรือไม่? ทีมข่าวฯ ถามกลับ"เราเคยพยายามจะเจรจาแล้ว เราพยายามวิ่งชนแล้ว ไม่มีใครเปิดโอกาสให้เข้าไปเลย" ผู้ใหญ่จรูญกล่าวกับเราทางด้าน 'ผู้ใหญ่เก็ก' เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยพยายามรวมกลุ่มเกษตรกร และส่งปลาไปยังผู้ค้ารายใหญ่โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางให้เราฟังว่า…"ประมาณปีที่แล้ว เรามีความพยายามจะส่งให้เจ้าใหญ่โดยตรง เขาประกันราคาให้อยู่ที่กิโลละ 40 บาท ถือว่าได้ราคาสูง ถ้าทำได้เกษตรกรอยู่ได้สบาย แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ พอเรามองปริมาณแล้ว เห็นว่ามันไม่ได้จริงๆ เขาต้องการ 20 ตัน ต่อเดือน แต่เรารวมออเดอร์ให้เขาไม่ได้"ต้นทุนแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหาร! : พอจะเรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดได้หรือไม่? เพราะจากคำบอกเล่าของเกษตรกร ที่ต้องเจอกับ 'การบีบราคาจากพ่อค้าคนกลาง' พวกเขายังต้องพบกับปัญหาต้นทุนสูง โดยเฉพาะค่าอาหารที่แพงขึ้น และไม่มีท่าทีจะลดลงง่ายๆ ผู้ใหญ่จรูญ บอกว่า ปลาดุกเป็นปลาที่ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงสูงมากอยู่แล้ว เมื่อเจอพ่อค้าคนกลางบีบราคาผลผลิต จึงทำให้ไม่ได้กำไรเท่าที่ควร หรือผู้เลี้ยงบางคนก็อาจจะขาดทุน จนกระทั่งเป็นหนี้ไปเลยด้วยซ้ำ "ปลาดุกเป็นปลากินเนื้อ ช่วงที่ยังตัวเล็กเราสามารถเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดได้ แต่ถ้าเลี้ยงไปได้เดือนกว่าๆ ตัวจะเริ่มใหญ่แล้ว ต้องเปลี่ยนเป็นเลี้ยงด้วยอาหารสด ที่เกษตรกรนิยมใช้ก็คือ 'โครงไก่' เอามาโม่แล้วนำไปให้ปลากิน ซึ่งราคาของเหยื่อสดจะอยู่ที่กิโลละประมาณ 5-6 บาท หาแหล่งซื้อของที่ถูกกว่านี้ไม่เจอแล้ว""ต้นทุนที่สูงขึ้น เราแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ตอนนี้ทุกอย่างต้องทนยอมรับสภาพ รับความเป็นจริงให้ได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย" ผู้ใหญ่จรูญกล่าวกับเรา'พี่โต้ง' อีกหนึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุก ที่วันนี้ได้มาบ้านผู้ใหญ่จรูญ เล่าให้เราฟังว่า…"อย่างบ่อของผม ช่วงที่ปลาโตแล้ว ค่าอาหารครึ่งนึงเยอะมาก ให้ปลากินอาหารประมาณวันละตัน แล้วอาหารกิโลละ 6 บาท เท่ากับวันนึงค่าอาหาร 6,000 บาท สมมติถ้า 10 บ่อ ก็วันละ 60,000 บาท มันเลยทำให้เราไม่ไหว ผลผลิตได้น้อย ขายได้น้อย แต่ยังสู้ต่อไป ไม่สู้จะเอาอะไรกิน"ทางด้าน 'ผู้ใหญ่เก็ก' ให้ข้อมูลว่า เลี้ยงมาประมาณ 20 ปี ช่วงแรกๆ ต้นทุนต่ำ อาหารถูก น้ำมันถูก ทุกอย่างถูก แต่สถานการณ์ตอนนี้เหมือนว่าต้นทุนสูง หลายอย่างสูงเห็นได้ชัด"แต่ก่อนอาหารปลาใหญ่ อยู่ที่ประมาณ 200-250 บาท ต่อ 1 ลูก (ประมาณ 20 กิโลกรัม) ปัจจุบัน อาหารปลาใหญ่ 380 บาท ส่วนอาหารปลาเล็ก 770 บาท ราคามันต่างกันเยอะ ถึงของสดจะช่วยไปได้หน่อย แต่มันก็ช่วยได้กับปลาโต"ปลาดุกโตช้ากว่าเดิม : ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกว่า "ช่วงนี้ปลาโตช้าขึ้นหรือไม่?"ผู้ใหญ่เก็ก กล่าวว่า รู้สึกว่าโตช้ากว่าเดิม แต่ก่อนใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ตอนนี้อาจจะถึง 6 เดือน พอระยะเวลาเลี้ยงเพิ่ม ก็หมายความว่าเราต้องเพิ่มเงินไปอีก กว่าจะได้ขนาดที่ตลาดต้องการ ถ้าต้นทุนต่ำมันก็พอได้ แต่ตอนนี้ต้นทุนสูง เราก็เลยมองว่ามันแย่อย่างไรก็ตาม ทางด้านผู้ใหญ่จรูญ แสดงความคิดเห็นว่า ปลามีโตช้าบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง อยู่ที่พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของมันด้วย ถ้าพ่อพันธุ์หนุ่ม ลูกปลาก็แข็งแรง ไปเจอพ่อพันธุ์แก่แล้วมันก็อ่อนแรง มันเป็นช่วงของมัน ไม่อยากให้เหมารวมว่าลูกปลาทั้งหมดโตช้า "ช่วงไหนที่เราจะเจอปัญหานั้นเราก็ต้องแก้ปัญหาไป ถ้ามันยังไม่โตตามที่ต้องการ เราก็ต้องยอมรับสภาพในการขาดทุนไป ส่วนตัวเราก็เคยเจอปัญหานี้อยู่ช่วงหนึ่ง"พบปัญหาปลาเป็นโรค : ผู้ใหญ่จรูญ กล่าวว่า ช่วงหลายปีแรกของการเลี้ยงปลาดุก ไม่พบปัญหาอะไร ทุกอย่างดีมาตลอด ราคาดี ปลาตัวโต และไม่พบโรค แต่ระยะ 3-4 ปีให้หลังปลาดุกเริ่มเป็นโรคมากขึ้น มีบางช่วงที่พอปลาอายุ 3-4 เดือน มันจะเริ่มป่วย ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย "เราต้องระมัดระวังให้ดี เพราะถ้าปลาตายเราอาจจะขาดทุน เวลาเกิดโรคก็ต้องให้กินยา ต้องรักษาไปเอง จากความรู้ ประสบการณ์ที่เคยผ่านมา พยายามเอาตัวรอดของเราไป"สำหรับสาเหตุของโรค ผู้ใหญ่บอกกับเราว่า ยังหาสาเหตุไม่เจอ ประมงเคยมาตรวจตามที่แจ้งไป พบว่าน่าจะเกิดจากแบคทีเรีย ซึ่งอาการมีหลายอย่าง หูบวม ตัวแดง หัวแตก"ส่วนใหญ่ถ้ามีปัญหาแล้วติดต่อประมง เขาก็ให้ความร่วมมือดีระดับนึง เท่าที่เขาทำได้และตอบได้ อะไรที่ตอบไม่ได้แล้วต้องเข้าแล็บ ก็ต้องรอผลตรวจจากแล็บ ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง""จากความคิดเห็นส่วนตัวของผม ที่ประมงเข้ามาผมรู้สึกโอเคนะ แต่เวลาเอาปลาไปตรวจที่แล็บ ก็ไม่ค่อยได้คำตอบที่ชัดเจนเท่าไร หมายถึงจากผลตรวจของแล็บนะ ที่ออกมาจากหน่วยงาน บางครั้งถ้าเราไม่โทร ไม่ตาม หรือไม่ถาม ก็หายไปเลย"ผู้ใหญ่ ฝากความหวังเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่) ผ่านทางทีมข่าวฯ ว่า ถ้าเกิดปลามีโรคขึ้นมาอีก อยากให้หน่วยงานที่วิเคราะห์และวิจัยได้จริงๆ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร พวกเราอยากรู้ว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร หากบอกว่า 'ปลากินของสด ทำให้ในน้ำมีแบคทีเรีย' เรื่องนั้นพวกเราก็พอจะรู้อยู่ อยากให้ดูปัญหาเรื่องว่า มันต้องกินยาอะไร ที่ให้เบาลงไป หรือให้มันหาย ดีกว่าปล่อยให้มันนอนตายอยู่ในบ่ออย่างนั้นปลาไม่กินอาหาร แต่เริ่มกินโฉนด : ระหว่างสนทนา ผู้ใหญ่จรูญเล่นมุก 'ตลกร้าย' กับเราว่า "ตอนนี้ปลาดุกไม่ได้กินเหยื่อแล้ว มันกินโฉนด" ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่โจ๊กขำๆ เพราะมันได้เกิดขึ้นจริงแล้วกับ 'ลุงออด'ตอนที่ทีมข่าวฯ ได้ไปเยี่ยมบ่อปลาของลุงออด เขาบอกกับเราว่า "แต่ก่อนเลี้ยง 2 บ่อ ตอนนี้เหลือบ่อเดียว" เราจึงถามด้วยความสงสัยว่า แล้วอีกบ่อหายไปไหน?ลุงออดพาเราเดินไปดูพื้นที่ขนาด 2 ไร่ ที่กลายเป็นผืนนา พร้อมเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า…"เมื่อก่อนมีที่ดินตรงนี้ 4 ไร่ เราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย แต่ตอนนี้ขายไป 2 ไร่แล้ว ก็คือนาที่เห็นอยู่ ที่ต้องขายเพราะตอนนั้นขาดทุนจากปลาดุก เป็นหนี้ค่าเหยื่อประมาณ 3 แสนกว่าบาท นี่แค่ค่าเหยื่อนะ ไม่ได้คิดค่าลูกปลา เพราะถ้าคิดรวมๆ ก็ 7-8 แสน""ตอนนั้นไม่อยากเป็นหนี้เพิ่ม เลยตัดสินใจกลบบ่อเพื่อขายที่ เอาเงินมาใช้หนี้แทน ตอนนี้ ยังเหลืออีกประมาณ 6-7 หมื่นบาท ก็ต้องสู้กันต่อไป ก็เสียดายที่ดินนะ แต่จะทำยังไงได้" คุณลุงกล่าวเรื่องแสนทุกข์กับเรา แต่เขาก็ยังยิ้มได้… ทางด้าน 'พี่โต้ง' แม้ว่าปลาดุกไม่ได้กินโฉนด แต่เขาเคยเลี้ยงปลาดุกมากถึง 10 บ่อ ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงบ่อเดียว อย่างไรก็ตาม พี่โต้งบอกว่า จำนวนบ่อค่อยลดลงเรื่อยๆ ไม่ได้ลดทันที เพราะราคาแย่ลง ดันทุรังเลี้ยงไปก็ไม่คุ้มทุนเกษตรกรไม่กลับมาเลี้ยงอีกแล้ว : ผู้ใหญ่จรูญ เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรหลายคนกลบบ่อปลาไปทำนา เพราะเลี้ยงปลาแล้วขาดทุน หลังจากนี้ไป ผมมั่นใจว่าปลาดุกก็ไม่ได้มากขึ้นหรอก มีแต่น้อยลง แม้กระทั่งลูกไร่ของผมจากที่เลี้ยง จากที่มีกำไร พอขาดทุนไป 3-4 รอบ ก็กลบเลย ทำนาดีกว่า มันไม่ไหวแล้ว เพราะเขาเห็นว่าเลี้ยงปลาดุกเป็นหนี้ แต่ทำนาไม่เป็นหนี้"เกษตรกรรายย่อยปิดตัวไปเยอะมาก เอาง่ายๆ เฉพาะในหมู่ของผม สมมติมีสัก 10 ราย ตอนนี้เหลือจริงๆ 3 ราย พวกเขาไม่ไหวกันแล้ว เป็นหนี้เป็นสิน ต้องหันมาทำอย่างอื่น เพื่อเอาเงินไปกลบหนี้สิน ถามว่าวิกฤติได้ไหม ถ้า 10 ราย เหลือ 3 ราย ผมว่ามันวิกฤติหนักแล้วนะ"ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 กล่าวต่อว่า เราได้ยินมากับหู ว่าจะไม่เลี้ยงอีก ไม่เลี้ยงเด็ดขาด ตอนได้ยินก็รู้สึกว่า สงสาร ได้แต่คิดว่าจะอยู่ต่อไปกันยังไง ลึกๆ คาดหวังให้มันดีขึ้น แต่คำว่าดีขึ้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ยิ่งช้าก็ยิ่งแย่ ส่วนตัวไม่กลัวว่าวันหนึ่งต้องเลิกเลี้ยง เพราะถ้ายังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไปต่อไม่ได้ ยังไงก็ต้องเลิก"ถ้าจะมีการสนับสนุนให้เลี้ยงปลาดุกมากขึ้น ต้องมีหน่วยงานเข้ามาเร่งดูแลได้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาคลุกคลีกับเกษตรกร ถ้าไม่มีให้เร็ว ไม่มาให้ไว จากบ่อปลาจะกลายเป็นนาข้าว วันข้างหน้าถ้าปลาแพงขึ้นมาอีก เขาก็คงไม่ขุดนาข้าวให้เป็นบ่ออีก เขาฝังใจไปแล้ว หลายคนไม่หันกลับมาทำแน่นอน เพราะปลาดุกสร้างหนี้สร้างสินให้เขา"ส่วนผู้ใหญ่เก็ก เล่าให้เราฟังว่า คนที่รู้จักเลิกเลี้ยงไปประมาณ 3 เจ้า เจ้าละประมาณ 4-5 บ่อ ซึ่งตอนนี้ก็หันมาทำนากันหมดแล้ว ทีมข่าวฯ ถามว่า พวกเขาจะกลับมาเลี้ยงไหม? ผู้ใหญ่เก็กส่ายหน้ารับทันที ก่อนจะเอ่ยขึ้นว่า "ไม่แล้ว เขาขาดทุนไปเยอะ"บางเรื่องเหนือการควบคุม : ทางด้าน 'นางสายหยุด ฤทธิ์ช่วย' ประมงอำเภอโพธาราม แสดงความคิดเห็นว่า "จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ รายใหญ่ยังพออยู่ได้ แต่รายย่อย รายเล็กจะอยู่ไม่ได้ ในอำเภอโพธาราม เราก็มารู้วันนี้แหละว่ามีหลายรายถมบ่อ หันไปทำนา เพราะเขาไม่ไหวกัน""ในส่วนของราคาอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารเม็ด คงจะแก้อะไรยังไม่ได้ พอมันขึ้นแล้ว มันไม่มีวันลงเลย แต่อาหารสดพวกไก่ มีแนวโน้มจะลดได้บ้าง อาหารเม็ดไม่เคยลงเลย"ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า ทางประมงมีแผนหรือแนวทางจะช่วยเกษตรกรได้อย่างไรบ้าง?"ยังทำอะไรมากไม่ได้ หรือถ้าเราจะเข้ามาส่งเสริมให้เลี้ยง แต่สภาพการณ์ยังเป็นอย่างนี้ ส่งเสริมไปก็จะยิ่งไปทำให้เขาเดือดร้อนมากกว่า ปลาดุกมันเป็นปลากินเนื้อ ยังไงเราก็ต้องซื้ออาหารมาให้ เราเห็นใจเกษตรกร แต่บางเรื่องมันก็เหนือการควบคุมของเรา""แต่ก่อนเราก็ส่งเสริมเกษตรกรมาตลอด เนื่องจากปลาดุกเป็นปลาที่เลี้ยงได้ในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย เราก็จะส่งเสริมให้เลี้ยงเพื่อเพิ่มโปรตีนในครัวเรือน โดยเลี้ยงในกระชังบก เราก็จะสนับสนุนกระชัง ลูกพันธุ์ปลา และอาหารปลา โดยคำนวณจำนวนปลาและอาหารให้พอดีกับการเลี้ยงจนได้ขนาดจับผลผลิตได้ แต่ระยะ 2-3 ปีมานี้ เราต้องพิจารณาใหม่ เนื่องจากงบประมาณที่ลดลงทำให้ไม่สามารถสนับสนุนปัจจัยได้เหมือนเดิม"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhotoอ่านสกู๊ป 'สถานการณ์ปลาดุกไทย' : 'ปลาดุกไทย' ยิ่งเลี้ยง ยิ่งลด จับตาอนาคต 2 ปัจจัยคุกคาม'ดุกบิ๊กอุย' และถิ่นที่อยู่ ที่มาของปลาลูกผสมรสชาติถูกปาก