วิกฤติฝุ่นเชียงใหม่ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา หนาทึบไปทั่วทั้งเมืองจากฝุ่นควันไฟป่า จนเกินค่ามาตรฐานระดับสีแดง และเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ค่ามลพิษพุ่งขึ้นจากอันดับ 2 มาอันดับ 1 เมืองหลักคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน มีการประกาศเตือนให้ผู้คนงดออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งหากไม่จำเป็น

ล่าสุดวันที่ 9 มี.ค. แม้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นบ้าง เนื่องจากอากาศยกตัวระบายได้ดีทั่วภาคเหนือ ทำให้ฝุ่นเริ่มเบาบางลง แต่คนเชียงใหม่ รวมถึงคนภาคเหนือ จะต้องเผชิญวิกฤติฝุ่นเช่นนี้อีกอย่างไม่จบไม่สิ้นในช่วงฤดูฝุ่นของทุกๆ ปีตั้งแต่เดือน มี.ค.ไปจนถึง เม.ย. หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และคาดหวังพ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา จะมาช่วยแก้ปัญหา

ท่ามกลางการตัดพ้อของคนในพื้นที่ หรือเชียงใหม่ ไม่ใช่กรุงเทพฯ จึงไม่มีใครสนใจให้ความสำคัญ ไม่มีตัวตนในสายตารัฐบาล เป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้คนเชียงใหม่ไอจาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง ได้รับผลกระทบอย่างมากๆ และจะทยอยตายผ่อนส่ง เพราะสูดฝุ่นพิษเข้าไป จนในระยะยาวจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด โรคระบบหัวใจ และหลอดเลือดได้

...

การแก้ปัญหาสถานการณ์ฝุ่นในเชียงใหม่ที่ถูกมองข้าม ก็น่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำจริงๆ "อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ" ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ก็ไม่ปฏิเสธในเรื่องนี้ แต่เมื่อเทียบกับสถิติปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าจุดความร้อน (hot spot) ลดลงไปกว่า 50% โดยฝุ่นควันมาจาก 3 ส่วน 1. พื้นที่เชียงใหม่ 2. จังหวัดข้างเคียง 3. จุดความร้อนบริเวณประเทศเมียนมา 6 พันกว่าจุด จากกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้ามา และการระบายอากาศต่ำ ฝุ่นควันถูกกักอยู่ในแอ่งกระทะ ทำให้ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา เกิดวิกฤติฝุ่นรุนแรง ถือว่าเชียงใหม่แก้ไขปัญหาได้ดีพอสมควรในการวางระบบค่อนข้างดี

“แต่ปัญหาใหญ่ก็คือความเหลื่อมล้ำ ทุกๆ ระบบรายงานผลไฟไหม้ป่า ก็มาจากชาวบ้าน ถ้ามองให้ลึกลงไป เชียงใหม่มีพื้นที่ป่า 70% ถูกประกาศมา 20 กว่าปีมาแล้ว มีชุมชนอยู่มานานในป่าอนุรักษ์ และป่าสงวน ก็เท่ากับว่าพื้นที่ชุมชนเหล่านี้ ผิดกฎหมาย เป็นปัญหาคาราคาซังมานาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่สามารถเอางบลงไปได้ ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งตนเอง ก็ต้องอยู่กับป่า ทำเกษตร หาของป่า มีชีวิตอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด”

จากช่องว่างตรงนี้ เจ้าหน้าที่รัฐมองว่าต้องจับกุมชาวบ้านที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ป่า เป็นประเด็นต้องแก้ไขในการให้สิทธิในที่ดิน ที่มีความมั่นคงยั่งยืนกับชุมชน และให้มีส่วนร่วมในการดูแลป่า เพราะการอาศัยอยู่ในที่ดินผิดกฎหมาย ปลูกต้นไม้ยืนต้นไม่ได้ แต่ปลูกข้าวโพดได้ เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดฝุ่นควันจากการเผาไหม้ 30% เป็นปัญหาที่วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ จะต้องแก้เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องให้กับชุมชน ในระดับนโยบายเพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน

คาดหวัง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้ามามีบทบาทควบคุม

ขณะที่เชียงใหม่ มีการแก้ไขในประเด็นนี้ได้ดีระดับหนึ่ง ได้ตัวเลขคนในชุมชุม 4 พันกว่าคน ต้องการความช่วยเหลือในการหาทางออก ไม่ให้ไปหากินกับป่า โดยได้งบกลางในการจ้างงาน 2 เดือนในช่วงฤดูฝุ่น ประมาณ 1 พันกว่าคนเท่านั้น แต่แหล่งก่อฝุ่นควันจากจังหวัดรอบข้าง และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นโจทย์ใหญ่ต้องแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ต้องจำกัดโรงงานที่ก่อฝุ่นควัน ต้องควบคุมให้อยู่ และมีนโยบายในการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวตามต้นน้ำลำธาร

“การร่วมแก้ปัญหาฝุ่นควันของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ต้องไปด้วยกันให้ได้ ขณะนี้มีสภาลมหายใจภาคเหนือ เป็นกลุ่มที่รวมตัวกัน แต่ความเข้มข้นต่างกันจากปริบทในแต่ละพื้นที่ต่างกัน คิดว่าต้องทำให้เกิดระบบบริหารจัดการให้ชัดเจนมากขึ้น ยกตัวอย่างเชียงใหม่ มีรถ 1.5 ล้านคัน มีป่า 70% ก็ต้องหาทางออกจากการผลิตที่ต้องใช้การเผาไหม้ มาเป็นการผลิตที่ยั่งยืนชัดเจน คาดหวัง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะมีเข้ามามีบทบาทในการควบคุม มีบทลงโทษอย่างชัดเจน และการนำเข้าผลผลิตที่เผาไหม้ ต้องไม่มีจะต้องเป็นศูนย์”

สถานการณ์ฝุ่นเชียงใหม่ หลังจากเกิดวิกฤติรุนแรงช่วง 1-2 วัน คาดการณ์ว่าวันที่ 10-11 มี.ค. จะมีฝนตกลงมา จะทำให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น แต่หลังจากนั้นฝุ่นจะพีกสุดไปจนถึงหลังสงกรานต์ ขึ้นอยู่กับฝีมือบริหารจัดการของทางจังหวัดเชียงใหม่และจากส่วนกลาง แต่สำคัญที่สุดน่าเห็นใจเจ้าหน้าที่เสือไฟ ทำหน้าที่ดับไฟป่า มีกำลังน้อยมากถ้าเทียบกับพื้นที่ป่า ทั้งอันตรายและร้อน อย่างป่าอินทนนท์ เนื้อที่ 3 แสนไร่ มีเจ้าหน้าที่ไม่ถึง 30 คน กำลังที่มีอยู่ทำได้ไม่ถึง 30% จะต้องมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอุดช่องว่าง

...

ยกเครื่องใหญ่แก้ปัญหาฝุ่น ความเหลื่อมล้ำต้องไม่มี

การแก้ปัญหาในระยะยาวจะต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชน ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการ เพราะรู้จักพื้นที่มากกว่า แต่ที่ผ่านมามีบทบาทน้อยมาก ในทางกลับกันภารกิจดับไฟป่า 120 กว่าแห่ง มีการโอนมาให้ดูแล แต่งบไม่มีให้ ก็น่าเห็นใจเหมือนมีกำลังคน แล้วขาดเสบียง ขาดงบ ขาดการสนับสนุนจากรัฐ ขณะเดียวกันก็ถูกคาดหวังให้ทำงาน ทั้งๆ ที่ไม่ครบวงจร

“หากปล่อยเป็นอย่างนี้ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ จะต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ หากนายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบ และแก้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับชุมชุมในพื้นที่ป่า เป็นปัญหาสำคัญ ในการเปลี่ยนจำเลยมาเป็นเจ้าภาพใหญ่ จะต้องอาศัยกฎหมาย อาศัยนโยบาย และแรงสนับสนุนที่เพียงพอ หากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไล่จับชาวบ้าน พอถึงฤดูฝุ่นจะมากอดคอช่วยกันดับไฟป่าก็คงไม่ได้”

การแก้ปัญหาฝุ่นควันต้องทำแบบบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และประชาชนทั้งประเทศจะต้องร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันในการเดินหน้าไปให้ได้ โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ ไม่ทำให้เกิดอคติ และต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ จะแก้ปัญหาแบบรายวันไม่ได้ ต้องแก้โครงสร้างกฎหมายที่ดินไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ และหวังว่าจะมีการออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้เร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งประเทศ ในเชิงนโยบายและเชิงโครงสร้างควบคู่กันไปด้วย.

...