สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ เปิดภาพสุดอนาถในสถานที่กักกันสัตว์เร่ร่อน ของ กทม. หลังได้รับแจ้งว่า หมาเร่ร่อนส่วนใหญ่ผอมโซ ทยอยตายจากการกินอาหารไม่ได้ แม้มีการจัดสรรงบให้ตัวละ 8 บ. แต่คุณภาพอาหารต่ำ มีกลิ่นเหม็น จนหมาไม่สามารถกินได้ วอน กทม.เร่งแก้ไขก่อนสุนัขที่เหลือต้องทนทุกข์ทรมานตาย

"ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล" เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร เมื่อมีข้อร้องเรียนจากประชาชนถึงสุนัขเร่ร่อน จะทำการจับมาไว้ที่สถานกักกันสัตว์ ที่ประเวศ ก่อนส่งสุนัขเร่ร่อนมายัง สถานที่กักกันสัตว์ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี

ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนการดูแลสุนัขเร่ร่อนที่กรุงเทพฯ นำไปดูแลมาตลอด ล่าสุด มีพลเมืองดีแจ้งมายังสมาคมฯ ถึงปัญหาอาหารสุนัขในสถานที่กักกันสัตว์ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ที่มีคุณภาพต่ำ และไม่เหมาะสมกับงบประมาณที่มีการจัดสรรให้ เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่ให้สุนัขเป็นอาหารเม็ด ซื้อมาไว้เป็นลอตใหญ่ แล้วเก็บไว้นาน จนอาหารสุนัขมีกลิ่นเหม็น และสุนัขส่วนใหญ่ไม่ยอมกิน ทำให้สุนัขในศูนย์เริ่มผอมโซ จนพลเมืองดีรายดังกล่าวอ้างว่า มีสุนัขที่เคยดูแลส่งไปยังศูนย์แห่งนี้ 150 ตัว ตอนนี้เหลือแค่ 25 ตัว

โดยพลเมืองดีอ้างว่า ได้พยายามหาสาเหตุที่สุนัขจรจัดในศูนย์ไม่ยอมกินอาหารจนล้มตาย มาจากอาหารเม็ดที่ให้ไม่มีคุณภาพ เพราะมีกลิ่นเหม็นเหมือนสารเคมี จึงได้ร้องเรียนมายังสมาคมฯ ให้เข้าไปตรวจสอบศูนย์กักกันสัตว์เร่ร่อนของกรุงเทพฯ หากมีการเข้าไปช่วยเหลือช้ามากเท่าไร ยิ่งทำให้มีสุนัขจรจัดตายเพิ่มขึ้น และถือเป็นการทารุณสัตว์ที่น่าอนาถ

...

“สมาคมฯ พยายามหาข้อเท็จจริง จากข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง จนได้รับทราบข้อมูลที่ตรงกันว่า สาเหตุที่สุนัขอดอาหารและล้มตาย เกิดจากการสั่งอาหารมาจำนวนมาก เป็นการประมูลมาจากหน่วยงานของกรุงเทพฯ เวลาประมูลต้องใช้ราคาที่ต่ำสุด โดยเฉพาะอาหารสุนัขในลอตล่าสุด สุนัขไม่ค่อยรับประทาน ประกอบกับการเก็บอาหารเม็ดที่ซื้อไว้นาน ทำให้อาหารที่ให้มีกลิ่นเหม็นรุนแรง แต่สุนัขกลับไม่มีทางเลือก ทำให้สุนัขบางตัวไม่ยอมกินอาหาร ทำให้หลายตัวมีอาการเจ็บป่วย ล้มตายอย่างที่ร้องเรียน”

ตอนนี้ยอดการเสียชีวิตของสุนัขที่อดตายในศูนย์ยังไม่นิ่ง การตรวจสอบหน่วยงานรัฐยังเป็นไปด้วยความลำบาก แต่เท่าที่คาดการณ์ อาหารสุนัขด้วยความที่ต้องใช้งบประมาณปีต่อปี อาจมีการซื้อมาเก็บไว้นาน จนอาหารเสื่อมคุณภาพ ดังนั้น กรุงเทพฯ ควรเร่งเข้าไปดูและแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน

“กรณีนี้ต้องมีการตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเข้าไปตรวจสอบคุณภาพของอาหารสุนัขโดยเร่งด่วน แม้สุนัขเหล่านี้จะมีสถานะจรจัด แต่สวัสดิภาพสัตว์ ควรมีการดูแลอาหารที่เหมาะสม เพราะในเมื่อกรุงเทพฯ นำไปดูแลแล้ว แต่ดูแลไม่เหมาะสม ก็เหมือนนำสุนัขไปฆาตกรรมหมู่”

ปกติระเบียบของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีการจัดสรรงบประมาณให้สัตว์เร่ร่อนที่อยู่ในศูนย์ดูแลตัวละ 3-15 บาท ต้องดูความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ กรณีของสถานที่กักกันสัตว์ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เคยได้มีการเข้าไปตรวจสอบพบว่า มีค่าอาหารให้กับสุนัข 8 ตัว/วัน

อยากให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เร่งเข้าไปดูแลสัตว์จรจัดเหล่านี้ เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมามีการพยายามพูดคุยกันเรื่องนี้แล้ว แต่ในเชิงปฏิบัติยังดำเนินล่าช้า ถ้ามีทางเลือกอื่น ให้สุนัขจรจัดได้กินเพิ่มขึ้น กว่าทางเลือกเดิมที่เป็นอาหารเม็ดอย่างเดียว จะเกิดประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ประชาชนอาจจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมดูแลมากขึ้น เพราะด้วยข้อจำกัดของภาครัฐ บางอย่างอาจทำไม่ได้อย่างรวดเร็ว

...

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า กรุงเทพมหานคร มีสถานกักกันสัตว์ 2 แห่ง คือ ที่ประเวศ รองรับสุนัขและแมวได้ประมาณ 1,000 ตัว ส่วนอีกแห่งที่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี รองรับได้ประมาณ 6,000 ตัว การเก็บสุนัขหรือแมวเป็นแสนตัวมาไว้ที่สถานกักกันทั้งหมดไม่สามารถทำได้ เพราะมีสถานที่ไม่เพียงพอ

แนวคิดหลักคือ การทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแล้วปล่อยกลับสู่ชุมชน ซึ่งนักวิชาการบอกว่าการมีสุนัขหรือแมวชุมชนเป็นสิ่งที่ผลักดันไม่ให้สุนัขหรือแมวจรจัดจากที่อื่นเข้ามาแทนที่ เป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคจากสุนัข หรือแมวจรจัดต่างถิ่นได้ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะเมื่อมีการทำหมันแล้วอนาคตจำนวนสุนัขและแมวจรจัดจะค่อยๆ ลดลง การแก้ปัญหาทางหนึ่งคือ การรับสุนัขและแมวจากสถานกักกันสัตว์มาเลี้ยง แทนการซื้อ การแก้ปัญหาต้องทำตั้งแต่ต้นทาง.