ครูยอมจ่ายเงินส่วนตัวกว่า 2 ปี เพิ่มงบอาหารกลางวันให้เด็กอิ่ม หลังงบหัวละ 27 บ. เด็กกินไม่อิ่ม-เมนูซ้ำ โซเชียลชื่นชม ครูอัดคลิปเมนูสุดพิเศษเติมไม่อั้น จนเด็กไม่อยากหยุดเรียน เพราะได้กินของอร่อยแบบจุกๆ ทุกวัน
กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล เมื่อเพจ ครูคูลโมณีกา ได้ถ่ายคลิปการทำงานชีวิตครูในพื้นที่ห่างไกล โดยทุกวันครูจะต้องเข้าครัวไปทำอาหารกลางวันให้นักเรียนทั้งโรงเรียนทาน ด้วยงบอาหารกลางวันที่ไม่เพียงพอ ทำให้ครูต้องยอมควักเงินส่วนตัว เพื่อซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้นักเรียน เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้ไม่ได้รับประทานอาหารเพียงพอ หลังจากที่ครูสาวทำไปได้สักระยะ ได้มีผู้ใจบุญบริจาคค่าอาหารกลางวัน จนมีคนเข้ามาติดตามเพจกว่า 5.5 แสน/คน ขณะเด็ก ก็มีความสุข อยากมาโรงเรียน เพราะได้กินอาหารที่ครูเตรียมไว้ให้แบบจุกๆ
ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง "ครูโมณีกา ชุนเกาะ" โรงเรียนบ้านนาหลวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เจ้าของคลิปเล่าว่า แนวคิดการทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กนักเรียน ระยะแรกนำเงินส่วนตัวมารวมกับเงินที่กระทรวงฯ จัดสรรให้แบบรายหัว เพื่อให้นักเรียนได้ทานอาหารที่เหมาะสม และเพิ่มมากขึ้น ต้นเหตุที่มาทำเกิดจากแม่ครัวที่โรงเรียนอายุมาก ไม่สามารถทำงานต่อได้ ทำให้โรงเรียนขาดแม่ครัว จากนั้นโรงเรียนพยายามแก้ปัญหา โดยไปจ้างแม่ครัวแบบเหมาในหมู่บ้านใกล้โรงเรียนมากที่สุด เพราะโรงเรียนตั้งอยู่บนภูเขา หมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดประมาณ 13 กิโลเมตร
...
“แต่ไม่นานเกิดปัญหาขึ้นอีก เพราะอาหารกลางวันไม่เพียงพอต่อเด็ก ด้วยงบประมาณที่จัดสรรมีน้อย พอจ้างแม่ครัวก็ต้องหักค่าเดินทาง ค่าแรง ทำให้งบไม่เพียงพอ ยอมรับว่าเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ทานข้าวเช้ามาจากบ้าน ด้วยสถานะครอบครัวที่ยากจน เป็นพื้นที่ห่างไกลจากตลาดและร้านค้า เลยมาแก้ปัญหาโดยการให้ครูใช้งบที่มีซื้อวัตถุดิบ และทำอาหารกลางวันให้กับเด็ก เพราะถ้าซื้อวัตถุดิบเองจะสามารถควบคุมงบประมาณได้”
ที่ผ่านมาครูทำอาหารกลางวันเองมา 2 ปี ตอนนี้มีเด็กตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา ทั้งหมด 98 คน งบประมาณที่จัดสรรค่าอาหารกลางวันให้แบบรายหัวคนละ 27 บาท/วัน ต้องยอมรับว่ายังไม่เพียงพอ เพราะจากการลงไปซื้อของที่ตลาด วัตถุดิบแต่ละอย่างมีราคาไม่คงที่ ครูพยายามบริหารจัดการ ซื้อของที่นำมาทำอาหารที่มีมากในช่วงฤดูกาลนั้นที่จะมีราคาถูกลง หากแจกแจงงบประมาณอาหารกลางวันเด็กคนละ 27 บาท ยังไม่เพียงพอ เพราะการทำอาหารต้องมีค่าแก๊ส ค่าข้าวสาร และเครื่องปรุง เป็นรายจ่ายที่เพิ่มเติม ทำให้งบประมาณที่ให้มาไม่สามารถนำไปซื้อวัตถุดิบทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น ค่าแก๊ส ด้วยโรงเรียนอยู่บนภูเขา ทำให้ต้องจ่ายค่าแก๊สถังละ 480 บาท เนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างไกล
“ค่าข้าวสารตอนนี้กระสอบละ 1,300-1,500 บาท โรงเรียนจะหุงข้าววันละ 8 กิโลกรัม ซึ่งข้าว 1 กระสอบ เพียงพอให้นักเรียนทานแค่อาทิตย์เดียว ช่วงแรกครูพยายามใช้งบอาหารกลางวัน 27 บาท/คน แม้ดีลกับร้านค้าเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง แต่อาหารยังไม่เพียงพอ เช่นบางเมนูเด็กไม่สามารถเติมได้ เพราะงบประมาณ 27 บาท/คน เมนูที่เด็กสามารถเติมได้จะเป็นเมนูราดหน้า ที่ไม่มีข้าวเป็นส่วนประกอบ”
...
ครูทำหน้าที่มากกว่าการสอน ความภูมิใจเห็นเด็กอิ่ม
"ครูโมณีกา" เล่าต่อว่า เริ่มแรกที่ครูตัดสินใจนำเงินตัวเองมาช่วยออกค่าซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารกลางวัน เพราะถ้าวันไหนที่เด็กได้กินอาหารอิ่มจากโรงเรียน เด็กจะรู้สึกมีความสุข อาหารกลางวันถือเป็นอาหารหลักของเด็กในโรงเรียน เนื่องจากเด็กหลายคนไม่ได้กินอาหารเช้ามาโรงเรียน บางคนแทบไม่ได้กินอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถึงขนาดที่เด็กมาบอกครูว่า "ทำไมปิดเทอมนานจัง อยากมากินอาหารที่โรงเรียน เพราะที่บ้านไม่มีอะไรกิน" เพราะเด็กอยู่บ้านกินแต่ผักกับหน่อไม้
“แม้ใครมองว่าเป็นหน้าที่เกินความเป็นครู แต่ครูโชคดีที่ผู้บริหาร และทีมครูคอยช่วยเหลือ บางครั้งครูก็ทำเมนูที่เด็กอยากกิน ยิ่งทำให้เด็กตื่นเต้นกับการกินอาหารกลางวัน และครูเริ่มถ่ายคลิปลงในเพจ ทำให้มีคนติดตาม และนำรายได้ส่วนนั้นมาซื้ออาหารเพิ่มให้กับนักเรียน ประกอบกับเงินบริจาคที่คนมาเห็นคลิปอยากร่วมสนับสนุน ทำให้ครูสามารถทำอาหารกลางวันที่เกินงบประมาณที่กระทรวงฯ ตั้งไว้ได้”
ตัวอย่างอาทิตย์ล่าสุด ครูไปตลาดที่ตัวอำเภอซื้อวัตถุดิบมาทำให้นักเรียนทั้งอาทิตย์ ต้องออกเงินส่วนตัวเพิ่มไปประมาณ 9,000 บาท สำหรับการคิดเมนูในแต่ละอาทิตย์จะได้ไอเดียจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ที่แนะนำว่าช่วงนั้นมีวัตถุดิบอะไรถูก หรือบางครั้งเด็กก็ขอให้ครูทำเมนูแปลกๆ ที่ไม่เคยกินเช่น สปาเกตตี้
...
การทำอาหารของครู เมนูจะไม่ค่อยซ้ำในแต่ละอาทิตย์ ถ้ากำหนดตามโควตาหัวละ 27 บาท/วัน เด็กจะกินเมนูซ้ำๆ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะคิดเมนูแปลกใหม่ได้ แต่ต้องเน้นเมนูที่เป็นผัก ส่วนช่วงเย็น เด็กบางคนที่ทางบ้านไม่มีทุนทรัพย์จะมานำอาหารกลางวันที่เหลือกลับบ้านไปกินกับครอบครัว
ฐานะที่เป็นครู การจัดการเรื่องอาหารกลางวันถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ต่อให้โรงเรียนอยู่ในจังหวัดเดียวกัน แต่มีที่ตั้งต่างอำเภอ ครูต้องจัดการเรื่องอาหารต่างกัน สิ่งสำคัญที่จะแก้เรื่องปัญหากลางวันนักเรียนได้ ไม่ใช่แค่การมีเงิน แต่ต้องมีคนทำ และบริหารจัดการอย่างเข้าใจ ตัวอย่างครูที่ทำอาหารให้เด็ก ช่วงเย็นต้องเตรียมวัตถุดิบไว้เผื่อพรุ่งนี้ พอตอนเช้าครูก็ต้องเข้าครัวทำอาหาร พอถึงช่วงพักเที่ยงก็มีการจัดการให้นักเรียนดูแลกันเอง โดยที่รุ่นพี่ตักอาหารให้น้อง ก่อนที่รุ่นพี่จะมากินหลังสุด
...
“เคยมีคนบอกว่าครูไม่รู้จะทำเกินหน้าที่ไปทำไม แต่สำหรับครูพยายามเปลี่ยนมุมมองว่าถ้าครูทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้น นั่นแสดงว่าครูกำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ทำให้เราสบายใจมากขึ้นว่าเรากำลังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ แม้จะค่อนข้างหนักทั้งการสอนนักเรียน และต้องทำอาหารกลางวันด้วย”.