“ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์” นำเสนอเป็น “EP.2” กับการเจาะเบื้องหลังโครงการอุโมงค์ผันนํ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ แก้ปัญหาภัยแล้งใน 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ซึ่งโครงการนี้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้สูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท มีแผนจะมีการขุดอุโมงค์ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ป่าอนุรักษ์ผืนเดียวกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ป่าสมบูรณ์ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นระยะทางยาวถึง 20.5 กิโลเมตร ตัวอุโมงค์มีขนาด 4.20 เมตร ขุดเจาะลึกจากพื้นดินประมาณ 500 เมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ปลายอุโมงค์อยู่ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากฝ่ายนักอนุรักษ์ นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มองว่าโครงการนี้อาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย” และจะส่งผลกระทบกับสัตว์ป่า พืชพรรณ และธรรมชาติ

ทุกหน่วยงานลงพื้นที่
ทุกหน่วยงานลงพื้นที่

...

เป็นโครงการสร้างอุโมงค์หมื่นล้านที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

หลังกระแสคัดค้านจุดติด “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐ” ลงพื้นที่เกาะติดนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเจ้าภาพพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตัวแทนจากกรมชลประทาน ตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่ตามแผนการก่อสร้างอุโมงค์ ทั้งบริเวณปากอุโมงค์ที่ตั้งอยู่ริมเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และจุดปลายอุโมงค์ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เพื่อหารือเรื่องผลกระทบร่วมกัน ตามคำแนะนำจากที่ประชุม คชก. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ให้ สทนช. ร่วมศึกษาผลกระทบกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่เป็นแกนนำคัดค้านโครงการ

การลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อหาข้อมูลจึงเริ่มขึ้น!!

ดร.ไชยทัศน์  อิ่มสำราญรัชต์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการอุโมงค์ผันน้ำสลักพระ
ดร.ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการอุโมงค์ผันน้ำสลักพระ

ทางโครงการงัดข้อมูลการศึกษาวิจัย ยืนยันการก่อสร้างอุโมงค์ จะไม่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติและสัตว์ป่า รวมทั้งมีแผนในการฟื้นฟูสภาพป่า และสัตว์ป่าอย่างรัดกุม แต่จะมีการระเบิดเพื่อเปิดทางขุดเจาะอุโมงค์ 2 จุด คือที่บริเวณปากอุโมงค์ในเขตเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และปลายอุโมงค์ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู อ.บ่อพลอย เพื่อเปิดทางให้เครื่องขุดเจาะ TMB เข้าไปทำงานใต้พื้นดิน

ดร.ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการอุโมงค์ผันน้ำสลักพระ ขยายความประเด็นนี้ว่า การก่อสร้างปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสำรวจแล้วพบว่าลักษณะภูมิประเทศ ชั้นหินในบริเวณดังกล่าวเป็นหินแกรนิตที่มีความแข็งแรง ส่วนการระเบิดอุโมงค์จะทำพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน และงดทำในเวลาที่สัตว์ออกหากิน อีกทั้งจุดปากและท้ายอุโมงค์ ก็อยู่นอกเขตป่าสมบูรณ์อีกด้วย พอได้ปากอุโมงค์กับท้ายอุโมงค์ จึงจะลงมือเจาะรูอุโมงค์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย หัวเจาะ TBM ที่ไร้แรงสั่นสะเทือน ลึกจากผืนดิน 500 เมตร

การขุดอุโมงค์
การขุดอุโมงค์

...

“ผมยืนยันการขุดเจาะจะไม่ซ้ำรอยการถล่มแบบอุโมงค์ที่แม่กวงอย่างแน่นอน เพราะเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปมาก ส่วนผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่หลายฝ่ายกังวลก็ขอให้เบาใจได้ เพราะแนวทำอุโมงค์อยู่ห่างไกลถิ่นอาศัยของสัตว์ ที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณทุ่งนามอญ ในป่าสลักพระ” ดร.ไชยทัศน์ กล่าว

อุโมงค์ผันน้ำ
อุโมงค์ผันน้ำ

เป็นคำยืนยันที่ออกจากปากที่ปรึกษาโครงการ

แต่ดูเหมือนข้อมูลจากทางโครงการ จะสวนทางกับกลุ่มนักอนุรักษ์อย่างสิ้นเชิง นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง แมวลายหินอ่อน กระทิง วัวแดง ช้างป่า และพบว่าพื้นที่ก่อสร้างมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกอยู่ในอำเภอศรีสวัสดิ์ ถัดไปด้านตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขาอยู่ใน อ.บ่อพลอย หนองปรือ เลาขวัญ และห้วยกระเจา พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ เช่น ช้างป่า หากมีการขุดเจาะอุโมงค์อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า

...

“ทางโครงการยังไม่ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ 1 และ 7 มีเพียงการใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบการทำรายงาน ต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยา และสภาพภูมิประเทศ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้ข้อมูลทุติยภูมิอาจทำให้ขาดข้อมูลสำคัญที่ควรนำมาวิเคราะห์ผลกระทบ” นายภานุเดช กล่าว

สอดคล้องกับเสียงคัดค้านที่มูลนิธิสืบฯ ตั้งข้อสังเกตหลายข้อ เช่น โครงการควรศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสัตว์ป่า ในโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อวิเคราะห์ระดับคลื่นความถี่ของความสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะอุโมงค์ ว่าระดับความลึกของการขุดเจาะจะมีผลกระทบต่อสัตว์ป่าขนาดใหญ่หรือไม่ และนำเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ อีกครั้งก่อนผ่านรายงาน

เสือ ช้าง ที่พบในป่าสลักพระ
เสือ ช้าง ที่พบในป่าสลักพระ

...

หากดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ 1 และ 7 จะตัดผ่านกลางเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ผ่านลุ่มน้ำชั้น 1A เพื่อผันน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำลำอีซู พื้นที่ตามแนวอุโมงค์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ หากดำเนินการจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาในพื้นที่แนวอุโมงค์

และที่สำคัญ กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี โดยไม่ต้องใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยตรง และควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครอง

ทั้งหมดคือมุมมองและความห่วงใยของนักอนุรักษ์ที่มีต่อโครงการนี้

นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

การลงพื้นที่ร่วมกันได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ทุกฝ่ายอาจหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 1 มี.ค. 2567 ก่อนสรุปรายงานเข้า กก.วล. วันที่ 7 มี.ค. อันเป็นช่วงเวลาที่หลายฝ่ายมองว่าคล้ายเร่งรีบเพื่อสรุปรายงานนำเสนอ... สามารถติดตามความคืบหน้า “โครงการอุโมงค์สลักพระหมื่นล้าน” ได้ต่อใน EP.3