ดำรงค์ พิเดช อัดยับ ปมพิพาทแจกที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เขาใหญ่ ชี้กล้ามากเหมือนเป็นการ “ลักหลับ” ชี้เป็นแบบนี้มานานแล้ว...
ทุกคนทราบกันดีว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นั้น เปรียบเสมือน “ปอด” แห่งใหญ่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดประกอบด้วย ปราจีนบุรี นครราชสีมา นครนายก และสระบุรี ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูด ที่ 14°00' - 14°33' เหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูด ที่ 101°05' - 103°14' ตะวันออก ในขณะจัดตั้งมีขนาดพื้นที่ ประมาณ 2,168.75 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,355,468.75 ไร่
เวลานี้กำลังมีข่าวใหญ่ เรื่อง การออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 ในเขตพื้นที่บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง ซึ่งมันกลายเป็นประเด็น เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เข้าตรวจสอบ และดำเนินการ “ถอนหมุด” แนวเขตสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 27 หมุด พร้อมรื้อป้ายประกาศการแสดงสิทธิ์ในที่ดิน ที่ถูกนำมาติดไว้บริเวณที่ดิน 3 ไร่ ที่มีการแผ้วถาง
ต่อมา มีการตรวจสอบเพิ่มเติม ในที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. พื้นที่ 15 ไร่ พบว่าอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงแจ้งความดำเนินคดี กับผู้ครอบครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา พร้อมยื่นเรื่องถึง ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ หลังพบเพิ่มเติมว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้วกว่า 900 ไร่
...
time lapse 30 ปี พื้นที่ เขาใหญ่ โดย google map
ในเบื้องต้น ทราบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมา อาจจะมาจาก 2 หน่วยงาน คือ อุทยานฯ และ ก.เกษตรฯ ถือกฎหมายคนละฉบับ ล่าสุด ได้มีคำสั่งให้ 6 เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้มารายงานในส่วนกลาง (20 ก.พ. 67) พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใน 30 วัน หากพบว่ามีความผิด เอื้อให้กับนายทุน จะถูกดำเนินคดีใน มาตรา 157
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 ตอนหนึ่งว่า การสำรวจเพื่อปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในจังหวัดนครราชสีมาดำเนินการแล้วเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องจากมีความซับซ้อนเกี่ยวกับระเบียบและกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน หากดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะลดปัญหาการบริหารจัดการระหว่างหน่วยงานได้ และหากผลปรากฏว่า พื้นที่ที่มีปัญหาขณะนี้ เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะส่งคืน แต่หากเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. จะพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมของการอนุญาตให้เกษตรกรเข้าใช้ประโยชน์อีกครั้ง
“ยืนยันว่า ส.ป.ก.ไม่ส่งเสริมการทำลายป่าอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามกลับส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในเขตปฏิรูปที่ดิน เช่น โครงการวนเกษตร ส่วนการเปลี่ยนแปลงจากเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร มีข้อกำหนดต้องปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ ไร่ละไม่น้อยกว่า 10 ต้น ซึ่งกรมป่าไม้สนับสนุนกล้าไม้ให้แก่เกษตรกรผ่านศูนย์เพาะชำกล้าไม้ โดย ส.ป.ก. ปลูกป่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 45,000 ไร่ต่อปี” เลขาฯ ส.ป.ก.กล่าว
ขณะเดียวกัน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขบวนการรุกคืบป่าแบบนี้มีมานานแล้ว ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ ขึ้นอยู่กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินฯ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับคนที่ดำรงตำแหน่งด้วยว่า ใจถึง-ใจไม่ถึง
ตามหลักการแล้ว การจะออกที่ดินเป็น ส.ป.ก. 4-01 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้ จำเป็นต้องทำ พระราชกฤษฎีกาเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเสียก่อน จะกี่ไร่ต้องให้ชัดเจน จากนั้น ถึงจะนำที่ดินบริเวณนั้นมาปฏิรูปได้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่มีใครรู้เรื่อง แบบนี้เขาเรียกว่า “ลักหลับ” ไปแอบทำ สิ่งสำคัญตรงนี้คือ “ใคร...?” เป็นคนลงนาม คนนั้นจะต้องรับผิดชอบ ถ้าเกิดเป็น ผู้ว่าฯ ลงนาม ผู้ว่าฯ ก็โดน ถ้าไม่ใช่ผู้ว่าฯ ใครที่ลงนามก็โดน...ที่ผ่านมา เคยเกิดกรณีแบบนี้ที่เชียงราย และผู้ว่าฯ ก็โดน เมื่อหลายปีก่อน หรือถ้าผู้ว่าฯ มอบหมายให้ใคร คนนั้นก็รับไป”
เมื่อถามว่า โดยตำแหน่ง ใครควรจะเป็นผู้ลงนาม นายดำรงค์ ตอบว่า ปฏิรูปจังหวัดฯ เนื่องจาก ผู้ว่าราชการมักจะมอบอำนาจให้กับปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นตัวแทน ซึ่งเรื่องนี้แล้วแต่ละจังหวัด ขึ้นอยู่กับทางผู้ว่าราชการจังหวัด บางครั้งก็มอบอำนาจให้ รอง ผู้ว่าฯ
นายดำรงค์ อธิบายว่า ปกติแล้ว พวก “ป่าหัวโล้น” ก็มักจะมีการมาทำเป็น ส.ป.ก. ซึ่ง ปฏิรูปที่ดิน จะมีการประสานงานกับกรมป่าไม้ แต่สำหรับครั้งนี้ เป็นอุทยานแห่งชาติ และไม่ใช่พื้นที่ทำกิน มีหมุดปักเขตชัดเจนหมด ขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เขาก็ไม่กล้าร่วมมือด้วย
...
“สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้มันถือว่า “กล้ามาก” เหลือเกิน...”

นายดำรงค์ กล่าวว่า ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ เขาก็มีการจัดพื้นที่ทำกินให้ ชาวบ้านยากจนจริงๆ แล้วมาทำกินในพื้นที่ป่าไม้ก็มี หรือถ้าเป็นลักษณะเขาหัวโล้น ขายขอบป่า ก็มีอยู่ แต่นี่ไม่ใช่เลย เอาพื้นที่ป่ากำมะหยี่ เพิ่งจะเคยเจอครั้งนี้
เมื่อถามว่า หากคิดในเชิงราคาที่ดิน บนเขาใหญ่ มีมูลค่า 1 ไร่ เท่าไร นายดำรงค์ ยอมรับว่าไม่ใช่คนที่รู้เรื่องราคาที่ดิน แต่เท่าที่ได้ฟังมา ก็ประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อไร่
“เนื่องจากพื้นที่เขาใหญ่เปรียบเสมือนปอด โอโซนดี หากเป็นภูเก็ต ก็ชายทะเลดี มันจึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมาเล็งในพื้นที่เขาใหญ่”
นายดำรงค์ กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า “ลึกๆ แล้ว ไม่เชื่อว่า แค่ที่ดินจังหวัด จะกล้าทำขนาดนี้ แต่จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มไหน ต้องให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ”

...
อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สรุปว่า ขบวนการนี้ ส่วนมากจะเป็นลักษณะ ทำให้ที่ดินของอุทยานเป็นที่ทำกินก่อน พอเป็นที่ทำกินชั่วคราวครบ 4 ปี หรือครบตามที่กฎหมายกำหนด ก็กลายเป็นโฉนด พอถึงเวลาหนึ่ง จากโฉนดการเกษตร ก็กลายเป็นโฉนดจริง ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลไหน... “ผมไม่รู้”
นายดำรงค์ ย้ำว่า ปัญหาของเรื่องนี้ อยากให้ ท่านนายกฯ ลงมาเคลียร์ปัญหาให้ได้ โดยในเบื้องต้น รมต. ทั้ง 2 กระทรวงก็ได้ประสานงานกันแล้ว
แต่ภาพเหมือนเกิดการขัดแย้งกัน? นายดำรงค์ บอกว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน แต่ในความจริง ระดับผู้ใหญ่อาจจะไม่รับรู้เลยก็ได้ ซึ่งล่าสุด ก็ทราบว่ามีการเด้งออกจากตำแหน่งแล้ว ซึ่งหากผู้ใหญ่เกี่ยวข้อง คงไม่กล้าสั่งย้าย เพราะหากไปทำโดนเปิดโปงจะเป็นอย่างไร...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...