14 ก.พ. วันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก ยังเป็นวันรักษ์พญาแร้ง จากโศกนาฏกรรม 14 ก.พ. 2535 พญาแร้งฝูงสุดท้ายกลางผืนป่าห้วยขาแข้ง ล้มตายเกือบยกฝูง หรือเรียกว่าสูญพันธุ์ไปก็ได้ เพราะนายพรานป่าวางยาเบื่อเนื้อเก้ง หวังให้เสือโคร่งมากิน แต่กลับกลายเป็นฝูงพญาแร้งลงมากินซาก จนตายไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีใครพบเห็นพญาแร้งในป่าห้วยขาแข้งอีกเลย เป็นเวลากว่า 32 ปี
พญาแร้ง เปรียบเสมือนเทศบาลประจำป่า คอยกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสัตว์ป่า ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง เนื้อที่ประมาณ 170,0000 กว่าไร่ และเมื่อฝูงพญาแร้งล้มตายไป นำไปสู่การจัดตั้งโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ให้กลับมาโบยบินอีกครั้ง จากความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
กระทั่งมีข่าวดีได้ลูกพญาแร้งเป็นตัวแรก สร้างความดีใจให้กับทีมงาน และกว่าจะได้ลูกพญาแร้ง “ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์” นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งฯ เล่าถึงเบื้องหลังว่า ทั้ง 4 หน่วยงานได้ร่วมมือกันทำงาน เพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในธรรมชาติในพื้นป่าห้วยขาแข้ง และในสวนสัตว์นครราชสีมา โดยในส่วนห้วยขาแข้ง มีการย้ายพ่อพันธุ์พญาแร้ง มาจากสวนสัตว์นครราชสีมา ให้มาผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์พญาแร้งที่ชาวบ้านนำมาให้ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 จนมีการวางไข่และประสบความสำเร็จมีลูกพญาแร้ง 1 ตัว
...
“การขยายพันธุ์พญาแร้งไม่ใช่เรื่องง่าย ละเอียดอ่อนมาก เพราะนอกจากพญาแร้งตัวเมียจะจับคู่เลือกตัวผู้ที่ใช่แล้ว จะต้องมีกรงในพื้นที่กว้าง มีซากสัตว์เป็นอาหาร และในห้วยขาแข้งก็มีเสือ เป็นผู้ล่า ทำให้มีซากสัตว์ และที่สำคัญไข่ของพญาแร้ง 1 ฟอง เมื่อฟักออกมาจะมีอัตรารอดประมาณ 20% อาจไม่มีลูกก็ได้ และถ้าปีใดสภาพแวดล้อมไม่สมบูรณ์ ก็จะผสมพันธุ์ในปีถัดไป”
ลูกพญาแร้งตัวแรก มาจากความรักของพ่อป๊อก จากสวนสัตว์นครราชสีมา และแม่มิ่ง ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีการดูใจมานาน 1 ปี จนมีการทำรังวางไข่และช่วยกันดูแลฟูมฟักกกไข่ กระทั่งลูกน้อยเจาะเปลือกไข่ออกมาดูโลกเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 อยู่ในกรงฟื้นฟูขนาดใหญ่ กว้าง 20×40 เมตร สูง 20 เมตร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เมื่อผ่านมากว่า 6 วัน ลูกพญาแร้งเริ่มชูคอได้แล้ว เริ่มรับอาหารจากการป้อนของแม่มีการพัฒนาเป็นลำดับๆ และทั้งพ่อและแม่สลับกันดูแลไม่ห่าง ในการกกลูกช่วงอากาศหนาวเย็น แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ ยังคงเฝ้าระวังในการขั้นตอนการอนุบาลอีกต่อไป ประมาณ 15 วัน ว่าสามารถอยู่ได้หรือไม่ และพ่อแม่เลี้ยงลูกได้หรือไม่ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ หากผ่านระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป หรือ 1 ปี ถือว่าสามารถอยู่ได้ แม้อยู่ท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวน ก็ไม่เป็นปัญหา แต่กังวลว่าหากฝนตกหนัก จะเกิดความชื้น เพราะชิ้นเนื้อที่แม่คาบมาป้อนให้ลูกอาจชื้น จนติดเชื้อโรคมาได้
“ตอนนี้ยังไม่ทราบเพศของลูกพญาแร้ง เพราะเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่สามารถตรวจเช็กได้ คิดว่ารอให้แข็งแรงก่อนจะสามารถเจาะเลือดตรวจดูได้ น่าจะ 6 เดือนขึ้นไปจะรู้ว่าเป็นเพศอะไร จริงๆ แล้วเพศอะไรก็ได้ ถ้าเป็นเพศเมีย เมื่ออายุ 10-15 ปี ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ก็จะเลือกตัวผู้ในการสร้างรัง เพิ่มอัตราการวางไข่มากขึ้น จากปัจจุบันเรามีพญาแร้งเพศผู้เพศเมียอยู่ 3 คู่ อยู่สวนสัตว์โคราช 2 คู่ มีเด็กน้อยแล้ว 1 ตัวเป็นตัวเมีย และล่าสุดห้วยขาแข้ง 1 คู่ จากความรักของพ่อป๊อกและแม่มิ่ง เพิ่งมีลูกด้วยกัน”
ปกติแล้วพญาแล้งมีอายุขัยประมาณ 50 ปีขึ้นไป หากอยู่ในกรงเลี้ยงจะอายุยืนยาวมากถึง 60 ปีขึ้นไป แต่อัตราการให้ไข่ก็จะน้อยลง กว่าช่วงวัยเจริญพันธ์ุ โดยจะวางไข่ปีเว้นปี ได้ไข่ประมาณ 20 ฟอง อาจเหลือไม่ถึง 10 ฟอง เพราะอัตรารอดเพียง 25% หรืออาจได้ลูกประมาณ 5 ตัวเท่านั้น
แต่หากอยู่ในกรงอาจวางไข่ทุกปี ซึ่งต้องมีอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะห้วยขาแข้ง สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยในการเจริญเติบโตของลูกพญาแร้ง เมื่อเสือกินสัตว์ป่าที่ล่ามาไม่หมด ก็จะเหลือเป็นซากเน่าๆ ให้พญาแร้งมารุมกิน และต้องติดตามลูกพญาแร้งตัวแรกว่าจะเป็นอย่างไร หากรอดก็จะมีการตั้งชื่อ และพิจารณาในการปล่อยสู่ธรรมชาติต่อไป.
...