"เอ็ด ชีแรน" นักร้องดังชาวอังกฤษ ระหว่างมาทัวร์คอนเสิร์ตที่ไทย ได้สักยันต์บริเวณต้นขากับอาจารย์เหน่ง หลายคนมองว่านี่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของแท้ ด้านผู้เชี่ยวชาญมองการสักยันต์ในชาวต่างชาติมีกลุ่มที่นับถือพุทธคุณ เช่น จีน ฮ่องกง ส่วนคนยุโรปนิยมลวดลายมีอักขระเสมือนศิลปะ ทำให้เดินทางมาสักที่ไทยจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ไอจี Ed Sheeran นักร้องดังชาวอังกฤษ โพสต์คลิประหว่างการสักยันต์ที่อาจารย์เหน่ง โดยยันต์ที่สักไม่ใช่ อย่างที่มีการออกข่าว โดยเพจส่วนตัวอาจารย์เหน่ง ระบุว่า "ยันต์ที่ท่านอาจารย์เหน่งได้สักให้กับคุณเอ็ดไป ไม่ใช่ยันต์แปดทิศ ตามที่หลายๆ สำนักข่าวได้นำไปลงข่าว อาจารย์เหน่งแอบกระซิบแอดมินมาแล้ว เป็นยันต์ที่อาจารย์ได้ผูกและร้อยเรียงขึ้นมาสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ ค่ะ"

การสักยันต์ นอกจากอักขระโบราณที่สืบทอดกันมาแล้ว ปัจจุบันอาจารย์สักที่เป็นฆราวาส มีการเดินสายสักยันต์ในหลายประเทศ โดยทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง “อัมรินทร์ สุขสมัย” ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และไสยเวท มองว่า ยันต์ที่นักร้องดังชาวอังกฤษมาสัก ไม่น่าใช่ยันต์แปดทิศ ข้อห้ามสำคัญของยันต์คือ ห้ามสักต่ำกว่าเอวลงมา เพราะเป็นยันต์สำคัญที่ถอดจากพุทธบท เท่าที่เห็นลายสัก คาดเป็นยันต์รูปแบบเฉพาะของสำนักนั้น

...

ชาวต่างชาตินิยมมาสักในไทยมี 2 แบบคือ 1.เชื่อในพุทธคุณ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน และฮ่องกง เน้นสักยันต์ส่งเสริมเสน่ห์เมตตามหานิยม ค้าขายดี เช่น ยันต์จิ้งจก กวางเหลียวหลัง

2.กลุ่มนิยมลวดลายอักขระ เป็นชาวยุโรป สักยันต์ประเภทอยู่ยงคงกระพัน มหาอุด เช่น เสือเผ่น หนุมานเชิญธง มองการสักยันต์เป็นศิลปะ ต่างจากคนไทยที่เชื่อว่าถ้าสักยันต์ประเภทนี้มากจะทำให้การเงินติดขัด แต่ฝรั่งเน้นความสวยงามมากกว่าความเชื่อ

ยันต์มหานิยมชาวต่างชาติสัก

หากวิเคราะห์ในภาพรวม ยันต์ที่ชาวต่างชาตินิยมสัก ทั้งแบบที่เดินทางมาไทย เพื่อสักตามสำนักต่างๆ ที่มีการโปรโมตจำนวนมากตอนนี้ กรณีอาจารย์เดินทางไปสักในต่างประเทศมีดังนี้

- ยันต์ปทุม
- ยันต์โสฬส
- ยันต์จักรนารายณ์
- ยันต์ไตรสรณคมน์
- ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า
- ยันต์มหาละลวย
- ยันต์เทพรัญจวน

“อัมรินทร์ สุขสมัย” ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และไสยเวท มองในส่วนของอาจารย์สักยันต์ ส่วนใหญ่เป็นฆราวาส โดยอาจารย์ที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อสัก กลุ่มนี้มีการไปทีละหลายเดือน อาจารย์หลายคน ไปสักในต่างประเทศช่วงแรกต้องผ่านคนกลาง กว่าจะเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะบางคนได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ต้องสักทั้งวันจนไม่มีเวลากินข้าว ถือเป็นงานที่หนัก แต่เงินดี แต่ถ้ามีชื่อเสียงสามารถบินไปสักได้โดยไม่ต้องเสียค่านายหน้า จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

“น่าสนใจว่าฝรั่งยุโรปส่วนใหญ่ชอบให้สักด้วยเข็มแบบโบราณ ถ้าอาจารย์ไหนสามารถสักยันต์โดยไม่ต้องทำการลอกลายได้ แล้วออกมาสวยชัดเจน ยิ่งได้รับความนิยมมาก เหมือนกับศิลปินที่ทำงานศิลปะ ต่างจากชาวจีนเน้นสักด้วยเครื่องสักสมัยใหม่ เพราะเจ็บน้อยกว่า ไม่ระบมมากเหมือนเข็มสักแบบโบราณ”

สำนักสักยันต์สมัยนี้มีแคตตาล็อกลายให้ชาวต่างชาติเลือกได้ตามความต้องการ ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจารย์แต่ละสำนักจะไม่สักให้ลูกศิษย์ง่ายๆ เพราะถ้าเป็นลูกศิษย์หน้าใหม่จะสักให้เฉพาะ "ยันต์ปฐม" ของสำนัก หากลูกศิษย์ถือข้อห้ามได้ ค่อยมาสักยันต์ลายต่อไป แต่ถ้าเป็นศิษย์ได้รับการยอมรับ ถึงจะสักยันต์ประจำสำนักที่เป็นยันต์ชิ้นเอกของสำนักนั้น ที่ไม่สักให้ใครง่ายๆ

...

การสักยันต์สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้ เพียงแต่ต้องมีการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องความหมายของแต่ละยันต์ให้มากขึ้น สามารถนำรูปแบบโบราณมาใช้ได้ในหมู่ของอาจารย์ช่างสัก โดยให้ชาวต่างชาติคนนั้นสักลายที่เป็นทั่วไปก่อนในตอนแรก ถ้าเขาปฏิบัติตนตามข้อห้ามได้จึงค่อยสักยันต์ที่เป็นลวดลายเฉพาะของสำนักให้ ซึ่งถ้ามองในเชิงการตลาดก็เหมือน "ลิมิเต็ดอิดิชั่น" ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางจิตใจมนุษย์.