10 ก.พ. 2567 วันตรุษจีน ถือเป็นวันสิริมงคลในการออกไปท่องเที่ยว ไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ และกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่หลายพื้นที่ รวมถึงบางพื้นที่ในกรุงเทพฯ ฝนตกลงมาอย่างหนักเปียกชุ่มไปทั่ว อาจเป็นอุปสรรคในการเดินทาง ทั้งน้ำท่วมขังผิวจราจร ตามมาด้วยรถติดหนัก
ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาก่อนหน้านั้น จากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ได้แผ่ปกคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคาดว่าจะแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันที่ 10 ก.พ. ประกอบลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ในช่วงวันที่ 10-13 ก.พ.นี้
รวมถึงมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ในวันที่ 10 ก.พ. จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง มีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาฯ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาฯ
...
ปีนี้ร้อนมาก ครึ่งปีแรกแล้งหนัก ปลายปีฝนตกหนัก
ฝนตกหนัก และอุณหภูมิจะลดลงในช่วง 1-2 วันนี้ เป็นเพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศ และสถานการณ์โลกร้อน จากการระบุของ “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมกับเตือนว่า สภาพอาการแปรปรวนในลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นบ่อย เมื่อเกิดฝนตกก็จะเกิดลมแรง ตามมาด้วยอุณหภูมิลดลง และช่วงนี้หลังอุณหภูมิลดลง ก็ขอให้รับมืออากาศร้อนจัดเหมือนเดิมตั้งแต่วันที่ 14 หรือ 15 ก.พ. เป็นต้นไป
“ต้องเตรียมรับสถานการณ์ ไม่มีใครบอกได้จะมาเมื่อไร และปีนี้จะร้อนมากกว่าปีที่แล้ว ต้องติดตามกันเป็นรายวัน และรายสัปดาห์ แต่เท่าที่บอกได้คือครึ่งปีแรกจะแล้งหนัก และปลายปีฝนจะตกหนัก ลานีญาจะกลับมา จากนั้นเอลนีโญ จะกลับมาอีก”
การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เคยออกมาเตือนในตอนแรกคาดว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเกิน 2 องศาฯ นั่นหมายถึงอาจไปถึง 3 องศาฯ หรืออาจแรงกว่านี้ เพราะแค่ต้นเดือน ก.พ. จากข้อมูลกรมอุตุวิทยาบ่งชี้อุณหภูมิสูงสุดแตะ 38-39 องศาฯ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มีสภาพอากาศร้อนมากกว่าปกติ
ส่วนข้อมูลอุณหภูมิโลกในรอบ 365 วัน ถึงเดือน ม.ค. 2567 ได้เพิ่มขึ้น 1.52 องศาฯ แล้ว แม้ยังไม่เข้าเกณฑ์เฉลี่ยระยะยาว 1.5 องศาฯ ตามข้อตกลงปารีส แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าเราคงจะหนีไม่พ้นถึงความรุนแรงสภาพอากาศสุดขั้วตั้งแต่ต้นปีนี้ เริ่มจากคลื่นความร้อน ไฟป่าในประเทศชิลี และน้ำท่วมหนักในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นประเทศไทยต้องตื่นตัวเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ และไกล
มนุษยชาติ เสี่ยงเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว
อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้มนุษยชาติ มีความเสี่ยงที่จะเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วตามมา ไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะสมดุลได้ ดังเช่นกรณีน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสิ้นสลายของปะการังในมหาสมุทร รวมทั้งการสูญเสียระบบนิเวศบนโลก มนุษย์มีขีดจำกัดในการปรับตัวได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ต้องไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน 1.5 องศาฯ และปีที่แล้วอุณหภูมิโลกแตะเกิน 1.5 องศาฯ ประมาณ 180 วัน หรือครึ่งปี จึงต้องจับตาสถานการณ์ในปีนี้
อีกทั้ง COP ขอความร่วมมือจากทั่วโลกได้ยากมากขึ้น เพื่อลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หลายประเทศกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานต้นทุนต่ำ และเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อยากให้รัฐบาลไทยหันมาดูแลเกษตรกรบ้าง เพราะขณะนี้ผลผลิตข้าวราคาดี แต่แนวคิดในการกันน้ำไว้ใช้เพาะปลูก ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่
...
“อยากให้ใส่ใจเกษตรกรให้มากกว่านี้ เพราะเป็นกลุ่มจะได้รับผลกระทบแรงมากกว่าส่วนอื่น และปีนี้ทุเรียนไม่ออกดอก เพราะอากาศร้อนจัด ทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ จะทำอย่างไร และควรใส่ใจให้มากกว่านี้จากผลกระทบโลกร้อน”.